จากมือถึงมือ: ชีวิตใหม่ของคนไร้บ้าน

#อาหาร#งาน และ #ที่พักพิง… เป็น 3 สิ่ง ที่องค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่ง รวมถึงนักพัฒนาสังคม นักวิชาการ และหน่วยงานราชการมองว่า คือ ความจำเป็นที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อดูแลกลุ่มคนไร้บ้าน

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนไร้บ้านหน้าใหม่ เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากการปิดกิจการ เลิกจ้าง กลายเป็นคนไร้ที่พึ่งพิง ไร้ที่อยู่อาศัย


มีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขคนไร้บ้านหน้าใหม่ เพิ่มขึ้นถึง 30% ที่แม้จะเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงต้นของวิกฤตโรคระบาด แต่ความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ห่างไกลจากที่คาดการณ์ไว้

ปัจจัย 3 สิ่งที่คนไร้บ้านกลุ่มเดิมควรได้รับการดูแล ดูเหมือนจะอยู่ระหว่างความพยายามของหลายหน่วยงาน ขณะที่ภาควิชาการก็ชี้ชัดว่า ภายใต้วิกฤตนี้อาจเป็นโอกาสจะได้เห็นว่า อะไรคือสิ่งที่ควรแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่เช่นนั้น คนไร้บ้านหน้าใหม่ ก็จะกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร ส่งผลต่อสังคมโดยภาพรวม

The Active สรุปความเห็นสำคัญ จากเวทีสาธารณะ จากมือถึงมือ ครั้งที่ 3 : “ชีวิตใหม่ของคนไร้บ้าน”

‘อนรรฆ พิทักษ์ธานิน’ นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจคนไร้บ้านตั้งแต่ต้นปี 2563 มีทั้งหมดราว 2,700 คน หากรวมจำนวนคนไร้บ้านของสถานสงเคราะห์ด้วย มีอยู่ประมาณเกือบ 10,000 คน และจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงทำโมเดลเพื่อพยากรณ์จำนวนคนไร้บ้าน จากตัวเลข GDP ปี 2563 พบว่าจะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น 30%

เขายกตัวอย่างว่า ปัจจุบัน กทม. มีคนไร้บ้าน 1,300 คน ก็จะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ประมาณ 300-400 คน แต่การคาดการณ์นี้อาจจะไม่แม่นยำ เพราะปัจจัยที่จะทำให้กลายเป็นคนไร้บ้าน นั้นประกอบไปด้วยหลายเรื่อง ทั้งสภาพแวดล้อมและปัญหาครอบครัว

จากการลงพื้นที่ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา เขาพบคนไร้บ้านหน้าใหม่จำนวนมาก เช่น สวนสาธารณะลุมพินี หรือ ท่าน้ำนนท์ ส่วนในต่างจังหวัดคือที่พัทยา มีจำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การผลักดันนโยบายเรื่องที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านถือว่ามาถูกทาง ซึ่งปัจจุบันก็มีศูนย์พักฉุกเฉินให้กับคนไร้บ้านหน้าใหม่ ได้เข้ามาใช้เพื่อตั้งหลักชีวิต

ด้าน ‘สมพร หารพรม’ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มผศ.) กล่าวว่า ก่อนโควิด-19 ระบาด ก็ทำงานกับคนไร้บ้านอยู่แล้ว แต่หลังจากโควิด-19 ระบาดได้ลงพื้นที่ไปก็พบคนไร้บ้านหน้าใหม่มากขึ้น การช่วงเหลือระยะแรกคือดูแลคนในศูนย์คนไร้บ้านด้วยการจัดครัวกลางทำอาหารเพื่อเลี้ยงคนในศูนย์ฯ

ระยะที่ 2 วิกฤตเริ่มรุนแรงขึ้น ก็นำอาหารที่ได้จากครัวกลางไปแจกจ่ายให้กับคนไร้บ้านภายนอกศูนย์ฯ ที่เริ่มลำบาก ซึ่งคนไร้บ้านหน้าใหม่ ถูกพูดถึงน้อยมากในการเข้าถึงการป้องกันโรค อย่างหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ

การทำงานของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น การแจกอาหาร ซึ่งครอบคลุมไปถึงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ นอกจากคนไร้บ้านด้วย

ถัดมา คือ ช่วงของการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยระดมเครือข่ายและหน่วยงานของรัฐลงพื้นที่ร่วมกัน มีการตรวจสุขภาพ และพูดคุยถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่คนกลุ่มนี้ควรจะได้รับ และ ช่วงสุดท้าย คือ การวางแผนว่าอนาคตค วามมั่นคงระยะยาวจะต้องทำอย่างไร ปัจจุบันมีศูนย์พักพิงคนไร้บ้านอยู่จำนวน 4 แห่งในกรุงเทพมหานคร คือ ที่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคตะวันตกและตะวันออก รวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีกลุ่มคนไร้บ้านเช่นกัน ซึ่งพยายามส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

“คนไร้บ้านเดิมที่มีอยู่ก็มีปัญหาชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ ที่เป็นกลุ่มคนเปราะบาง และหลุดออกมาเป็นคนไร้บ้าน ยังหางานทำไม่ได้ จังหวะที่หลุดออกมาหากไม่เข้าไปช่วยเหลือ การฟื้นฟูอาจจะยากมากขึ้น”

ด้าน ‘ปฏิภาณ จุมผา’ รอง ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่า อนาคตคนไร้บ้านจะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากมีระบบชุมชนและรัฐเปิดโอกาส ปัจจุบันปัญหาคนไร้บ้านเป็นหนึ่งในนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล โดยขีดเส้นว่า 16 ปี ทุกคนจะต้องมีที่อยู่อาศัย แต่คิดว่าไม่ต้องใช้เวลาถึง 16 ปี อีก 5 ปี ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะมีระบบงบประมาณรองรับ มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่พัฒนาคนไร้บ้าน ด้วยแผนพัฒนาผู้มีรายได้น้อย ขณะที่วิธีคิดของรัฐก็เปลี่ยนไป มองคนไร้บ้านว่าไม่ใช่เป็นภาระของสังคม แต่เป็นกลุ่มที่หากได้รับโอกาสก็จะกลายเป็นพลังทางสังคม

แนะรัฐหนุนทรัพยากร ชี้เครือข่ายภาคประชาสังคมทำงานทั่วถึงกว่า

‘อนรรฆ พิทักษ์ธานิน’ ระบุว่า เมื่อเกิดวิกฤต การสร้างเครือข่ายกลายเป็นตาข่ายรองรับ (safety net) โดยวิกฤตที่เกิดขึ้นก็เป็นโอกาสทางนโยบาย แต่โจทย์ท้าทายคือเราจะเปลี่ยนความฉุกเฉิน เป็นความยั่งยืนได้อย่างไร จะต้องมีการดึง Partner ภาคีต่าง ๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ในระยะยาว

“ในต่างประเทศ รัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนทรัพยากร ขณะที่ คนลงไปทำงานคือเครือข่ายและชุมชน เพราะเป็นหน่วยงานที่รู้ปัญหาดีและครอบคลุมมากกว่า”

อีกโจทย์ท้าทาย คือ การพัฒนาด้านอาชีพ อนาคตตลาดแรงงานไร้ฝีมือตำแหน่งจะลดลง ขณะที่จำนวนแรงงานมีเพิ่มมากขึ้น ต้องพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน

ขณะเดียวกันการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็กระทบกับคนไร้บ้าน โดยในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนผู้สูงอายุที่เป็นคนไร้บ้านถึง 22% อนาคตก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเป็นห่วงเรื่อง การจ้างงานผู้สูงอายุส่วนมากจะไม่มีงานทำ

เร่งสำรวจคนไร้บ้านทุกตำบล

‘ปฏิภาณ จุมผา’ กล่าวว่า การเปลี่ยนความฉุกเฉิน เป็นความยั่งยืน พอช. กำลังดำเนินการอยู่ เพราะเป็นหน้าที่ของ พอช. ด้วย โดย 1) สำรวจข้อมูลคนไร้บ้านทุกตำบล เมื่อทราบข้อมูลแล้ว ก็จะช่วยเหลืออย่างตรงจุด 2) เชื่อมโยงคนไร้บ้าน ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต 3) เมื่อคนไร้บ้านรวมกลุ่มก็จะไม่รอการสงเคราะห์ แต่จะเห็นโอกาส จัดตั้งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ สร้างที่อยู่อาศัย สร้างชุมชนในฝัน และต่อยอดอาชีพ-รายได้ ขณะที่รัฐต้องจัดการสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้

ด้าน ‘สุชิน เอี่ยมอินทร์’ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่าปี 2563-2564 จะมีคนไร้บ้านมากขึ้น เพราะโรงงานปิดตัว คนไร้บ้านจะไม่มีที่ไป อาจมีบางกลุ่มกลับภูมิลำเนา แต่อีกหลายคนก็ต้องกลับเข้าไปในเมือง เพื่อหางานทำ ในระหว่างที่หางานทำ ก็จะเป็นแบบตน คือ เป็นคนไร้บ้าน และอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ต้องขังพ้นโทษ เมื่อออกมาบางส่วนก็จะต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะฉะนั้นก็ต้องสำรวจข้อมูลตรงนี้ให้ชัด

“โดยปกติจากประสบการณ์ คนไร้บ้านส่วนใหญ่จะมีช่วงอายุประมาณ 50 ปี แต่เท่าที่สังเกตตอนนี้ คนไร้บ้านมีอายุน้อยลง พบเห็นได้ในอายุ 35-40 ปี ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ควรจะมีกฎระเบียบที่เข้มมากนัก ควรจะยืดหยุ่นและไม่ต้องกำหนดเวลาเข้าออก เพื่อเอื้อให้คนไร้บ้านได้เข้าอยู่อาศัยแบบสบายใจ”

📌 ดูเพิ่ม
– จากมือถึงมือ ครั้งที่ 3 : ชีวิตใหม่คนไร้บ้าน (24 ก.ค.63) 

https://youtu.be/Zow99tJdU9Q

📌 องค์กรร่วมจัด
– สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน – CODI
– ไทยพีบีเอส ชุมชนสัมพันธ์
– Thai PBS

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active