เมื่อโซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่สื่อสารประเด็นการปราศรัย ระหว่างผู้ชุมนุมและแกนนำ
ในยุค ชุมนุมการเมือง 2563 โซเชียลมีเดีย ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงจุดยืนทางการเมือง แคมเปญรณรงค์ และนัดหมายการชุมนุม
ในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ “ทวิตเตอร์” ที่มีผู้ใช้กลุ่มใหญ่ อายุระหว่าง 16-24 ปี และ 25-34 ปี ยังถูกใช้เป็นช่องทางสื่อสารกันระหว่างแกนนำการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุม หรือ มวลชน ที่เป็นกลุ่มคนในวัยนักเรียนนักศึกษาอีกด้วย
#อยากให้ม็อบพูดเรื่องอะไร เป็นแฮชแท็กล่าสุด ที่กำลังทะยานไต่อันดับความนิยมทวิตเตอร์ประเทศไทย ที่เริ่มต้นด้วยการระดมความคิดเห็น เป็นแคมเปญที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ
พวกเขาเริ่มต้นระดมความเห็นผ่าน #อยากให้ม็อบพูดเรื่องอะไร ในช่วงสายของวันที่ 16 ต.ค. ซึ่งเป็นวันนัดหมายการชุมนุมอีกครั้งที่แยกราชประสงค์ และเป็นการชุมนุมต่อเนื่องจากวันที่ 15 ต.ค. หลังนายกรัฐมนตรีประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และตามมาด้วยการสลายการชุมนุมบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ต.ค.
แม้มีการประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่ภาพที่ปรากฏบริเวณสี่แยกราชประสงค์ กลับมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก หลายฝ่ายประเมินว่า จำนวนคนอาจจะใกล้เคียงกับการชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย. ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และการชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค. ของกลุ่มคณะราษฎร 2563
เนื้อหาการปราศรัยของแกนนำ ที่ให้น้ำหนักไปที่การโจมตีการทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี รวมถึงข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจส่งผลต่อความรู้สึกของกลุ่มคนเห็นต่าง และอาจเป็นจุดชนวนความขัดแย้งและสร้างความเกลียดชัง
การระดมความเห็นในสิ่งที่มวลชนต้องการให้ม็อบหรือแกนนำพูด จึงเป็นอีกวิธีการที่พยายามประคองสถานการณ์ ให้การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นไปอย่างสันติ
The Active รวบรวมความคิดเห็นที่ถูกระดมผ่านทวิตเตอร์ ว่าพวกเขาต้องการให้ม็อบพูดเรื่องอะไรบ้าง
ระบบขนส่งสาธารณะ
นโยบายเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุ
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
Sex workers
ยาเสพติดมาจากไหน
ราคาหวย
กองทุนพัฒนาชีวิตคนพิการ
จังหวัดชายแดนภาคใต้
ความเท่าเทียมทางเพศ
ปัญหาผู้ใช้แรงงาน
.
.
.
นี่คือบางส่วนของการแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ถูกสื่อสารพร้อมอธิบายเหตุผล ว่าทำไมพวกเขาจึงต้องการให้แกนนำ และประเด็นต่าง ๆ ที่สื่อสารภายในพื้นที่การชุมนุมปรากฏประเด็นเหล่านี้
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ระบุว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องการให้ภาครัฐวางนโยบายและเตรียมแผนรับมือที่ดี เช่น 1. เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000/เดือน 2. สวัสดิการรักษาฟรี 3. สวัสดิการที่อยู่อาศัย 4. สวัสดิการค่าเดินทางฟรี 5. ปรับผังเมืองให้เหมาะสมต่อผู้สูงอายุและคนพิการ
อีกความเห็นหนึ่ง บอกว่า ต้องการให้มีการสื่อสารเรื่องการกระจายความเจริญไปที่จังหวัดอื่น ๆ โดยบอกว่า จังหวัดของเขายังไม่มีขนส่งสาธารณะนอกตัวเมือง ถนนบางแห่งยังเป็นดินแดงหรือถนนลูกรัง ห้างร้านมีแค่ในตัวเมืองทั้งที่จังหวัดใหญ่ โรงเรียนน้อย เด็ก ๆ ต้องเดินทางไกลไปเพื่อไปเรียน และเมื่อเรียนจบแล้วไม่มีที่ทำงาน ส่วนใหญ่ต้องเข้ามาหางานทำในเมือง
ประเด็นขนส่งสาธารณะและปัญหาการจราจร เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรสื่อสารและเรียกร้องในม็อบ เช่น บอกว่าค่าโดยสารมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะนั้น หมายถึงทั้ง รถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถสองแถว วินจักรยานยนต์ แท็กซี่ เรือด่วน เรือข้ามฝาก และเรือคลองแสนแสบ
นอกจากนี้ ยังต้องการให้ม็อบพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด พวกเขาบอกว่าประชาชนจ่ายภาษีเท่ากัน แต่ได้รับการพัฒนาไม่เท่ากัน
พวกเขายังต้องการให้พูดเรื่องสวัสดิการคนพิการ สวัสดิการผู้สูงอายุ เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีพื้นที่สาธารณะในการแสดงความสามารถหรือออกกำลังกายและเดินเล่น การพูดถึงเรื่องความจำเป็นที่ต้องมีทางเท้าที่ดี ไม่มีเสาไฟฟ้ากีดขวางทางเดิน ระบบขนส่งที่ดีและสะดวก ที่ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานคร แต่ในจังหวัดอื่น ๆ ก็ต้องมีด้วย
เรื่องของคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ ที่พวกเขามองว่า “เลิกหลอมรวมความเป็นไทยได้แล้ว” พร้อมตั้งคำถามว่า “คนไทย 100% คือใคร ?” และขอให้เกียรติและเคารพกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกและมีสวัสดิการให้เหมือนคนทั่วไป
ส่วนประเด็น ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีหลายความเห็น ต้องการให้สื่อสารในพื้นที่การชุมนุม โดยตั้งคำถามถึงงบประมาณที่ถูกนำไปใช้ เช่น หน่วยงานความมั่นคง องค์กรท้องถิ่น และ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่ยังไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้น
หลังจากนี้ อาจต้องลองติดตามกันว่าบนเวทีการปราศรัยที่แยกราชประสงค์ ช่วงเย็นวันที่ 16 ต.ค. นี้ จะปรากฏเนื้อหาเหล่านี้ในพื้นที่การชุมนุมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่เพียงแค่การปราศรัยบนเวทีของแกนนำเท่านั้น แต่รูปแบบการชุมนุมในปี 2020 นี้ ยังมีหลากหลายประเด็นที่ถูกนำเสนอด้วยการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่รอบ ๆ การชุมนุมอีกด้วย