ครูหยุย ชี้ ม็อบไม่เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่มีเป้าหมายชัดเจน แตะประเด็นล่อแหลมเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้คนไม่ยอมรับ
วันนี้ (21 ก.ย. 2563) วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้นบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ใช่แค่กลุ่มนิสิต นักศึกษา แต่เป็นบุคคลทุกเพศทุกวัย เป็นการชุมนุมกันตามปกติที่เห็นกันเป็นประจำในสังคมไทย และเข้าใจว่าตอนที่การชุมนุมเกิดขึ้นนั้น คนที่ฟังอยู่ที่บ้านอยากจะเห็นการอภิปรายบนเวทีว่าต้องการให้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร รัฐบาลมีจุดอ่อนอย่างไร จะเรียกร้องต่อรัฐบาลอย่างไร
แต่เมื่อการชุมนุมเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำให้ความเข้มแข็งและเจตนารมณ์ของกลุ่มชุมนุมอ่อนยวบลง ทำให้การยอมรับก็ต่ำลงและไปไม่ได้ ซึ่งปกติการเดินขบวนทั่วไปจะมีความชัดเจนใน 3 เรื่อง คือ มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าชุมนุมเพื่ออะไร แกนนำคือใคร เพราะแกนนำต้องรับผิดชอบต่อขบวน และการเคลื่อนขบวนที่โดยหลักแล้วจะไม่เคลื่อนง่าย เว้นแต่มีเจตนาที่ชัดเจนว่าจะเคลื่อนไปจุดไหน เรียกร้องอะไรกับใคร
“แต่การเดินขบวนครั้งนี้สับสนมาก ไม่รู้ข้อเรียกร้องคืออะไร ขบวนการเคลื่อนตัวก็ไม่ชัดในเป้าหมาย ซึ่งข้อเรียกร้อง 3 ที่ยืนยันมาตลอด น่าจะเป็น 3 ข้อที่รัฐบาลต้องฟัง แต่เมื่อบิดออกไปเป็น 10 ประการที่ล่อแหลม ความเสื่อมมันเกิด การได้รับการยอมรับก็เลยต่ำลง”
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวัลลภระบุว่า ห้ามเกี่ยวข้องกับหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนการแก้ไขหมวดอื่นไม่ติดใจ ซึ่งรับไม่ได้กับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เกี่ยวกับหมวดดังกล่าว ส่วนจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีปัญหา ซึ่งหากรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้วมีการยุบสภา วุฒิสภาก็ต้องยุบไปตามสภาผู้แทนราษฎรด้วย
ขณะที่ วรวรรณ ธาราภูมิ อดีตประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก วรวรรณ ธาราภูมิ ระบุว่า ผิดหวังกับการชุมนุม เนื่องจากคาดหวังว่า จะได้รับฟังแนวคิดที่มีประโยชน์และอาจจะแตกต่างจากคนรุ่นหลาน และยังคาดหวังว่าแนวคิดเหล่านั้นจะนำพาไปสู่การปรับปรุงแนวปฏิบัติของชนชั้นปกครองได้ แต่กลับพบความจริงว่าผู้ชุมนุมตั้งใจโจมตีบั่นทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่เห็นคุณค่าของการชุมนุมตามที่คาดหวัง รวมถึงไม่เห็นประโยชน์ของการจะสนับสนุน
“การปักหมุดคณะราษฎร การย่ำยีสถาบันสูงสุดในแบบที่ทำ มิได้ทำให้คนกินดีอยู่ดี มิได้ลดความเหลื่อมล้ำ มิได้ทำให้เกิดความสามัคคีในคนไทยด้วยกันเลยสักนิด แถมยังไปช่วยผลักดันคนที่กำลังหงุดหงิดกับรัฐบาล ทำให้เขาจำต้องเลือกข้างนายกฯ อีกครั้ง เพราะทนรับฟังพวกท่านก้าวร้าวต่อสถาบันสูงสุดไม่ไหว”
ทั้งนี้ การชุมนุมที่ใช้ชื่อกิจกรรม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นการนัดหมายและจัดการชุมนุมโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ซึ่งเป็นการจัดชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกจัดที่ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. และมีการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะที่ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะประชาชนปลดแอก” คือ กลุ่มที่มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 2 หลักการ และ 1 ความฝัน โดย 3 ข้อเรียกร้อง คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ ยุบสภา โดยอยู่บน 2 หลักการ คือ ไม่มีการรัฐประหารและไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝัน คือ การมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประกาศในการชุมนุมใหญ่ของคณะประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 ส.ค.