อนาคตของชาติ 1 ล้านคน หายไป…จากระบบการศึกษา

“การช่วยเหลือเด็กนอกระบบ
ถือเป็น ‘หลักกิโลเมตร’ สุดท้ายของการศึกษาไทย”

นี่อาจไม่ใช่แค่ความตั้งใจของ ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการแก้ปัญหาประเทศด้วยความพยายามพัฒนาทุนมนุษย์ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเอาไว้เช่นกันว่า 

“จะไม่ให้เด็กไทยคนไหนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา
หรือ Thailand Zero Dropout” 

เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเล่าเรียน และพัฒนาตนเอง สู่การเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ หาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นอีกแรงสำคัญสู่การพัฒนาประเทศ เพื่อรับมือกับภาวะแรงงานขาดแคลนในสังคมผู้สูงอายุ

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากความร่วมมือของ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำให้เราได้พบข้อมูลว่า เด็กไทยวัยเรียน (3 – 18 ปี) กว่า 1 ล้านคน ที่ไม่ปรากฎข้อมูลในระบบการศึกษาทุกรูปแบบ และ กสศ. ยังบอกกับอีกว่า มีเด็กอีก 2.8 ล้านคน ที่ยังเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องด้วยความไม่พร้อมของฐานะครอบครัวและอุปสรรคในชีวิตอื่น ๆ ที่ทำให้เยาวชนนับล้านไม่ได้ไปต่อในชั้นเรียน

ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีเจ้าภาพชัดเจนว่าหน่วยงานใดทำหน้าที่ดูแลเด็กนอกระบบฯ เราจึงทำได้เพียง ‘ประมาณการ’ เท่านั้นว่า จำนวนเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบนั้นมีอยู่เท่าไร ? แต่ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ปีนี้เป็นปีแรกที่จะได้ทราบว่าจำนวนของเด็กเหล่านี้มีอยู่กี่คน ? พวกเขามีชื่อ มีครอบครัว และมีความเป็นอยู่อย่างไร ?

จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของทีมติดตามเด็กในรายจังหวัด ที่จะลงไปเยี่ยมเด็กถึงบ้าน เก็บข้อมูล สอบถามถึงเป้าหมายทางการศึกษาและอาชีพ เพื่อที่จะนำไปออกแบบว่า เด็กแต่ละคนควรได้รับการศึกษาอย่างไรดี

MOU ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ ผนึกกำลังกับอีก 11 หน่วยงาน ร่วมกันผลักดัน Thailand Zero Dropout เร่งปูพรมค้นหาเด็กใน 25 จังหวัดนำร่องกันแล้ว The Active เลยชวนสำรวจปัญหาเด็กไทยที่อยู่นอกระบบการศึกษา มองหาทางแก้ไขเพื่อพาอนาคตของชาติกลับมาเรียนก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

กว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่อยู่ ‘นอกระบบการศึกษา’
อยู่ในวัย ‘การศึกษาภาคบังคับ’

จากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย พบว่า มีเด็กไทยวัยเรียน (3 – 18 ปี) กว่า 1.02 ล้านคนที่ไม่ปรากฎข้อมูลในระบบการศึกษาทุกรูปแบบ หรือคิดเป็น 8% ของจำนวนเด็กไทยวัยเรียนทั้งหมด 12.2 ล้านคน โดยในจำนวน 1.02 ล้านคนนี้ กลับมีถึง 3.94 แสนคน (หรือคิดเป็น 38% ของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา) ที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (6 – 14 ปี) ขณะที่ช่วงวัยอนุบาล (3 – 5 ปี) และช่วงวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย (15 – 18 ปี) มีจำนวนเด็กนอกระบบอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ 31% เฉลี่ยชั้นปีละ 1 แสนคน

การที่จำนวนของเด็กราว 2 ใน 3 ไปกองอยู่ช่วงชั้นอนุบาล และช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น อาจอธิบายได้เพราะ ‘นั่นไม่ใช่ช่วงชั้นการศึกษาภาคบังคับ’ พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายรายอาจตัดสินใจไม่ส่งลูกเรียนในช่วงชั้นเหล่านี้ ด้วยเหตุที่ขาดการอุดหนุนค่าใช้จ่าย แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ยังมีเด็กถึง 1 ใน 3 ที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับ หรือแปลได้ว่า นโยบาย ‘เรียนฟรี’ นั้นอาจมีรอยรั่ว ยังฟรีไม่จริง เพราะเด็กยังไม่สามารถเข้าเรียนหนังสือได้ แม้รัฐจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาแล้วก็ตาม

แน่นอนว่าจำนวนเด็ก 1 ล้านคน ไม่ใช่ขนาดปัญหาที่จะแก้ไขด้วยหน่วยงานใดเพียงลำพัง แต่ทาง ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. เชื่อมั่นว่า หากกระจายจำนวนลงในแต่ละจังหวัดจะพบว่า ขนาดของปัญหาอยู่ในระดับที่แต่ละจังหวัดสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง ขอแค่อาศัยการสั่งการอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งการร่วมลงนามใน MOU จะทำให้ทุกหน่วยงานมองเห็นภาพปัญหาเดียวกัน และแก้ไขได้อย่างคล่องแคล่วมากยิ่งขึ้น โดยภาพรวมการดำเนินการมาตรการ Thailand Zero Dropout ตลอดวาระ 4 ปีงบประมาณ มีดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2567 เริ่มนำร่องปูพรมค้นหาเด็กในพื้นที่ 25 จังหวัด และพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 20,000 คน

  • ปีงบประมาณ 2568 ขยายมาตรการให้คลอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด พาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 100,000 คน

  • ปีงบประมาณ 2569 พาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 50,000 คน

  • พาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 1,000,000 คน ภายในปีงบประมาณ 2570 ซึ่งจะทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

เมืองโรงงาน-ชายแดน
มีเด็กนอกระบบการศึกษา สูงกว่า 10% ของประชากรวัยเรียน

The Active ได้สืบค้นข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาในแต่ละจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนเด็กนอกระบบฯ​ มากที่สุดเป็น จ.ตาก (33%) อันดับที่ 2 คือ จ.สมุทรสาคร (24%) อันดับที่ 3 คือ จ.แม่ฮ่องสอน (24%) จังหวัดที่มีสัดส่วนเด็กนอกระบบฯ จำนวนมากส่วนใหญ่เป็นจังหวัดติดชายแดน เช่น ตาก, แม่ฮ่องสอน, ระนอง ฯลฯ หรือเป็นเขตอุตสาหกรรมโรงงาน เช่น สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, กรุงเทพฯ ฯลฯ​ โดยจังหวัดเหล่านี้มีสัดส่วนเด็กนอกระบบฯ สูงกว่า 10% ทั้งสิ้น

เมื่อเทียบจากภาพรวมทั้งประเทศ พบว่าสัดส่วนของเด็กนอกระบบฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 8.41% เท่านั้น โดยมีจังหวัดที่มีสัดส่วนสูงกว่าภาพรวมทั้งประเทศอยู่ถึง 22 จังหวัด โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขพุ่งสูง เป็นเพราะจำนวนเด็กนอกระบบฯ ในวัยการศึกษาภาคบังคับมีสัดส่วนมากกว่าค่าเฉลี่ย ยกตัวอย่าง จังหวัดสมุทรสาคร มีสัดส่วนเด็กนอกระบบฯ ที่อยู่ในช่วงวัยประถมศึกษาฯ มากกว่า 67% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 26% เท่านั้น

“ในจังหวัดอุตสาหกรรม อย่างเขตโรงงานของสมุทรสาครเป็นแหล่งของ ‘งาน’ ทำให้คนในจังหวัดอื่น ๆ เดินทางมาเพื่อที่จะหางานในจังหวัดเหล่านี้ พ่อแม่ก็ติดเอาลูกหลานมาด้วย ซึ่งต้องรอสักระยะหนึ่งว่าเขาจะส่งลูกเข้าเรียนหรือไม่ เพราะถ้าเขายังไม่ได้งานที่แน่นอน มันก็มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอีก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลว่า มีเด็ก 7 – 8 ขวบไม่น้อยที่ยังไม่ได้เข้าเรียนเลย”

ไกรยส ภัทราวาท 

เด็กจำนวนมากไม่ได้เข้าระบบการศึกษาตั้งแต่ ป.1 ทำให้การติดตามเด็กเป็นเรื่องท้าทายมาก ดังนั้น เป้าหมายแรก ๆ ของ Zero Dropout จึงเป็นการเร่งพาเด็กในช่วงวัยประถมศึกษาตอนต้นเข้าสู่ระบบให้ได้ก่อน เพื่อให้เด็กอยู่ในสายตาของภาครัฐและชุมชน แม้จะหลุดไปอีกก็สามารถติดตามได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาครอบครัวย้ายถิ่นฐาน ก็มาจากการกระจุกความเจริญและโอกาสอยู่ในบางจังหวัด เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่น้อยต้องเคว้ง ไร้ที่เรียนหนังสือ ซึ่งทีมติดตามเด็กตกหล่นจะเข้าไปสำรวจความต้องการของครอบครัวที่ย้ายถิ่นฐาน เพื่อพาเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้

ยากจนซ้ำซ้อน ผลักเด็กไกลการศึกษา

งานวิจัยเชิงสํารวจเพื่อศึกษาข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาภายใต้ “โครงการการสนับสนุนและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนครูและเด็กนอกระบบการศึกษา” ของ กสศ. เผยข้อมูลของเด็กนอกระบบฯ ที่ตอบแบบสอบถาม 35,003 คน พบสาเหตุที่เด็กต้องออกนอกระบบการศึกษา มาจากความยากจนมากที่สุด (46.7%) รองลงมาคือ มีปัญหาครอบครัว (16.14%) ออกกลางคัน/ถูกผลักออก (12.03%) ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา (8.88%) ปัญหาสุขภาพ (5.91%) อยู่ในกระบวนการยุติธรรม (4.93%) และได้รับความรุนแรง (3.63%)

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ปกครองของเด็กนอกระบบฯ กว่า 3 ใน 5 มีงานที่ไม่มั่นคงนัก กว่า 47% ต้องรับจ้างรายวัน/ไม่ได้มีงานประจำ ขณะที่ 12% ว่างงานอยู่ ดังนั้นรายได้ของครอบครัวมีผลอย่างมากต่ออนาคตการเรียนของเด็กคนหนึ่ง ยังไม่ต้องพูดถึงว่าบางครอบครัวจะมีเงินส่งลูกไปเรียนหนังสือหรือไม่ เพราะมีเด็กในครอบครัวยากจนต้องออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยพ่อแม่ทำงานหาเงิน ให้มีชีวิตรอดไปได้ในแต่ละวัน ดังนั้น

การเรียนฟรีอย่างเดียว
การมีห้องเรียนเพียงรูปแบบเดียว
ไม่ช่วยให้เด็กนอกระบบฯ กลับเข้าสู่การเรียนรู้ได้

ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับความเห็นของ สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กในครอบครัวที่ยากจน นี่ยังไม่นับค่าอำนวยความสะดวกที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ค่าเดินทาง, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าอาหาร ฯลฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล ดังนั้น ห้องเรียนเพียง 1 รูปแบบ ไม่อาจตอบโจทย์ชีวิตเด็กทุกคน

“เด็กหนึ่งคนสวมหมวกเงื่อนไขชีวิตหลายใบ ไม่ใช่แค่เรื่องของความยากจน บางคนเจอความรุนแรง บ้างอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่อยากให้เด็กคนไหนหลุดไปจากการศึกษา ห้องเรียนก็ต้องยืดหยุ่นมากพอที่จะโอบรับพวกเขาได้ ให้เขาเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามเงื่อนไขชีวิต”

สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน

พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ย้ำชัดว่า สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย แนวคิด ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ที่นำร่องแล้วใน ‘ราชบุรีโมเดล’ ก็เป็นอีก 1 แนวทางการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น แม้เยาวชนต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว มีปัญหาผูกพัน ไม่สามารถมาเรียนในห้องเรียนได้ ก็ยังสามารถได้เรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่เสียค่าใช้จ่าย และได้วุฒิการศึกษา สิ่งสำคัญที่สุด กระบวนการออกแบบห้องเรียนที่ตอบโจทย์ต้องควบคู่ไปกับตามหาเด็กที่ตกหล่น เพราะถ้าห้องเรียนยังไม่ปรับตัวตามผู้เรียน ท้ายที่สุด เขาก็จะหลุดออกจากการศึกษาซ้ำอีก

รับชมเพิ่ม : “ราชบุรีโมเดล” Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน

นอกจากนี้ งานวิจัยเชิงสำรวจของ กสศ. ระบุว่า ถ้าหากประเทศไทยสามารถทำให้จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ได้ (Zero Dropout) จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบ ร้อยละ 1.7 ของ GDP (อ้างอิงตามการประมาณการของธนาคารโลก) ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ การศึกษาที่ดี นำไปสู่รายได้ตลอดชีวิตของแรงงานที่เพิ่มขึ้น เมื่อเด็กยากจนในวันนี้ มีฐานะมั่นคงในวัยแรงงาน ปัญหาสังคมอื่น ๆ ที่มีรากมาจากความยากจนก็จะลดลงได้

1 ใน 3 ของเด็กนอกระบบการศึกษา
ขาด ‘เป้าหมายการศึกษา’

อีกข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยสำรวจเด็กนอกระบบของ กสศ. คือ กว่า 80% ของเด็กนอกระบบ ไม่มีเป้าหมายทั้งด้านการศึกษาและอาชีพชัดเจน และ การมีเป้าหมายในการศึกษานั้นสัมพันธ์กับเป้าหมายในการประกอบอาชีพ กล่าวคือ หากเด็กรู้แล้วว่าตนเองอยากโตขึ้นไปเป็นอะไร อาจทำให้เขามีเป้าหมายในการเรียนที่ชัดเจนมากขึ้น

จากข้อมูลพบว่า กว่าครึ่งหนึ่ง (58%) ของเด็กที่ไม่มีเป้าหมายทางการศึกษาที่ชัดเจน คือเด็กที่ไม่มีเป้าหมายทางอาชีพด้วย ตรงกันข้าม ราว 64% ของเด็กที่มุ่งเรียนต่อสายอาชีพ มีเป้าหมายว่าจะทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วย ส่วนราวครึ่งหนึ่ง (53%) ของเด็กที่ต้องการทำงานเลย ก็มีเป้าหมายว่าไม่ต้องการศึกษาต่อ ซึ่งสอดคล้องกัน

สุรศักดิ์ ยังได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากผลสำรวจดังกล่าว คือ อายุของเยาวชนนั้นสัมพันธ์ต่อเป้าหมายทางการศึกษาและเป้าหมายในการประกอบอาชีพ หากเด็กยังมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนมากเขาจะรู้ถึงเป้าหมายในการศึกษาต่อ แต่เป้าหมายทางอาชีพไม่ชัดเจนนัก กลับกัน ในวัยอายุกว่า 18 ปี พวกเขาต้องการประกอบอาชีพโดยไม่ต้องการศึกษาต่อ

ด้วยข้อค้นพบนี้ นำไปสู่การออกแบบห้องเรียนให้ตอบสนองความต้องการเด็กได้มากขึ้น ครูอาจเน้นให้เด็กได้เรียนรู้และแนะแนวถึงโอกาสทางอาชีพในช่วงวัยเด็ก ให้เขารู้ว่า ตนเองจะเรียนหนังสือเพื่อสิ่งใด และเมื่อโตขึ้น เริ่มมีเส้นทางที่ต้องการจะเดินไป ห้องเรียนอาจเน้นหลักสูตรที่ทำให้เด็กได้ออกจากห้องเรียน ลงมือทำงานจริง ได้ค่าตอบแทน และได้วิชาชีพเพิ่มด้วย เช่น การเชื่อมโยงหลักสูตรกับภาคธุรกิจหรือกลุ่มผู้ประกอบการ เป็นต้น

Zero Dropout มันไม่ใช่แค่หาเด็กให้เจอ หรือสร้างห้องเรียนที่ยืดหยุ่นเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องช่วยทำให้เด็กมีเป้าหมายในการประกอบอาชีพ แล้วจากนั้นเป้าหมายทางการศึกษาของเขาจะตามมา เพราะเขาเห็นว่า ‘การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ’ ส่วนเรามีหน้าที่เทียบทักษะชีวิตของเขาเทียบเป็นหน่วยกิต เพื่อลดภาระการประเมินในห้องเรียน และเขาได้มีเวลาประกอบอาชีพและหาตัวตนมากขึ้น”

สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน

47 จังหวัด มีเด็กตกหล่นต่ำกว่า 1%
กสศ. เชื่อ กลไกจังหวัดแก้ไขได้

กสศ. ชวนมองสถานการณ์ขณะนี้ว่า แม้จะมีจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาถึง 1 ล้านคน แต่มีถึง 47 จังหวัดที่มีสัดส่วนเด็กนอกระบบไม่ถึง 1% (เทียบจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาในจังหวัดกับจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศ) ซึ่ง ขนาดของปัญหานี้สามารถแก้ไข จัดการได้ในระดับจังหวัด และดำเนินการได้ในระดับชุมชน ผ่านการติดตาม ไปเคาะประตูบ้านของนักเรียนที่หลุดจากระบบเพื่อพาพวกเขากลับมาเรียนอีกครั้ง ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวต้องอาศัยการตั้งธงที่แน่ชัดจากฝ่ายนโยบายส่วนกลาง

โดยกุญแจสำคัญ คือ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการติดตามเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ในทุกต้นเทอม ทุกโรงเรียน ทุกจังหวัด จะมีระบบการติดตามผู้เรียน และฟื้นฟูเด็กเตรียมความพร้อมการเข้าเรียนใหม่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ส่วนการแก้ไขปัญหาเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา 2.8 ล้านคน และเด็กนอกระบบอีก 1 ล้านคน ไม่จำเป็นต้องรอการผลักดันด้วยกฎหมายใหญ่ หรือการถกเถียงกันในสภาฯ เพราะด้วยอำนาจ ครม. กระทรวง กรม กองต่าง ๆ สามารถออกเป็นคำสั่งเพื่อกำชับถึงความเร่งด่วนของปัญหา กล่าวคือ หลายโรงเรียนก็มีศักยภาพร้อมที่จะแก้ไข เพียงแต่ขาดการยืนยันจากกระทรวง เช่น ประกาศการผ่อนปรนเครื่องแบบที่ กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่งประกาศไปหวังลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนแนวคิด 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ

“การช่วยเหลือเด็กนอกระบบถือเป็นหลักกิโลเมตรสุดท้ายของการศึกษาไทย งานที่ยากที่สุด อาจต้องอาศัยการทำงานที่ยืดหยุ่น ผ่านการให้อิสระโรงเรียนในการจัดการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้ ที่เป็นแรงสำคัญในการพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ก่อนที่จะไม่เหลือใครมาช่วยพาประเทศนี้ออกไปได้”

ไกรยส ภัทราวาท

ในปี 2567 มีจังหวัดนำร่องโครงการ Zero Dropout ประกอบด้วย นครพนม, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี, ตาก, ตรัง, ปัตตานี, สงขลา, น่าน, เชียงใหม่, นครราชสีมา, สระแก้ว, ราชบุรี, บึงกาฬ, ลำปาง, พิษณุโลก, สุโขทัย, พะเยา, ระยอง, สมุทรสงคราม, สุรินทร์, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี, ยะลา, เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่ทาง กสศ. มีข้อมูล มีประสบการณ์ เข้าใจชีวิตจริงและข้อจำกัดของเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบในพื้นที่ ก่อนที่จะขยายผลไปทั้งประเทศในปี 2568 ต่อไป

ฟื้นฟูกาย – ใจ สิ่งแรกที่เยาวชนตกหล่นต้องการ

ถึงตรงนี้ ผู้จัดการ กสศ. ย้ำด้วยว่า ช่วงหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เด็กและเยาวชนไทยมีภาวะซึมเศร้า และเด็กมีปัญหา การเรียนรู้ที่บกพร่อง (Learning Loss) ยิ่งถ้าในวัยโตขึ้นมาหน่อย พวกเขาก็จะไม่แน่ใจในการศึกษาต่อในโรงเรียนหรือช่วงชั้นที่สูงขึ้น พอกลับมาอยู่ที่บ้าน ครอบครัวก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของทุกคนอีก ทำให้เด็กนอกระบบการศึกษาส่วนใหญ่ต้องการการฟื้นฟูสุขภาพใจ และพ่วงไปยังเรื่องสุขภาพกายด้วย เพราะเด็กเหล่านี้มักอยู่ในภาวะยากจน ปัญหาการขาดแคลนทางโภชนาการเองจึงส่งผลต่อสภาพจิตใจและร่างกายโดยตรง

ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา แต่สภาพการเป็นอยู่ของเด็กยากลำบากเกินเรียน จำเป็นต้องมีกลไกในพื้นที่เร่งมือช่วยเหลือเด็ก ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐมีกลไกนั้นอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด คณะกรรมการสหวิชาชีพระดับจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด แต่อาจไม่ได้มีการทำงานร่วมกันในเชิงเสริมแรงกัน การพัฒนาให้มีกลไกเชื่อมประสานที่เสริมพลังกัน จะช่วยหนุนเสริมกระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนรายกรณีทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม

“ถ้าเราไปสำรวจ และเจอเขา เราจะส่งต่อไปยังจิตแพทย์ หรือกลุ่มสหวิชาชีพที่สามารถให้คำแนะนำกับเด็ก ๆ เหล่านี้ได้ เขาจะมีตัวช่วยมากขึ้น ช่วยปลดล็อคปัญหาของตัวเขา และทำให้เด็กสามารถเดินทางไปต่อได้ในเส้นทางการศึกษาของเขา”

ผู้จัดการ กสศ. ทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง