ลุ้นเคาะเลือกตั้งท้องถิ่น หลังคำสั่ง คสช. ทำเว้นวรรค 6 ปี

มท. – กกต. แถลงพร้อมจัดเลือกตั้งท้องถิ่น แบ่งแล้ว 150 เขตทั่วประเทศ รอ ครม. เคาะสัปดาห์หน้า ชี้ ข่าวก่อนหน้า เป็นแค่ “ข่าวหลุด”

มท. – กกต. แถลงพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น รอ ครม. เคาะสัปดาห์หน้า

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมคณะผู้บริหารท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย ร่วมแถลงข่าวหลังการประชุมหารือถึงการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ประสานสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้งใน 3 เรื่อง ได้แก่ ข้อมูลจำนวนราษฎรที่ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ได้ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 ม.ค. 2563 โดยกรณีหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน เป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง

โดยจากการสำรวจและประกาศรวมหมู่บ้านที่มีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน กับหมู่บ้านอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 41 จังหวัด 109 อำเภอ 128 ตำบล 203 หมู่บ้าน รวม 150 เขตเลือกตั้ง ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนความพร้อมด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตั้งงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไว้พร้อมแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งจังหวัดกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เตรียมไว้เป็นการล่วงหน้า

และเรื่องที่ 3 คือ กระทรวงมหาดไทยจะนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า เมื่อ ครม. มีติว่าให้เลือกตั้งองค์กรท้องถิ่นในรูปแบบใด ก็จะส่งเรื่องกลับมาให้ กกต.ดำเนินกำหนดและประกาศวันเลือกตั้งต่อไปตามขั้นตอน

“ส่วนข่าวหลุดออกมาก่อนหน้านี้ ก็ปล่อยเป็นข่าวหลุดไป เพราะการจะกำหนดว่าเลือกตั้งรูปแบบใด เป็นอำนาจของ ครม. เมื่อ ครม. พิจารณาเรียบร้อยถึงจะรู้ ส่วนเรื่องวัน กกต. จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งโดยความเหมาะสม เข้าใจว่า กกต. คงยังไม่พูดตอนนี้ ข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องที่พูดกันเอง”

6 ปี “เลือกตั้งท้องถิ่น” ถูกเว้นวรรค ด้วยคำสั่ง คสช. 7 ฉบับ

หากนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประเทศไทย ว่างเว้นการเลือกตั้งท้องถิ่นมายาวนานถึง 6 ปีเต็ม นับจากการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุดในปี 2557 เป็นต้นมา

ข้อมูลจาก โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2540 เริ่มต้นการกระจายอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่น ตั้งแต่นั้นมาการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นก็มีความต่อเนื่องเรื่อยมากว่า 17 ปี แม้จะมีการรัฐประหารในปี 2549 การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ไม่ได้สะดุดลงตามการเลือกตั้งทั่วไปในระดับชาติ

แต่การรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ก็ทำให้การเลือกตั้งที่เคยมีมาต่อเนื่อง “ถูกเว้นวรรค” มาจนถึงทุกวันนี้ โดยพบว่าได้มีการใช้อำนาจ คสช. ดำเนินการทั้งต่อเรื่องการได้มาของผู้บริหารท้องถิ่นและการจัดการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7 ฉบับ ดังนี้

  1. ประกาศ คสช.ที่ 85/2557 วันที่ 21 ก.ค. 2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว โดยประกาศระบุเหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นยังไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้โดยเรียบร้อย จึงให้งดจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นไปก่อน และให้ใช้ “ระบบสรรหา” โดยคณะกรรมการสรรหาที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และท้องถิ่นจังหวัดเป็นเลขานุการ
  2. ประกาศ คสช.ที่ 86/2557 วันที่ 21 ก.ค. 2557 งดการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพมหานคร ทั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.)
  3. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 1/2557 วันที่ 5 ม.ค. 2558 เปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว แต่ก็ยังไม่ให้มีการเลือกตั้ง โดยคำสั่งฯ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นชุดเดิมยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป ไม่สรรหาคนนอกเข้าไปทำหน้าที่ เหมือนที่เคยมีประกาศ คสช. ออกมาก่อนหน้านี้ เพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง
  4. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 64/2559 วันที่ 18 ต.ค. 2559 ปลดหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นจากตําแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ แต่งตั้ง พลตํารวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  5. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 6/2560 แต่งตั้ง พลตํารวจตรี อนันต์ เจริญชาศรี เป็นนายกเมืองพัทยาแทน อิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา หมดวาระ จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 6/2560
  6. ประกาศ คสช.ที่ 104/2557 วันที่ 30 ก.ค. 2557 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอําเภอ ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ นโยบาย ประกาศ และคําสั่งของ คสช. อย่างเคร่งครัด และกํากับดูแลและตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. อย่างเข้มงวด ซึ่งหากผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอําเภอ ตรวจสอบพบว่า อปท. แห่งใดมีการใช้จ่ายงบประมาณไปในทางที่ผิดกฎหมายจนเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย หรือมีการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอําเภอดําเนินการตามกฎหมายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
  7. คำสั่ง คสช.ที่ 88/2557 วันที่ 21 ก.ค.2557 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรเงินอุดหนุนให้ อปท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 โดยมีเสนาธิการทหาร เป็นประธานกรรมการ และปลัดบัญชีทหาร เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการฯ ชุดนี้มีอำนาจพิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้ อปท. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และกํากับดูแลการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามนโยบาย คสช.

แม้ต่อมามีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2562 แต่บทเฉพาะกาล มาตรา 142 บัญญัติว่า การเลือกตั้งครั้งแรกตามกฎหมายนี้จะเกิดขึ้นเมื่อ คสช. “เห็นสมควร” ให้มีการเลือกตั้งได้ในท้องถิ่นใด และได้แจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ให้ประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวกับการงดการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 7 ฉบับจะถูกยกเลิกไป

ทั้งนี้หาก คสช. สิ้นสภาพไปแล้ว อำนาจของ คสช. นั้นให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active