นักวิชาการ มช. เสนอหยุดกฎหมายที่ดิน ป่าไม้ ทุกฉบับ

เน้นศึกษารูปธรรมที่ชัดเจน แนะความเสมอภาค ความยุติธรรม สิทธิพลเมือง คือหัวใจที่พาสังคมพ้นวิกฤตโควิด-19 และ สึนามิการเมือง


ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปาฐกถาในงานมหกรรม “ที่ดินเป็นของราษฎร 46 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” จัดขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 โดยพูดถึงโครงการทางการเมือง (Political Project) ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เพิ่มประโยชน์ให้ชนชั้นนำ ทวีความเหลื่อมล้ำ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ (iLaw) ถูกตีตก ร่วมกับนโยบายประชานิยมที่เปรียบเสมือนการหยอดน้ำข้าวต้มให้คนป่วย ให้ไม่ตาย แต่ไม่ให้แข็งแรง


“สิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนใน 46 ปีนี้ คือการแบ่งชนชั้นของสังคมไทยมันหนักแน่นและหนักหนา เพราะรัฐตั้งใจที่จะวางมันเอาไว้เพื่อให้พวกเรากลายเป็นแค่แรงงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ต้องมีสิทธิเสรีภาพ นี่คือสังคมไทย คนจนบ้านเราตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านกว่า แต่คนเกือบจนมีประมาณถึง 7-8 ล้าน คนเกือบจนคือคนที่ออกมาหาบเร่แผงลอย ขายไอติม ขายลูกชิ้น คนที่เกือบจนเหล่านี้ไม่สามารถขยับตัวขึ้นมาได้” ศ.อรรถจักร์ กล่าว


นอกจากนี้ ศ.อรรถจักร์ ยังกล่าวว่า สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤตสองเรื่อง ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 และสึนามิทางการเมือง กล่าวคือ เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ชุมชนต้องพึ่งพิงที่ดินและฐานทรัพยากรมากขึ้น ในขณะที่รัฐก็เร่งแย่งยึดที่ดิน ทำให้ชุมชนไม่มีหลังพิง ประกอบกับสถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่


“สิ่งที่พวกเราต้องทำคือ ยืนให้มั่น คิดให้ชัดเจน สืบทอดปณิธานของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ความเสมอภาค ความยุติธรรม สิทธิพลเมือง นี่คือหัวใจที่จะต่อสู้ไปสู่อนาคตที่งดงามของสังคมไทย ถ้าสังคมไทยปราศจากความเสมอภาค ความยุติธรรม ปราศจากสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมกัน สังคมไทยไปไม่รอด มีแต่จะฆ่ากัน และคุณจะฆ่ากันได้สักเท่าไหร่ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้พวกเราต้องยืนอยู่บนหลักการ และหลักการนี้มีความสำคัญกับชีวิตของพวกเรา ข้อเรียกร้องเบื้องต้นเกี่ยวกับชีวิตของพวกเราที่สำคัญก็คือ หยุดกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวกับที่ดิน เกี่ยวกับป่าไม้ ต้องหยุดหมดและลงไปศึกษารูปธรรมที่ชัดเจน พี่น้องชนเผ่าที่อยู่บนดอยจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะที่ไม่เหมือนกับพื้นราบ กฎหมายป่าชุมชนต้องถูกจรรโลงและทำให้เข้มแข็งมากขึ้น เราต้องยืนตรงนี้ การยืนตรงนี้ ยืนอยู่บนหลักการที่สำคัญที่สหพันธ์ชาวไร่ชาวนาได้สร้างสรรค์ไว้ ได้ทิ้งไว้เป็นมรดกให้เรา ความเสมอภาค ความเป็นธรรม สิทธิพลเมือง”


รังสรรค์ แสนสองแคว ผู้ปฏิบัติงานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ กล่าวว่า สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยเคยเป็นขบวนการสำคัญที่ร่วมต่อสู้กับนักศึกษาในสมัยเหตุการณ์เดือนตุลาคม ปี 2516 และ 2519 ร่วมกับขบวนการกรรมกรและแรงงาน นำไปสู่คุณูปการแด่คนรุ่นหลัง คือการตราพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ในฐานะเป็นลูกหลานของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ จึงยังต้องสานต่อด้วยการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินโดยแท้จริง ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


“การต่อสู้ของเราที่ผ่านมาเต็มไปด้วยอุปสรรค เหมือนจะไปได้แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ รัฐ ทุน และศักดินา ยังร่วมมือกันกดขี่คนจน เราในฐานะลูกหลานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ถึงเวลาผ่อนถ่ายให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสานต่อ เริ่มจากการดันให้การกระจายการถือครองที่ดินไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ และให้สิทธิชุมชนเป็นจริงให้ได้ ปัญหาที่ดินต้องแก้ให้จบ ไม่ควรส่งต่อให้คนรุ่นหลังต้องมาตามแก้อีกแล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ