เสียงของความเหลื่อมล้ำ ต้องดังแค่ไหนถึงจะมีคนฟัง

สรุปใจความสำคัญจากงานประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 เพื่อก้าวสู่สังคมสุขภาพวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม Voice of The Voiceless #2  จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ นโบายภาพรวมกับการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ กล่าวว่า คุณภาพชีวิตของประชากรไทยทั้งมวล ถ้าดูตามตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ จำนวนปีการศึกษาที่ได้รับ จำนวนคนยากจน หลายอย่างพัฒนาไปในทางที่ดี แต่ยืนยันว่าความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ยังมีอยู่ในสังคมไทย

แม้ว่าเราจะมีระบบสวัสดิการสังคม ความคุ้มครองทางสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านครอบครัว สาธารณสุข อุบัติเหตุ รายได้ ที่อยู่อาศัย สถานคุ้มครอง ความจำเป็นเฉพาะ การว่างงาน แต่จริง ๆ แล้วมีความท้าทายอยู่มาก ทั้งรัฐบาลและทุกภาคส่วนของสังคมที่เผชิญอยู่

ได้แก่ ความท้าทายที่เกิดจากความยากจนและความเลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ปัญหาโครงสร้างของระบบสวัสดิการสังคมและระบบคุ้มครองทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (ค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านสุขภาพ หลักประกันรายได้วัยชรา ความแตกต่างระหว่างประชากรที่มีสถานภาพการทำงานที่ต่างกัน แหล่งที่มาของเงินที่เน้นไปที่งบประมานแผ่นดิน) เรายังจำเป็นต้องเลือกว่าจะใช้ะระบบถ้วนหน้า หรือกลุ่มเฉพาะ ซึ่งคนไทยยังเข้าใจลักลั่นไม่สมบูรณ์ และท้องที่ท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการหนุนเสริมประชากร

ที่สำคัญคือความท้าทายที่เกิดขึ้นจากประชากรกลุ่มเฉพาะเอง สิ่งจำเป็นคือสะพานเชื่อมประชากรแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มประชากรสูงอายุ สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้อีก เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นคนไร้บ้าน คนไทยไร้สิทธิ ทุพพลภาพ ย้ายถิ่นฐาน ความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายตรงนี้มีความซับซ้อนและต้องทำความเข้าใจ เราต้องเปิดพื้นที่อย่างเวทีวิชาการ เพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้ในภาพรวมและการทบทวนนโยบายว่าจะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ประชากรกลุ่มเฉพาะที่มีความซับซ้อน และระบบกลไกที่จะตอบสนองความซับซ้อนตรงนี้ในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร คือเรื่องที่ต้องหาคำตอบ

“แม้ว่าเราจะมีระบบสวัสดิการสังคม ความคุ้มครองทางสังคม แต่ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ยังมีอยู่ในสังคมไทย ที่ท้าทายมากขึ้นไปอีกคือ ในกลุ่มประชากรเฉพาะนั้นมีความซับซ้อน เช่น ความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงวัย แบ่งได้เป็น สูงวัยไร้บ้าน สูงวัยไร้สิทธิ สูงวัยที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งต้องทำความเข้าใจ ขณะที่คนไทยยังจำเป็นต้องเลือกว่าจะใช้ะระบบถ้วนหน้า หรือดูแลกลุ่มเฉพาะ”

‘จากนโยบายสู่การขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ’

ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า ตนมีแนวคิด 2 เรื่องในใจ คือ 1. ชีวิตไม่ใช่ภาพนิ่ง สังคม สิ่งแวดล้อม มีพลวัตอยู่ตอลดเวลา 2. หลักของสิทธิมนุษยชน มนุษย์มีความสามารถในการกำหนดชีวิตของตัวเองได้ 40 ปีที่ผ่านมาตนได้ทำหน้าที่เป็น NGO ด้านสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็พยายามพัฒนาตัวเองให้มีโอกาสได้พัฒนานโยบาย มาตรการ และกฎหมายได้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จุดแรกคือตนเป็นข้าราชการ ต้องเอาคำสั่งนโยบายลงไปปฏิบัติ แต่ก็ต้องทำงานขาขึ้นด้วย จะทำอย่างไรที่เราจะได้ฟังเสียงของประชาชนด้วย ให้เสียงส่งถึงผู้มีอำนาจที่จะเลือกและตัดสินใจ

เราจึงต้องทำทุกอย่างที่จะทำให้เสียงของคนข้างล่าง เสียงของตัวเรา ด้วยกลยุทธ์การทำงาน คือ

  1. หากลยุทธ์ส่งเสียงให้ถึงหู เช่น การจัดสัมมนาก็เป็นกลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่ง ก่อนหน้านี้ตนจัดสัมมนาทุกเดือน และมีรัฐมนตรีมาได้หมด แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 ให้อำนาจตนสามารถจัดตั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพครั้งแรกในประเทศไทย จึงใช้คำว่าพัฒนาการของสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่และสามารถพัฒนาต่อไปได้
  2. จำนวนต่อหลักฐาน อะไรที่เป็นพันธะกรณีระหว่างประเทศ บวกกับฐานข้อมูลในแต่ละเรื่องและเป็นฐานข้อมูลที่เป็นจริง ผู้มีอำนาจจะให้ความสนใจและพิจารณาตัดสินใจ เอกสารต่าง ๆ จะเป็นข้อมูลอยู่เสมอ
  3. พัฒนาระบบและโครงสร้าง ทำเซลล์เล็ก ๆ เปรียบกับรังผึ้ง ที่ถูกจัดเป็นระบบ
  4. แปรรูปผลผลิต ลานแดนหญิงสามารถเปลี่ยนเป็นลานโยคะได้ เปลี่ยนลานหน้าเรือนจำคลองเปรมเป็นแคทวอล์กได้ เมื่อผมทำงานที่จังหวัดชายแดนใต้ ก็เปลี่ยนพื้นที่เป็นเกษตรกรรมได้ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม
  5. เกาะติดโครงสร้างหลัก เพราะโครงสร้างไทยไม่นิ่ง หลักรัฐธรรมนูญ 2560 โครงสร้างเปลี่ยน วิธีการใช้งบประมาณเปลี่ยน ทำยังไงให้เราเกาะติดแบบแผนการบริหารได้ และเราสามารถเอาแนวคิดของเราไปปะติดปะต่อโครงสร้างของเขาให้ได้ สุดท้าย
  6. ทิศทางการทำงาน แบบขนมวาฟเฟิล คือขนมที่ประกบบนล่าง คือนโยบายแนวดิ่งข้างบนกับประชาชน ตรงกลางคือแป้ง ต้องใช้ฐานข้อมูลเพื่อทำให้แผนการทำงานอร่อยมีความสุขและกินได้

รศ.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การให้พื้นที่รับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง มันจะทำให้เราได้รับรู้สารอย่างคมชัดมากขึ้น การฟังเสียงของผู้คนยังทำให้เกิดความสะเทือนใจ บางเรื่องราวอาจจะทึ่ง อึ้ง พูดไม่ออก ความรู้สึกแบบนี้เองที่ทำให้เกิดความรู้สึกอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง โลกสมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อก่อนเราคิดว่าอำนาจจะไปอยู่ฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว แต่วันนี้อำนาจอยู่ในมือของเราทุกคน และอำนาจนี้เองที่จะส่งผ่านไปกันต่อไป อย่างเรื่องบางเรื่องได้ลงข่าวมีการส่งผ่านกันไป ทำให้เกิดแรงกระเพื่อม เหมือนซอฟต์พาวเวอร์ และทำให้เกิดนโยบายต่อไป

“ถ้าเราเชื่อในอำนาจของคนตัวเล็กตัวน้อย อำนาจของประชาชน และหาวิธีที่จะสื่อออกไป จะเป็นเสียงที่ส่งไปถึงระดับนโยบายได้ สิ่งสำคัญเมื่อเราคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร คืออาศัยวิธีคิดเป็นอันดับแรก เมื่อประชาชนเปลี่ยนฐานคิดแล้วนโยบายก็ต้องเปลี่ยนตาม ถ้าคนเอาแล้วรัฐบาลจะไม่เอาได้อย่างไร วันนี้วิธีคิดความรู้ชุดใหญ่ที่ครอบงำคนไทยอยู่ ต้องเปลี่ยนเป็นความคิดชุดใหม่”

วรงค์ นัยวินิจ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านอย่างจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อเห็นความช่วยเหลือคนไร้บ้านมากมายในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่การช่วยเหลือเชิงสงเคราะห์แบบนั้นเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน จึงคิดหาวิธีการสร้างกลไกเพื่อหาวิธีช่วยเหลือคนไร้บ้านในเชิงการยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาศักยภาพโดยตัวของเขาเอง โดยบูรณาการองค์ความรู้ เปิดพื้นที่และโอกาสให้ได้ศึกษาทักษะรอบด้าน เพื่อสร้างอาชีพในอนาคต

ระยะเวลาการทำงาน 2 ปี ที่ผ่านมา ตอนนี้เรามีคณะทำงานที่ประกอบด้วยภาควิชาการ ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐ เป็น 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่จะเดินหน้าพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน และหวังว่าเมื่อเกิดความเข้มแข็งในเชิงพื้นที่แล้ว จะสามารถจัดทำเป็นข้อเสนอในเชิงนโยบายระดับสูงขึ้นไปได้

โดยยกตัวอย่างโมเดลการพัฒนาศักยภาพของคนไร้บ้านในจังหวัดกาญจนบุรี ว่าเป็นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม หากสามารถแก้ปัญหาให้คนไร้บ้าน 30 คน ในจังหวัดกาญจนบุรีได้ สามารถที่จะนำไปใช้ได้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งตลอดการทำงานกับคนไร้บ้านก็พยายามชวนคนไร้บ้านมาหารืออย่างต่อเนื่อง

“การที่ภาคประชาชนจะทำงานสังคมได้ จะต้องมีตัวช่วย ทั้งสถาบันการศึกษา ช่วยเชื่อมโยงการศึกษาเพื่อช่วยเหลือคนในพื้นที่เอง คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นประเด็นที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ ถ้าเราอยากเป็นเมืองน่าอยู่เราจะต้องไม่ทิ้งคนเหล่านี้ไว้ คนตัวเล็ก ๆ จะเป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่ให้เขามีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวเองด้วย ผมจึงทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมกันทำงาน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์