ไทยภักดี ยื่น 1.3 แสนรายชื่อ ค้านแก้รัฐธรรมนูญ

แสดงเจตนารมณ์ “ไม่แก้รัฐธรรมนูญ” หมอวรงค์ ชี้ ปัญหาของประเทศ คือ การคอร์รัปชัน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ย้ำ ปกป้อง รธน. 60 จนถึงที่สุด แจง ลงชื่อผ่านกูเกิลฟอร์ม เพราะค้านแก้ รธน. ไม่มีกฎหมายระบุไว้ แต่สะท้อนจุดยืนประชาชนแล้ว

วันนี้ (23 ก.ย. 2563) นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม นำมวลชนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ไทยภักดี” เดินทางไปยังหน้าอาคารรัฐสภา (เกียกกาย) เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 โดยจัดทำเอกสารและรายชื่อเป็น 2 ฉบับ ยื่นถึงประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร

กลุ่มไทยภักดี นัดหมายรวมตัวกันบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. โดยมีแกนนำผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย เช่น นายแพทย์วรงค์, หฤทัย ม่วงบุญศรี, ชาญณรงค์ ครุฑโต และ บุญเกื้อ ปุสสเทโว

ช่วงหนึ่งของการปราศรัย นายบุญเกื้อ ได้กล่าวโจมตีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมรายชื่อประชาชน 100,732 รายชื่อ โดยกลุ่ม iLaw ที่เกิดขึ้นวานนี้ (22 ก.ย.) โดยระบุว่า เป็นที่ชัดเจนว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่ม iLaw นั้น เป็นกลุ่มตรงกันข้ามกับกลุ่มไทยภักดี ต้องคัดค้านอย่างถึงที่สุด

สำหรับการรวบรวมรายชื่อผ่าน กูเกิลฟอร์ม ที่มีการตั้งคำถามมาก่อนหน้านี้ว่าอาจไม่มีผลในทางกฎหมาย นายแพทย์วรงค์ ชี้แจงว่า เนื่องจากกฎหมายระบุเพียงการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การคัดค้านการแก้ไขไม่มีระบุไว้ในกฎหมาย จึงเห็นว่าเพียงแค่ลงชื่อผ่าน กูเกิลฟอร์ม ที่มีเพียงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ก็น่าจะเพียงพอแล้ว สำหรับแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมระบุความหมายของการชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วของกลุ่มฯ คือ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปราบมาร

สำหรับการยื่นรายชื่อถึงประธานวุฒิสภา มี ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง และ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้แทนรับมอบ โดย พลเอก เลิศรัตน์ ระบุว่า จะนำเอกสารทั้งหมดมอบให้ประธานวุฒิสภา และนำเจตจำนงของประชาชนไปสื่อสารยังสมาชิกฯ แต่ทั้งนี้ ขอให้การตัดสินใจเป็นเอกสิทธิของสมาชิกวุฒิสภาทุกคน และกล่าวยืนยันว่าตนเองจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อประเทศชาติและประชาชน

หลังจากนั้น นายแพทย์วรงค์ ยื่นรายชื่อประชาชนชุดที่ 2 ถึง ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี แทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนในการรับมอบ นายแพทย์วรงค์ ระบุอีกว่า ได้มีการประสานไปยังนายชวน แล้ว แต่ไม่สามารถลงมารับได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากติดภารกิจในการทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ในที่ประชุม จึงมอบหมายให้นายแทนคุณ ในฐานะเลขาฯ เป็นตัวแทนรับมอบ

นายแทนคุณ ระบุว่า เสียงทุกเสียงของประชาชนมีคุณค่า สะท้อนถึงการตั้งใจจริงของการแก้ปัญหาบ้านเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องฟังเสียงของประชาชน และขอให้ประชาชนใช้กลไกรัฐสภาให้เป็นประโยชน์และเป็นทางออกของทุกปัญหา โดยตนจะนำรายชื่อประชาชนทั้งหมดมอบให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยตัวเอง และขอให้ประชาชนใช้ความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่างอย่างถึงที่สุด

ช่วงท้าย นายแพทย์วรงค์ กล่าวย้ำเหตุผล 4 ข้อ ในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาจากการลงประชามติโดยประชาชนกว่า 16 ล้านเสียง หากจะแก้ไข จะต้องทำประชามติเช่นกัน ว่าประชาชนเห็นว่าควรแก้ไขหรือไม่ หากจะตั้ง ส.ส.ร. ต้องทำประชามติ ถามความเห็นของประชาชนก่อน
  2. การแก้รัฐธรรมนูญไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อประชาชน มีแต่ประโยชน์ของนักการเมือง เช่น บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการปราบทุจริตคอร์รัปชัน ที่นักการเมืองต้องการแก้ไข และเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการฉวยโอกาส ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
  3. ไม่มีความจำเป็นที่ประเทศต้องเสียงบประมาณ 1.5 หมื่นล้าน เพื่อแก้ปัญหาของนักการเมือง และ
  4. ปัญหา ส.ว. เป็นเพียงบทเฉพาะกาลที่เหลือเวลาเพียง 3 ปี ก็จะหมดวาระ ซึ่งบทบัญญัตินี้ผ่านการลงประชามติที่ประชาชนให้อำนาจ ส.ว. ไว้เป็นการชั่วคราว

พร้อมระบุว่า หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน ดึงดันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการวินิจฉัย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active