พีมูฟ เตรียมเคลื่อนไหว แก้กฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับ

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ชี้ ขัดรัฐธรรมนูญ – หลักประชาธิปไตย พร้อม ชู หลักสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร

วันนี้ (2 กันยายน 2563) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ จัดเวทีพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ณ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อระดมปัญหาและผลกระทบจากปัญหาที่ดินในระดับพื้นที่ รวมถึงในระดับโครงสร้าง เพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไข

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ ย้ำว่า ปัญหาที่ดินป่าไม้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ จึงมีที่มาที่ไป ยกตัวอย่างเช่น การตราพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2548 มีจุดประสงค์เพื่อสัมปทานป่าไม้ หรือการตั้งกรมป่าไม้ในปี 2439 ก็เพื่อสัมปทานป่าไม้ จนพื้นที่ป่าลดลงอย่างมหาศาล แต่ชุมชนในป่ากลับถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของการลดลงของป่า เห็นได้จากแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สร้างมายาคตินี้ และถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอ ทำให้สิทธิชุมชนหายไป เหลือเพียงการอนุญาต โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ลิดรอนสิทธิชุมชน เช่น ต้องทำกินต่อเนื่อง ต้องมีสัญชาติไทย ต้องไม่เป็นพื้นที่ล่อแหลม ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 หรือ 2 เป็นต้น จึงต้องกลับมาพูดเรื่อง “สิทธิ” ในฐานะคนที่อยู่ในป่ามาก่อนประกาศเป็นเขตป่าของรัฐประเภทต่าง ๆ

ด้าน วิทวัส เทพสง จากชุมชนบ้านบนไร่ ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เห็นว่า สิทธิชุมชนไม่ได้รับการรับรองใน พ.ร.บ. ทั้งสามฉบับ เช่น สิทธิทางประวัติศาสตร์ สิทธิทางวัฒนธรรม ที่กฎหมายเดิมก็เปราะบางอยู่แล้ว แต่กฎหมายใหม่กลับยิ่งทำให้เปราะบางกว่าเดิม สิทธิความเป็นพลเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ไร้สถานะก็เข้าไม่ถึงกระบวนการอนุญาต และยังมีสิทธิในการอยู่อาศัย การทำกิน การดำรงพื้นที่ทางวัฒนธรรม และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของชุมชนเอง

“สิทธิในแหล่งหากินที่กฎหมายได้คำนึงถึงเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจ มากกว่าความยั่งยืนของทรัพยากรและการดำรงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ อย่างชาวเลจะเผชิญเรื่องการรุกเข้ามาของแหล่งท่องเที่ยว อย่างการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ป่าชายเลน ทำให้ไม่สามารถเข้าไปทำกินได้ โดนจับกุม โดนยึดเครื่องมือในการทำประมง”

บัญชา มุแฮ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน สะท้อนว่า สิทธิและความชอบธรรมในการอยู่ในพื้นที่บรรพบุรุษเป็นสิทธิพื้นฐานทั่วไปที่มนุษย์พึงมีอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญก็รับรอง กฎหมายระหว่างประเทศมากมายก็รับรอง โดยชุมชนดอยช้างป่าแป๋มีอายุราว 200 ปี อยู่ในชุมชนมาก่อนกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับ

“อีกส่วนที่สำคัญ คือทรัพยากรที่เราอยู่มีความสมบูรณ์ด้วยการใช้ภูมิปัญญาในการจัดการ ต่อให้จะอีก 50 ปี หรือ 100 ปี ถ้าภูมิปัญญาและวิถีดั้งเดิมได้รับการคุ้มครอง รักษาไว้ นั่นคือทรัพยากรทั้งหมดก็จะยังอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม โดยไม่ถูกทำลาย และจะต้องไม่ถูกกฎหมายอื่น ๆ มาประกาศทับสิทธิ เมื่อไรที่มีการมาประกาศทับพื้นที่ ก็เป็นการทำลายวิถีวัฒนธรรมด้วย เช่น การทำไร่หมุนเวียน มีพิธีกรรมที่หลากหลาย แต่ถ้าวันหนึ่งถูกควบคุมและถูกจำกัดสิทธิ ถูกกฎหมายอื่น ๆ มาประกาศทับ วิถีเราจะหายไป ไร่หมุนเวียนจะหายไป”

ด้าน สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เห็นว่า กฎหมายทั้งหมดที่ออกมาให้อำนาจรัฐในการกำหนดทุกอย่าง ว่าประชาชนจะมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างไร เป็นระบบอนุญาต เป็นแนวคิดที่เก่ามากและมีปัญหามาตลอด ปัจจุบันรัฐก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนความคิด เช่น มองว่าชุมชนที่อยู่ในป่าเป็นผู้บุกรุก ขัดกับหลักการสากลที่ยอมรับว่าชุมชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์เป็นผู้ทรงสิทธิ์ มีสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรเทียบเท่ากับรัฐ

“ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าชุมชนไม่ได้ทำลาย แต่เขารักษา อนุรักษ์ ถ้าดูจากป่าที่มีปัจจุบันหลังปิดสัมปทานป่าไม้ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญในการที่จะบอกว่า ชุมชนเป็นผู้ทำลาย แต่รัฐออกแบบกฎหมายมาแรงมาก โทษหนักมาก ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญรับรองสิทธินี้มาตั้งแต่ปี 2540 หมายความว่าชุมชนในป่าอนุรักษ์เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่รัฐทำเป็นมองไม่เห็น ซึ่งพีมูฟรับไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนทั้งหมด ต้องลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตัวเอง เพราะกฎหมายนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการสากล ละเมิดสิทธิชุมชน ขัดหลักประชาธิปไตย”

ทั้งนี้ กระบวนการสำรวจขอบเขตพื้นที่ทำกินของชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้เสร็จสิ้นลงแล้วตามเงื่อนไข 240 วัน นับแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขตามกฎหมายลำดับรองที่ชุมชนกังวลว่า จะกระทบต่อวิถีชุมชน พีมูฟจึงหารือแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมาย หรือเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ออกจากพื้นที่ชุมชน และยืนยันใช้หลักการสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร โดยเตรียมขับเคลื่อนเสนอต่อรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ