คาด กฎหมายชาติพันธุ์ ร่างเสร็จ ต.ค. นี้

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เผย เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาภายใน มี.ค. 2564 พร้อมเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้สังคมและชุมชนชาติพันธุ์

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 ในงานเสวนาและนำเสนอบทเรียนการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งมีเครือข่ายชุมชนชาติพันธุ์ นิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และวัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษเข้าร่วม

มีการนำเสนอข้อมูลของนักวิจัยโครงการบัณฑิตอาสาสมัครวิทยาลัยป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเสนอผลการศึกษาและถอดบทเรียนการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ 4 พื้นที่แรก ที่ประกาศโดยกระทรวงวัฒนธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 คือ บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย, บ้านหนองมณฑา หรือ มอวาคี ต.แม่วาง จ.เชียงใหม่, ชุมชนบ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก และ บ้านจะแก ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

ซึ่งแม้ทั้ง 4 พื้นที่จะมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรบนฐานองค์ความรู้ชุมชน ที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนและมีความโดดเด่นแตกต่างกันคนละด้าน แต่พบว่า มีเพียง 2 พื้นที่เท่านั้น ที่เดินหน้าตามมติ ครม. ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม คือ บ้านห้วยหินลาดใน และบ้านมอวาคี ซึ่งจุดแข็งคือเป็นพื้นที่ที่มีการเตรียมความพร้อม และมีองค์กรชุมชน หรือมีความเข้มแข็งในชุมชนอยู่แล้ว แต่อีก 2 พื้นที่ คือ ชุมชนเลตองคุและบ้านจะแก ยังไม่ชัดเจนในรูปธรรม และพบจุดอ่อน หรืออุปสรรคที่สำคัญ คือ ชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจในการที่จะนำมติ ครม. นั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ และขาดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนและความเข้มแข็งของชุมชน

สำหรับจุดแข็ง รวมถึงจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรค จากการถอดบทเรียนดังกล่าว ถือเป็นแนวทางสำคัญ ที่นอกจากจะนำไปแก้ไขเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษที่ประกาศแล้ว และเตรียมประกาศเพิ่มให้ขยายต่อสู่รูปธรรมที่ชัดเจน อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า จะนำมาเป็นแนวทางสำคัญต่อการเดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรกำลังจัดทำร่างอยู่ในขณะนี้

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม, ส่งเสริมการจัดการตนเองบนฐานวัฒนธรรม และสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญ ที่ทำให้ภาคประชาชนมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับในการจัดการตนเองมากขึ้น ซึ่งจะหนุนเสริมมติ ครม. ให้เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“การถอดบทเรียน 4 พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ เมื่อเราเห็นว่า จุดอ่อนหรืออุปสรรค เพราะชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจและการเตรียมพร้อมต่อมติ ครม.นี้ ดังนั้น ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากการรวบรวมประเด็นและปัญหาต่าง ๆ เพื่อร่างกฎหมายแล้ว ต้องทำควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างความเข้าใจให้สังคม รวมถึงชุมชนชาติพันธุ์ เช่น การจัดเวทีสร้างความรู้ และการตั้งทีมพัฒนาชุมชน ร่วมกับมหาวิทยาลัย และวัฒนธรรมจังหวัด เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความเข้าใจในกฎหมายดังกล่าว”

นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นประกายความหวัง เป็นเครื่องมือให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้ทำความเข้าใจตัวเอง รวมถึงคนอื่น ๆ ได้เข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ แต่อย่ามองว่าการได้มาซึ่งกฎหมายคือเป้าหมายสุดท้าย ยังมีสิ่งที่ต้องทำต่อ เช่น การศึกษาหรือดูตัวอย่างประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมือง ว่ามีข้อดี และปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถเตรียมการแนวทางการทำงานหรือขับเคลื่อนต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ด้าน ผศ.วรวิทย์ นพแก้ว นักวิจัยพื้นที่ชุมชนเตรียมประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ เห็นว่า การผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาของคนอยู่กับป่า แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการแก้ไขกฎมายป่าไม้ทั้ง 3 ฉบับ ที่สวนทางกับมติ ครม. ดังกล่าวด้วย

“เพราะกระแสการอนุรักษ์ ต้องควบคู่กับมิติทางสังคมหรือมิติทางนิเวศวัฒนธรรมไปด้วย ในเรื่องของกฎหมายที่มันยังย้อนแย้ง ก็จำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราต้องเข้าไปวิเคราะห์แต่ละตัวบท แต่ละมาตราว่าตรงไหนยังสวนทางกันอยู่ เพราะอีกด้านหนึ่ง เรากำลังจะชูเรื่องมิติทางวัฒนธรรม โดยมีจะมีกฎหมายใหม่มาคุ้มครองวิถีวัฒนธรรม แต่หากกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องยังย้อนแย้งปะทะกันอยู่ จะสำเร็จได้จริง ๆ ต้องมีอันหนึ่งปรับลดลง อันหนึ่งเข้าไปแทน”

ทั้งนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร คาดว่าจะจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้น จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนมีนาคม 2564 และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาร่วมในเดือนพฤษภาคม 2564

ดูเพิ่ม

ถอดบทเรียน 1 ทศวรรษ คุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ