ยื่นขอพบผู้ว่าการรถไฟฯ หารือทางออกไล่รื้อชุมชน กม.11

เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการรถไฟฯ ขอพบ นั่งโต๊ะเจรจา หาทางออกนอกศาล

วันนี้ (19 ต.ค. 2563) ตัวแทนเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ยื่นหนังสือขอเข้าพบ ‘นิรุฒ มณีพันธ์‘ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟฯ ย่าน กม. 11 หลังได้รับหมายศาลกรณีเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ สั่งฟ้องชาวบ้านข้อหาบุกรุกที่ดินในกรรมสิทธิ์การรถไฟฯ

แม้ว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้เข้าร่วมเจรจากับผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 และวันที่ 5 ต.ค. 2563 เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก โดยมีเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในที่ประชุม และได้รับการตอบรับว่าจะมีหารือเพื่อหาทางออกให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย โดยความหวังของชุมชนคือ ต้องการให้ชุมชนสามารถเช่าที่ดินและที่อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน แต่เมื่อชาวบ้านถูกดำเนินคดีจึงรู้สึกผิดหวังจึงต้องการเข้าพบผู้ว่าการรถไฟฯ อีกครั้ง เพื่อเจรจาต่อรองคดีนอกศาล

จดหมายมีเนื้อหาสำคัญ ระบุว่า ชาวชุมชนพัฒนากม. 11 และชุมชนริมคลอง กม.11 กลับได้รับหมายศาลโดยมีผู้ว่าการรถไฟฯ ลงนามมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ฟ้องดำเนินคดีกับชาวชุมชน ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงข้ามจากถ้อยแถลงของผู้ว่าการรถไฟฯ สร้างความไม่พอใจ และทำให้ชาวชุมชนวิตกกังวลถึงอนาคตในการแก้ไขปัญหาของการรถไฟฯที่จะปฏิบัติตามนโยบาย ดังนั้นเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงขอเข้าพบท่านเพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วนในกรณีดังกล่าวในวันที่ 22 ต.ค. 2563 ณ ที่ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

ด้าน ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ปฏิบัติการของภาครัฐในการจัดการที่ดินการรถไฟ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการจัดการเชิงรุกที่ค่อนข้างรุนแรงมากขึ้น เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีกับชาวบ้าน ในฐานะคู่ขัดแย้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้