รู้จัก “Bangkok Budgeting” ร่วมสร้างสรรค์ ชวนจับตา ให้งบกรุงเทพฯ ถูกใช้อย่างตรงจุด
“ประชาชนที่เสียภาษี” ควรรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในเมืองของเรา แล้วจะดีกว่านี้ได้อย่างไร หากเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. แล้วยังบ่นเรื่องเดิม แสดงว่า เสียงสะท้อนอาจยังไปไม่ถึง
…เชื่อว่า การวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสนอความเห็นบนฐานข้อมูล จะทำให้ กทม. ดีกว่าเดิมได้จริง”
“กุ๊งกิ๊ง” ธนิสรา เรืองเดช CEO & Co-Founder Punch Up & We Vis หนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พยายามสร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง เช่น “Bangkok Budgeting” ไฮไลท์อยู่ที่ผู้ใช้สามารถแสดงความคิดเห็น และร่วมกำหนดทิศทางงบประมาณอย่างมีส่วนร่วมได้ มีข้อมูลเปิด หรือ Open Data ที่ทำให้เห็นแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี และสามารถประเมินความพึงพอใจในแต่ละนโยบายของกรุงเทพมหานครได้อีกด้วย
เธอบอกว่า แพลตฟอร์มนี้เปิดตัวมานานกว่า 1 ปีแล้ว เพื่อตั้งคำถามว่า “คนกรุงเทพฯ ที่ไม่ว่าจะมีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ หรือไม่ มีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามและแก้ปัญหาเมืองได้แค่ไหน ?” และปลายปีที่ผ่านมา หลังการเปิดตัวแพลตฟอร์มมีคนเข้ามาแสดงความเห็น มีส่วนร่วมกับเว็บไซต์มากกว่า 4,000 คน ซึ่งถือเป็นความตื่นตัวของภาคประชาชน หลังจากไทยไม่มีบทสนทนาเรื่องนี้มานานแล้ว
เธอย้ำว่า แม้มีเพียง 1-2 เสียงสะท้อน ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ สภา กทม. และผู้ว่าฯ กทม. จำเป็นต้องฟัง แต่หากได้เสียงสะท้อนมากกว่า ก็จะยิ่งมีพลังมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ฝากถึงว่าที่ทีมบริหาร กทม. ชุดใหม่ ให้ออกมาดูข้อมูลเปิดเหล่านี้ว่า ประชาชนต้องการอะไร อย่าให้เสียงสะท้อนและความต้องการเหล่านี้หายไป…
“เราเป็นคนที่จ่ายภาษีทุกวัน ต่อให้ไม่ใช่ทางตรงก็เป็นทางอ้อม ทุกบาท หมายถึง การลงทุนไปกับชีวิต และเมืองที่เราอยากเห็น แต่วันนี้เราจ่ายไปโดยที่เราไม่ได้พูดกับคนที่เขาใช้เงินเหล่านั้นโดยตรง การให้ความเห็นบนพื้นฐานข้อมูล คือ การร่วมกันสร้าง ไม่ใช่การบ่น หรือ การด่าเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นในฐานะประชาชนที่เสียภาษี ควรรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในเมืองของเรา แล้วจะดีกว่านี้ได้อย่างไร เป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ กี่ครั้งก็ยังบ่นเรื่องเดิม…
นั่นแสดงว่า คุณอาจจะไม่ได้ส่งเสียงของคุณออกไป ความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูล และใช้เสียงของตัวเองมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสนอความเห็นบนฐานข้อมูลชุดใหม่ สุดท้ายแล้ว จะทำให้ กทม. ดีกว่าเดิมได้จริง”
Bangkok Budgeting เป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมที่ให้ประชาชนในชุมชนสามารถตัดสินเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ จัดทำโดยทีม Punch Up, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), Glow Story, Hand Social Enterprise, Good Society Thailand และ Social Integrity Architecture and Mechanism Design Lab ซึ่งตั้งใจพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ในรูปแบบ เทคโนโลยีภาคประชาชน (Civic Tech) เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้ทุกคนในฐานะผู้เสียภาษี ได้เข้าถึง เข้าใจ และเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบงบประมาณของกรุงเทพมหานคร
และยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่ต้องรอติดตามกัน เพื่อให้การเลือกตั้งอยู่ในมือของเราอย่างแท้จริง โดยเฉพาะ การเลือกตั้งผู้ว่า ฯ กทม. ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ทำให้ประชาชนในฐานะ Voter มีความหมายมากกว่าผู้เลือกเท่านั้น แต่มีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง ในฐานะ ACTIVE CITIZENS