คอนเฟิร์มไทยยุติการใช้พลังงานถ่านหินได้ภายในปี 2580

นักวิชาการแนะรัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด กระจายโอกาสเข้าถึงไฟฟ้า สร้างอาชีพใหม่ เพิ่มตำแหน่งงาน สู่เป้าหมาย COP26 คาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2065และต้องเร่งเตรียมการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์และความเป็นธรรม

17 มี.ค. 2565 ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และมูลนิธิฟรีดิค เอแบร์ท (FES) จัดการประชุม “COP 26 ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน

สู่เป้าหมายในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ.2065 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อปลายปีที่แล้ว

จูเลีย เบอร์เรนส์ ผู้จัดการโครงการ regional project climate and energy in Asia มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท เวียดนาม ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ต้องอาศัยการเปลี่ยนความคิดให้ทุกคน ทั้งสหภาพแรงงานและฝ่ายนโยบายเห็นความสำคัญถึงการพัฒนาด้านพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม

อย่างแรกที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการเปลี่ยนการใช้พลังงานถ่านหินไปเป็นพลังงานรูปแบบอื่นที่สะอาดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ต้องทำให้ผู้คนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เห็นโอกาสที่ดีกว่า ต่อการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ และในกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานต้องพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 8 ด้านนี้

  1. หลักการด้านสภาพอากาศ เป้าหมายคือไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น หรือเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
  2. เป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่ได้ตกลงกับองค์การสหประชาชาติ
  3. การทำงานกับสหภาพแรงงาน ต้องสะท้อนให้เห็นลักษณะงานที่เหมาะสม ทำให้แรงงานที่มีความเสี่ยงได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย
  4. ด้านการคุ้มครองทางสังคม ต้องพิจารณาว่าการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มหรือลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไรบ้าง
  5. มีการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศหรือไม่อย่างไร
  6. การมีส่วนร่วม จะต้องมีการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนในการร่วมเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจด้านพลังงาน
  7. ระบบการดำเนินการที่ดีของภาครัฐ
  8. หลักการมนุษยธรรม การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม จะต้องเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

“กลุ่มคนที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุดอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด ในโลกที่มีการพึ่งพาพลังงานจากหิน จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะพลังงานถ่านหิน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน จึงต้องเร่งเปลี่ยนแปลงแหล่งพลังงานที่ใช้พึ่งพาทันที โดยต้องมีการวางแผนการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่อนาคต แต่จะเห็นได้ว่าเป็นความท้าทายของประเทศรายได้ต่ำ-รายได้ปานกลาง และชุมชนที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินอยู่มาก เป็นความท้าทายที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนถ่ายพลังงานที่เหมาะสมและให้ประโยชน์ที่ เป็นธรรมสำหรับทุกคน”

จูเลีย เบอร์เรนส์ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท เวียดนาม

ผศ.ชโลทร แก่นสันติสุขมลคล ผู้อำนวยการ Pro-Green คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามว่า ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ประเทศไทยจะสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศ สร้างความสามรถในการแข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะที่ถ้อยแถลงของนายกฯ บนเวที COP26 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกะทันหัน สวนทางกับแผนการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศ

ทั้งนี้ มีข้อเสนอว่า ไทยควรจะส่งแผนการนำเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกต่อประชาคมโลกฉบับใหม่ พร้อมเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายใน พ.ศ.2573 หรือ ที่เรียกว่า NDC (Nationally Determined Contribution) โดยควรระบุแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนด้วย

“ที่สำคัญคือต้องมีการเตรียมการที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็น Net Zero ในอีก 30 ปีข้างหน้าให้ได้ ทั้งในเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียนทำให้เป็นแหล่งพลังงานหลัด การเพิ่มการใช้พลังงานไฟฟ้า โครงสร้างการรองรับระบบไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น ต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรม โครงสร้างการทำงาน ทั้งรัฐและเอกชนด้านพลังงานผ่านนโยบายหรือมาตรการจูงใจ”

ผศ.ชโลทร ยังเสนอเพิ่มเติมว่า ควรจะมีการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางระบบเศรษฐกิจไปสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่กับการวางแผนเพื่อรองรับการปรับตัวของภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบ

ศุภกิจ นันทวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ มองว่า พลังงานมีมิติที่เชื่อมโยงกว้างไกล กว่าแค่คำว่า พลังงาน หากเรามองโอกาสว่าพลังงานจะให้ประโยชน์กับคนส่วนรวมได้อย่างไร จะพบว่า ที่จริงแล้วพลังงานที่เกิดขึ้นตามบ้านเรือน ทำให้ประชาชนไม่ต้องพึ่งพิงไฟฟ้าจากโรงงานขนาดใหญ่ สามารถมีพลังงานใช้ได้ด้วยตัวเอง การสนับสนุนให้เกิดพลังงานสะอาดยังช่วยสร้างงานจำนวนมาก ให้ราคาค่าไฟที่เป็นธรรม ดูแลผลกระทบ และลดโลกร้อนได้อีกด้วย ซึ่งผู้ที่จะร่วมดำเนินการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดนี้ ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานด้านเทคนิคไฟฟ้า แต่ต้องชวนคนที่กลุ่ม ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือด้วยกัน

“จากรายงานพบว่า ทั่วโลกมีการจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียน เพิ่มเป็น 12 ล้านคน ในปี 2564 อยู่ในจีนมากที่สุด 39% ตามมาด้วยบราซิล อินเดีย ฯลฯ ในฉากทัศน์ระดับโลก ปี 2030 ยังมีการวิเคราะห์ว่า การจ้างงานภาคพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นอีก 24-25 ล้านตำแหน่ง ขณะที่แรงงานภาคพลังงานฟอสซิลจะหายไปราว 6-7 ล้านตำแหน่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการจัดการตำแหน่งงานที่หายไป กับตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้น เช่น กระบวนการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ทำข้อมูลเกี่ยวกับฐานข้อมูลแรงงาน และหาทางออกสำหรับงานที่ต้องเปลี่ยนไป การใช้เทคโนโลยีสร้างแพลตฟอร์มหางาน โยกย้ายตำแหน่งงานทำให้คนได้งายง่ายขึ้น”

ศุภกิจ ยังเน้นย้ำด้วยว่า ปัจจุบันหมดยุคสำหรับพลังงานถ่านหินแล้ว เพราะไม่คุ้มค่าทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม จึงต้องเร่งหยุดการดำเนินงาน และเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด พร้อมประเมินว่าประเทศไทยสามารถเลิกการใช้ถ่านหินทั้งหมดในภาคการผลิตไฟฟ้าได้ภายในปี 2580 โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าได้เหลือเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า เพียงแต่มีปัญหาเรื่องสัญญาผูกมัดการดำเนินการของโรงไฟฟ้าต่างๆ 25 ปี ที่รัฐได้ทำไว้กับเอกชนก่อนหน้านี้ จึงต้องชั่งน้ำหนักว่า รัฐจะยกเลิกสัญญาเพิ่มรักษาสิ่งแวดล้อม หรือจะให้ดำเนินการต่อแล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก

“ปัจจุบันธนาคารก็ยังให้เงินกู้สำหรับอุตสาหกรรมฟอสซิลอยู่ และโครงการฟอสซิลในเมืองไทยที่ขอเงินกู้ธนาคารไม่ได้ก็มีความพยายามออกพันธบัตรทดแทน ด้วยสัญญาที่ผูกมัดการซื้อขายไฟฟ้าก็ให้ผลตอบแทนดี ทำให้นักลงทุนร่วมทุนและทำให้เกิดการสร้างฟอซซิลที่ไม่จำเป็นในเมืองไทย มีผลต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลต่อค่าไฟฟ้าของไทยไปอีก 25 ปีข้างหน้า รวมถึงการลงทุนด้าน LPG ก็ยังมีผลทำให้เราต้องอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิลไปอีกระยะ”

ศุภกิจ นันทวรการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้