ส่อง 30 นโยบายพัฒนาชีวิตเด็กที่คนให้ความสนใจใน ‘Relearn Festival 2024’

“หากดอกไม้ไม่บาน เราไม่แก้ดอกไม้ เราแก้สภาพแวดล้อม” ประโยคเตือนใจของนักเขียนและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ชาวดัตช์ เพราะการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของสถาบันครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงสังคมและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่กำหนดคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว

ประโยคนี้ ถูกเขียนไว้บนผืนผ้าใน Relearn Festival 2024: Co-Creating Next Generation ที่มิวเซียมสยาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจของสังคมร่วมกัน

ในโซน RETHINK our future เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ Mappa กับศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ที่เชิญชวนและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมในการ ‘ส่งเสียง’ เพื่อ ‘กำหนดทิศทาง’ คุณภาพชีวิต ผ่าน 30 นโยบายเด็กและครอบครัวที่ผ่านการเลือกสรรมาแล้ว

โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานเลือกนโยบายที่ตัวเองสนใจ (จะกี่นโยบายก็ได้) จากนั้นนำกระดาษสีที่ตรงกับสีของนโยบายที่สนใจ มาทำเป็นดอกไม้ (ดอกไม้ 1 ดอก มี 1 สี แทน 1 นโยบาย) แล้วจึงนำไปแขวนที่หลังเวที เพื่อส่งเสียงว่าผู้คนให้ความสำคัญกับนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวไหนบ้าง โดยผู้จัดงานจะนำข้อมูลไปต่อยอด เปรียบเทียบข้อมูลในต่างจังหวัด เช่น พื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อสะท้อนว่าคนในแต่ละพื้นที่มีความต้องการในนโยบายใดบ้าง แตกต่างกันหรือไม่

นโยบาย

The Active ทำการเก็บข้อมูลจำนวนดอกไม้ทั้ง 30 สี 30 นโยบายหลังเวทีเมื่อสิ้นสุดงาน มีดอกไม้ที่ผู้คนนำไปแขวนจำนวน 1,114 ดอก โดยเรียงลำดับนโยบายตามความสนใจของผู้เข้าร่วมงาน (จากจำนวนดอกไม้) จากมากไปน้อย ดังนี้

อันดับนโยบายมิติจำนวนดอกไม้สัดส่วน
1ปรับปรุงระบบการศึกษาให้ลดความเหลื่อมล้ำ มีคุณภาพดี ทั่วถึง และเท่าเทียมพัฒนาระบบการศึกษาให้ทั่วถึง มีคุณภาพ 11210.05%
2ปรับปรุงหลักสูตรครู สอนเน้นเข้าใจมากกว่าท่องจำพัฒนาระบบการศึกษาให้ทั่วถึง มีคุณภาพ 857.63%
3ค้นหาเชิงรุก ช่วยเหลือเยาวชนที่เสี่ยงต่อความรุนแรงในครัวเรือนก่อนถูกทำร้ายช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง787.00%
4ควบคุมกัญชาอย่างเข้มงวดในพื้นที่ใกล้โรงเรียนคุ้มครองเด็กจากอบายมุข504.49%
5กระบวนการคุ้มครองเด็กต้องไม่ทำร้ายเด็กซ้ำสองช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง474.22%
6การศึกษาที่รองรับเด็กพิเศษหรือสมาธิสั้นอย่างทั่วถึงในต่างจังหวัดพัฒนาระบบการศึกษาให้ทั่วถึง มีคุณภาพ 454.04%
6เพิ่มความหลากหลายในชั้นเรียนสังคมไม่กีดกัน เปิดรับความหลากหลาย443.95%
8ขยายสิทธิลาคลอดเป็น 6 เดือน ให้ทั้งพ่อและแม่ยกระดับสวัสดิการเพื่อเยาวชน 443.95%
9เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านยกระดับสวัสดิการเพื่อเยาวชน 423.77%
10เพิ่มค่าตอบแทนจูงใจครูในสาขาและพื้นที่ที่ขาดแคลนพัฒนาระบบการศึกษาให้ทั่วถึง มีคุณภาพ 383.41%
11เพิ่มงบพัฒนาเด็กจังหวัดชายแดนใต้แทนงบความมั่นคงพัฒนาระบบการศึกษาให้ทั่วถึง มีคุณภาพ 373.32%
12ผังเมืองที่เอื้อให้เยาวชนพื้นเพหลากหลายได้เป็นเพื่อนกันสังคมไม่กีดกัน เปิดรับความหลากหลาย363.23%
13บริการรับเลี้ยงเด็กในแหล่งชุมชนยกระดับสวัสดิการเพื่อเยาวชน 343.05%
14มอบ ‘กล่องแรกเกิด’ ให้เด็กทุกคนเริ่มต้นชีวิตอย่างเท่าเทียมยกระดับสวัสดิการเพื่อเยาวชน 332.96%
15ควบคุมโฆษณาส่งเสริมการขายกัญชา โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนคุ้มครองเด็กจากอบายมุข312.78%
16เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้ายกระดับสวัสดิการเพื่อเยาวชน 292.60%
17ครอบครัวแรงงานข้ามชาติได้รับสวัสดิการ การดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง282.51%
17นักดูแลสุขภาพใจใกล้บ้าน ช่วยคนซึมเศร้าก่อนป่วยหนักยกระดับสวัสดิการเพื่อเยาวชน 282.51%
19ควบรวมโรงเรียนและจัดสรรครูให้ได้สอนตรงสาขาพัฒนาระบบการศึกษาให้ทั่วถึง มีคุณภาพ 272.42%
20ลดสถานสงเคราะห์เด็ก เพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง262.33%
20บรรจุ ‘ความเสมอภาคทางเพศ’ ในหลักสูตรการศึกษาสังคมไม่กีดกัน เปิดรับความหลากหลาย262.33%
22บรรจุภัณฑ์ที่มีกัญชาต้องเป็นแบบที่เด็กเปิดยาก (Child-resistant packaging)คุ้มครองเด็กจากอบายมุข252.24%
23เพิ่มช่องทางให้เยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านระบบออนไลน์สร้างเด็กเป็นพลเมือง เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมือง 242.15%
23ย้ายสภาเยาวชนไปอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรสร้างเด็กเป็นพลเมือง เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมือง 242.15%
23ให้คณะกรรมการนักเรียน/นักศึกษามีส่วนในการกำหนดนโยบายในสถานศึกษาสร้างเด็กเป็นพลเมือง เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมือง 242.15%
26ศูนย์เด็กเล็กเปิด-ปิดตามเวลางานพ่อแม่ยกระดับสวัสดิการเพื่อเยาวชน 211.89%
27ลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเหลือ 18 ปีสร้างเด็กเป็นพลเมือง เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมือง 201.80%
28ลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเหลือ 15 ปีสร้างเด็กเป็นพลเมือง เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมือง 191.71%
28ลดการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมสังคมไม่กีดกัน เปิดรับความหลากหลาย191.71%
30ฐานข้อมูลครัวเรือนเปราะบาง ให้ความช่วยเหลืออย่างตรงเป้าช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง181.62%
1,114100%

3 อันดับสูงสุด: ปรับระบบการศึกษา-ปรับหลักสูตรครูด้านการสอน-ค้นหาเชิงรุกก่อนเยาวชนถูกทำร้าย

จากบรรดา 30 นโยบาย มี 3 นโยบายที่มีคนส่งเสียง-ให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่

  • ปรับปรุงระบบการศึกษาให้ลดความเหลื่อมล้ำ มีคุณภาพดี ทั่วถึง และเท่าเทียม (อันดับ 1 จำนวนดอกไม้ 112 ดอก คิดเป็น 10.05%)
  • ปรับปรุงหลักสูตรครู สอนเน้นเข้าใจมากกว่าท่องจำ (อันดับ 2 จำนวนดอกไม้ 85 ดอก คิดเป็น 7.63%)
  • ค้นหาเชิงรุก ช่วยเหลือเยาวชนที่เสี่ยงต่อความรุนแรงในครัวเรือนก่อนถูกทำร้าย (อันดับ 3 จำนวนดอกไม้ 78 ดอก คิดเป็น 7.00%)

นโยบาย 3 อันดับแรกเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 2 นโยบาย และนโยบายที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว 1 นโยบาย แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมงานค่อนข้างให้ความสำคัญกับการศึกษา และเชื่อว่านโยบายเหล่านี้จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กได้ รวมถึงอาจสะท้อนได้ถึงปัญหาของสังคมในปัจจุบันว่ายังมีปัญหาเหล่านี้อยู่และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB และ คิด for คิดส์ ร่วมสะท้อนความเห็นในวงเสวนาว่า สิ่งแรกที่ตนอยากให้สังคมเรียนรู้เข้าใจใหม่ คือ การลงทุนกับเด็กนั้นคุ้มค่าเสมอ งานวิจัยในต่างประเทศชี้ว่า การลงทุนในเด็กเล็กเพียง 1 บาท จะได้ผลตอบแทนทางสังคมกลับมา 7 – 9 บาท ดังนั้น การเลี้ยงดูเด็กแบบปล่อยปละละเลยในวัยเด็ก และหวังให้โรงเรียนช่วยบ่มเพาะในวัยที่โตขึ้น อาจทำให้สังคมเสียโอกาสในการพัฒนาเด็กไปอย่างน่าเสียดาย

“เรามักพูดว่าทำอย่างไรให้มีเด็กเกิดมามากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือการผลักดันนโยบายอุดหนุนสวัสดิการเด็กเล็ก ก่อนที่พวกเขาจะเข้าโรงเรียน พวกเขาพร้อมแล้วหรือยัง สิ่งที่พบแล้วคือปัญหาภาวะ ‘สมาธิสั้นเทียม’ ดังนั้น การให้เด็กที่มีปัญหาเข้าไปเรียนในหลักสูตรให้มันได้ประสิทธิผล ทัดเทียมกับคนประเทศอื่น ๆ มันก็คงจะยากขึ้น”

3 อันดับรั้งท้าย: ลดการปฏิบัติต่อชาวมุสลิม-ลดอายุเลือกตั้งเหลือ 15 ปี-ฐานข้อมูลครัวเรือนเปราะบาง

จากบรรดา 30 นโยบาย มี 3 นโยบายที่มีคนส่งเสียง-ให้ความสนใจน้อยที่สุด ได้แก่

  • ลดการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม (อันดับ 28 จำนวนดอกไม้ 19 ดอก คิดเป็น 1.71%)
  • ลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเหลือ 15 ปี (อันดับ 28 จำนวนดอกไม้ 19 ดอก คิดเป็น 1.71%)
  • ฐานข้อมูลครัวเรือนเปราะบาง ให้ความช่วยเหลืออย่างตรงเป้า (อันดับ 30 จำนวนดอกไม้ 18 ดอก คิดเป็น 1.62%)

สะท้อนให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้มีคนให้ความสนใจที่มากนัก อาจเพราะผู้เข้าร่วมงานไม่ได้ประสบปัญหาดังกล่าว หรืออาจจะยังมองไม่เห็นว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวได้อย่างไรบ้าง

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชน ครอบครัว (สำนัก 4) สสส. กล่าวในวงเสวนาของงาน Relearn Festival ไว้ว่า ขณะนี้มีข้อมูลพบว่า เด็กไทยราวร้อยละ 75 อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน กล่าวคือพวกเขาอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนั้น การที่พวกเขาจะได้เข้าถึงพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก 

“คืออยากใช้คำว่า ‘เขาดิ้นรนกันตามยถากรรม’ พวกเขากำลังเลี้ยงลูกในขณะที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ในต่างจังหวัดกว่าร้อยละ 80 เด็กเล็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ต้องไปทำงานเพื่อส่งเงินมา ดังนั้น มันต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากไปกับการดำเนินนโยบายโอบอุ้มเด็กเล็ก ซึ่งตอนนี้มีผลการศึกษาชี้ว่า เงินเหล่านั้นส่วนมากไปกองที่เด็กโต ส่วนเด็กเล็กลงทุนน้อยสุด”

30 นโยบายแบ่งเป็น 6 มิติการพัฒนา

จาก 30 นโยบายที่มีให้ผู้เข้าร่วมงานได้เลือก The Active ได้แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ตามมิติการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว ดังนี้

มิติจำนวนนโยบายจำนวนดอกไม้
พัฒนาระบบการศึกษาให้ทั่วถึง มีคุณภาพ6344
ยกระดับสวัสดิการเพื่อเยาวชน7231
ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง5197
สังคมไม่กีดกัน เปิดรับความหลากหลาย4125
สร้างเด็กเป็นพลเมือง เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมือง5111
คุ้มครองเด็กจากอบายมุข3106

มิติพัฒนาระบบการศึกษาให้ทั่วถึง มีคุณภาพ มาเป็นอันดับ 1

นโยบาย

มีทั้งหมด 6 จาก 30 นโยบาย เรียงตามลำดับความสนใจของผู้เข้าร่วมงาน ดังนี้

  • ปรับปรุงระบบการศึกษาให้ลดความเหลื่อมล้ำ มีคุณภาพดี ทั่วถึง และเท่าเทียม (อันดับ 1 จำนวนดอกไม้ 112 ดอก คิดเป็น 10.05%)
  • ปรับปรุงหลักสูตรครู สอนเน้นเข้าใจมากกว่าท่องจำ (อันดับ 2 จำนวนดอกไม้ 85 ดอก คิดเป็น 7.63%)
  • การศึกษาที่รองรับเด็กพิเศษหรือสมาธิสั้นอย่างทั่วถึงในต่างจังหวัด (อันดับ 6 จำนวนดอกไม้ 45 ดอก คิดเป็น 4.04%)
  • เพิ่มค่าตอบแทนจูงใจครูในสาขาและพื้นที่ที่ขาดแคลน (อันดับ 10 จำนวนดอกไม้ 38 ดอก คิดเป็น 3.41%)
  • เพิ่มงบพัฒนาเด็กจังหวัดชายแดนใต้แทนงบความมั่นคง (อันดับ 11 จำนวนดอกไม้ 37 ดอก คิดเป็น 3.32%)
  • ควบรวมโรงเรียนและจัดสรรครูให้ได้สอนตรงสาขา (อันดับ 19 จำนวนดอกไม้ 27 ดอก คิดเป็น 2.42%)

ผู้เข้าร่วมงานค่อนข้างให้ความสนใจกับกลุ่มนโยบายการศึกษา โดยได้ดอกไม้รวมทั้ง 6 นโยบายอยู่ที่ 344 ดอก ซึ่งเฉลี่ยแล้วได้นโยบายละ 57.33 ดอก ซึ่งสูงที่สุดในบรรดามิติทั้งหมด

ตามด้วย มิติยกระดับสวัสดิการเพื่อเยาวชน และมิติช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง

นโยบาย

อันดับที่ 2 คือมิติยกระดับสวัสดิการเพื่อเยาวชน มีทั้งหมด 7 นโยบาย ได้ดอกไม้รวม 231 ดอก เฉลี่ยนโยบายละ 33 ดอก

อันดับที่ 3 คคือมิติช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส มีทั้งหมด 5 นโยบาย ได้ดอกไม้รวม 197 ดอก เแลี่ยนโยบายละ 39.4 ดอก

จะเห็นได้ว่า นอกจากมิติการพัฒนาการศึกษาแล้ว ผู้คนที่เข้าร่วมงานมองว่ามิติที่สำคัญรองลงมาคือ การยกระดับสวัสดิการในด้านต่าง ๆ และช่วยเหลือกลุ่มเด็กชายขอบ โดยนโยบายค้นหาเชิงรุก ช่วยเหลือเยาวชนที่เสี่ยงต่อความรุนแรงในครัวเรือนก่อนถูกทำร้าย ได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 3 จากนโยบายทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ผู้เข้าร่วมงานมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมีการแก้ไขในปัจจุบัน

มิติสร้างเด็กเป็นพลเมือง เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมือง

นโยบาย

มีทั้งหมด 5 จาก 30 นโยบาย ซึ่งเรียงตามลำดับความสนใจของผู้เข้าร่วมงานดังนี้

  • เพิ่มช่องทางให้เยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านระบบออนไลน์ (อันดับ 23 จำนวนดอกไม้ 24 ดอก คิดเป็น 2.15%)
  • ย้ายสภาเยาวชนไปอยู่กับสภาผู้แทนราษฎร (อันดับ 23 จำนวนดอกไม้ 24 ดอก คิดเป็น 2.15%)
  • ให้คณะกรรมการนักเรียน/นักศึกษามีส่วนในการกำหนดนโยบายในสถานศึกษา (อันดับ 23 จำนวนดอกไม้ 24 ดอก คิดเป็น 2.15%)
  • ลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเหลือ 18 ปี (อันดับ 27 จำนวนดอกไม้ 20 ดอก คิดเป็น 1.80%)
  • ลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเหลือ 15 ปี (อันดับ 28 จำนวนดอกไม้ 19 ดอก คิดเป็น 1.71%)

กลุ่มนโยบายการมีส่วนร่วมของเยาวชนมีอันดับที่ค่อนไปทางท้าย แม้จะมีนโยบายถึง 5 นโยบาย แต่ได้ดอกไม้รวมไปเพียง 111 ดอก ซึ่งหากเฉลี่ยแล้วจะได้นโยบายละ 22.2 ดอกเท่านั้น ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับมิติอื่น ๆ

ที่น่าสนใจคือในกลุ่มนโยบายดังกล่าว มีนโยบายลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงอยู่ 2 ตัวเลือก คือลดเหลือ 18 ปี และลดเหลือ 15 ปี ซึ่งอันดับรั้งท้ายกว่านโยบายอื่น ๆ ในมิติเดียวกัน

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ชี้ว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่เยาวชนออกมามีส่วนร่วมในการเรียนร้องเชิงนโยบายมากขึ้น แต่ก็มีเยาวชนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเสียงของเขายังไม่ถูกรับฟังเท่าที่ควร ดังนั้น ในฐานะที่เยาวชนก็เป็นเจ้าของประเทศนี้ เขาเองก็ควรได้รับโอกาสและพื้นที่ในการร่วมออกแบบอนาคตสังคมที่เขาต้องการอาศัยอยู่

“ยังมีเยาวชนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเสียงของเขายังไม่ได้ถูกรับฟังอย่างเพียงพอ ทั้งในห้องเรียนก็ดี และในสังคมภาพรวมก็ดี ดังนั้น เราจึงต้องมาถกคิดว่า ทำอย่างไรให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในกระบวนการตัดสินใจและออกแบบอนาคตของสังคม”

มิติคุ้มครองเด็กจากอบายมุข มาเป็นอันดับสุดท้าย

มีทั้งหมด 3 จาก 30 นโยบาย โดยเน้นไปที่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทั้งหมด ซึ่งเรียงตามลำดับความสนใจของผู้เข้าร่วมงานดังนี้

  • ควบคุมกัญชาอย่างเข้มงวดในพื้นที่ใกล้โรงเรียน (อันดับ 4 จำนวนดอกไม้ 50 ดอก คิดเป็น 4.49%)
  • ควบคุมโฆษณาส่งเสริมการขายกัญชา โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน (อันดับ 15 จำนวนดอกไม้ 31 ดอก คิดเป็น 2.78%)
  • บรรจุภัณฑ์ที่มีกัญชาต้องเป็นแบบที่เด็กเปิดยาก (Child-resistant packaging) (อันดับ 22 จำนวนดอกไม้ 25 ดอก คิดเป็น 2.24%)

แม้จะได้ดอกไม้รวมไป 106 ดอก (เฉลี่ยนโยบายละ 35.33 ดอก) แต่นโยบายควบคุมกัญชาอย่างเข้มงวดในพื้นที่ใกล้โรงเรียนกลับมีคะแนนที่สูง (ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 4 จากทั้งหมด 30 นโยบาย) จึงอาจอนุมานได้ว่าผู้เข้าร่วมงานเห็นความสำคัญของปัญหากัญชาในปัจจุบันว่าส่งผลกระทบต่อเยาวชน และวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดคือการควบคุม (ซึ่งอาจเน้นที่การควบคุมการซื้อขายเป็นหลัก)

ณัฐยา ร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับวงเสวนา ถึงคำกล่าวที่ว่า “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” โดยคำกล่าวนี้ไม่ใช่เพียงคำพูดสวยหรู แต่เป็นแนวนโยบายสำคัญที่สังคมไทยต้องทำให้เกิดขึ้น ในหลายพื้นที่ชทบทของไทย พบว่า เด็กในทุกบ้านจะต้องถูกติดตามโดยเครือข่ายทีมพัฒนาชุมชน เด็กในครัวเรือนใดที่อยู่ในภาวะยากจนหรือเสี่ยงภัย จะต้องได้รับการคุ้มครองโดยทันที 

“มันไม่ใช่แค่คำพูดสวย ๆ มันเกิดขึ้นได้จริง เพราะเมื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง และมองว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาเป็นลูกของชุมชน โอกาสที่เด็กจะได้รับการดูแลแม้ครอบครัวกำลังอ่อนแอ สามารถเกิดขึ้นได้ในทันที ตอนนี้มีราว ๆ 200 ตำบล จากเกือบ 20 จังหวัด ที่นำร่องชุมชนแบบนี้ ชวนคิดต่อว่า ถ้าจะขยับให้เกิดขึ้นใน 7,000 ชุมชนทั่วประเทศ เราจะต้องไปขยับในนโยบายภาพใหญ่อย่างไรบ้าง”

การเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาจึงไม่ใช่หน้าที่ของสถาบันครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงสังคมและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่กำหนดคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวผ่านนโยบาย ประโยคที่เขียนไว้บนผืนผ้าอธิบายกิจกรรมว่า “หากดอกไม้ไม่บาน เราไม่แก้ดอกไม้ เราแก้สภาพแวดล้อม” ของ Alexander Den Heijer จึงเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจ และในบริบทนี้ หากเปรียบเหมือนเด็กเป็น ‘ดอกไม้’ เราก็ต่างล้วนเป็น ‘สภาพแวดล้อม’ ที่คอยกำหนดว่าดอกไม้จะโตหรือไม่ และช่วยกันเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดอกไม้เติบโตและผลิบานได้อย่างงดงาม

นอกจากนี้ กิจกรรมยังทำให้ Unlearn และ Relearn ได้ว่านโยบายไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของชนชั้นนำ อย่างรัฐบาล นักวิชาการ ภาคธุรกิจ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนในสังคมที่จะส่งเสียงและกำหนดทิศทางนโยบายเพื่ออนาคตของเด็กและเยาวชนในประเทศของเราต่อไป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด