“นักเรียน” ขอเปลี่ยนอะไรบ้าง? ใน “โรงเรียน”

ธงราว” หลากสีสันหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ไม่เพียงทำหน้าที่ตกแต่งหรือสร้างสีสันให้พื้นที่การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนแตกต่างออกไป ราวกับเป็นมหกรรมหรือเฟสติวัลขนาดย่อม ๆ บนถนนราชดำเนิน

ป้ายสีสันสดใสตามสายธง ยังสะท้อนจุดยืน และความหลากหลายของข้อเสนอจากหลายโรงเรียน แม้พวกเขา/พวกเธอ จะเคลื่อนไหวทาง “การเมือง” ใต้ร่มใหญ่เดียวกัน คือ เป็นแนวร่วมของกลุ่มที่เรียกขานตัวเองว่า “นักเรียนเลว”

เปลี่ยนภาพการเมืองภาคประชาชนในรอบ 2 ทศวรรษ?

หากย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวที่ถูกนิยามว่าเป็น “การเมืองภาคประชาชน” นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเรียกร้องบนถนนราชดำเนิน เรื่อยไปจนถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้าอาคารรัฐสภาหลังเก่า ก็มักปรากฏประเด็นร่วม คือ ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ทางสังคมและเศรษฐกิจ

เช่น ปัญหาข้อเรียกร้องของ กลุ่มสมัชชาคนจน ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย, การเคลื่อนไหวของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่มีเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มย่อย ๆ ร่วมเคลื่อนไหวในช่วงแรก, การเคลื่อนไหวของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในรัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทั่งความเคลื่อนไหวครั้งหลังสุดของกลุ่ม กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ยังไม่นับรวมการชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาการสอบบรรจุข้าราชการ การทุจริตคอร์รัปชัน การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม และผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ฯลฯ

และไม่ว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายครั้งที่ผ่านมา จะเริ่มต้นด้วยข้อเรียกร้องเชิงประเด็นปัญหา หรือเริ่มต้นด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายครั้ง นำไปสู่การชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีและล้มรัฐบาลในที่สุด

กว่า 20 ปี ความเคลื่อนไหว จากกลุ่มการเมืองภาคประชาชน หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ได้นำมาสู่ความเคลื่อนไหวที่นำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ว่าจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวนี้จะมาจากตรงไหน การทวงคืนประชาธิปไตย จากรัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐประหาร หรือ การทวงคืนความเป็นธรรม ของคะแนนเสียงที่พวกเขามอบให้พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ฯลฯ แต่ที่แน่ ๆ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ได้ขยายไปสู่ระดับโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว

จากปรากฏการณ์ “ผูกโบว์สีขาว” และ “ชูสามนิ้ว” ระหว่างทำกิจกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน ที่นับจำนวนไม่ถ้วน The Active รวบรวมข้อเรียกร้องบางส่วนเพื่อค้นหาว่าจริง ๆ แล้ว “นักเรียน” ยุคนี้ ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรในโรงเรียน ที่มีความสัมพันธ์หรือมีรายละเอียดมากไปกว่าข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อของกลุ่ม “คณะประชาชนปลดแอก”

มีเครือข่ายมากกว่า 50 โรงเรียน กระจายในทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ

กลุ่มนักเรียนเลวและเครือข่าย ระบุว่า มีมากกว่า 50 โรงเรียนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพวกเขา เมื่อแบ่งกลุ่มประเภทข้อเรียกร้องจาก 9 กลุ่ม/โรงเรียน จะแบ่งได้ 6 กลุ่มประเด็นใหญ่ ๆ

  1. หลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่เอื้อต่อสิทธิมนุษยชน
  2. ความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศ ที่รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+
  3. ปกป้องคุ้มครองนักเรียนจากบุคลากรในโรงเรียน
  4. แก้ไขกฎระเบียบในโรงเรียน
  5. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียน
  6. เรียกร้องในประเด็นร่วมกับประเด็นทางสังคม 

กลุ่ม “นักเรียนเลว” มีข้อเรียกร้องหลักไปที่ 4 ประเด็นแรก คือ ตรวจสอบ เรียกคืน และยุติการจัดจำหน่ายหนังสือเรียนที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศในมุมมองที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งให้ยกเลิกแบบประเมินและกฎระเบียบของโรงเรียนต่าง ๆ ที่ยังมีการเหยียดเพศ หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน

รวมถึงข้อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ต้องปรับปรุงและแก้ไขระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 โดยต้องระบุให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศได้สิทธิในการเลือกทรงผมตามเพศวิถีของตนเอง

ขณะที่ในด้านของ การปกป้องคุ้มครองนักเรียน กลุ่มนักเรียนเลว เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ กำชับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ปฏิบัติต่อนักเรียนทุก ๆ เพศอย่างเท่าเทียมกัน และห้ามดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือกลั่นแกล้งนักเรียนด้วยเรื่องเพศ และนักเรียนมีสิทธิเลือกที่จะใส่ชุดนักเรียนตามเพศวิถีของตนเอง ยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีสิทธิที่จะแต่งกายได้ตามเพศของตนเอง

และ 3 ข้อเรียกร้อง 1 เงื่อนไข ในการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด ระหว่างการดีเบตของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว คือ 1. หยุดคุกคามนักเรียน 2. ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง 3. ปฏิรูปการศึกษา และเงื่อนไขที่ว่า คือ หากแก้ไขไม่ได้ ขอให้รัฐมนตรีฯ ลาออกจากตำแหน่ง

กลุ่ม “แนวร่วม sisterhood”  เป็นการรวมกลุ่มของนักเรียนโรงเรียนหญิงล้วน 4 แห่ง คือ สตรีวิทยา, เบญจมราชาลัย, จอมสุรางค์อุปถัมภ์ และชลกันยานุกูล เน้นไปที่ข้อเรียกร้องประเด็นที่ 1 – 3 คือ ยกเลิกหลักสูตรและกฎระเบียบที่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคลากรภายในโรงเรียน, พัฒนาหลักสูตรให้มีความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งสนับสนุนการมีอยู่และสิทธิมนุษยชนของ LGBTQ+ และโรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน โดยให้ความคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างเต็มที่เมื่อนักเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกละเมิดกรณีใด ๆ

กลุ่ม ซาร่าวิดยาไม่เอาเผด็จการ มีการระบุข้อเรียกร้องลงรายละเอียดไปที่การแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อถูกตัดคะแนนความประพฤติครบ 20 คะแนน, ขอให้มีการแก้ไขระเบียบการลงโทษนักเรียน ไม่ให้ใช้ความรุนแรง ทั้งกาย วาจา ใจ, การทำร้ายร่างกาย ดูหมิ่น เหยียดหยาม ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น ลุก นั่ง กลิ้ง หมอบ คลาน, ขอให้มีการออกระเบียบว่าด้วยทรงผมนักเรียน ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2563 และสนับสนุนให้นักเรียนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ยื่นข้อเรียกร้อง ที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า พวกเขาต้องการพื้นที่ในการมีส่วนร่วมและเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่ม ซาร่าวิดยาไม่เอาเผด็จการ ยังระบุเพิ่มเติมว่า สนับสนุนทุกข้อเรียกร้องใน 6 กลุ่มประเด็น เพียงแต่ไม่ได้มีการประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์

“เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ” หรือกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญหลายครั้ง ทั้งในและนอกโรงเรียน เคยมีการออกแถลงการณ์เพื่อขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน เรื่องการปิดบังใบหน้าป้องกันการละเมิดสิทธิและคุกคามนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงรวบรวมรายชื่อนักเรียนและศิษย์เก่าเพื่อยื่นหนังสือขอให้โรงเรียนแก้ไขระเบียบทรงผมนักเรียนและการใส่เสื้อทับชั้นใน การเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของนักเรียนตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการออกแถลงการณ์ต่อประเด็นทางสังคมอื่น ๆ เช่น กรณีบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยทางการเมือง

กลุ่ม บอดินไม่อินเผด็จการ หรือนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มีการชูข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขกฎระเบียบในโรงเรียน คือ การยกเลิกหมอบกราบ แล้วให้เปลี่ยนเป็นการไหว้ในอิริยาบถที่นั่งในท่าขัดสมาธิแทน รวมถึงการนำเสนอข้อเรียกร้องร่วมกับความเคลื่อนไหวในสังคม อย่างการคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP หรือ ความตกลงสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

สตรีจอมไม่ทนเผด็จการ” หรือ โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา มีข้อเรียกร้องเพื่อขอให้แก้ไขกฎระเบียบในโรงเรียนเช่นกัน โดยขอให้โรงเรียนไม่มีการออกกฎเกี่ยวกับทรงผมเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ยกเลิกการตรวจผม และต้องไม่มีการหักคะแนนนักเรียนคนใดเรื่องผมอีก

“ราชบพิธพิชิตเผด็จการ” หรือโรงเรียนวัดราชบพิธ ขอให้มีการยกเลิกการลงโทษนักเรียนด้วยการตี และยกเลิกทรงผมที่ลิดรอนสิทธิของนักเรียน

ขณะที่ กลุ่ม “สุรศักดิ์มนตรีปลดแอก” หรือ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ขอให้มีการแก้ไขหลักสูตรในหนังสือแบบเรียนวิชาสุขศึกษา แก้ไขกฎระเบียบเรื่องทรงผม เพราะปัจจุบันยังมีการบังคับให้นักเรียนชายต้องตัดผมรองทรงสูงเท่านั้น รวมถึงข้อเรียกร้องในการขอให้มีพื้นที่ในการเเสดงออกมากกว่านี้ และขอให้แก้ปัญหาการคุกคามนักเรียน

ส่วนกลุ่ม ใจกลางกรุงเก่าไม่เอาเผด็จการ มีข้อเรียกร้องหลักเหมือนกับกลุ่มนักเรียนเลวทั้งหมด

นอกจากนี้ ในแต่ละกลุ่ม ยังมีข้อเรียกร้องย่อยหรือการออกแถลงการณ์ต่อประเด็นทางสังคมอื่น ๆ อีกด้วย

บทส่งท้าย

คน Generations ก่อนหน้า อาจนิยามกันเองว่าวัยมัธยมเป็น วัยเปรี้ยวอมหวาน กระโปรงบานขาสั้น หรือ วัยแรกแย้ม/แรกรุ่น เพราะเมื่อนับอายุ น่าจะอยู่ระหว่าง 12 – 18 ปี แต่คำนิยามเหล่านี้ อาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว กับบทบาททางสังคมของนักเรียนใน Generation ปัจจุบัน

แม้ไม่ได้ชูข้อเรียกร้องไปที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เหมือนที่ผู้ใหญ่ วัยอาบน้ำร้อนมาก่อน เคยเคลื่อนไหวตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่หลังเริ่มต้นใช้ชีวิตวัยรุ่น พวกเขากลับตั้งคำถามถึง “อำนาจและค่านิยมในโรงเรียน” ที่หมายรวมถึงอำนาจผ่านหลักสูตร ระเบียบ และกฎเกณฑ์ในโรงเรียน, ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างครูและนักเรียน, ความเสมอภาคทางเพศของหญิง –  ชายผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเป็นร่มใหญ่ของการเคลื่อนไหว

หลายประเด็นข้อเรียกร้อง เป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้า ถึงกับต้องครุ่นคิดว่า แท้ที่จริงแล้ว เรื่องเหล่านี้พวกเขาอาจเคยตั้งคำถามในใจ แต่แทบไม่มีใครกล้าเอ่ยปากตั้งคำถามกับผู้ที่มีวัยสูงกว่า ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า “หรือนี่อาจจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นได้”

อยู่ที่ว่า เสียงเรียกร้องของพวกเขาจะถูกรับฟัง และร่วมกันหาสิ่งที่เป็นข้อตกลงร่วมและสมดุลกับสิ่งอื่น ๆ ในสังคมได้มากน้อยแค่ไหน

หมายเหตุ

เป็นการรวบรวมข้อเสนอเพียงบางส่วน โดยสามารถส่งรายละเอียดข้อเสนอและข้อเรียกร้องเพิ่มเติมได้ที่เพจ The Active

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ประชาชนย่านหลักสี่ บางเขน เรียนบริหารงานยุติธรรมและนิติศาสตร์ ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

จบรัฐศาสตร์ IR แต่ออกมาหล่อเลี้ยงกายาด้วยงานช่างภาพและกราฟิก หล่อเลี้ยงความคิด ด้วยเรื่องวิทย์ ๆ จิตวิทยา ปรัชญา และการแพทย์