เมื่อสุขภาพกำหนดสังคม คนไทยควรกังวลการระบาดของ COVID-19 รอบ 2 เมื่อไร?
ร้ายแรงแค่ไหน?
และรับมืออย่างไร?
The Active ประมวลข้อมูล การคาดการณ์ และข้อเสนอแนะ จากกิจกรรม Virtual Policy Forum: เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สอง ของโควิด-19 ในรูปแบบ Visual note taking
มีการคาดการณ์ว่า โควิด-19 ระบาดรอบ 2 มีโอกาสเกิดสูงมาก เพราะเป็นธรรมชาติของโรคระบาด แต่หากมีการระบาดรอบ 2 จะเป็นการติดเชื้อแบบประปราย เป็นกลุ่มก้อนบางจังหวัด และรุนแรงน้อยกว่ารอบที่ 1 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความแออัดของสถานที่และชุมชน รวมถึงการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจากการประเมิน หากมีคนเล็ดลอดจากด่านชายแดน 50 คนและเป็นผู้ติดเชื้อ ก็มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อต่อภายในประเทศ จนมีผู้ติดเชื้อสะสม 7,000 คนใน 15 เดือนต่อมา
ส่วนปัจจัยทางด้าน ระบาดวิทยา ก็มีเรื่องให้น่าคิด เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ แต่การรับมือขึ้นอยู่กับแบบจำลองที่เรียกว่า Ro (อัตราการแพร่ระบาดของโรค) คือ ประเมินว่าคนหนึ่งคนจะติดเชื้อได้กี่คน โดยหากกักตัวอยู่ภายในบ้าน ก็แทบไม่แพร่เชื้อ แต่หากออกจากบ้าน มีการเว้นระยะห่างและใส่หน้ากากอนามัย ก็ยังควบคุมการแพร่เชื้อได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย หนึ่งคนก็สามารถแพร่เชื้อได้จำนวนมาก ๆ ในพื้นที่แออัด
อีกข้อถกเถียงสำคัญ คือ หากปล่อยให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” โดยไม่ป้องกัน อาจไม่ได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างที่คิด เพราะงานวิจัยล่าสุดจากต่างประเทศระบุว่าเมื่อติดเชื้อแล้วก็ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันที่เพิ่มมากขึ้น
หลักการในการควบคุมโรคตอนนี้คือ “ทุบด้วยค้อน ผ่อนด้วยฟ้อนรำ” นั่นหมายความว่า จะยอมให้มีการติดเชื้อได้ โดยผ่อนปรนเป็นระยะ ๆ
นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการล็อกดาวน์อย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เราจำเป็นต้องเปิดประเทศ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยจะทำอย่างไร?
มาตรการในการจัดกลุ่มกิจการตามความเสี่ยง เป็นหนึ่งในแนวทางเปิดประเทศ แต่เพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อ จำเป็นต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เชิงอนุรักษ์ ดังนั้นปัจจัยสำคัญต่อสถานการณ์โควิด-19 ในไทยอีกส่วนหนึ่งประเมินจากการบริหารจัดการเทคโนโลยีในการติดตาม ความร่วมมือของคนในสังคม ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาการกลายพันธุ์ของไวรัสด้วย
“สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม” เป็นเรื่องเดียวกัน รัฐบาลเป็นผู้ออกมาตรการ ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ ทำตามมาตรการดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1.มาตรการรับมือแบบบุคคล คือ การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และการล้างมือ 2. มาตรการสาธารณสุข ต้องมีการเฝ้าระวังและแยกผู้ป่วย อาจมีการปิดกิจการเฉพาะที่มีความเสี่ยงสูงไว้ก่อน
มีการยกตัวอย่างการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในการแยกผู้ป่วย อย่าง “ขอนแก่นโมเดล” ใช้วิธีการแบ่งโรงพยาบาลและแบ่งทีมบุคลากรทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะรับผู้ป่วยโควิด-19 ไปดูแล ส่วนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรับผู้ป่วยธรรมดาแยกออกมาดูแล
ต่อมา คือ การตรวจสอบความพร้อมทางการแพทย์ ปัจจุบันมีเตียงรองรับทั้งหมดกว่า 22,052 เตียงทั่วประเทศ แบ่งเป็นสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 18,405 เตียง และนอกสังกัดกระทรวงฯ อีก 3,647 เตียง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียงทั้งหมด 2,471 เตียงทั้งของ รพ.รัฐและเอกชน ขณะที่ไอซียูมี 600 เตียง ดังนั้น หากมีการระบาดระลอกสอง บริการทางการแพทย์จะไม่หยุด ไม่ล็อกดาวน์แน่นอน แต่จะเป็นการแพทย์วิถีใหม่
ท้ายที่สุด สิ่งสำคัญที่ต้องการมากที่สุดในการรับมือหลังจากนี้ คือ การมีสติตั้งรับ การสื่อสารที่ดีและความสามัคคีนั่นเอง
ดูเพิ่ม
Virtual Policy Forum | นโยบาย – ผลกระทบ – การรับมือ
8 แนวโน้ม ผลกระทบ และการเตรียมรับมือ การระบาดรอบที่สองของ COVID-19