เปิดพื้นที่ปลอดภัย สานเสวนากลุ่มเห็นต่างทางการเมือง

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จับมือนักสันติวิธี เปิดห้องคุยปฏิรูปการเมืองในระบอบประชาธิปไตยฯ “รุ้ง ปนัสยา – ชาญณรงค์ ไทยภักดี” ร่วมด้วย

วันนี้ (22 ก.ย. 2563) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และนักวิชาการด้านสันติวิธี ร่วมกันเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผูู้เห็นต่างทางการเมืองได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง สานเสวนาเยาวชนผู้สนใจการเมือง ภายใต้หัวข้อ ปฏิรูปการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ณ ห้องประชุมธาราเทพ โรงแรมรามาดา บาย วินแดม แบงคอก เจ้าพระยาปาร์ค

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการให้ผู้เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองเช่น กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มไทยภักดี ภาคีนักศึกษาศาลายา และสถาบันทิศทางไทย ได้ทำความรู้จักกัน ผ่านการแนะนำตัว พร้อมเขียนถึงความคาดหวัง และข้อกังวล ก่อนจะแบ่งกลุ่มตามเดือนเกิด เพื่อร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นรายกลุ่ม ในประเด็น “สังคมไทยในอนาคตที่ท่านอยากเห็น” พร้อมสะท้อนวิสัยทัศน์และความรู้สึกต่อการเมืองในอดีต ปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางในการค้นหาคุณค่า และเหตุปัจจัยต่าง ๆ โดยเน้นหลักการฟังและพูด สื่อสารอย่างสันติ ผ่านกระบวนกรที่มีทั้งนักวิชาการด้านสันติวิธี และคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ

ช่วงหนึ่งของการเสวนามีการอภิปรายเรื่องความสัมพันธ์ขององคาพยพต่าง ๆ ในโครงสร้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับวิทยากร โดยมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ เจ้าของนามปากกา ส.ศิวรักษ์ และ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมตอบข้อซักถาม

จากนั้น มีการแบ่งกลุ่มย่อยให้ผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ร่วมเขียนคำถามที่เป็นข้อสงสัยทางการเมือง กระบวนการยุติธรรม และสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยและตอบข้อซักถามระหว่างกันและกัน

ชาญณรงค์ ครุฑโต ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี มองว่า การเปิดพื้นที่กลางช่วยทำให้สามารถสื่อสารและรับฟังกันได้มากขึ้นกว่าการรับฟังข้อเรียกร้อง หรือ จุดยืนของผู้เห็นต่างผ่านสื่อต่าง ๆ โดยได้ยกตัวอย่าง คำว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าการตีความจาก 2 ฝ่าย ก็มีความหมายที่แตกต่างกันแล้ว การได้นั่งพูดคุยอย่างใกล้ชิด มีโอกาสสอบถามพูดคุยกันก็สร้างความเข้าใจต่อกันมากขึ้น

ด้าน ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มองว่า การแลกเปลี่ยนพูดคุยในวันนี้ถือเป็นเรื่องดี ๆ ที่ผู้มีความเห็นต่างสามารถพูดคุยกันได้ แต่หากจะมีเวทีเช่นนี้อีกในอนาคต อยากให้มีการปรับสัดส่วนจำนวนผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมกระบวนการให้ใกล้เคียงกันมากกว่านี้ เนื่องจากครั้งนี้ทางกลุ่มไทยภักดีและสถาบันทิศทางไทยมีจำนวนน้อยกว่า ทำให้การสอบถามและแลกเปลี่ยนอาจจะยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร หากมีการเชิญมาร่วมพูดคุยในลักษณะนี้อีก ก็ยินดีเข้าร่วม

ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเปิดพื้นที่ปลอดภัยในวันนี้ เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างสันติวิธีให้เกิดขึ้นกับผู้ที่มีความเห็นต่าง ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงความต้องการ และข้อเรียกร้อง รวมไปถึงข้อเสนอต่าง ๆ ซึ่งอาจสามารถพัฒนาไปสู่จุดร่วมที่ทุกฝ่ายจะขับเคลื่อนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิติญา เกษกาญจน์

นักข่าวสายหมี ฝันอยากเป็นนักเดินทาง และใฝ่หาความเท่าเทียม