เตรียมตัวอย่างไรบ้าง? เพื่อรับมือการระบาดรอบ 2 ของ COVID-19

เมื่อสุขภาพกำหนดสังคม คนไทยควรกังวลการระบาดของ COVID-19 รอบ 2 เมื่อไร?

ร้ายแรงแค่ไหน​?

และรับมืออย่างไร​?


The​ Active​ ประมวลข้อมูล การคาดการณ์ และข้อเสนอแนะ จากกิจกรรม Virtual Policy Forum: เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สอง ของโควิด-19 ในรูปแบบ Visual note taking

มีการคาดการณ์ว่า โควิด-19 ระบาดรอบ 2 มีโอกาสเกิดสูงมาก เพราะเป็นธรรมชาติของโรคระบาด​ แต่หากมีการระบาดรอบ 2 จะเป็นการติดเชื้อแบบประปราย เป็นกลุ่มก้อน​บางจังหวัด​ และรุนแรงน้อยกว่ารอบที่ 1 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความแออัดของสถานที่และชุมชน​ รวมถึงการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย​ ซึ่งจากการประเมิน​ หากมีคนเล็ดลอดจากด่านชายแดน​ 50​ คนและเป็นผู้ติดเชื้อ​ ก็มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อต่อภายในประเทศ จนมีผู้​ติดเชื้อ​สะสม 7,000 คนใน 15 เดือนต่อมา​

ส่วนปัจจัยทางด้าน ระบาดวิทยา ก็มีเรื่องให้น่าคิด เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ แต่การรับมือขึ้นอยู่กับแบบจำลองที่เรียกว่า Ro (อัตราการแพร่ระบาดของโรค) คือ ประเมินว่าคนหนึ่งคนจะติดเชื้อได้กี่คน​ โดยหากกักตัวอยู่ภายในบ้าน​ ก็แทบไม่แพร่เชื้อ แต่หากออกจากบ้าน มีการเว้นระยะห่างและใส่หน้ากากอนามัย​ ก็ยังควบคุม​การแพร่เชื้อได้​ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย​ หนึ่งคนก็สามารถ​แพร่เชื้อได้จำนวนมาก ๆ​ ในพื้นที่แออัด

อีกข้อถกเถียงสำคัญ คือ​ หากปล่อยให้เกิด ​“ภูมิคุ้มกันหมู่” โดยไม่ป้องกัน อาจไม่ได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างที่คิด​ เพราะงานวิจัยล่าสุดจากต่างประเทศระบุว่าเมื่อติดเชื้อแล้วก็ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันที่เพิ่มมากขึ้น

หลักการในการควบคุมโรคตอนนี้คือ​ “ทุบด้วยค้อน​ ผ่อนด้วยฟ้อนรำ” นั่นหมายความว่า จะยอมให้มีการติดเชื้อได้​ โดยผ่อนปรนเป็นระยะ ๆ

นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการล็อกดาวน์อย่างจริงจัง​ ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เราจำเป็นต้องเปิดประเทศ​ โดยเฉพาะการฟื้นฟู​เศรษฐกิจ​ แต่การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยจะทำอย่างไร?

มาตรการในการจัดกลุ่มกิจการตามความเสี่ยง​ เป็นหนึ่งในแนวทางเปิดประเทศ​ แต่เพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อ​ จำเป็นต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ​ เชิงอนุรักษ์ ดังนั้นปัจจัยสำคัญต่อสถานการณ์โควิด-19 ในไทยอีกส่วนหนึ่งประเมินจากการบริหารจัดการ​เทคโนโลยีในการติดตาม​ ความร่วมมือของคนในสังคม​ ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาการกลายพันธุ์ของไวรัสด้วย

“สุขภาพ​ เศรษฐกิจ​ และสังคม” เป็นเรื่องเดียวกัน รัฐบาลเป็นผู้ออกมาตรการ​ ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ​ ทำตามมาตรการดังกล่าว แบ่งเป็น​ 2​ ระดับ​ คือ​ 1.มาตรการรับมือแบบบุคคล​ คือ​ การใส่หน้ากากอนามัย​ เว้นระยะห่าง​ และการล้างมือ​ 2.​ มาตรการสาธารณสุข​ ต้องมีการเฝ้าระวังและแยกผู้ป่วย​ อาจมีการปิดกิจการเฉพาะที่มีความเสี่ยงสูงไว้ก่อน

มีการยกตัวอย่างการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในการแยกผู้ป่วย​ อย่าง “ขอนแก่นโมเดล” ใช้วิธีการแบ่งโรงพยาบาลและแบ่งทีมบุคลากรทางการแพทย์​ โดย​โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข​ จะรับผู้ป่วย​โควิด-19​ ไปดูแล​ ส่วนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรับผู้ป่วยธรรมดาแยกออกมาดูแล

ต่อมา คือ การตรวจสอบความพร้อมทางการแพทย์​ ปัจจุบันมีเตียงรองรับทั้งหมดกว่า 22,052 เตียงทั่วประเทศ แบ่งเป็นสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 18,405 เตียง และนอกสังกัดกระทรวงฯ อีก 3,647 เตียง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียงทั้งหมด 2,471 เตียงทั้งของ รพ.รัฐและเอกชน ขณะที่ไอซียูมี 600 เตียง ดังนั้น หากมีการระบาดระลอกสอง บริการทางการแพทย์จะไม่หยุด ไม่ล็อกดาวน์แน่นอน แต่จะเป็นการแพทย์วิถีใหม่

ท้ายที่สุด​ สิ่งสำคัญที่ต้องการมากที่สุดในการรับมือหลังจากนี้​ คือ การมีสติตั้งรับ​ การสื่อสารที่ดีและความสามัคคี​นั่นเอง

ดูเพิ่ม

Virtual Policy Forum | นโยบาย – ผลกระทบ – การรับมือ

8 แนวโน้ม ผลกระทบ และการเตรียมรับมือ การระบาดรอบที่สองของ COVID-19

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS