5 มีนาคม วัน Open DATA Day เตรียมติดอาวุธทางข้อมูลให้ประชาชนจับตาเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

ในโอกาส Open DATA Day : Punch UP x WeVis จัดวง Zoom ร่วมกับภาคีเครือข่าย ร่วมพูดถึงความสำคัญของOpen DATA พร้อมโปรเจกต์ใหม่ ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเตรียมความพร้อมหย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งต่อไป ​

Open DATA Day ปี 2564 มีการนำเสนอข้อมูลในหัวข้อ Open Data Democracy เปิดข้อมูลเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2565 นี้ จะเน้นไปที่ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางการเมือง ที่ประชาชนควรได้รับข้อมูลข่าวสารเตรียมความพร้อม ก่อนออกไปคูหาเลือกตั้งครั้งที่จะถึง

The Active สรุปมาให้ว่ามีภาคประชาชนกลุ่มไหน และมีเครื่องมืออะไรบ้างที่ควรมีเป็นอาวุธติดตัวไว้

Open DATA เลือกตั้ง

1) โปรเจกต์ : Bangkok-INDEX เตรียมเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

‘ตั้ม สันติชัย อาภรณ์ศรี’ จาก Rocket Media Lab ให้ข้อมูลว่าทีมงานได้เตรียมพร้อมรับมือเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยการพัฒนาเครื่องมือผ่านเว็บไซต์ย่อย โดยตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยแบ่งข้อมูลออกเป็น 5 ประเภท เช่น การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงบริการพื้นฐานของประชาชน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ แต่ละเรื่องจะมีประเด็นย่อย เช่น ปัญหาน้ำเสีย มลพิษ พื้นที่สีเขียว ทั้งหมดจะถูกจัดกลุ่มเป็น 12 เรื่องย่อย 4 หมวด โดยแต่ละเรื่องจะนำมาอธิบายด้วยข้อมูล 2 แบบ คือ Open Data และ Index ซึ่งดึงเอาประเด็นที่น่าสนใจมาเชื่อมกับข้อมูลอื่น เพื่อให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจผ่านการรวบรวมจากข้อมูล 50 เพจ ของกรุงเทพมหานคร จัดการเป็น Index แบบให้คะแนน เพื่อดูว่าในแต่ละเขตได้คะแนนเท่าไหร่ และประมวลผลออกมาเพื่อจัดอันดับเมืองน่าอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยจะเรียงคะแนนมากไปหาน้อยที่สุด จุดประกายให้ประชาชนในแต่ละเขต กลับมามอง และสำรวจว่า ผู้ว่าฯ กทม. มีความสนใจในเขตของตัวเองมากน้อยแค่ไหน อย่างที่สองคือ ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานติดตามการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนประเด็นใหญ่ทั้งกับภาครัฐ และประชาชนให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตอนนี้อยู่ในช่วงการพัฒนาข้อมูลซึ่งคงจะได้เห็นกันเร็ว ๆ นี้

2) โปรเจกต์ : Political Technology เครื่องมืออำนวยความสะดวกภาครัฐ

เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ กลุ่มก้าว Geek และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุ ที่ผ่านมา ทีมงานดิจิทัลของพรรค ต้องการใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีผลักดันสังคมไทย เรียกว่าเป็น Political Tech. ช่วงปีที่ผ่านมาทำกันหลายโปรเจกต์ ยกตัวอย่างเช่น Civic Tech.ใช้งบฯ ปี 65 แต่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 64 เพื่อแปลงเอกสารงบประมาณ PDF ที่สำนักงบฯ จะต้องส่งให้สภาพิจารณาหลายหมื่นหน้าต่อปี และทำการแจกให้สมาชิกล่วงหน้าไม่นาน เต็มที่ก็เพียง 30 วัน การอภิปรายก็ไม่มีความสะดวกต้องมาคลิกรายหน้า โปรเจกต์นี้จึงช่วยประหยัดเวลาเพราะสามารถแปลงไฟล์เอกสาร PDF เป็น  Excel ดาวน์โหลดข้อมูลงบประมาณกลม ๆ กว่า 3 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมี Open source ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ เช่น การจ่ายค่าน้ำประปา การแจ้งข้อมูลทุจริต ฯลฯ โดยจะมีการเทรนนิ่งเจ้าหน้าที่ และขยายผลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจ ซึ่งเวลานี้มีมากกว่า 7,800 แห่งทั่วประเทศ โดยหวังว่าโปรเจกต์เหล่านี้ยังคงมีอยู่ในงบประมาณปีถัดไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาครัฐ

3) โปรเจกต์ Vote 62 สู่ เลือกตั้ง กทม. (ปีไหน?)

อ๊อฟ-ภาณุเดช วศินวรรธนะ’ Opendream เป็นอีกเทคโนโลยีที่พยายามสร้างผลสะเทือนในสังคม 2 มิติหลัก คือเรื่องสุขภาพ และการศึกษา เพื่อดึงส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยข้อมูลเปิดที่เคยทำไปแล้วเกี่ยวข้องกับ นวัตกรรมประชาธิปไตย เช่น Vote 62 เครื่องที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 มีทั้งสื่อมวลชน อาสาสมัคร ที่ช่วยกันจับตาการทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งในช่วงนั้นพบปัญหาการนับคะแนน และบัตรเขย่ง ฯลฯ โดยมี โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน หรือ iLaw เป็นอีกหน่วยหลักที่ช่วยผลักดันด้านเนื้อหา และนโยบายที่เจาะลึกเกี่ยวกับกฎหมายกฎเกณฑ์ การเลือกตั้ง โดยในช่วงเวลานั้น Vote 62 ก็ทำหลัก ๆ 3 เรื่อง คือ

  • การให้ข้อมูล information ข้อมูลผู้สมัคร
  • ทำ could source ถ่ายภาพบันทึกผลคะแนน
  • แผนภูมิภาพ Visualization

4) โปรเจกต์ ติดตาม-ตรวจสอบผู้สมัคร กทม. และ การเลือกตั้งทั่วไป

กุ๊งกิ๊ง-ธนิสรา เรืองเดช’ WeVis : เทคโนโลยีประชาชน เพื่อประชาธิปไตย (Civic Tech.) เล่าว่าปี 2564 มีความหวังว่าคนไทยจะได้เลือก ผู้ว่าฯ กทม. จึงมีโปรเจกต์ ชื่อว่า Bangkok Budgeting อยู่เมืองนี้ต้องรู้เยอะ (งบประมาณแบบมีส่วนร่วม) โดยใช้วิธีกางข้อมูลเมืองกรุงเทพฯ ว่า มีแผนและนโยบายพัฒนา กทม. ในด้านไหนบ้าง งบประมาณที่ได้มาเอาไปวางไว้ตรงไหนบ้าง ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีอยากได้จริง ๆ หรือไม่ โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และโหวตโครงการที่อยากได้ เสนอความคิดเห็น เมื่อมีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ทางทีมงานจะยื่นให้คณะทำงานชุดใหม่ทันที โดยในอนาคตต่างจังหวัดก็สามารถใช้ได้เพราะข้อมูลเป็น Open source

ถัดมาคือ Open Bangkok ทำร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในเว็บไซต์จะมีข้อมูล สรุปหน้าที่และโครงสร้างของ ผู้ว่าฯ กทม. และ สภา กทม. หรือ ส.ก. โดยคาดหวังให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลว่า นโยบายเหมาะสมกับเขตของเราหรือไม่ นอกจากนี้ก็จะมีแพลตฟอร์มที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยจะมีข้อมูล ผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนและทุกเขต สนามการเลือกตั้งไม่ได้อยู่แค่บนโลกออฟไลน์ โลกออนไลน์ก็มีไม่น้อย ทางเว็บไซต์ก็จะมีการรวม Tag ในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของผู้นำรวมอยู่ด้วย โดยจะทยอยปล่อยตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป จนกว่าจะถึงเลือกตั้งรอบนี้

ขณะที่เลือกตั้งทั่วไป ก็ยังมีแพลตฟอร์ม They works for us โดยจะอัปเดต โปรไฟล์อัปเดต ส.ส.ในสภาฯ และการโหวตญัตติ หนุน-ค้าน-ไม่เข้าประชุมก็จะถูกรวบรวมไว้ เป็นข้อมูลรายพรรค และรายบุคคล โดยย้ำว่าอย่าปล่อยให้ช่วงเวลายาวนานไม่ทำหน้าที่แทนเรา โดยเฉพาะปีที่แล้วปีเดียวมีถึง 200,000 แอคเคานต์ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับเว็บไซต์นี้ สะท้อนว่าภาคประชาชนมีความแอคทีฟตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองเช่นกัน และที่กำลังจะเปิดตัว promisetracker.wevis.info เดือนเมษายนนี้ เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมนโยบายหาเสียงตอนเลือกตั้งใหญ่ ให้ประชาชนติดตามว่ามีนโยบายไหนที่สำเร็จ และมีนโยบายไหนที่ยังทำไม่ได้บ้าง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างโปรเจกต์บางส่วนของภาคประชาชน ที่เคยทำไปแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อมูล จากวง Zoom : [WeVis x PU] Open Data กับการเลือกตั้งครั้งหน้า… ถึงเวลาคืนอำนาจให้ประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการจัดระบบ Open Data ในสังคมไทย สิ่งที่วงเสวนาชวนคุยต่อถึงประโยชน์ของการมี Open Data เช่น การช่วยให้ประชาชนมีเครื่องมือตัดสินใจเลือกผู้แทนของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้งและกระบวนการการเมือง สุดท้ายคือส่งเสียงแสดงความเห็นบนฐานข้อมูล ฯลฯ

Open Data ข้อมูลเปิด – ช่วยประชาชนในการเลือกตั้งอย่างไร?

ตั้ม สันติชัย จาก Rocket Media Lab มองว่า Open Data หรือข้อมูลอย่างเดียวอาจไม่เกิดประโยชน์เท่ากับการดึงข้อมูลไปต่อยอด หรือการชี้เป้าแบบเจาะจง เช่น การที่หน่วยงานหยิบไปเชื่อมโยง และแก้ปัญหา เพื่อให้ประชาชนและสังคมเห็นปัญหาร่วม และกลายเป็นประเด็นที่ถูกสื่อสารเป็น ประเด็นสาธารณะและขับเคลื่อนต่อในสังคมได้ด้วย หรือการมีข้อต่อ และเครือข่ายเชื่อมโยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ยกตัวอย่างเช่น เลือกตั้ง กทม. ที่จะเกิดขึ้น ทำงานส่วนหนึ่ง เชื่อมกับ The Active ThaiPBS โดยตั้งคำถามว่า ผู้ว่าฯ กทม.ทำตามนโยบาย หรือแผนพัฒนา กทม. และพยายามที่จะเปิดข้อมูลย้อนไปตั้งแต่ปี 2548 เพื่อเปิดแผนพัฒนาฯ คนหาเสียงที่ผ่านมาพูดว่าอะไร คนที่ได้แต่ละสมัยพูดว่าอะไรบ้าง ตรงกับแผนพัฒนา กทม. หรือแผนพัฒนาใหญ่ของรัฐบาล เพื่อให้ตอบได้ว่า คนที่มาสมัครเป็น ผู้ว่า กทม. มีศักยภาพแค่ไหน หรือแค่ทำตามแผนที่คนอื่นทำมาเท่านั้น

เท้ง ณัฐพงษ์ จากกลุ่มก้าว Geek ไม่อยากให้มองว่าข้อมูลเปิดเอามาใช้ในการเลือกตั้งอย่างเดียว มันต้องใช้ตั้งแต่ก่อนจะตัดสินใจเลือกตั้ง วันเปิดหีบลงคะแนนเสียง วันเลือกตั้ง ต้องใช้ตรวจสอบว่าโปร่งใสหรือไม่ และติดตามว่าทำตามสัญญาหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องทำงานร่วมกันทั้งภาคการเมือง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ​เขามองว่า การจะเลือกใครต้องมองให้ออกว่า ผู้สมัคร แก้ปัญหาและรู้จริงในพื้นที่แค่ไหน หากทำได้ก็จะส่งผลดีต่อการชูนโยบายใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาเมืองจริง ๆ โดยไม่อิงอยู่กับนโยบายเดิม ๆ ​ อีกทั้งช่วงผ่านการเลือกตั้งไปแล้วก็ยังมีข้อมูลเรื่องงบประมาณ ที่ยังต้องติดตามตรวจสอบ ดังนั้น Open Data จึงไม่ใช่แค่เอกสาร แต่ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกย่อยเป็น insight เป็นความรู้ และการแสดงผลที่ง่ายให้เข้าถึงชีวิตของผู้คนได้ง่าย

อ๊อฟ ภาณุเดช จาก Opendream มองว่า Open data ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึง และมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะ ข้อมูลเปิด เปรียบเหมือนโครโมโซมของประชาธิปไตย มีความสำคัญ และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สังคมขาดไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ยังต้องช่วยกันดึงภาคประชาชน เช่น วินมอเตอร์ไซค์ ที่อาจจะไม่สนุกกับการใช้ Open Data ให้หันมาสนใจ และเข้าถึงการใช้ Open Data ได้มากขึ้นโดยการปรับรูปแบบจูงใจประชาชนในแต่ละกลุ่มมากขึ้น

กุ๊งกิ๊ง ธนิสรา จาก WeVis มองว่า Open Data สร้างโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างโดยภาคประชาชนหลายกลุ่ม จะยิ่งทำให้เกิด Ecosystem เพราะมีคนเปิด คนที่ทำให้เข้าใจง่าย มีคนใช้ และมีฟีดแบคกลับไปที่คนใช้-และคนทำ จึงมีความหวังว่า การพัฒนาข้อมูลเปิดในสังคมไทยน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็หวังให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง อย่าง กกต. ควรจะเปิดข้อมูลออกมาให้ภาคประชาชนได้ใช้งานและบอกต่อก่อนที่เราจะเลือกตั้ง

ข้อจำกัด Open Data สังคมไทย?

ผู้ร่วมวงสนทนาสะท้อนตรงกันว่า Open Data ในสังคมไทย เข้าถึงยาก และไม่ถูกนำมาจัดเก็บอย่างเป็นระบบ กระจัดกระจาย ต้องตามไปที่หน่วยงานหลายหน่วยมาก กว่าจะรวบรวมข้อมูลได้ เช่น การต้องโทรเช็กข้อมูลจาก กกต. ต้องเช็กรายจังหวัด 77 จังหวัด ไม่มีข้อมูลภาพรวมจากส่วนกลาง และไม่อัปเดต ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพรวมได้ และส่งผลต่อการสื่อสารที่ผิดพลาดของสื่อมวลชนด้วย

ขณะที่ ภาครัฐก็มีทัศนคติเป็นเจ้าของข้อมูล ยังไม่รู้สึกว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เช่น การต้องทำหนังสือขอเอกสารข้อมูลเปิดจากภาครัฐ และมีสิทธิ์ที่จะให้คุณให้โทษผู้ที่นำข้อมูลไปใช้ อีกประเด็นคือภาครัฐมีความกลัวการเปิดเผยข้อมูลเพราะกลัวผิดพลาด แต่ยิ่งปิดข้อมูลก็จะยิ่งไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ จึงมีข้อเสนอให้ปรับทัศนคติว่า Open Data เป็นข้อมูลสาธารณะ และยอมรับ Feedback ภาคประชาชน เพื่อช่วยกันแก้ไขตรวจสอบอย่างโปร่งใสด้วย

นี่เป็นเพียงบางส่วนของทีมงานที่พยายามขับเคลื่อนข้อมูลด้วยเทคโนโลยีภาคประชาชน ด้วยหวังจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้อย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้อย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน