365 วัน | รัฐสวัสดิการไทย ถดถอย หรือ ก้าวหน้า

ประเมิน 1 ปี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ‘สอบตก’ นโยบายด้านรัฐสวัสดิการ

การจัดตั้งรัฐบาลโดยการนำของ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ในเดือนกรกฎาคม 2562 และหากย้อนไปก่อนหน้า ในบรรยากาศช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง นี่เป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว ที่นโยบายด้านรัฐสวัสดิการถูกนำมาใช้หาเสียง หวังกวาดคะแนนเสียงจากประชาชน

365 วัน ของการประกาศใช้เป็นนโยบาย บ้างก้าวหน้า บ้างถดถอย แล้วโอกาสที่ประเทศไทยจะมีรัฐสวัสดิการแบบ “ถ้วนหน้า” ใกล้ความจริงมากน้อยแค่ไหน?

โครงการเสริมศักยภาพเครือข่าย เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (คคสส.) หรือ We Fair จัดเสวนาสาธารณะเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ในสองหัวข้อ

หัวข้อแรก “ประเมินผลงาน 365 วัน รัฐบาลประยุทธ์ รัฐสวัสดิการไทยถดถอยหรือก้าวหน้า” โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการจากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ดำเนินรายการโดย อรุชิตา อุตมะโภคิน ThaiPBS

และหัวข้อ “ผลงานรัฐบาลด้านสวัสดิการสังคมในรอบปี และ ข้อสังเกตต่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564” คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค, สุนี ไชยรส มหาวิทยาลัยรังสิต และจอน อึ๊งภากรณ์ นักกิจกรรมทางสังคม ดำเนินรายการโดย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair

‘ดร.เดชรัต’ เปิดคะแนนรัฐบาลสอบตกด้านรัฐสวัสดิการ ย้ำความต้องการของประชาชนอุบัติขึ้นแล้ว ‘ษัษฐรัมย์’ ชี้ไม่เพียงรัฐบาลไม่ทำ แต่พรรคที่สัญญาก็ยังพยายามไม่มากพอ ‘ธนาธร’ กางการจัดสรรงบฯ อัดรัฐไทยเอาเงินภาษีอุ้มกลุ่มทุน ขณะที่ ‘อภิสิทธิ์’ ชี้หากผู้นำรัฐบาลไม่มีความคิดเรื่อง ‘รัฐสวัสดิการ’ ควรถูกปรับทัศนคติ

ภาค ปชช. ระบุหลังโควิด-19 รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ เวรคืนที่ดินที่ทำกินประชาชนตีราคาต่ำ บางพื้นที่ไม่ให้เงินเยียวยา

รัฐสวัสดิการ

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงการประเมินผลงานจากการสำรวจออนไลน์ มีคนตอบคำถามทั้งหมด 606 คน ซึ่งแม้จะไม่ใช่ความคิดเห็นของคนทั้งหมดของประเทศ แต่ผู้ที่เข้ามาตอบแบบสำรวจความเห็นมีลักษณะที่ครอบคลุมทั้งด้านเพศ อายุ รายได้ ที่อยู่อาศัยภูมิลำเนา และอื่น ๆ ทั้งนี้ ผลสำรวจในภาพรวมพบว่าผู้ตอบคำถามให้ความสำคัญกับสวัสดิการในระดับสูงทุกด้าน

ส่วนความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลในเรื่องการสร้างสวัสดิการด้านต่าง ๆ พบว่า ด้านสวัสดิการเด็กเล็กได้คะแนน 4.25 ด้านการศึกษาถ้วนหน้าได้คะแนน 3.56 ด้านการประกันสุขภาพได้คะแนน 3.76 ด้านการคุ้มครองแรงงานได้คะแนน 3.62 ด้านที่อยู่อาศัย 3.60 ด้านสวัสดิการแรงงานนอกระบบได้คะแนน 3.37 ด้านบำนาญแห่งชาติแบบถ้วนหน้าได้คะแนน 4.41 สวัสดิการผู้พิการแบบถ้วนหน้าได้คะแนน 4.47 ด้านสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้รายได้คะแนน 4.00 ด้านสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติได้คะแนน 3.49 และผลงานของรัฐบาลในภาพรวมได้คะแนน 3.39 จากคะแนนเต็ม 10

อย่างไรก็ตามมีผู้ที่ให้คะแนนรัฐบาลในระดับ 8-10 อยู่ร้อยละ 2 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด มีผู้ที่ให้คะแนนในระดับ 5-7 ร้อยละ 21 ส่วนผู้ที่ให้คะแนนในระดับ 0-4 คะแนนมีอยู่ร้อยละ 67 กล่าวคือคนจำนวนสองในสามของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่ารัฐบาลยังทำงานไม่ผ่านเกณฑ์

นอกจากนี้ยังพบว่าระดับการให้คะแนนนั้นมีความสัมพันธ์กับช่วงวัย กล่าวคือ ยิ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะให้คะแนนกับรัฐบาลน้อย และมีลักษณะการให้คะแนนที่เพิ่มขึ้นไปตามช่วงวัยต่าง ๆ โดยกลุ่มคนที่ให้คะแนนกับรัฐบาลมากที่สุดคือคนที่มีอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไป ขณะะที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมีเกณฑ์ในการให้คะแนนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้มาก

นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ได้เห็นจากผลสำรวจคือ กลุ่มคนที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ กับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ มีการให้คะแนนที่ต่างกัน โดยคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมให้คะแนนรัฐบาลต่ำกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเรื่องนี้อาจแสดงให้เห็นว่าระบบประกันสังคมกำลังมีปัญหาบางอย่างอยู่ เพราะทำให้คนที่อยู่ในกองทุนนี้มีความรู้สึกพึงพอใจน้อยกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในกองทุน

ส่วนกลุ่มคนที่เป็นแรงงานนอกระบบแต่เข้าสู่ระบบประกันสังคมให้คะแนนรัฐบาลมากกว่าแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ขณะที่คนที่ได้รับเงินเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาลให้คะแนนมากกว่าคนที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา และกลุ่มคนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ให้คะแนนรัฐบาลมากกว่าคนที่ไม่ได้รับบัตรเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ช่วงคะแนนที่คนกลุ่มต่างๆ ให้ความพึงพอใจต่อรัฐบาลนั้น ยังอยู่ในช่วงคะแนนที่ต่ำกว่าเกณฑ์คือ น้อยกว่า 5 คะแนน ซึ่งถือว่าไม่ผ่าน

ในประเด็นสวัสดิการเฉพาะด้านที่มีนัยสำคัญและให้ผลกลับจากนัยทางสถิติ คือ สวัสดิการเด็กเล็ก โดยกลุ่มคนที่มีเด็กเล็กแล้วได้รับสวัสดิการให้คะแนนรัฐบาลอยู่ที่ 5.31 ส่วนคนที่มีเด็กเล็กแต่ไม่ได้สวัสดิการให้คะแนนรัฐบาลที่ 4.15 ส่วนสวัสดิการด้านคุ้มครองแรงงานในระบบ กลุ่มคนที่ได้รับสวัสดิการนี้ให้คะแนนอยู่ที่ 3.13 ส่วนคนที่ไม่ได้รับกลับให้คะแนนมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ย้ำว่าระบบประกันสังคมกำลังมีปัญหา

นักวิชาการอิสระ กล่าวต่อถึงความต้องการของผู้ตอบแบบสำรวจว่า อยากให้รัฐบาลทำสวัสดิการด้านไหนเป็นพิเศษในปีต่อไป ผลที่ออกมาคือ 1.ต้องการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพความทัดเทียมกัน 2.อยากให้เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี 3.เบี้ยยังชีพควรเปลี่ยนเป็นบำนาญแห่งชาติ 3,000 บาทต่อเดือน 4. ต้องการ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและค่าจ้างแรงงานขั้นต้น และ 5.ต้องการสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า

“โดยสรุปแล้วผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญกับสวัสดิการทุกรูปแบบ ทุกประเภท ขณะที่ความพึงพอใจในผลงานของรัฐบาล ดูเหมือนว่าจะมีความไม่พึงพอใจเยอะโดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ และด้านที่อาจจะเกี่ยวพันกับการโฆษณาหาเสียงซึ่ง มีการโฆษณากันแรงมากเรื่องสวัสดิการ แต่ผลงานที่ออกมาไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ แม้การได้รับสวัสดิการบางประเภท เช่น เบี้ยยังชีพ บัตรสวัสดิการเเห่งรัฐ เงินเยียวยาต่างๆ มีผลทำให้ผลคะแนนของรัฐบาลเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ผ่าน”

เดชรัตกล่าวต่อว่า จากการอ่านผลสำรวจทั้งหมดทำให้เห็นความคิดและความต้องการ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ขณะที่การเคลื่อนไหวของภาคประสังคมในประเด็นเรื่องสวัสดิการด้านต่างๆ เช่นเรื่องบำนาญแห่งชาติ เรื่องการคุ้มครองแรงงาน เริ่มเห็นผลตอบรับบ้างแล้ว และหากรัฐบาลต้องการตอบสนองความต้องการของประชาชนในเรื่องรัฐสวัสดิการ รัฐบาลควรมีการดำเนินการในระยะยาวว่า รัฐบาลจะตอบสนองอะไรก่อนหลัง มีระดับขั้นอย่างไร

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสร้างรัฐสวัสดิการในสังคมไทยถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยตามนิยามสากลแล้ว ซ้ำยังเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จนทำให้เกิดภาวะแก่ก่อนรวย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีสวัสดิการที่รองรับความจำเป็นในการดำรงชีวิตยามชราของประชาชน

นอกจากนี้ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกกำลังพูดถึงเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีว่า กำลังสร้างปัญหาความมั่นคงในเชิงรายได้และการดำรงชีพของคน และในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มขยับเพื่อที่จะรับมือเรื่องเหล่านี้แล้ว และไม่ได้พูดถึงเพียงกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่มองไกลไปถึงขั้นว่ารัฐควรจะประกันรายได้ขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนทุกหรือไม่ เพราะความมั่นคงในชีวิตของผู้คนสูงมากขึ้น

อดีตนายกฯ กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมเป็นต้นมา อัตราการเจริญเติบโตของประเทศเป็นบวกตลอด เว้นเพียงช่วงที่เกิดวิกฤติ และการเติบโตโดยรวมสามารถลดจำนวนคนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนได้ตลอด แต่ในช่วงปี 2561-2562 เป็นครั้งแรกที่จำนวนคนยากจนเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ประเทศไม่ได้ประสบกับวิกฤติ และอัตราการเติบโตของประเทศยังเป็นบวก สิ่งนี้กำลังแสดงให้เห็นว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นไปกองรวมอยู่กับคนที่มั่งมีอยู่แล้ว

อภิสิทธิ์ กล่าวต่อถึงความเป็นไปได้ที่จะทำให้ประเทศมีระบบสวัสดิการที่ถ้วนหน้าได้ ด้านหนึ่งคือพลังของประชาชนในการต่อสู้ผลักดัน อย่างไรก็ตามความสำเร็จทางนโนยบายหลายเรื่อง จำเป็นต้องอาศัย 3 ส่วนด้วยกันคือ พลังของภาคประชาชน ความรู้ และกระบวนการทางการเมือง ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ

“หากลองไปทบทวนดู หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เกิดจากการทำงานเชิงเทคนิคของฝ่ายราชการ แต่พรรคไทยรักไทยในขณะนั้นชูเป็นนโยบายและเอามาทำ การเรียนฟรีถ้วนหน้าเอาจริงเอาจังก็เกิดขึ้นในสมัยที่ผมหาเสียงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับการทำเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ได้มาจากข้อเสนอของกระทรวงหรือข้อเสนอของหน่วยงานราชการ แต่มันเป็นนโยบายที่มาจากผู้นำในแต่ละยุค”

อดีตนายกฯ ย้ำว่า หากพิจารณาจากช่วงเวลา 1-5 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่หนีไม่พ้นที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ว่า ทำไมประเทศไทยจึงยังไม่เป็นรัฐสวัสดิการคือ ผู้นำทางการเมืองนั้นมีแนวคิดอย่างไร หากผู้นำทางการเมืองไม่ได้มีแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นการคิดถึงเรื่องสิทธิ ไม่ใช่เรื่องของการสงเคราะห์ ก็ถึงเป็นเรื่องยากที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น

ขณะเดียวเราอาจจะไม่สามารถโทษฝ่ายค้านได้ เพราะการเป็นฝ่ายค้านแม้จะมีจำนวน ส.ส. ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างๆ แต่การเป็นเสียงข้างน้อยก็ไม่สามารถผ่านร่างกฎหมาย หรือเขียนงบประมาณได้ ฉะนั้นการได้ผู้นำที่มีแนวคิดเรื่องนี้จะทำให้ทุกสิ่งง่ายขึ้น หรือไม่ก็ต้องปรับทัศนคติของผู้นำรัฐบาลให้มองเห็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการ

“จากการที่ผมเคยเป็นรัฐบาลมา และก็เป็นรัฐบาลผสมตลอด ต้องเรียนตามตรงว่าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นผู้กุมสภาพว่าจะขับเคลื่อนนโยบายได้หรือไม่ได้ และถ้าสังเกตุดูพรรคแกนนำมักจะคุมกระทรวงการคลัง ต่อให้พรรคร่วมอยากผลักดันนโยบายมากขนาดไหน แต่ถ้าคลังตอบมาว่า ไม่มีเงิน ก็จบ”

เขากล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลประยุทธ์ได้ทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งมีการลงทะเบียนเยียวโควิด-19 ถือว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้เก็บข้อมูลของประชาชนไว้มากที่สุด หากรัฐบาลต้องการที่จะผลักดันรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างจริงจัง และมีความฉลาดมากพอก็น่าจะรู้ว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาสามารถที่จะออกแบบและจัดสวัสดิการต่าง ๆ ได้อย่างถ้วนหน้า

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่าสิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ สิ่งที่จะพิสูจน์ในเชิงรายละเอียดว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการมากน้อยเพียงใดจากการดูงบประมาณรายจ่ายประจำปี

“ผมต้องการพิสูจน์ว่าคำพูดที่เราชอบพูดกันว่ารัฐบาลดูแลแต่กลุ่มทุน ไม่เหลียวแลประชาชน มันเป็นอย่างนั้นจากงบประมาณที่ใช้ และผมต้องการทำลายมายาคติที่บอกว่าเราไม่มีเงินไม่พอที่จะสร้างสวัสดิการให้พี่น้องประชาชนที่ดีกว่านี้”

ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การสร้างสวัสดิการที่ดีนั้นเปรียบเหมือนการลงทุนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฉะนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่าหากรัฐจะลงทุนในเรื่องนี้ และไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำเพื่อประชาชนหากรัฐบาลมีเจตจำนงค์ที่จะทำเรื่องนี้อย่างแท้จริง มีทรัพยากรเพียงพอในการทำสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนได้

แต่สภาพความเป็นจริงการจัดการงบประมาณของรัฐกลับยิ่งทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เอาเงินภาษีที่ควรเอามาดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน แต่กลับไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และอุ้มรัฐราชการที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญยังออกนโยบายต่างๆ โดยไม่เห็นหัวคน มองประชาชนอยู่ข้างหลัง ไม่ได้ตั้งงบประมาณที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

“สถานการณ์ในวันนี้ เราต้องการพยาบาลมากกว่าทหาร แต่งบประมาณในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาสะท้อนว่า เราบรรจุทหารมากถึง 80,000 ตำแหน่ง แต่พยาบาลบรรจุเพียง 10,000 ตำแหน่งเท่านั้น”

ธนาธร กล่าวต่อว่า หากดูจากโครงสร้างงบประมาณปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาทนั้น ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล จะเหลือเงินอยู่เพียง 1 ล้านล้านบาทเท่านั้นที่สามารถโยกย้ายได้ เพราะที่เหลือล้วนเป็นรายจ่ายประจำทั้งเงินเดือนบุคลากรภาครัฐ สวัสดิการตามกฎหมาย เงินต้นชำระหนี้ พร้อมดอกเบี้ย และเงินอุดหนุนท้องถิ่น เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงในจำนวน 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลโยกได้ กลับเป็นงบฝึกอบรบ สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเดินทางต่างประเทศ งบดำเนินการงบอุดหนุนถึง 7 แสนล้านบาทแล้ว

ประธานคณะก้าวหน้า ยืนยันว่า ประเทศไทยยังมีเงินพอที่จะมาจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนได้ เพราะประเทศไทยยังมีเงินนอกงบประมาณอีกปีละ 4 ล้านล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่มากกว่างบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี โดยที่ผ่านมาเราปล่อยให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บได้เองโดยไม่ต้องสำแดงต่อสภา ไม่ต้องรายงานต่อผู้แทนราษฎร หรือแม้แต่ตนที่เป็นกมธ.งบประมาณฯ ก็มองเงินเหล่านี้ไม่เห็น ตรวจสอบไม่ได้ จากนี้ไปเราจำเป็นต้องสู้ เพื่อไม่ให้หน่วยงานรัฐเก็บเงินก้อนไว้เองอย่างตรวจสอบไม่ได้อีกแล้ว

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการจากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 หลายพรรคการเมืองพูดถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรัฐสวัสดิการจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลก็พบว่า แนวนโยบายด้านรัฐสวัสดิการไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก

ที่ผ่านมาคนไทยเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำที่มีหน้าตาแบบเดิมมาหลาย 10 ปีแต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ อำนาจทุนและอำนาจรัฐที่มากขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำที่กดอยู่บนหลังคนไทยยังเป็นแอกที่อยู่บนหลังวัวหลังควายอันเดิม ซึ่งไม่ได้มีอะไรแตกต่างออกไป โดยในปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า 4 เสาค้ำยันความสิ้นหวังของประเทศ คือ ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การขาดเสรีภาพในการแสดงออก และการถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด

“ลองนึกถึงภาพเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คนไม่ได้รับเงินเยียวยากรอกยาฆ่าแมลงหน้ากระทรวงการคลัง พนักงานรักษาความปลอดภัยแขวนคอตายเพราะไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน คนอายุ 19 ปีแขวนคอตายชีวิตเขาต้องสิ้นหวังขนาดไหน ประเทศไทยอาจจะประสบความสำเร็จในการรักษาโรค รักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ แต่ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ความสิ้นหวังที่ถูกส่งต่อในช่วงสี่ถึงห้าเดือนที่ผ่านมา มันรุนแรงและมันฆ่าคนมากมาย ซึ่งนี่คือความผิดหวังของคนต่อคำสัญญา ต่อการหาเสียงของพรรคการเมือง”

นักวิชาการจากวิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. กล่าวต่อถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันคนไทยร้อยละ 30 มีรายได้รายน้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน รายได้เฉลี่ยครัวเรือนอยู่ที่ 26,000 บาทต่อเดือน แต่ค่าใช้จ่ายพื้นฐานของครัวเรือนอยู่ที่ 27,000 บาทต่อเดือน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าคนจำนวนมากกำลังอยู่ภาวะสิ้นหวัง และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือความไร้ศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ เพราะระบบสวัสดิการของรัฐถูกจัดลำดับขั้น

โดยหากเป็นข้าราชการ เป็นคนดีของแผ่นดิน ก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินบำนาญสูงกว่าประชาชนประมาณ 40 เท่า และมีมีสิทธิได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลที่สูงกว่าประชาชน 5 เท่า หรือในกรณีของคนที่มีเงินสามารถซื้อประกันสุขภาพได้ คนเหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า ซึ่งนี่คือสิ่งที่สะท้อนว่าชีวิตของผู้คนกำลังถูกจัดขั้นเป็นลำดับชั้น

ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า เมื่อมนุษย์ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และถูกทำให้ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การจะทำให้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้คือการต่อสู้เรียกร้องแสดงออก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือการจำกัดและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งกลายเป็นเสาที่ 3 ซึ่งค้ำยันความสิ้นหวังในประเทศไว้ และเสาสุดท้ายคือการถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด โดยสถิติของธนาคารโลกชี้ว่าหากคนที่เกิดมาในชนชั้นล่างของสังคมจำนวน 7 คน มีเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสมีคุณภาพชีวิตเทียบเท่าคนชนชั้นบนของสังคม ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่สภาวะปัจจุบัน และไม่มีการแก้ไขในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

นักวิชาการจากวิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้กำลังสะท้อนถึงการเกิดขึ้นของภาวะความเสี่ยงของการไร้รัฐสวัสดิการ จะมีการขยายตัวของกลุ่มแรงงานเสี่ยงคือ กลุ่มแรงงานที่ไร้อำนาจในการต่อรอง ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีโอกาสเลื่อนลำดับชั้นในองค์กรได้ ขณะที่แรงงานในระบบกำลังจะถูกเขี่ยออก และแรงงานนอกระบบก็จะอยู่ไม่ไหวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้จะเกิดภาวะชนชั้นกลางล่มสลาย นักศึกษาจบใหม่จำนวนมากตกงานแล้วกว่าแสนคน ส่วนคนที่มีงานทำอยู่ในเวลานี้ไม่ว่าจะขยันทำงานมากเพียงใดก็จะไม่สามารถมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ อย่างไรก็ตามในสภาวะแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยกำลังจนลง แต่กลุ่มทุนที่มั่งมีอยู่แล้วกำลังจะรวยมากขึ้นจากการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ร่วมกับรัฐบาล และประชาชนก็ยังคงถูกกักขังอยู่ในการจัดลำดับช่วงชั้นอยู่เหมือนเดิม

ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ทาง We Fair ได้ให้พรรคการเมืองมาเสนอนโยบายโดยสำรวจดูว่าแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายที่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการด้านใดบ้าง โดยพบว่า พรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายด้านรัฐสวัสดิการมากที่สุดคือ พรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันคือ พรรคก้าวไกล อันดับรองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคพลังประชารัฐมีความชัดเจนทางแนวนโยบายว่าเป็นนโยบายสังคมสงเคราะห์ และพรรคเพื่อไทยมีแนวนโยบายที่เน้นแนวเสรีนิยม

ษัษฐรัมย์ ยังชี้ด้วยว่า การเป็นฝ่ายค้านในสภานั้นไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ เพราะการเป็นฝ่ายค้านในสภาก็สามารถเสนอร่างกฎหมายต่างๆ ได้ และจากช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าพรรคการเมืองที่เสนอแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการไว้จำนวนมากและได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแม้จะเป็นฝ่ายค้านก็ตาม แต่ก็ยังพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่มากพอ

“ลองเทียบดูว่า ถ้าเรามีเกวียนและข้างหน้าเรามีม้ากับแพะ เมื่อเกวียนเราเดินช้า เราควรจะเฆี่ยนม้าหรือเฆี่ยนแพะ ควรจะเฆี่ยนม้าใช่มั้ย เพราะแพระไร้ประโยชน์อยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาบอกว่าเราต้องเฆี่ยนใครไม่ได้แปลว่าผมเกลียดภาคส่วนนั้น แต่เพราะมีความหวังกับภาคส่วนนั้นมากกว่า นั่นหมายความว่า พรรคอนาคตใหม่จนมาเป็นก้าวไกลต้องพยายามมากกว่านี้ เพราะคุณสัญญาไว้มาก และวันนี้คุณยังมีทรัพยากร รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องถูกเฆี่ยนเช่นเดียวกัน เพราะสัญญาเรื่องนโยบายรัฐสวัสดิการไว้ไม่น้อยเช่นกัน และที่สำคัญที่สุดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็มีรัฐมนตรีที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ นั่นหมายความว่าพวกเราต้องกดดันพรรคการเมืองเหล่านี้ให้มากขึ้น”

นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 มีองค์กรต่างๆ ของรัฐติดต่อสอบถามข้อมูลมาว่า มีชุมชนแออัดใดบ้างที่กำลังได้รับความเดือดร้อน เมื่อได้ให้ข้อมูลไปก็ได้รับการตอบกลับมาว่า ชุมชนหลายชุมชนดูจะไม่ใช่คนจนจริงๆ สิ่งนี้ทำให้เห็นถึงทัศนคติของภาครัฐว่า มองเห็นคนจนที่ไม่ได้อยู่บนฐานความเป็นจริง และมีจินตนาการว่าคนจนจะต้องยากไร้ไม่มีอะไรเลย ซึ่งหลายคนที่เป็นคนจนก็สามารถมีบ้านมีที่อยู่อาศัยได้ แต่สิ่งที่ต้องดูเป็นสำคัญคือหนี้สินและรายรับรายจ่าย ไม่ใช่เป็นเพียงการมองคนจนแบบผู้อนาถา

ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวต่อว่า หลังโควิด-19 ลดการระบาดลง รัฐบาลกลับให้ความสนใจแต่เมกะโปรเจคทางด้านคมนาคม มีความคิดจะสร้างเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนที่สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำกลายเป็นการซ้ำเติมคนไร้ที่ดินที่อยู่ในที่ดินของรัฐ นอกจากนี้ยังเร่งผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เอื้อให้นายทุนเข้ามาลงทุนโดยไล่ที่ประชาชนที่อยู่อาศัยและใช้เป็นพื้นที่ทำกินมาเป็นเวลานาน โดยการออกกฎหมายเวรคืนที่ดิน และตีราคาที่ดินที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ขณะที่สภาพความเป็นอยู่ของคนจนเมืองในเวลานี้ มีหลายคนที่อยู่อย่างลำบากมากขึ้นเพราะไม่มีรายได้

“เรารู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่ธรรมดาแล้ว อย่างก่อนจะออกมานี่ชาวบ้านที่อยู่ย่านราชเทวีตลอดแนวรถไฟ โดนไล่ที่หมดแล้ว และเจ้าหน้าที่การรถไฟบอกว่าในกฎหมายไม่ได้มีการเขียนเรื่องงบเยียวยาไว้ นี่คือสิ่งที่ชั่วร้ายที่สุด ทำกฎหมายได้ตั้งหลายอย่าง เอามาควบคุม เอามาใช้กับเรา แต่กฎหมายที่จะดูแลคนที่เดือดร้อน หรือจะมาเยียวยากลับไม่มี”

สุนี ไชยรส นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ผลงานรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมามีการตีโจทย์คำว่า รัฐสวัสดิการ ในความหมายแคบ สิ่งที่รัฐบาลทำคือการจำกัดกลุ่มคนที่ควรจะได้รับสวัสดิการเช่น บัตรคนจน รวมทั้งการเยียวยากรณีโควิด-19 รวมถึงการจ่ายเงินเยียวยาในลักษณะสังคมสงเคราะห์เป็นครั้งคราว แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ การเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

สุนี กล่าวว่า โดยความต้องการของประชาชนนั้น มีความต้องการสวัสดิการถ้วนหน้าที่จำเป็นสำหรับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ก็สามารถมีสวัสดิการเพิ่มเติมที่ประชาชนร่วมจ่ายด้วย ยกตัวอย่างเช่น กองทุนประกันสังคม แต่อย่างไรก็ตามต่อให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าไปสู่ระบบร่วมจ่ายเพื่อสร้างสวัสดิการแล้ว ก็ถือว่ายังมีสิทธิในสวัสดิการถ้วนหน้าขั้นพื้นฐานอยู่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาลในช่วงโควิด-19 คือการกันคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมออกไปจากสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้ และปล่อยให้เป็นการเยียวยากันโดยระบบประกันสังคมแทน ซึ่งเป็นตัดสิทธิคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมออกจากการสิทธิในสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวต่อว่า เวลานี้สวัสดิการถ้วนหน้าของสังคมไทยมีการพัฒนาไปในหลายประเด็นแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นสวัสดิการซึ่งรัฐยังมีมุมมองในลักษณะสังคมสงเคราะห์ คือยังเข้ามาตรวจสอบความจนอยู่ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ควรทำให้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

จอน อึ๊งภากรณ์ นักกิจกรรมทางสังคม เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าว่า ในหนึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการปฏิรูประบบภาษีหรือไม่ในลักษณะที่จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน คำตอบคือไม่มีอะไรเลย เมื่อไม่มีการปฏิรูปภาษีก็ไม่สามารถขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการได้ เพราะหลักการของรัฐสวัสดิการคือการลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน การจัดการเรื่องภาษีจึงเป็นส่วนสำคัญ และทุกวันนี้คนจนไม่ใช่ว่าเสียภาษีน้อยกว่าคนรวย แต่เมื่อคำนวนจากภาษีมูลค่าเพิ่มจะพบว่าคนจนเสียภาษีไม่แตกต่างจากคนรวย

จอน ยังกล่าวว่า รัฐบาลยังคงมีมุมมองในการตรวจสอบความจนของประชาชน ซึ่งเป็นการทำลายศักดิ์ความเป็นมนุษย์ และไม่ได้มองว่าการเข้าสวัสดิการต่างๆ เป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้

“รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของทหารที่สืบทอดอำนาจมา และเป็นรัฐบาลของนายทุนผูกขาดที่เข้าไปบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐมากมาย และเป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองหากิน คือใครเป็นรัฐบาลพรรคการเมืองเหล่านี้ก็พร้อมจะไปเข้าร่วม นอกจากนี้ยังเป็นรัฐบาลของข้าราชการ เป็นรัฐบาลที่ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก แต่เข้าสู่อำนาจได้ด้วยเสียงของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย และรัฐสวัสดิการก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

นักกิจกรรมทางสังคม กล่าวต่อว่า การจะเกิดขึ้นได้ของรัฐสวัสดิการจะมาควบคู่กับรัฐประชาธิปไตย โดยนักวิชาการหลายคนเชื่อว่าทั้งสองสิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะความเป็นประชาธิปไตยหมายถึงการที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างเเท้จริง และไม่ใช่เพียงความเท่าเทียมทางสิทธิทางการเมือง แต่ต้องมีความเท่าเทียมด้านสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

นอกจากนี้รัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ประชาชนรากหญ้าที่กำลังเรียกร้องต่อรัฐได้ หรือมีพรรคการเมืองของตัวเองเข้าไปเรียกร้องต่อสู้ในระบบรัฐสภา เช่นในหลายประเทศมีพรรคการเมืองของกลุ่มแรงงานที่ขับเคลื่อนต่อสู้เรื่องนี้ แต่สำหรับประเทศไทยการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองในลักษณะนี้มีความยากที่จะเกิดขึ้น เพราะกฎหมายที่ถูกร่างขึ้นในยุค คสช.

“หากต้องการรัฐสวัสดิการ เราต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยก่อน เราต้องสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน แล้วมันก็จะเกิดขึ้น แต่จะวันไหนก็อยู่ที่พวกเราอย่างไปหวังพึ่งคนอื่น”

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair ระบุว่า ในวาระครบรอบ 1 ปีที่มีคณะรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้ง 2562 จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะย้อนดูผลงานของรัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรัฐสวัสดิการ โดยพบว่าเรื่องนี้ถูกนำเสนอเป็นนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาล แต่กลับยังไม่มีนโยบายใดถูกนำไปขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และเมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 พบว่าเงินที่จะนำไปใช้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสวัสดิการทางสังคมให้กับประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นคนส่วนมากของสังคม ยังน้อยกว่างบสวัสดิการที่จัดสรรไว้สำหรับกลุ่มข้าราชการ

“รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐดำเนินนโยบายแนวเสรีนิยม อันเป็นสาเหตุของภาวะรวยกระจุกคนกระจายเรื้อรัง ขาดทิศทางการพัฒนานโยบายสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า อันถือเป็นสิทธิและหลักประกันการพัฒนาคุณภาพชีวิต เน้นสวัสดิการเชิงสงเคราะห์ เช่นเดียวกับรัฐบาลยุค คสช.”

นิติรัตน์ เห็นว่า การบริหารงานของรัฐบาลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยพบว่ารายได้เฉลี่ยระหว่างกลุ่มรายได้สูงสุดร้อยละ 20 กับกลุ่มรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 สูงถึง 10.3 เท่า ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน กลุ่มคนรายได้สูงสุดร้อยละ 1 แต่กลับครอบครองทรัพย์สินสูงถึงร้อยละ 66.9 หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2562 มีมูลค่า 13.47 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 79.8 สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส ความยากจนของไทยระหว่างปี 2558-2561 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 9.8 ประชากรยากจนเพิ่มจาก 4.85 ล้านคนเป็น 6.7 ล้านคน

เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 จึงเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรัง รวมทั้งวิกฤติการณ์จากสงครามการค้า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มถดถอยยาวนาน แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 โดยการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ได้ทอดทิ้งกีดกันผู้คนจำนวนมาก รัฐบาลหลายประเทศก็ออกมาตรการรับมือเยียวยา COVID-19 มีการกล่าวถึง New Normal การปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจสู่รูปแบบใหม่ เน้นการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ดูแลสวัสดิการสังคมตามแนวคิดรัฐสวัสดิการ แต่รัฐบาลประยุทธยังดำเนินนโยบายในแบบเดิม

ผู้ประสานงานเครือข่าย we fair กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2564 ฉบับนี้ ควรถูกขนานนามว่าเป็น พรบ.ฉบับประชารัฐนิยม เนื่องจากมีการจัดงบประมาณสวัสดิการสุดเหลื่อมล้ำ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างข้าราชการ 465,290 ล้านบาท กับประชาชน 387,968 ล้านบาท

โดยพบว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีงบฯ สวัสดิการบำเหน็จบำนาญและเงินสมทบข้าราชการ 391,290 ล้านบาท งบฯ รักษาพยาบาลข้าราชการ 74,000 ล้านบาท รวม 465,290 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.10 ของงบฯ ประมาณทั้งหมด ปรับสูงขึ้นจากปี 2563 จำนวน 49,550.616,8 ล้านบาท หากรวมกับรายจ่ายเงินเดือนภาครัฐ 776,887.6514 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,242,178.2682 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.6 ของงบประมาณทั้งหมด ในขณะที่มีการจัดสรรงบประมาณสวัสดิการให้ประชาชน เพียง 387,968.2828 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.76

“ในแง่ลำดับความสำคัญของหน่วยรับงบประมาณ พบว่ากระทรวงกลาโหมก็ได้รับงบประมาณสูง จำนวน 223,463.7 ล้านบาท งบบุคลากร 103,293.6476 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบแล้ว กระทรวงกลาโหมได้รับมากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.4 เท่า มากกว่ากระทรวงแรงงาน 3 เท่า และมากกว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 10 เท่า”

นิติรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนโยบายสวัสดิการประชาชนว่า นโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด0-6 ปี จำนวน 600 บาท เป็นสวัสดิการประชาชนที่ยังไม่ถ้วนหน้า เพราะให้เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท ทำให้จากจำนวนเด็กทั้งหมด 4.3 ล้านคน มีเด็กที่เข้าถึงเพียง 1.4 ล้านคน

ส่วนเบี้ยความพิการ 800 บาท เดิมเป็นระบบถ้วนหน้าแต่การปรับขึ้นเป็น 1000 บาท กลับให้เฉพาะคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 ล้านคน ทำให้มีคนพิการไม่ได้รับเงินเพิ่ม 8.8 แสนคน ส่วนนโยบายเบี้ยยังชีพคนสูงอายุ ยังไม่การปรับตามข้อเสนอเครือข่ายประชาชนที่ต้องการให้ใช้เกณฑ์เส้นความยากจน โดยที่เบี้ยยังชีพไม่มีการปรับจำนวนเงินเลยมาตั้งแต่ปี 2554


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active