การรถไฟฯ ฟ้อง ชุมชนรถไฟ กม.11 ชาวบ้านเรียกร้องหยุดดำเนินคดี

หมายศาลไล่รื้อชุมชน กม.11 พ้นพื้นที่ จตุจักร-บางซื่อ ชาวบ้านทวงสัญญา “แก้ปัญหาแบบ win-win” ยันไม่ออก! ขอมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่

วันนี้ (18 ต.ค. 2563) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และ เครือข่ายสลัม 4 ภาค นัดรวมตัวชาวบ้านชุมชนพัฒนา กม.11 และชุมชนริมคลอง กม.11 หารือ และร่วมออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน หลังมีคำสั่งศาลให้ผู้บุกรุกที่ดินริมทางรถไฟ กม.11 เข้าไกล่เกลี่ยคดีความตามกระบวนการศาลแพ่ง

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้รับคำฟ้องข้อพิพาทระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย และชาวบ้านชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนิคมรถไฟ กม.11 โดยมีผู้ว่าการรถไฟฯ ลงนามมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ฟ้องดำเนินคดีกับชาวชุมชน ซึ่งชาวบ้านระบุว่า ไม่สอดคล้องกับแนวทางการเจรจาก่อนหน้านี้ ซึ่งการรถไฟฯ เคยให้คำมั่นสัญญากับชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากการขอคืนพื้นที่การรถไฟฯ ว่า จะต้องร่วมกันหาทางออกแบบที่สมประโยชน์ต่อทุกฝ่าย หรือ Win-Win ทำให้ชาวชุมชนวิตกกังวลถึงอนาคตในการแก้ปัญหาของการรถไฟฯ โดยเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงขอเรียกร้องผ่านแถลงการณ์ ดังนี้

  1. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายชื่อที่เตรียมการฟ้องร้องดำเนินคดีสมาชิกทั้ง 2 ชุมชน โดยละเอียด
  2. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยชะลอการดำเนินการทางกฎหมายออกไปในระหว่างที่มีการเจรจาหาแนวทางเช่าที่ดินการรถไฟฯ เพื่อแก้ปัญหากับคณะทำงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟฯ ที่ผู้ว่าการรถไฟฯเป็นผู้แต่งตั้ง
  3. ให้ผู้ว่าการรถไฟฯ เปิดประชุมด่วนในการแก้ปัญหากรณีที่อยู่อาศัยของชุมชนพัฒนากม. 11 และชุมชนริมคลองกม. 11 ภายในวันที่ 22 ต.ค. 2563

พรเพท แย้มชม ประธานชุมชนพัฒนา กม.11 ระบุว่า ตอนนี้มีชาวบ้านที่ได้รับหนังสือฟ้องจากศาลแล้ว 4 คน ซึ่งไม่คิดมาก่อนว่าการรถไฟจะดำเนินคดี เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านได้เคลื่อนไหวและเรียกร้องให้การรถไฟร่วมหาทางออก และได้รับการตอบรับที่ดีมาเสมอ จนกระทั่งได้รับหมายศาล

“ก่อนหน้านี้เรามีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับบอร์ดบริหารของการรถไฟฯ แล้ว ซึ่งได้มีการนัดหมายพูดคุยกัน แม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปจากที่ประชุม แต่ก็อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน ก็คิดว่าจะหาทางออกจากตรงนั้น แต่เมื่อมีหมายศาล เข้ามาชาวบ้านเริ่มกลัว ตกใจ และไม่รู้จะทำอย่างไร เบื้องต้นจึงต้องหาทนายไปไกล่เกลี่ยเรื่องคดีในศาล และขอใช้พื้นที่คณะทำงานฯ ที่จัดตั้งนี้หารือ รวมถึงหาข้อสรุป แต่หากไม่ได้คำตอบก็คงต้องคุยกับเครือข่ายว่าจะทำอย่างไรต่อ

เนืองนิช ชิดนอก ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่า ในวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายได้จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก เคลื่อนขบวนพี่น้องไปยื่นหนังสือกับการรถไฟฯ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อผลักดันให้เกิดการลงนามความร่วมมือ (MOU) หาที่ดินที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านที่เดือดร้อน ซึ่งวันนั้น การรถไฟฯ ขอเวลา 2 เดือน ถึงวันนี้กลับดำเนินคดีเสียก่อน จึงอยากให้การรถไฟฯ เปิดพื้นที่หารืออย่างจริงใจและจริงจัง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

มันไม่ควรจะเกิด มันควรจะชะลอไว้ก่อนเพื่อรอการพิจารณาตามที่ได้บอกกันไว้ เพราะเรื่องคดีเป็นเรื่องสำคัญไม่อยากให้เกิดบนที่ดินการรถไฟฯ ตอนนี้เครือข่ายเองก็ได้ทำตามข้อเสนอของทางการรถไฟฯ ในเรื่องที่ให้มาแยกประเภทการใช้ที่ดินของการรถไฟและแนวทางการก้ปัญหาจากชุมชน ซึ่งชาวบ้านกำลังดำเนินการอยู่ แต่ที่แน่ๆ คืออยากให้ใช้มติบอร์ด ในปี 2543 คือการจัดหาที่อยู่ใหม่ให้ และไม่ไกลจากพื้นที่เดิมมากนัก ไม่ทำให้ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตลำบาก แต่ก่อนจะได้ข้อสรุประหว่างนี้ เราก็ต้องหาวิธีให้การรถไฟฯ ระงับคำฟ้อง ถอนฟ้อง ยกฟ้อง

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะเดินทางไปยื่นหนังสือขอเข้าพบผู้ว่าการรถไฟฯ ในวันพรุ่งนี้ (19 ต.ค. 2563) เพื่อให้ผู้ว่าการรถไฟฯ เปิดประชุมโดยด่วน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้