ประกาศเจตนารมณ์ แม่ฮ่องสอนเมืองวัฒนธรรมพิเศษ

ผลักดัน 3 ข้อ!
เขตวัฒนธรรมพิเศษยกจังหวัด
ต้นแบบจัดการทรัพยากรด้วยไร่หมุนเวียนตามหลักจารีตวัฒนธรรม
ยกระดับเป็นกฎหมายชาติพันธุ์


องค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน และภาคีเครือข่าย ร่วมอ่านแถลงการณ์ในโอกาสครบรอบ 10 ปี มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เตรียมผลักดันให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดต้นแบบในจัดการทรัพยากรด้วยระบบไร่หมุนเวียนตามหลักจารีตวัฒนธรรม พร้อมนำเสนอรูปธรรมการจัดการวีถีชีวิตในชุมชน ด้านการศึกษา การจัดการทรัพยากร วัฒนธรรม

แถลงการณ์ระบุว่า เนื่องจากความโดดเด่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 7,987,808 ไร่ มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเป็นพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าทั้งหมด 6,958,612 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 89 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด และยังมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งกะเหรี่ยง, ม้ง, ลีซู, ลาหู่, ลั๊วะ, จีนยูนนาน, ปะโอ, กะแย และไทใหญ่ ฯลฯ ซึ่งแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ล้วนมีประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่มีคุณค่าเฉพาะที่แตกต่างหลากหลาย และสัมพันธ์กับท้องถิ่น ถือเป็นจุดเด่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ความหลากหลายทางวิถีสังคมวัฒนธรรมเหล่านี้ ยังผูกโยงแนบแน่นกับการกับการสั่งสมประสบการณ์ การดำรงความรู้ภูมิปัญญาควบคู่กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการปรับตัวในวิถีชีวิตต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็น “แม่ฮ่องสอนเมืองวัฒนธรรมพิเศษ” ที่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ และมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553

หากแต่ในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญกับการคุกคาม กลายเป็นกลุ่มเปราะบางภายใต้กฎหมายและนโยบายของรัฐที่กดทับ ยึดแย่งและกีดกันสิทธิดั้งเดิมในการจัดการทรัพยากรเชิงวัฒนธรรม อันเป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เป็นการละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งสิทธิในที่ดินทำกิน การพัฒนาคุณภาพชีวิต การกำหนดเจตจำนงและดำรงวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งผลต่อการถูกจำกัดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ต้องเผชิญกับการถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า ตกเป็นผู้ต้องหา จำเลยในคดีอาญา และจำเลยทางสังคมอย่างไม่เป็นธรรม

ในโอกาสครบรอบ 10 ปี มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย “แนวนโยบายและหลักปฏิบัติฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง” จึงเสนอให้ “จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษทั้งจังหวัด” ร่วมกับเครือข่ายชาติพันธุ์อีก 20 พื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน ตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี กำแพงเพชร แพร่ สุโขทัย ราชบุรี และจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รณรงค์ตลอดปี 2563

นอกจากนี้ ขอยืนหยัดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ตามหลักวิถีวัฒนธรรม อันเป็นภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นเครื่องมือในการจัดการทรัพยากร เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า รักษาแม่น้ำ สร้างความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายของระบบนิเวศต่อไป

และขอผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” เพื่อเป็นกฎหมายการส่งเสริม สนับสนุน ฟื้นฟูวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ คุ้มครองสิทธิในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของทุกกลุ่มชาติพันธุ์โดยเร็วที่สุด ซึ่งรวมถึงสิทธิในที่ดินและทรัพยากร อัตลักษณ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญา สัญชาติ ภาษา พร้อมสร้างกลไกในการผลักดันจนถึงที่สุด

Author

Alternative Text
นักเขียน

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ