ดัน ‘แม่ฮ่องสอน’ เป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษทั้งจังหวัด

เครือข่ายภาคประชาสังคม ชี้ จะเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 10 ปี มติ ครม. 3 ส.ค. 53 ฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง

เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน และองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาสังคม วิชาการ และภาครัฐ ร่วมประกาศเสนอให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้นแบบพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษทั้งจังหวัดแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
.
.

เปิดเหตุผลการเสนอแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษยกจังหวัด

“ถ้าเราเหมือนก็คงไม่ต้องทำ แต่เพราะเราต่าง มีความแตกต่างหลายอย่างในพื้นที่ จึงต้องทำ” ประโยคแรกเมื่อถามถึงที่มาการประกาศสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน จาก ‘อัครเดช วันไชยธนวงศ์’ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เข้าใจวิถีชีวิตและเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาอย่างยาวนาน

ด้วยพื้นที่แม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่า ประมาณ 6,860,611.94 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 85.99 ของพื้นที่ สมัยที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ออกกฎหมายในเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ แต่กลับละเลยในเรื่องของชุมชนดั้งเดิมที่เคยอยู่มาก่อน จนเป็นเหตุให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มี 415 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้มากถึง 347 หมู่บ้านที่อยู่ในเขตป่า ต้องกลายเป็นผู้บุกรุก ทั้งที่ทำกินบนผืนดินของบรรพบุรุษตัวเอง มาโดยตลอด

“ปัญหานี้ส่งผลให้คนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกลายเป็นคนจน ถึง 3 จน จนที่ 1 คือจนสิทธิ ที่ดินทำกิน จนที่ 2 คือจนโอกาส และจนที่ 3 จนเงินจนรายได้ เพราะตกสำรวจที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญานตามวิถีวัฒนธรรม มีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน ทับซ้อนพื้นที่บรรพบุรุษ เกิดปัญหาการเข้าถึงการพัฒนาด้านต่างๆ กลายเป็นจังหวัดที่มีอัตราความก้าวหน้า หรือคนจนมากที่สุดในประเทศ”


นอกจากนี้ประชากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนราว 284,138 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เช่น ม้ง, สีซู, ลาหู่ดำ, ลาหู่แดง, ลั๊วะ, จีนยูนนาน, กะเหรี่ยงโปว์, ปะโอ, กะแย และไทใหญ่ มากที่สุดคือกะเหรี่ยงถึง 79.3 % ล้วนมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมในการพึ่งพาอาศัยและดูแลป่า ตามคำสอนของบรรพบุรุษว่า เมื่อเราดูแลป่า ป่าก็ดูแลเรา ทำให้วิถีชีวิตคนที่นี่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตรอย่างไร่หมุนเวียนในการรักษาดูแลป่า ทำให้สามารถรักษาป่าผืนใหญ่ให้กับคนทั้งประเทศ ให้ยังคงสมบูรณ์ เมื่อมีป่า ก็มีน้ำที่สะอาดนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ซึ่งเป็นเพราะวิถีชีวิตการอนุรักษ์การทำไร่หมุนเวียน ที่ไม่ต้องใช้สารเคมี ทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ

พื้นที่ไร่หมุนเวียนยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญ พิสูจน์จากเวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การระบาดของเชื้อโควิด-19 ประชาชนที่นี่ยังสามารถอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน เพราะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์และหลากหลายในไร่หมุนเวียน และยังเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถแบ่งปันข้าวที่มีในไร่หมุนเวียนไปช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารในช่วงโควิด 19 ได้

“ด้วยบริบท วิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างนี้ จึงไม่อาจใช้ระเบียบเหมือนพื้นที่อื่นมาใช้วัดหรือจัดการพื้นที่นี้ จึงมีความสำคัญที่ต้องยกระดับจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้เป็นพื้นที่ เขตวัฒนธรรมพิเศษทั้งจังหวัด”

  • เพื่อร่วมกันนำเสนอรูปธรรมในการจัดการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค.2553 เพื่อพื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในด้านต่าง ๆ ทั้งการศึกษา อัตลักษณ์ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่จะรักษาความสมบูรณ์ของธัญพืชธัญญาหาร ผ่านระบบการทำไร่หมุนเวียน
  • เพื่อรณรงค์ ให้มติ ครม. ดังกล่าว เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน และผลักดัน ให้มีการนำไปปฏิบัติจริง เพื่อปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตของทุกกลุ่มชาติพันธุ์และยกระดับสู่การประกาศให้เป็นพระราชบัญญัติ
  • เพื่อผลักดันให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูวิถีชีวิตตามวิถีแห่งชาติพันธุ์ดั้งเดิม จนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบ

.
.

‘ปฏิญญาแม่ฮ่องสอน’ สืบทอดภูมิปัญญาระบบไร่หมุนเวียนและการจัดการทรัพยากร

ภาคประชาชนจังหวัดแม่สอน ร่วมกันอ่าน “ปฏิญญาแม่ฮ่องสอน” ว่าด้วยการสืบทอดภูมิปัญญาระบบไร่หมุนเวียนและการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เนื่องในวาระการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมุดหมายสำคัญ ที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวแม่ฮ่องสอน จะร่วมกันยืนหยัดในวิถีชีวิต และประกาศเจตนารมณ์ต่อสังคม เพื่อยืนยันว่า จะยังดำรงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ เพื่อให้เป็นมรดกสืบทอดสู่ลูกหลาน

พร้อมยืนยันเพื่อให้เห็นว่าไร่หมุนเวียน คือ แหล่งความมั่นคงทางอาหารอันมีความสำคัญสูงสุด คือ เลือดเนื้อ คือ ชีวิต คือ สิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียนเป็นการใช้วิถีชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนที่สุด วิถีการทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่การทำลายป่า แต่เป็นการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ซึ่งชาวแม่ฮ่องสอนได้พิสูจน์ให้สังคมได้เห็นเป็นที่ประจักษ์จากตัวเลขผืนป่าที่มีมากที่สุดในประเทศ และไร่หมุนเวียนคือชีวิต ที่ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติแล้วเมื่อปี 2556 และจะผลักดันให้ระบบไร่หมุนเวียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก

โดยใช้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เป็นที่ตั้ง และจะเดินหน้าผลักดันให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการคุ้มครองวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ การพัฒนาที่ยั่งยืนบนแผ่นดินที่เป็นพื้นที่วัฒนธรรมแห่งนี้ พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน
.
.

นโยบายกับความร่วมมือสู่รูปธรรมจังหวัดพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ

‘นพดล พลเสน’ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้แทนระดับนโยบาย ประธานพิธีเปิดงาน เห็นว่า แม้มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 มีผลมานานจนครบ 1 ทศวรรษ แต่ที่ผ่านมาใช่ว่าจะเดินหน้าได้ตลอด เพราะสะดุดในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนการปกครองในปี 2557 เรื่อยมาจนถึงนโยบายการทวงคืนผืนป่า ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างมาก จนกระทั่งมีการเลือกตั้ง ที่ได้เดินหน้าเรื่องนี้ โดยเห็นว่าตอนนี้นโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นศูนย์ ขณะที่มติ ครม.3 สิงหาคม 2553 จะนำพาไปสู่การสนับสนุนที่เป็นเชิงบวก แต่ยอมรับว่า หากไปดูสาระกฎหมายอย่างอื่นกลับยังมีความย้อนแย้ง คือในขณะที่มีการส่งเสริมวิถีชีวิตของคนที่อยู่กับป่า แต่อีกด้านก็ยังมีการห้าม หรือไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับป่า

แต่ตอนนี้ถือเป็นทิศทางที่ดี เมื่อระดับนโยบายให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และเชื่อว่าการมีคณะทำงาน สร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนต่างๆ เช่น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็จะทำให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ขณะเดียวกัน วันนี้จะมีการยกระดับให้เป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิทธิของคนในพื้นที่นี้ แต่จะต้องควบคู่ ตอบโจทย์อะไรให้กับรัฐได้บ้าง เช่น จะรักษาป่า น้ำให้คงอยู่อย่างไร ต้องหารือร่วมกับประชาคมเพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันต่อไป

Author

Alternative Text
นักเขียน

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ