กรณีเยาวชน อายุ 14 ปี ถูก พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ทำร้ายร่างกายด้วยการตบ และสั่งให้แก้ผ้า จากกรณีที่เยาวชนคนดังกล่าวกระทำผิดสูบบุหรี่ภายในห้องน้ำโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่ จนนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง
แม้ภายหลัง พล.ต.นพ.เหรียญทอง ออกมาให้สัมภาษณ์ พร้อมรับผิดที่ทำร้ายร่างกายเด็ก แต่ยืนยันทำไปเพื่อปกป้องพื้นที่สาธารณะในโรงพยาบาล ไม่ให้ควันบุหรี่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ และความปลอดภัย ในขณะที่ครอบครัวเยาวชน 14 ปี ก็ยอมรับในความผิดที่กระทำเช่นกัน เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องกระทำความรุนแรง ขณะเดียวกันเมื่อมองไปที่ตัวเยาวชน ก็ถูกตั้งคำถามในหลายประเด็น และถูกมองว่าเป็นตัวสะท้อนปัญหาเด็ก เยาวชนของไทยที่กำลังเผชิญอยู่
The Active ชวนค้นหามุมมองต่อประเด็นนี้กับ เมธชนนท์ ประจวบลาภ ผอ.สำนักกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นกับเยาวชน 14 ปี กำลังสะท้อนปัญหาในสังคมหลายประเด็น
การศึกษาไม่สอนทักษะชีวิต
เรื่องแรก คือ ‘มิติด้านการศึกษา’ มองว่า ในเวลานี้มีเยาวชนไทยจำนวนมากที่กำลังได้รับผลกระทบจากการจัดการศึกษาภาคบังคับ ในระบบโรงเรียน แม้ถูกมองว่าเป็นการประกันโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่า การจัดการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน กลับไม่ได้มุ่งเน้น ให้เด็กมีทักษะชีวิต การป้องกันตัวเองต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างกรณีเยาวชน 14 ปี คนนี้ อาจเจอปัญหาการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเป็นความพร้อม หรือไม่พร้อม แต่ด้วยวัยวุฒิ ก็ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าเด็กที่กำลังจะเกิดมาจะมีคุณภาพหรือไม่
สิ่งนี้สะท้อนว่า สิ่งที่เด็ก เยาวชนได้เรียนในห้องเรียน มีเพียงแค่เรื่องของสุขภาวะทางเพศแค่มิติเดียว แต่ไม่ได้มองไปถึงการสร้างองค์ความรู้ การรู้เท่าทันปัญหาท้องในวัยเรียน ซึ่งในระบบโรงเรียนไม่เกิดองค์ความรู้เหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ต่างจากปัญหาภัยคุกคามต่อสุขภาพ เช่น เรื่องบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไปจนถึงยาเสพติด ที่ไม่มีองค์ความรู้ในการปฏิเสธ ในหลักสูตรการเรียนการสอน
มิติครอบครัว-ชุมชน-สภาพแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยงรอบตัว
ดังนั้นเมื่อโรงเรียนทำหน้าที่ส่วนนี้ไม่ได้ ก็หวังองค์ความรู้จะเกิดขึ้นจากการดูแลโดย ‘ครอบครัว’ แต่สำหรับเยาวชนไทยจำนวนมาก ก็พบปัญหาเกิดขึ้นจากครอบครัวเช่นกัน เพราะเมื่อเด็ก เยาวชนกระทำผิด ก็จะโยนความผิดให้ครอบครัวว่าดูแลเด็กไม่ได้ พ่อแม่ไม่เคยสั่งสอน แต่คงต้องย้อนไปดูที่ต้นตอด้วยว่า เศรษฐกิจ ฐานะของครอบครัว เป็นอย่างไร พ่อแม่ ผู้ปกครองหาเช้ากินค่ำหรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้ลูกหลานจะได้รับการดูแลที่ดีได้อย่างไร ระบบเศรษฐกิจในสังคมไทย ไม่ได้โอบรับความหลากหลายในระดับครอบครัวมากนัก พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องสู้ทำงานหนักเพื่อหวังรายได้ แน่นอนว่าสิ่งนั้นทำให้ลูกหลานถูกทิ้งขว้าง
ขณะที่ ‘มิติชุมชน สภาพแวดล้อม’ ที่เด็ก เยาวชนเผชิญอยู่ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ อย่างกรณีเยาวชน 14 ปี ถูกตั้งคำถามว่า อะไรเป็นปัจจัยให้เข้าสู่วงจรความเสี่ยงต่าง ๆ เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ระมัดระวัง และมีองค์ความรู้เรื่องการป้องกันในระหว่างมีเพศสัมพันธ์มากพอหรือไม่ อยู่ในสภาพชุมชนที่ร้านค้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สามารถขายบุหรี่ให้กับเด็กที่อายุไม่ถึง 18 ปีใช่หรือไม่
“เท่าที่เคยลงพื้นที่ศึกษาชุมชน พบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กเข้าถึงบุหรี่ คือ ร้านค้าที่ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย ขายบุหรี่ให้กับเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่คือร้านค้าในชุมชนที่รู้จักเด็ก ๆ เป็นอย่างดี ที่กล้าขายให้เพราะรู้ว่าเป็นคนกันเอง แต่ถ้าเป็นคนต่างถิ่นจะไม่กล้าขายให้เพราะกลัวว่าจะเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่มาล่อซื้อ สิ่งเหล่านี้คือภัยคุกคามตัวเด็กทั้งหมด ระบบนิเวศชุมชน ล้วนไม่ได้เป็นเกราะคุ้มกันเด็ก ๆ เลย”
เมธชนนท์ ประจวบลาภ
‘ยาเสพติด’ ภัยคุกคามชีวิต-พฤติกรรม
เมธชนนท์ ยังชวนมองไปถึง ‘มิติด้านพฤติกรรม’ อย่างกรณีเยาวชน 14 ปี คนนี้ ถูกมองว่าเป็น “ขี้ยา” ถูกเรียกว่า “กุ๊ย” เพราะบางครั้งสังคม หรือผู้ใหญ่ที่มองตัวเขา อาจมองแค่ผมยาว สูบบุหรี่ มีเมีย มีลูก ติดยา แล้วก็เรียกเขาในลักษณะกดทับ สิ่งเหล่านี้ล้วนมองกันที่ภายนอกทั้งสิ้น ที่พูดแบบนี้ยืนยันว่าไม่ได้โอ๋เด็ก แต่การมองเด็กสักคนเพื่อประเมินพฤติกรรมที่ละเอียดมากกว่าสิ่งที่เห็นแค่นั้น
มากันที่มิติภัยคุกคามอย่าง ‘ยาเสพติด’ ก็ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่มีนโยบายกัญชาเสรี อะไร ๆ ก็หาง่ายไปหมดเช่นกัน ขณะที่ในยุคนี้บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ก็เข้าถึงเด็ก เยาวชนได้ง่ายมาก ๆ บุหรี่ไฟฟ้าระบาดเข้ามาใกล้ตัวเด็ก ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือประตู หรือจุดเริ่มต้นไปสู่ปัญหายาเสพติดอื่น ๆ ได้ง่ายที่สุด สิ่งนี้ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายต้องเข้มงวด ต้องปราบปรามขนาดไหน หรือตอนนี้ผู้บังคับใช้กฎหมายกำลังปล่อยปละละเลย
“อย่างกรณีเยาวชน 14 ปี ยอมรับว่าซื้อเฮโรอีนแบ่งขายมาแค่ 50 บาท ตอนนี้เยาวชนเข้าถึงเฮโรอีนได้ง่ายขนาดนี้เลยเหรอ ตำรวจทำอะไรอยู่ ปล่อยปละละเลยหรือไม่ หรือว่าปล่อยกันทั้งระบบอันนี้เราก็ต้องช่วยกันตั้งคำถาม”
เมธชนนท์ ประจวบลาภ
บังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่ใช่ศาลเตี้ย!
เมธชนนท์ บอกด้วยว่า ‘การบังคับใช้กฎหมายกับเยาวชน’ ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามเช่นกัน เพราะเมื่อพบว่าเยาวชนกระทำผิด สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ จริง ๆ ตามกฎหมายคุ้มครองเด็กต้องมีทีมสหวิชาชีพเข้ามาบังคับใช้กฎหมาย มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ที่มีทีมสหวิชาชีพมาดูแล แต่เวลานี้กลไกดังกล่าวทำงานแค่ไหน ทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่ เพราะหากพบว่าเด็ก เยาวชนคนหนึ่งกระทำผิด จะต้องมีกระบวนการลงโทษที่เป็นขั้นเป็น เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเยาวชน 14 ปี เป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
“เด็กทำผิดก็ต้องยอมรับในสิ่งที่กระทำ แต่ประเด็นการสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบมีโทษตามกฎหมาย ถูกปรับ 5,000 บาท หากเจอกรณีแบบนี้เข้าของสถานที่ต้องแจ้งตำรวจให้ควบคุมตัว เพื่อดำเนินคดี เปรียบเทียบปรับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีเยาวชน 14 ปี กำลังถูกตัดสินโดยศาลเตี้ยหรือไม่ และการกระทำที่รุนแรงของคุณหมอ ผอ.โรงพยาบาล ในทางจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม พบว่า การลงโทษที่รุนแรงไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ จดจำความผิด แต่เป็นเพียงการยับยั้งการกระทำชั่วขณะ ไม่ได้เกิดการเรียนรู้อะไรเลย แค่หยุดยั้งพฤติกรรมเท่านั้น”
เมธชนนท์ ประจวบลาภ
เด็กทำผิดอย่าให้ท้าย แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องหัดให้โอกาส
สอดคล้องกับมุมมองจอง ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อธิบายด้วยว่า กรณีเยาวชน 14 ปี เป็นภาพสะท้อนว่าเด็ก เยาวชนไทย มีความเสี่ยงของการก้าวพลาดเยอะมาก ทั้งการเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องเพศ ท้องก่อนวัยอันควร ยาเสพติด รวมถึงลักษณะนิสัย พฤติกรรม กำลังเป็นปัญหาของสังคมไทย ที่เป็นลักษณะของการห่างไกลจากระบบการศึกษา การอบรมของครอบครัว ทำให้เด็ก เยาวชนมีความเสี่ยงกับวงจรสีเทา
ศ.สมพงษ์ ยอมรับว่า เด็กทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิด อย่าไปให้ท้ายเด็ก แต่ถ้ามองในแง่ความเป็นเด็กแล้ว ผู้ใหญ่ก็ต้องมองไปถึงการให้โอกาสเขาได้พัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ซึ่งการตัดสินลงโทษด้วยการใช้ความรุนแรง ใจร้อน ตัดสินแบบศาลเตี้ย มองเด็กเหมือนกับผู้กระทำที่เป็น ขี้ยา กุ๊ย ทำให้ได้เห็นว่า ผู้ใหญ่มีชุดความคิดอย่างไรเมื่อมองไปที่เด็ก
“ผู้ใหญ่กำลังทำร้ายเด็ก เราต้องคิดไว้เสมอ จึงต้องระมัดระวัง แม้เด็กจะทำความผิด แต่เขาก็ควรมีโอกาสได้เปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในเวลานั้นควรได้โอกาสปรับปรุงพัฒนา เปลี่ยนแปลง ไม่ด่วนตัดสิน กดทับ เหยียดหยาม ซึ่งสะท้อนถึงการใช้อำนาจเกินขอบเขตของผู้ใหญ่ ชุดความคิดของเด็ก และ ผู้ใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมแยกกันของคนต่างวัยชัดเจน หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ผู้ใหญ่กลับไม่เลือกมองปัญหาที่สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่มองไปที่ผู้กระทำก่อนทั้งที่เป็นเด็ก มองเรื่องความสะใจ ทำให้สังคมไทยขาดโอกาส ขาดนโยบายดี ๆ ตอนนี้สังคมกำลังปะทุเดือด จากนี้เราจะปล่อยให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นสีเทาต่อไป หรือต้องปฏิรูปสังคม แก้ปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรง ปัญหาท้องไม่พร้อม กันมากกว่า ซึ่งเราอยู่ในจุดที่ต่ำสุดของสังคมไทย จึงต้องฉุกคิด ทบทวน กันได้แล้ว”
ศ.สมพงษ์ ยังมองว่า สังคมกังวลปัญหาเด็กเกิดน้อย กระทบต่อประชากรไทยในอนาคต แต่ในเวลานี้เด็กเกิดน้อย แต่กำลังจะด้อยคุณภาพอีกด้วย ถึงเวลาแล้วจริง ๆ ที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้กุมอำนาจ ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ต้องหันมาใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิด หันมาใส่เรื่องการศึกษา ครอบครัว ให้มากกว่ามองแค่เรื่องเศรษฐกิจ การลงทุนอย่างเดียว นโยบายสังคมอ่อน ตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก สังคมไทยต้องสมดุล เติบโตไปด้วยกันทั้งเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว การศึกษา เพื่อให้อนาคตก้าวหน้ามั่นคง