‘สม-ดุลเชียงใหม่’ ชี้ พฤติกรรมกินเนื้อสัตว์มีผลต่อปัญหาฝุ่นควัน

เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ระบุการโทษเกษตรกรฝ่ายเดียวไม่เกิดประโยชน์ แนะภาครัฐ ออกมาตรการเอาผิดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารสัตว์ เร่งบรรเทาปัญหาสุขภาพคนภาคเหนือตอนบน ​​

กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กรีนพีซ ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดงานเทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ครั้งที่ 2 (Eat Healthy Breathe Happily) ที่สวนป่าในเมือง แม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2565 เพื่อสะท้อนปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือที่สาเหตุมาจากระบบอาหารอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ แลกเปลี่ยนมุมมองด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ส่งผลกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน พร้อมจัดเวทีเสวนา หัวข้อ “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร”

ชนกนันทน์ นันตะวัน หัวหน้ากลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ กล่าวว่า กลุ่มสม-ดุล พยายามหาข้อมูลว่าฝุ่นควันมาจากที่ไหนกันบ้างเราต้องบอกว่าความรู้โดยทั่วไปคนมักจะเข้าใจว่าฝุ่นมาจากไฟป่าเป็นหลักแต่พอศึกษาและดูข้อมูล พบว่ามันมาจากหลายสาเหตุโดยเฉพาะการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ขยายมากขึ้น ข้อมูลที่ถูกนำเสนอ ที่ผ่านมาส่วนมากคนมักมองว่าเป็นเรื่องความผิดของเกษตรกรเท่านั้น น้อยคนที่จะทราบว่าใครจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้เพราะว่าเกษตรกรเป็นคนเผาต้องรับผิดชอบเรื่องนี้เท่านั้น แต่เราไม่ตั้งคำถามว่าห่วงโซ่อาหารนี้ใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์สูงสุดที่เกษตรกรต้องเผาหรือที่เกษตรกรต้องปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ จึงเป็นการตั้งต้นให้กลุ่มเข้าไปเป็นมิตรกับเกษตรกร ถามถึงสาเหตุ อาทิ ทำไมถึงปลูก ทำไมถึงใช้สารเคมีเยอะทำไมถึงขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดออกไปเรื่อย ๆ 

คำตอบที่ได้คล้าย ๆ กับทุกพื้นที่ที่ลงไปทำงาน โดยการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้นทุกปี คือ เกษตรกรทำงานแบบบนลงล่าง นโยบายทางเศรษฐกิจเหมือนจะดูดีมีการเข้ามาสนับสนุน โดยการเข้าถึงแหล่งทุนที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่เดินเข้าไปในสถาบันการเงินทั้งนอกและในระบบ แจ้งว่าจะนำเงินไปปลูกข้าวโพดหรือทำเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะได้รับการอนุมัติเงินให้โดยไม่ต้องมีหลักประกันใด ๆ 

สองนโยบายของรัฐที่เข้ามาสนับสนุน คือ การประกันราคาผลผลิตและเหมือนเป็นการประกาศว่ารับซื้อแน่นอน มีแหล่งทุนต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาบางรายมารับซื้อที่หน้าหมู่บ้านทั้งหมดคือการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกร จึงทำให้เหล่าเกษตรกรรู้สึกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความเสี่ยงน้อย ไม่ต้องกังวลเรื่องการขาย ขณะเดียวกันค้นพบว่าเมื่อเกษตรกรเข้าไปในวงจรกลับทำให้พัฒนาต่อไปไม่ได้เพราะพัวพันอยู่ในภาวะหนี้สิน พัวพันอยู่ในความง่ายของการเพาะปลูก และหลุดออกยากเพราะมีภาระติดพันบางอย่าง

ยกกรณีตัวอย่าง เมื่อเกษตรกรเข้าไปทำแล้วเป็นลูกหนี้สินเชื่อนั่นหมายความว่าปีถัดไปในการขายผลผลิต ต้องเอาเงินไปใช้หนี้ที่ยืมมาปรากฏว่าหักลบกลบหนี้แล้วยังมีเงินน้อยไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวหรือตัวเขาเอง ในปีต่อไปหรือไม่เพียงพอในการต่อยอดไปทำอย่างอื่น สุดท้ายก็ต้องวนกลับมาปลูกข้าวโพดเหมือนเดิมเพราะมีเงินทุนรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลปลูกไหนก็ตาม นอกจากการเข้าถึงเงินทุนคือการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์การเข้าถึงปุ๋ยการเข้าถึงยาต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของการปลูก 

ทั้งนี้ ในมิติของการเผาที่ถูกมองว่าเป็นต้นตอของฝุ่นควันนั้น เกษตรกรให้ความเห็นว่าไม่เผาได้แต่ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงรถเกี่ยว รถแทร็กเตอร์ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเช่าค่าน้ำมันตามมา รวมถึงบางพื้นที่ ที่เป็นภูเขารถไม่สามารถที่จะขึ้นได้ทางเลือกนี้เกษตรกรจึงตัดทิ้ง เพราะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุน ขณะที่คำตอบที่ง่ายคือการลงทุนเพียงไม้ขีดไฟก้าน เดียวแค่นั้นก็สามารถที่จะเคลียร์พื้นที่ได้

แต่ที่ผ่านมา ข้อมูลที่ถูกนำเสนอส่วนมากคนมักมองว่าเป็นเรื่องความผิดของเกษตรกรเท่านั้น น้อยคนที่จะทราบว่าใครจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะว่าเกษตรกรเป็นคนเผาต้องรับผิดชอบเรื่องนี้เท่านั้น แต่ไม่ตั้งคำถามว่าห่วงโซ่อาหารนี้ใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์สูงสุด ที่เกษตรกรต้องเผาหรือที่เกษตรกรต้องปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์

“ปัจจัยหนึ่งในนั้นคือประชาชนที่มีพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ เมื่อเนื้อสัตว์สามารถที่จะหาได้ง่ายเราก็จะกินบ่อยขึ้นเยอะขึ้นสิ่งเหล่านี้ทำให้ระบบอุตสาหกรรมหรือผู้ผลิต จะต้องผลิตมากขึ้นแหล่งปลูกก็จะมากขึ้นไปด้วย สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ไม่จบแค่ผู้ร้ายเพียงคนเดียว แต่ตัวละครในเรื่องเต็มไปหมด”

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซประเทศไทย กล่าว่าข้อเสนอจากทางกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่าอยากให้มีกฎหมายหรือมาตรการที่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้และมลพิษทางอากาศที่อาจเชื่อมโยงได้ผ่านทาง พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา

“ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมีการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิต่าง ๆ ตามนโยบายที่สร้างแรงจูงใจของรัฐทางภาครัฐจึงมีข้อมูลของเกษตรกรและพื้นที่ปลูก แต่ยังขาดการเชื่อมโยงว่า บริษัทที่รับช่วงต่อคือใคร หรือความไม่เป็นธรรมของเกษตรพันธสัญญาส่วนใหญ่ เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ หรือแม้แต่เป็นทางการก็มีความไม่เป็นธรรมอยู่ เพราะไม่ได้ระบุว่าบริษัทจะต้องรับผิดชอบอย่างไรในการเชื่อมโยงมลพิษน้ำเสียหรือการหายไปของพื้นที่ป่าหรือการชดใช้ให้เกษตรกรในเชิงสุขภาพ”​

รัตนศิริ กล่าวเพิ่มเติม แม้ในสัญญาอาจจะระบุข้อตกลงในการตั้งจัยเลือกพื้นที่ปลูกซึ่งทำให้บริษัทสามารถหลุดจากความผิดชุดนี้ได้ นี่เป็นสิ่งที่กรีนพีซ ประเทศไทยพยายามจะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าอย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีคนก่อมลพิษระดับใหญ่ เข้ามารับผิดชอบไม่ใช่เพียงอ้างว่าเกษตรกรหรือคนบนดอยเป็นคนเผา จึงจะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นต่อคนปลูกคนกินและคนที่อาศัยอยู่ในเมืองด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กรีนพีซ ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ถึงรัฐบาลว่า “ราวสองทศวรรษที่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนต้องรับความเสี่ยงทางสุขภาพจากปัญหามลพิษทางอากาศ แต่กลับไร้การแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากภาครัฐ อุตสาหกรรมผู้ได้รับผลประโยชน์เชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในห่วงโซ่อุปทานอาหารสัตว์ควรมีภาระรับผิด และถึงเวลาที่ภาครัฐจำเป็นต้องแสดงเจตนารมย์และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือตอนบนของไทย”

ที่มารูปภาพ : กรีนพีซ ประเทศไทย และ สม-ดุล เชียงใหม่

ช่วงกันยายน 2565 กรีนพีซ ประเทศไทยได้เผยแพร่รายงาน ทำร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง เติบโตบนความสูญเสีย: ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย ที่พบว่า การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย จาก 7.03 ล้านไร่ เป็น 7.06 ล้านไร่ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่รวมการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน จากนโยบายเกษตรพันธสัญญา กลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้หลายพื้นที่ที่เคยเป็นป่าหรือพื้นที่เกษตรผสมผสาน ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว

ขณะเดียวกันยังพบว่า 1 ใน 3 ของจุดความร้อนทั้งหมดในอนุภาคลุ่มน้ำโขง พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นี่เอง และอาจเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน รวมถึงการเกิดขึ้นขอจุดความร้อนในฤดูฝุ่นของภาคเหนือ ที่มีตัวเลขไม่ต่ำกว่า 100,000 จุดต่อปี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active