สังคมกำลังถกเถียงอะไรกันบ้าง กรณี ‘หยก’

ความพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อกลับเข้าไปเรียนต่อในชั้น ม. 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ของ ‘หยก’ ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่ปลุกให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ทั้งจากฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นับเป็นอีกกรณีศึกษาที่สะท้อนความแตกต่างทางความคิดของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี

ยิ่งหากไล่เรียงดูตั้งแต่วันที่ ‘หยก’ ปีนรั้วเข้าโรงเรียน จนถึงวันนี้ที่โรงเรียนเปิดประตูให้เข้าแต่โดยดี แต่ก็มีการวางกำลังกองร้อยน้ำหวานมาช่วยดูแลความเรียบร้อยนับ 10 นาย จะพบว่าในรายละเอียดจะเห็นว่าเรื่องนี้มีหลายมิติที่ทับซ้อน จนยากจะรีบสรุปแบบฟันธงว่าจะฝั่งไหนผิด ฝั่งไหนถูก หรือสามารถรีบเร่งหาทางออกจากปัญหาเรื่องนี้

สิ่งที่ต้องทำเวลานี้ อาจจะต้องมองข้ามประเด็นดราม่า ตัดประเด็นตีตรา ผลักไสฝั่งที่เห็นต่างออกไป พร้อมลบอคติ และเริ่มต้นสำรวจประเด็นปัญหาของเรื่องนี้มีอะไรบ้าง และค่อยคิดค่อยแก้ไขไปทีละเปลาะ

หยก

เริ่มตั้งแต่ประเด็นการศึกษาที่ถูกตั้งคำถามครอบคลุมไปถึงเรื่องหลักสูตรและกฎระเบียบต่าง ๆ เรื่องแรกที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ‘เครื่องแบบนักเรียน’ และ ‘ทรงผม’ ที่ในแถลงการณ์ล่าสุด ‘หยก’ ยืนยัน เรื่องเสรีทรงผม สีผม ซึ่งเป็นสิทธิตามเนื้อตัวและร่างกาย โดยไม่ได้ต้องการจะยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน แต่อยากให้ใครอยากใส่ก็ใส่ ใครไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องใส่ แต่พื้นฐานการแต่งกายนั้นต้องอยู่ในความเหมาะสม

ประเด็นนี้ มีความพยายามเคลื่อนไหวมานานและมีหลายเสียงสนับสนุนล่าสุด สภานิสิต-นักศึกษา กว่า 50 องค์กร ออกเเถลงการณ์เรียกร้องให้สถานศึกษาเปิดกว้าง “ใส่ชุดไปรเวทเข้าเรียนได้” และเเก้ไขกฎระเบียบให้ปราศจากการบังคับ แต่อีกมุมหนึ่งก็มีเสียงสะท้อนเรื่องเรื่อง ‘กาลเทศะ’ การเคารพสถานที่ ที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยกัน

ทั้งที่ในอีกมุมหนึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจสะท้อนไปถึงการต่อต้าน ‘อำนาจนิยม’ ที่แฝงเร้น ฝังรากอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน

ไม่ต่างจากประเด็นเรื่องการปฏิเสธไม่เข้าชั่วโมงโฮมรูม และไม่ทำกิจกรรมหน้าเสาธง ที่ถูกมองว่าเป็นกิจกรรมที่อาจไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ตั้งใจ น่าจะถูกยกเลิกหรือปรับไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากว่า แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงสะท้อนว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการไม่เคารพกฎกติที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว หากรับไม่ได้ก็ควรจะย้ายไปเรียนที่อื่น ก่อนจะขยับไปถึงประเด็นเลือกไม่เรียนวิชาจริยธรรม ซึ่งหยกมองว่าเป็นวิชาที่ไม่มีประโยชน์ แต่ก็มีบางฝ่ายเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน

บทบาทครูและโรงเรียน

อีกประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือบทบาทของครูและโรงเรียน โดยเฉพาะกับการปิดประตูโรงเรียนจน ‘หยก’ ต้องปีนเข้าไปภายในโรงเรียน ทำให้มีคนออกมาตั้งคำถามถึง ‘ท่าที’ ของโรงเรียน ที่พยายามผลักไสนักเรียนออกจากระบบ โดยหยิบยกเงื่อนไขเรื่องการไม่มีผู้ปกครองมามอบตัวมาเป็นเหตุผลว่าสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน

ที่สำคัญโรงเรียนซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย และพร้อมยอมรับความหลากหลายของนักเรียน แม้จะไม่เห็นด้วยในบางประเด็นก็ควรจะเปิดใจรับฟัง ทำความเข้าใจและร่วมกันหาทางออกเมื่อเกิดปัญหาแทนที่จะผลักไสเด็กออกไป ล่าสุดแม้แต่ในวงเจรจา 3 ฝ่าย ที่มีตัวแทนพรรคก้าวไกลมาร่วมหารือ ทางผู้อำนวยการโรงเรียนก็ปฏิเสธไม่เข้าร่วมจนทำให้การหาทางออกต้องหยุดชะงักไป

เสียงที่ไม่ถูกสังคมรับฟังอย่างแท้จริง

คล้ายกับที่ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ออกมาแสดงความเห็น ว่า ‘หยก’ ไม่ได้เกิดมาพร้อมความสุดโต่ง ความก้าวร้าว หยกไม่ได้บ้า ไม่ได้เพี้ยน ไม่ได้เป็นอย่างเช่นสีที่ป้าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กหญิงอายุ 15 คนนี้แรงขึ้นตามสัดส่วนของกฎหมาย

“ใช่! เธอต้องคำราม จำเป็นต้องคำราม เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องคำราม กลไกปกป้องตนเองของเธอยังมีชีวิต ยังมีแรง ยังมีพลัง

ชวนให้ต้องย้อนกลับมามองปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้ อาจไม่ใช่แค่พื้นที่ภายในโรงเรียน แต่เสียงของ ‘หยก’ ที่พยายามบอกกล่าวกับสังคม ก็ไม่มีใครสนใจรับฟังอย่างแท้จริง ปราศจากอคติ หากมีใครไม่เห็นด้วยก็ควรจะมีพื้นที่สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันไม่ใช่ผลักคนที่เห็นต่างออกไปให้ไป

จุดยืนการเคลื่อนไหว การเมือง/ ม.112

อุปสรรคที่ฉุดไม่ให้ปัญหานำไปสู่การแก้ไขคือการใช้วิธี ‘ตีตรา’ ผู้ที่เห็นต่างออกไป เช่น มีการเมืองบางสีอยู่เบื้องหลังปลุกปั่นแนวคิด หรือ ‘ล้างสมอง’ เพื่อมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แทนที่จะหันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนในเชิงรายละเอียดเนื้อหา หรือหลักการและเหตุผลที่ควรจะเป็น

โดยเฉพาะกับประเด็นเรื่อง ม.112 ซึ่งเป็นประเด็นร้อนที่มีความเห็นแตกต่างกันในสังคมอย่างรุนแรง หลายครั้งคนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขจึงถูกเหมารวมให้เป็นพวก ‘ล้มเจ้า’ โดยไม่ได้ทันได้ฟังรายละเอียด ยิ่งกว่านั้นอาจบานปลายกลายเป็นการ ‘ล่าแม่มด’ ภาพติดตัวของน้องหยกที่ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อายุน้อยที่สุด จึงทำให้หลายฝ่ายพยายามผลักไสให้ไปอยู่คนละฝั่ง

บทบาทของผู้ปกครอง

อีกประเด็นที่ควรถูกพูดถึงคือบทบาทของผู้ปกครอง นอกจากประเด็นหน้าที่การไปมอบตัวเข้าเรียนต่อแล้ว บทบาทการอบรม เลี้ยงดู ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือเวลาเกิดเหตุ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของเครื่องคดีความหรือ อะไรก็ตามที่สร้างความกลัวให้ผู้ปกครองต้องถอยห่างออกไปกลายเป็นอีกปัจจัยทำให้ปัญหานี้ดูรุนแรงขึ้น หากครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ปิดใจรับฟังคอยให้ความช่วยเหลือก็จะช่วยทำให้ปัญหานี้คลี่คลายง่ายขึ้น

แม้แต่ผู้ปกครอง หรือเสียงสะท้อนจากฟังผู้ปกครองคนอื่น ๆ ที่เลือกใช้วิธี ‘ตีตรา’ และ ‘ผลักไส’ คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไป หรือใช้วิธีประชดประชันเสียดสี ทำนองว่าหากเห็นด้วยก็ให้รับไปเลี้ยงดู หรือขอให้บุตรหลานมีแนวคิดอย่างหยก แทนที่จะใช้การพูดคุยแบบไม่มีอคติทำให้ปัญหาคาราคาซังและย้อนกลับมาเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น

ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้เวลามาพูดคุยกันอย่างจริงจังในรายละเอียดเพื่อร่วมกันหาทางออก แม้จะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็ควรจะได้ทำความเข้าใจ ความขัดแย้งที่ครุกรุ่นอยู่ในเวลานี้พัวพันไปในมิติใดบ้าง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active