ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา คดีรณรงค์ VOTE NO ประชามติ

ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาคดีสติกเกอร์รณรงค์โหวตไม่รับร่าง รธน. 60 ยกฟ้อง 5 จำเลย ลั่น หนุนปิดสวิตช์ ส.ว. – ร่าง รธน. ใหม่ทั้งฉบับ

วันนี้ (26 ส.ค. 2563) เวลา 09.00 น. ที่ ศาลจังหวัดราชบุรี มีนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีสติกเกอร์โหวตโน หรือ รณรงค์ทำประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2559 ระหว่างสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 4 คน (ในขณะนั้น) ประกอบด้วย ปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต , อนันต์ โลเกตุ และภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ที่เดินทางไปให้กำลังใจกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งถูกออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีถ่ายรูปเปิด “ศูนย์ปราบโกงประชามติ”

การเดินทางครั้งนั้นมี ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท ติดตามไปทำข่าวด้วย โดยทั้ง 5 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม หลังตรวจพบเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และสติกเกอร์มีข้อความ “โหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” โดยเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2 และขัดประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25 กรณีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ

คดีนี้ ศาลชั้นต้นยกฟ้องข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ส่วนข้อหาขัดคำสั่งไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ทั้งหมดรับสารภาพ ศาลสั่งปรับ 1,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือปรับ 500 บาท ต่อมาอัยการยืนอุทธรณ์ ศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จากนั้นจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา กรณีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากเห็นว่าประกาศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องของจำเลยฟังขึ้น จึงพิพากษายกฟ้อง

ปกรณ์ อารีกุล ให้สัมภาษณ์หลังจากฟังคำพิพากษาว่า คดีนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีความชอบธรรม ทั้งในกระบวนการร่างที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และกระบวนการประชามติที่ไม่เป็นธรรม นอกจากกลุ่มตนแล้วยังมีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 212 คน ทำให้บรรยากาศในการลงประชามติไม่มีการเสนอนำและถกเถียงประเด็นต่าง ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญประชาชนหลายคนเพิ่งรู้หลังจากเลือกตั้งว่า ส.ว. 250 คน สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ นายปกรณ์ เห็นว่า ควรปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน และเปิดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ด้าน อนุชา รุ่งมรกต กล่าวด้วยว่า รู้สึกยินดีที่วันนี้ได้รับความเป็นธรรม แต่เมื่อคิดย้อนกลับไปตลอดระยะเวลาที่เกิดคดีนี้ขึ้น ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับชีวิตอย่างมากจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง พร้อมระบุว่า คดีนี้ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อมีการทำประชามติก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เเสดงความเห็นอย่างเต็มที่ หากมีการปิดกั้นการแสดงออก ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการทำประชามติที่แท้จริง การฟ้องร้องดำเนินคดีในช่วงนั้น ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน ซึ่งในเวลานั้น กลุ่มรณรงค์พยายามชี้ให้เห็นปัญหาของ ส.ว. 250 คน ว่าจะสร้างปัญหาให้กับกระบวนการประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ปัญหาต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว

ขณะที่ ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ระบุว่า หากพูดอย่างตรงไปตรงมา การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น หมดความชอบธรรมไปนานแล้ว ไม่เพียงแค่ปัญหาของกระบวนการร่าง และกระบวนการทำประชามติเท่านั้น แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ กับรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับ เนื่องจากมีการนำกลับไปแก้ไขก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นคำถามสำคัญว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มาจากประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active