ประมงพื้นบ้าน บุกกรุง

ทวงคำตอบ 14 ข้อจากรัฐบาล หลังไม่คืบหน้าแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นปี 63 ระบุ อาจปักหลักชุมนุมที่กรุงเทพฯ จนกว่ามีคำตอบที่ชัดเจน

วันนี้ (2 ก.ย. 2563) ตัวแทน สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเนื่องจากไม่มีความคืบหน้าหลังกลุ่มประมงพื้นบ้านได้นำเสนอปัญหาต่อรัฐบาล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และหลายกรณีกลับมีสถานการณ์ปัญหาที่รุนแรงขึ้น เช่น ปัญหานายทุนยึดพื้นที่เพาะเลี้ยง ปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเครื่องมือการประมงศักยภาพสูง รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำของสัดส่วนในการจับสัตว์น้ำมีมากขึ้น

โดยครั้งนี้กลุ่มประมงพื้นบ้านได้ยื่น 14 ข้อเสนอ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลต้องหยุดยั้งการประมงที่ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยการกำหนด ชนิด ขนาด และสัดส่วน พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ห้ามทำการประมงช่วงวัยอ่อน, ให้รัฐบาลออกระเบียบควบคุมการใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ ลดจำนวนของเรือปั่นไฟจับสัตว์น้ำที่ใช้อวนตาถี่ และกำหนดให้เรืออวนลากคู่ทำการประมงในระยะห่างจากชายฝั่งทะเล 15 ไมล์

เปลี่ยนการกำหนดโควต้าการจับสัตว์น้ำ จากจำนวนวัน (240 วัน) เป็นปริมาณน้ำหนักที่แท้จริง เพราะการให้โควต้าเป็นจำนวนวันดังกล่าว เป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรมกับชาวประมงพื้นบ้าน เนื่องจากเรือประมงขนาดใหญ่สามารถใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำได้มากกว่า โดยข้อมูลปี 2562 พบว่า กลุ่มประมงพาณิชย์จับสัตว์น้ำไปถึง 1.4 ล้านตัน แต่ชาวประมงพื้นบ้านจับได้แค่ 1.6 แสนตัน

แก้ไขปรับปรุงกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 บางส่วน เพื่อให้เป็นธรรมกับประมงพื้นบ้าน, จัดตั้งกองทุนประมงพื้นบ้านและสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาการประมงพื้นบ้านแบบครบวงจร โดยสนับสนุนกองทุนประมงพื้นบ้านลงถึงแต่ละจังหวัด เน้นส่งเสริมตามระดับกิจกรรม ทั้งในด้านต้นทุนการประมง การอนุรักษ์ทรัพยากร ช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติและกรณีเครื่องมือเสียหายหรือเครื่องมือหายโดยไม่ทราบสาเหตุ

จัดตั้ง “โรงเรียนชาวประมงยั่งยืน” เพื่อตอบสนองการประมงสมัยใหม่ นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับภูมิปัญญาและหลักความเชื่อชุมชนได้อย่างมีเหตุผล โดยให้ผู้นำชาวประมงตัวอย่างเป็นผู้มีส่วนร่วมควบคุมบริหารจัดการ ให้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่เผยแพร่ความรู้การทำประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์ที่รับผิดชอบ โดยหลักสูตรอาจประกอบด้วย หลักการทำประมงรับผิดชอบ ภูมิอากาศ ทักษะการจับปลา ความปลอดภัยกฎหมาย และมีการรับรองเมื่อจบหลักสูตร

ทั้งนี้ พันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน เป็นผู้แผนรับหนังสือ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา โดยตัวแทนประมงพื้นบ้านระบุว่า หากไม่ได้คำตอบถึงความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม กลุ่มประมงพื้นบ้านอาจปักหลักชุมนุมที่กรุงเทพฯ จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว