“อย่างไรก็ต้องเปิดเมือง” เมื่อ วัคซีนและยา ไม่ใช่ความหวังเดียวหากต้องอยู่กับ “โควิด-19​”

The​ Active​ ประมวลข้อมูล การคาดการณ์ และข้อเสนอแนะ จาก Virtual Policy Forum: เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สอง ของโควิด-19 ในรูปแบบ Visual note taking

หากต้องอยู่กับ COVID-19 ยาว ๆ อะไรคือความหวังและโอกาส?

คำตอบอย่างแรก คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมยา ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้า ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาปอดอักเสบ​ที่นำมาใช้รักษา​ COVID-19 สต็อกไว้กว่า​ 5​ แสนเม็ด จากประเทศญี่ปุ่น​ ซึ่งรองรับผู้ป่วยได้ 8,400 คน

เพื่อสร้างความมั่นคงในอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ​ ซึ่งนับเป็นปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็น จึงต้องเร่งพัฒนาสูตรยา องค์กร​เภสัชกรรม​เตรียมขยายการผลิตต้นปี​ 2564 ขณะที่ตั้งเป้าว่าจะสามารถผลิตสารตั้งต้นในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้เองในปี 2565

ขณะที่การพัฒนาวัคซีนทั้งรูปแบบซื้อยาเข้ามาบรรจุ กำลังอยู่ระหว่างเจรจา ในขณะที่วัคซีนที่ฉีดเชื้อเข้าไปฟักในไข่ให้กลายเป็นเชื้อตาย​ ตอนนี้อยู่ระหว่างทดลองในหนู​ คาดว่าจะรู้ผลในช่วงเดือนสิงหาคม และวัคซีนที่คัดเลือกจากสายพันธุกรรม​ ก็กำลังอยู่ระหว่างการวิจัย มีการเตรียมงบประมาณ 1,500 ล้านบาท​ เพื่อพัฒนาโรงงานวัคซีน​ เพิ่มกำลังการผลิต

เมื่อลงรายละเอียด​ เรื่องความมั่นคงทางยา​ รัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมยาอย่างต่อเนื่อ​ง​ ไม่ใช่เพียงเพื่อการรับมือจาก COVID-19 เท่านั้น แต่ยังต้องขยายความสามารถ​ผลิตยารักษาโรคใหม่ ๆ​ อื่น ๆ ด้วยเพราะปัจจุบันประเทศไทยผลิตยาสามัญใช้กับโรคแบบเดิม ยังไม่สามารถผลิตยาสำหรับโรคใหม่ได้ ทั้งนี้เห็นโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในระบบเชื่อมโยงการจ่ายยาแบบออนไลน์ แต่ก็มีข้อควรระวัง​ คือ ต้องกระทำโดยเภสัชกรอย่างถูกต้อง

อีกส่วนสิ่งหนึ่งที่เป็นโอกาสในวิกฤต​ คือชุด PPE​ เดิมประเทศไทยต้องนำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม​ แต่หลังจากเกิดวิกฤต ชุด PPE​ ขาดแคลน​ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและสถาบันการศึกษา ได้​พูดคุยกันถึงการออกแบบและตัดชุด PPE​ ซึ่งตอนนี้คนไทยสามารถผลิตได้เอง และมีจำนวนมากพอที่จะขยายตลาดส่งออก

ส่วนหน้ากากอนามัยปัจจุบันมีกำลังการผลิตวันละ 4.2 ล้านชิ้น​ แบ่งให้กับโรงพยาบาล 1.8 ล้านชิ้น​ กระทรวงพาณิชย์นำไปกระจายลงตลาดอีก 1 ล้านชิ้น​ ส่วนอีก 1.4 ล้านชิ้น ยังไม่พบว่าหายไปไหน

หลังวิกฤต​ COVID-19 หรือหากต้องเปิดประเทศ การเปิดรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพก็จะต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบ Wellness tourism ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและทำกิจกรรมเพื่อสังคม หอการค้าไทยวาง​รูปแบบ “Happy model” คือ กินดี มีความสะอาดและปลอดภัย อยู่ดี คือ สะดวก บริการดี​ มี สาธารณูปโภคต่าง ๆ​ รองรับ พร้อม​แบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้ทั้งความรู้และการเรียนรู้ในกิจกรรมที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน และ ออกกำลังกายดี​ คือ ได้ประโยชน์และมีมาตรฐาน ทำสุขภาพให้แข็งแรง

จากผลพวงการควบคุม COVID-19 ของประเทศไทย ทำได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก​ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเชื่อมั่นในระบบสุขภาพและต้องการเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น

ข้อเสนอ

  1. อย่างไรก็ต้องเปิดเมือง​ เปิดประเทศ ไม่ต้องกังวลกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ต้องเป็น​ 0​ เสมอไป และต้องเปิดเมืองแบบเป็นขั้นเป็นตอน ​เข้มงวด หากมีการระบาดวง​แคบ​ ให้ควบคุมหรือล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่
  2. อย่ารอวัคซีนและยา เพราะจะมาเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ให้สร้างความเข้มแข็งของ​ “วัคซีนสังคม” พัฒนาระบบของบริษัทเรื่องของการ work from home กระตุ้นให้ชุมชนรักษา และป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนไทยทุกคนเป็นตำรวจ COVID-19
  3. พัฒนาระบบการเยียวยาเศรษฐกิจ​ ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม​ เยียวยาให้นานพอ 1-2 ปี เป็นอย่างน้อย​ การเยียวยาต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

Virtual Policy Forum | วัคซีน – ยา: ความหวัง – วิกฤต – โอกาส (22 ก.ค. 2563)

ดูเพิ่ม

เตรียมตัวอย่างไรบ้าง? เพื่อรับมือการระบาดรอบ 2 ของ COVID-19

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS