“กรีนพีซ” ให้เกรด D+ นโยบายพลังงานไทย

ประเมินเปรียบเทียบ 8 ประเทศอาเซียน เวียดนามได้ C- สูงสุด แนะไทยเพิ่มเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน สัดส่วนร้อยละ 50 ภายในปี 2573

กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดรายงาน “การประเมินภาคพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Power Sector Scorecard report)” พบนโยบายพลังงานของไทยยังคงล้มเหลวในการพัฒนาศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ในขณะที่การปรับนโยบายพลังงาน ทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนจากต่างประเทศ การจ้างงาน การผลิตและลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤตโควิด-19

จริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ยังคงมีมายาคติที่ว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนเสริมการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย มีทั้งการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนไปพร้อม ๆ กัน แต่เมื่อพิจารณาถึงแผนงบประมาณ กลับพบความจริงว่าเม็ดเงินไปที่ไหน โดยเห็นว่ากลลวงนี้ต้องหยุดลง และเริ่มต้นใหม่จากแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยการกระตุ้นการลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ดังที่เวียดนามแสดงให้เห็นว่าทำให้เกิดการจ้างงาน

โดยการประเมินภาคพลังงานนี้ ใช้ข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ-อากาศ (the International Panel on Climate Change’s (IPCC) 1.5 degrees pathway) มาเปรียบเทียบแผนการพลังงานหมุนเวียนตามสถานการณ์ที่ดำเนินไปตามปกติกับแผนการพลังงานงานหมุนเวียนภายใต้สถานการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา โดยใช้ตัวชี้วัดในเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การถอนการลงทุนเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาตลาดพลังงานแสงอาทิตย์และลม นโยบายสนับสนุนต่าง ๆ และการจัดการราคาพลังงาน

รายงานพบว่า เวียดนามมีความคืบหน้ามากที่สุดในเรื่องการออกแบบและพัฒนาตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม มาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in-Tariffs : FiT) ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 134 เมกะวัตต์ในปี 2561 เป็น 5,500 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2562 การลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในเวียดนามที่บางโครงการสามารถสรุปจบได้ในปี 2562 ทำให้ไม่มีต้นทุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลเหมือนกับที่ส่งกระทบกับหลายประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลการศึกษานี้ยังแสดงให้เห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถสร้างงานได้มากกว่าถ่านหินถึงสามเท่าตลอดห่วงโซ่ของการสร้างมูลค่า (Value chain)

ส่วนการวิเคราะห์ตลาดพลังงานของไทยพบว่า นโยบายพลังงานของประเทศเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนใหม่ด้านพลังงานหมุนเวียน โดยย้อนหลังไปในช่วงปี 2558 และ 2559 ที่นโยบายของภาครัฐปิดกั้นโครงการโซล่าร์ฟาร์มและฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้าให้เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างทันทีทันใดได้ลดแรงจูงใจของนักพัฒนาโครงการและนักลงทุน ทำให้ตลาดพลังงานของไทยไม่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ

ระบบไฟฟ้าหลักที่ผลิตอย่างต่อเนื่อง (Baseload) คือหนึ่งในมายาคติที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ใช้เป็นข้ออ้างในการลงทุนด้านถ่านหินและก๊าซธรรมชาติอย่างเป็นระบบ แต่การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าหลักของไทยล้นเกินความจำเป็น เนื่องจากระบบพลังงานเริ่มกระจายศูนย์และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

“ประเทศไทยมีเป้าหมายที่สูงในระยะยาว แต่ไม่มีขั้นตอนในระยะสั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราจำเป็นต้องเพิ่มเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนโดยให้มีสัดส่วนร้อยละ 50 ภายในปี 2573 ดังตัวอย่างของเวียดนามที่ได้ทำลายมายาคติที่มีมาอย่างยาวนานในเรื่องของการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และการสร้างผลกําไรจากการปล่อยสินเชื่อแก่โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้ก็เป็นปี 2563 แล้ว เราไม่ควรมีข้ออ้างอีกต่อไปว่าไม่มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่มีนโยบายสนับสนุนอื่นๆ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์และลม”

เปิดรายงานฯ ประเมินประเทศไทย ได้แค่ระดับ D+

รายงานฯ เปรียบเทียบ 8 ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และอินโดนีเซีย ใน 3 ประเด็น คือ การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน การวางแผนพลังงาน และการตอบสนองกับสถานการณ์โควิด-19 ผลการประเมินภาพรวมพบเวียดนามได้เกรดสูงสุด C- ขณะที่อินโดนีเซียสอบตก ได้ F

ในส่วนของประเทศไทย ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ D+ โดยรายงานระบุว่าประเด็นสำคัญมาจากก๊าซธรรมชาติมีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับรัฐบาลและชนชั้นนำ จึงยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่ในพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมยังถูกลดทอนการลงทุน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายและระบบสายส่งไฟฟ้าที่เอื้อประโยชน์ต่อโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขณะที่มากกว่าร้อยละ 12 เป็นไฟฟ้านำเข้าและโครงการพลังงานข้ามพรมแดนทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค และแม้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวในตลาดพลังงาน แต่โครงการต่าง ๆ มีแนวโน้มเป็นโครงการขนาดเล็ก

ในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รายงานระบุว่าอยู่ในระดับ “แย่” โดยพบว่า มติคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปี 2558 ส่งผลเสียอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมพลังงาน เช่นเดียวกับประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในปี 2559 ที่จำกัดไม่ให้โครงการพลังงานจากแสงอาทิตย์และลมที่เกิดขึ้นใหม่เชื่อมต่อกับสายส่ง ขณะที่การบิดเบือนในเชิงนโยบายได้ทำลายแรงจูงใจของนักลงทุนจากการเผชิญความเสี่ยงโดยปราศจากการสนับสนุนและเงินค้ำประกันในระยะยาว

ด้านการวางแผนพลังงาน อยู่ในระดับ “พอใช้” โดยพบว่า กระทรวงพลังงานมีโครงการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนหลายอย่าง เช่น นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (FiTs) โครงการประมูลและโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวมีความโปร่งใสน้อยเกี่ยวกับการกำหนดราคาและโควตาของโปรแกรมต่าง ๆ เป้าหมายใหญ่ในการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ไม่รวมเขื่อนผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 30 ภายในปี 2579 กำลังถูกกลืนกินโดยเป้าหมายในระยะสั้นที่เพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นพลังงานหลักในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP)

ส่วนด้านการตอบสนองกับสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในระดับ “แย่” โดยพบว่า ไม่มีการกล่าวถึงการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ในฐานะแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมหลังโควิด-19

รายงานมีข้อเสนอว่า ประเทศไทยควรกำหนดนโยบายลดการลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติโดยเริ่มจากปี 2563 และตั้งเป้าหมายให้มีพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนร้อยละ 50 ในปี 2573 รวมทั้งปรับปรุงการพัฒนาการตลาดพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยเฉพาะการสนับสนุนและการรับประกันที่มีความชัดเจนในระยะยาว

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว