นักสื่อสารมวลชนขอ เคารพความเห็นต่าง

ชี้ พฤติกรรม “ล่าแม่มด” หรือ “บูลลี่” ศิลปินนักแสดงที่เห็นต่าง สะท้อนความย้อนแย้งข้อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น

รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า #วันนี้ดาราcalluotหรือยัง ในขณะนี้ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เป็นไปตามหลัก Social movement ที่ต้องการสื่อสารเพื่อให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ และการทำให้การชุมนุมเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในอดีตเคยมีดาราออกมาเคลื่อนไหวเองด้วย ส่วนใครที่ไม่ออกมาร่วมก็จะถูกมองว่าไม่รักชาติ

ครั้งนี้ไม่ต่างกัน เพียงแต่เป็นการเคลื่อนไหวกดดันกันในโลกออนไลน์ ซึ่งในฐานะผู้บริโภค ประชาชนมีสิทธิจะไม่ติดตามผลงานของเขาอีกต่อไป แต่หากเป็นการแบนผลงาน หรือทำให้ดารา ศิลปินคนนั้นไร้ที่ยืนในสังคม ก็ต้องกลับมาทบทวนว่าแตกต่างจากการเคลื่อนไหวในอดีตอย่างไร

“ต้องบอกว่านี่เป็นอีกม็อบหนึ่งในระบบการเมืองไทย ที่เกิดขึ้นเป็นปรากฎการณ์หนึ่งที่เป็นม็อบของคนรุ่นใหม่ ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ค่อนข้างมาก ดังนั้น การที่เขาสามารถระดมคนได้ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นการระดมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในเชิงปรากฏการณ์ของม็อบนี้ ก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากม็อบอื่น เช่น ม็อบพันธมิตร ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้”



หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ อธิบายว่า หลักการที่ทำให้ม็อบได้รับความชอบธรรมมี 2 ระดับ อย่างแรก คือ ความต้องการให้เกิดการตระหนักรู้ในสังคม ต้องการให้สังคมรู้ว่าเขากำลังเรียกร้องเรื่องอะไรอยู่ ต้องการให้สังคมหันมามองเขา อย่างที่สอง คือ ต้องการทำให้ม็อบเป็นที่ยอมรับและได้รับความชอบธรรมในฐานะที่ตนเองออกมาเรียกร้อง

“เขาก็อยากให้มวลชนมองเขาในแง่บวก ดังนั้น การดึงดารานักร้องหรือเซเลบริตีเข้ามาร่วม ก็เหมือนเป็นกลยุทธ์หนึ่งของกระบวนการเรียกร้องที่ต้องการให้ม็อบเป็นที่รู้จัก ผ่าน Influencer หรือผ่านดารานักร้องต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียง เพื่อให้สังคมได้รับรู้การเกิดขึ้นของม็อบมากขึ้น เพราะเมื่อดาราซึ่งมีภาพลักษณ์ที่มีคนชื่นชอบมีแฟนคลับเข้ามามีส่วนร่วมในการชุมนุมนั้น ๆ ก็อาจจะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดคนที่อาจจะไม่มีความสนใจในการเมืองกระโดดเข้ามาทำความรู้จักกับการชุมนุมนี้มากขึ้น และรู้จักกับข้อเรียกร้องของเขา”



อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเรียกร้องพื้นฐานในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ คือ การเรียกร้องในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่ได้ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องเหล่านี้จะได้รับการตอบรับจากดาราหรือศิลปิน ซึ่งผู้ชุมนุมก็ต้องยอมรับความเห็นต่างของคนที่พวกเขาชื่นชอบด้วย และไม่กระทำการบูลลี่เพราะกลายเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับข้อเรียกร้อง

“เมื่อเราเรียกร้องบนฐานประชาธิปไตย เราก็ต้องยอมรับความแตกต่าง ดารานักร้องเหล่านี้ ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับเรา เขาก็มีสิทธิที่จะมีจุดยืนที่จะไม่กระทำการใด ๆ และไม่เห็นด้วย และถ้าเราไปล่าแม่มดหรือไปบูลลี่คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา นี่ก็จะเป็นการสะท้อนภาพด้วยว่า เมื่อสิ่งที่พวกเขากำลังเรียกร้องอยู่ก็คือ เสรีภาพในประชาธิปไตย สิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง มันมีความย้อนแย้งกับสิ่งที่เขากำลังจะทำกับดารานักร้องเหล่านั้นเหมือนกัน”



รองศาสตราจารย์พิจิตรา ระบุอีกว่า ดารานักร้องก็เป็นพลเมืองหนึ่งในสังคมไทย มีสิทธิที่จะตัดสินใจใด ๆ ในสิทธิของเขา ดังนั้น การที่เขาไม่เข้ามาเป็นแนวร่วม และท้ายสุดนำไปสู่การบูลลี่หรือการล่าแม่มด ก็สะท้อนให้เห็นว่า การชุมนุมในปัจจุบันก็ไม่มีความแตกต่างกับการชุมนุมในสมัยก่อนที่มีความขัดแย้งทางการเมืองที่สูงมาก และเล่นเกมส์เพื่อแค่อยากชนะกัน ทำให้เกิดการล่าแม่มดหรือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น ซึ่งจุดนี้เป็นการบั่นทอนประชาธิปไตยด้วย

ส่วนการแบนผู้ที่ไม่อยู่ฝั่งเดียวกับผู้ชุมนุม รองศาสตราจารย์พิจิตรา เห็นว่า โดยส่วนตัวแฟนคลับมีสิทธิที่จะไม่ Follow ดารา หรือไม่เป็นแฟนคลับอยู่แล้ว แต่สำหรับการแบนที่เกิดขึ้น ถ้าหมายถึงการรณรงค์ไม่ให้บุคคลนั้นมีที่ยืน กรณีนี้ก็ไม่ต่างจากคำพูดที่ว่า ถ้าไม่รักชาติก็ออกไปจากประเทศนี้

“มันเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ละคนมีอาณาเขต มีพื้นที่การตัดสินใจของตนเอง ดังนั้น การที่เขาจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล”



รองศาสตราจารย์พิจิตรา ย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องในระดับไหน ประเด็นสำคัญคือต้องเคารพเสียงของคนอื่น เพราะปัจจัยที่ส่งเสริมประชาธิปไตย การเคารพความหลากหลาย ความเห็นที่แตกต่าง รัฐบาลก็ต้องฟังเสียงเยาวชนว่าเขากำลังเรียกร้องอะไรอยู่

“การเรียกร้องไม่ใช่ปัญหาสำหรับสังคมประชาธิปไตย เห็นต่างได้ ขึ้นมาเรียกร้องได้ สร้างม็อบเพื่อให้มวลชนเห็นประเด็นปัญหาที่เรากำลังเรียกร้อง เพียงแต่สิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยเสื่อมถอยก็ คือ ความรุนแรง ดังนั้น ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ก็ต้องไม่ใช้ความรุนแรง และมีความละเอียดอ่อนในการใช้ภาษาทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ในเรื่องที่เป็นการคุกคาม ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นในสังคม”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active