ส่องงบประมาณจัดการโควิด-19

: ประเทศรัฐสวัสดิการกับระบบรองรับทางสังคม

“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”

ตอนหนึ่งของข้อเขียน “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ‘ศ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ที่มักถูกหยิบยกมาเปรียบเปรยในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมือง “ไม่ปกติ”

เช่นเดียวกับการระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของประเทศ แต่นี่เป็นโรคระบาดขนาดใหญ่ลุกลามไปทั่วโลก นอกจากจะส่งผลให้ผู้คนมหาศาลต้องล้มป่วย ล้มตาย ยังตอกย้ำปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจของหลายประเทศให้อยู่ในขั้นวิกฤต

ช่วงเวลาที่ประชาชนฝากปากท้องไว้กับค่าแรงรายวัน หลายคนเลือกจบชีวิต เพราะไม่มีหลังให้พิงยามขาดรายได้ นี่เป็นภาพสะท้อน การไม่มีเบาะรองรับทางสังคมที่ดีและครอบคลุมพอ ทำให้ชั่วขณะหนึ่ง การรายงานข่าวการเสียชีวิต ไม่ใช่แค่คนที่ตายเพราะโรคระบาดในทางสุขภาพกาย แต่ยังต้องตายเพราะพิษเศรษฐกิจและภาวะทางใจ

เช่นเดียวกัน…ช่วงเวลาหนึ่ง แนวคิด “รัฐสวัสดิการ” ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เพียงเหตุผลเรื่องความสบายในชีวิตบั้นปลาย แต่ยังหมายถึงการมีและการเป็นหลังพิงในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

พวกเขาพร้อมจ่าย เพื่อแลกกับระบบบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ…

หรือปรากฏการณ์ “ย้ายประเทศ” ก็เช่นกัน ประเทศลำดับต้น ๆ ที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝัน มักมีสวัสดิการที่ดี แม้รู้ว่าต้องแลกมาด้วยการจ่ายภาษีที่สูง

ถ้ารัฐสวัสดิการดี ไทยจะคุมระบาดได้ดีกว่านี้? เป็นคำถามค้างคาใจใครหลายคน หรือแม้แต่ข้อเสนอจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ที่ว่า หากจะคุมโควิด-19 ให้อยู่หมัด นอกจาก “วัคซีน” ที่เป็นภูมิต้านทานด้านสุขภาพ “รัฐสวัสดิการ” ยังอาจเป็นวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันทางสังคมให้พ้นขีดอันตรายอีกด้วย

The Active รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “การใช้งบประมาณเพื่อสร้างความคุ้มครองทางสังคม” ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและมีสวัสดิการสังคมที่ดี รวมถึงวิธีคิดและแนวทางบริหารจัดการงบประมาณของประเทศต่าง ๆ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้เราพอจะมีความหวังขึ้นบ้าง


จีดีพีสูง มีคนมั่งคั่งติดอันดับโลก แต่ยังติดกับดัก “รายได้ปานกลาง”

ประเทศไทย นับได้ว่าเป็นประเทศที่มี GDP (Gross Domestic Product) หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ “ไม่ขี้เหร่”

เมื่อดูข้อมูล ณ ปี 2020 หรือ พ.ศ. 2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ประเทศไทยมีมูลค่ารวมของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตภายในประเทศ เป็นอันดับที่ 22 ของโลก

ส่วน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศตามความเสมอภาคของอำนาจซื้อ หรือ GDP at Purchasing Power Parity (PPP) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 18

แต่หากเป็น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อจำนวนประชากร ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 72 ของโลก และกำลังถอยตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ

เมื่อนำ GDP เทียบกับประเทศอื่น ๆ จะเห็นได้ว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศก้าวหน้า แต่ก็ถือว่ามี GDP ที่สูงกว่ากลุ่มประเทศตลาดใหม่ (Advanced Economies)​ หรือเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Economies)​ เช่น อินเดีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ หรือประเทศในละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง

หากดูจากค่า GNI (Gross National Income) หรือ รายได้ประชาชาติมวลรวม ที่ธนาคารโลกใช้เพื่อจัดกลุ่มเศรษฐกิจออกเป็น 4 กลุ่มประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง แต่ก็ยังไต่ระดับไม่ถึงกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (Upper Middle Income) และดูเหมือนว่า จะยิ่งทิ้งห่างจากเส้นของกับดักรายได้ปานกลางขึ้นทุกที


จีดีพีสูง แต่ “ค่าใช้จ่ายทางสังคมต่ำ” ข้อกล่าวหา “กับดักเหลื่อมล้ำ” ?

ประเทศไทยลงทุนทางสังคมต่ำจริงหรือไม่?

ประเทศไทย พยายามเข้าร่วม “องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” (OECD) ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม “ประเทศพัฒนาแล้ว” และเข้าเกณฑ์เงื่อนไขบางประการ เช่น ยอมรับระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจการค้าเสรี และมีธรรมาภิบาล แม้เป็นองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ปฏิเสธได้ยากว่าเป็นเรื่องของ “การเมืองโลก” เช่นกัน

ที่น่าสนใจ คือ ปี 2564 OECD มีสมาชิกทั้งหมด 38 รัฐ เป็นประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนของรัฐต่อการคุ้มครองทางสังคมที่สูง เช่น 7 อันดับแรก คือ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม อิตาลี ออสเตรีย และสวีเดน รวมถึงประเทศในเอเชีย อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ตัวเลข “การใช้จ่ายทางสังคม” (Social-spending) สูงมากเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ การรวบรวมข้อมูลของ OECD ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ หมายถึง เงินที่จ่ายเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ/สงคราม สุขภาพ ครอบครัว แรงงาน ที่อยู่อาศัย และนโยบายคุ้มครองทางสังคมด้านอื่น ๆ

สำหรับประเทศไทย, แม้ไม่มีข้อมูล “การใช้จ่ายทางสังคม” ที่แยกออกมาอย่างชัดเจน เนื่องจากไม่ได้เป็นประเทศในกลุ่ม OECD แต่จากการรวบรวมข้อมูลงบประมาณด้านสังคมจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของ GDP นี่เป็นภาพสะท้อนวิสัยทัศน์และความสามารถในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนของรัฐไทยผ่านนโยบายการจัดการภาษี

หากดูสถิติการคลัง ปี 2019 (พ.ศ. 2562) ที่ไทยรายงานต่อ IMF จะเห็นว่าในหมวด การสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน (Housing and community amenities), สุขภาพ (Health) และการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ (Social protection) ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ที่ 7.91 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.69% ของ GDP เท่านั้น มิพักต้องถามว่า รัฐบาลนำงบประมาณไปลงทุนด้านใด

ประเทศไทยสามารถเข้าร่วม OECD ได้ไหม?

ตามที่กล่าวแต่ต้น ประเทศไทยมีนโยบายจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OECD ตั้งแต่ปี 2546 หรือ 18 ปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลความจำเป็นว่า ประเทศไทยต้องการปรับตัวและปรับนโยบายด้านการพัฒนาต่าง ๆ แม้จะมีความท้าทายจากปัญหาหลายด้าน

กระทั่งปี 2548 ประเทศไทยมีความร่วมมือกับ OECD ผ่านโครงการ Thailand-OECD Country Programme และเข้าเป็นสมาชิก OECD Development Centre หรือ ศูนย์การพัฒนาแห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งเป็นประโยชน์ในการยกระดับมาตรฐานนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของไทย ที่นอกจากช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ยังจะช่วยส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบทบาทการเป็นผู้สังเกตการณ์เท่านั้น


สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศรัฐสวัสดิการที่ดี เป็นอย่างไร?

นอกจากงบประมาณด้านการลงทุนเพื่อการคุ้มครองทางสังคมในภาวะปกติ สัดส่วนของการลงทุนด้านวัคซีน ผ่านจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็สะท้อนภาพตามงบประมาณที่รัฐใช้เพื่อลงทุนทางสังคมด้วย

ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนในสัดส่วน 26.1% ต่อประชากร 100 คนเท่านั้น

แน่นอนว่า หากเทียบจากอัตราผู้ติดเชื้อแล้ว หลายประเทศติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี แต่หากดูอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรล้านคน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิต มากที่สุด


สวัสดิการดี เบาะรองรับทางสังคมและเศรษฐกิจดี?

ประเทศญี่ปุ่น

การสวัสดิการสังคม (Social Welfare) ของประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย หรือพิการ หรือสูงอายุ ที่ดำเนินการมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งโดยรัฐบาลญี่ปุ่นและโดยบริษัทเอกชน เริ่มต้นในทศวรรษที่ 1920 (พ.ศ. 2463) รัฐบาลญี่ปุ่นได้บังคับใช้ชุดโครงการด้านสวัสดิการ โดยอิงกับโมเดลของยุโรป (ปรัสเซีย) เพื่อให้การดูแลทางการแพทย์และการสนับสนุนทางการเงิน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบความมั่นคงทางสังคม (Social Security) ที่ครอบคลุมก็ค่อย ๆ ถูกสถาปนาขึ้น

บทความ “วิวัฒนาการของนโยบายสังคมในญี่ปุ่น” (The Evolution of Social Policy in Japan) ที่ โคโนสุเกะ โอดากะ (Konosuke Odaka) นักเศรษฐศาสตร์ เขียนให้ธนาคารโลก (World Bank) ในปี 2545 กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ช้าในการสร้างความเป็นสถาบันให้ระบบการใช้จ่ายเพื่อสังคม (Social Expenditure) ยกเว้นด้านการศึกษา มาจาก 4 สาเหตุสำคัญ

ประการแรก คือ การขาดหลักการทางสังคมที่ว่า การเข้าถึงความมั่นคงทางสังคมในด้านต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบที่แยกไม่ออกจากสิทธิมนุษยชน ดังนั้น สิ่งอำนวยความสะดวกทางสังคมต่าง ๆ จึงถูกมองเป็นของขวัญอันทรงคุณค่าจากผู้ปกครอง ประการที่ 2 สังคมญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเน้นการพึ่งพาความสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือความสัมพันธ์ในชุมชนอย่างแพร่หลาย ประการที่ 3 ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรษัทขนาดใหญ่ จัดโครงการสวัสดิการต่าง ๆ อย่างใจกว้าง จนตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของลูกจ้างได้หมด และ ประการสุดท้าย อุดมการณ์ที่โน้มเอียงไปทางเสรีนิยม (เช่น ของขบวนการแรงงาน) ซึ่งท้าทายปรัชญาของระบอบการปกครอง มีสถานะที่อ่อนแอ ทำให้ไม่เกิดแรงกดดันทางการเมืองมากพอที่จะทำให้เกิดการนำเสนอการใช้จ่ายเพื่อสังคมก่อนหน้านี้

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 ระบาด แม้จะเป็นการระบาดระลอกแรกก็ตาม เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 นายกรัฐมนตรีอาเบะ ประกาศว่า รัฐบาลจะให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ฉุกเฉิน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ค้ำประกันให้วิสาหกิจขนาดลางและขนาดย่อม หรือ SME ที่ได้รับผลกระทบ เป็นจำนวนเงิน 5 แสนล้านเยน (500 billion yen) และกันเงิน 1.53 หมื่นล้านเยน (15.3 billion yen) จากกองทุนฉุกเฉิน (Contingency Funds) ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การบริจาคตัวอย่างไวรัสให้สถาบันการวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลก

ต่อมา 1 มีนาคม 2563 ประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตรการฉุกเฉินเพื่อรักษาเสถียรภาพการดำรงชีวิตของสาธารณะ (Act on Emergency Measures for Stabilizing Living Conditions of the Public) โดยแนะนำ (Instruct) ให้ผู้ผลิตหน้ากากขายหน้ากากโดยตรงให้แก่รัฐบาล แล้วรัฐบาลจะเป็นผู้ส่งหน้ากากให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยเอง

5 มีนาคม 2563 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศจัดแพ็คเกจฉุกเฉินโดยใช้เงินทุนฉุกเฉิน 2.7 แสนล้านเยน (270 billion yen) ในปีงบประมาณ 2563 จนถึงมีนาคม 2564 เพื่อจำกัดวงลดการระบาดของโควิด-19 และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้เหลือน้อยที่สุด

มลรัฐอลาสกา (Alaska) สหรัฐอเมริกา

Alaska Permanent Fund (APF) เป็นกองทุนถาวร (Permanent Fund หนึ่งในห้าประเภทกองทุนของรัฐบาลสหรัฐฯ) ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ 1976 (พ.ศ. 2519) โดยรัฐธรรมนูญของมลรัฐอลาสกา มาตรา 9 วรรค 15 และบริหารโดยกองคลังของกรมสรรพากร (Department of Revenue Treasury Division) ระหว่างกุมภาพันธ์ 1976 จนถึง เมษายน 1980 หลังจากนั้น รัฐสภาอลาสกาลงมติจัดตั้ง Alaska Permanent Fund Corporation (APFC) ซึ่งเป็นบรรษัทที่มลรัฐอลาสกาเป็นเจ้าของ ให้ทำหน้าที่บริหาร APF จนถึงปัจจุบัน

ในปี 2562 APF มีมูลค่าประมาณ 6.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับเงินจากรายได้น้ำมันและได้จ่ายเงินให้ผู้อยู่อาศัยในอลาสกาโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1,600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน ซึ่งเรียกว่า Permanent Fund Dividend (PFD) (เงินปันผลกองทุนถาวร) โดยถูกกล่าวขวัญถึงว่าเป็นตัวอย่างเดียวของ Basic Income ในทางปฏิบัติ เพราะการวัดความยากจนในต่างประเทศใช้เส้นที่เรียกว่า “ที่อยู่อาศัยที่ทุกคนจ่ายได้” (Affordable housing) มลรัฐอลาสกาจึงลงทุนเรื่องที่อยู่อาศัยให้พลเมือง

เยอรมนี

รัฐบาลเยอรมนี ออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่ารวม 1.3 แสนล้านยูโร เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน มาตรการเหล่านี้ยังรวมการลงทุนสำหรับอนาคต

โครงการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาลเยอรมัน ถูกปรับและขยายอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ “November Assistance Programme” ได้ถูกขยายให้สามารถให้ช่วยเหลือพนักงานบริษัทอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์เป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 โครงการเงินช่วยเหลือชั่วคราวที่มีอยู่จะถูกขยายระยะเวลาและขยายวงไปจนถึงมิถุนายน 2564 โดยเฉพาะ “Temporary Aid Programme III” ซึ่งเป็นโครงการใหม่ ให้ความช่วยเหลือที่ปรับปรุงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อปัจเจกบุคคลที่ไม่เป็นลูกจ้าง หรือแรงงานนอกระบบ รวมไปถึงคนทำงานอิสระในภาควัฒนธรรมและงานอีเวนท์ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ในการช่วยเหลือ ครอบครัว ที่ประสบปัญหาจากโรคระบาดต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นในการดูแลบุตร รัฐบาลเยอรมันช่วยเหลือมากถึง 8 ด้าน คือ

  1. จ่ายเงินให้ครอบครัวที่มีบุตร ครอบครัวละ 300 ยูโรต่อบุตร 1 คน ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2563
  2. เพิ่มเพดานให้พ่อหรือแม่ (ที่เป็นผู้สงเคราะห์บุตร) สามารถลดหย่อนภาษีได้มากกว่าเดิมกว่า 2 เท่า
  3. ให้ครอบครัวที่มีฐานะยากจน สามารถขอเงินสนับสนุนอาหารเสริมให้เด็กได้สูงถึง 185 ยูโรต่อเดือน
  4. ให้ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ที่มีบุตรป่วย สามารถขอเงินช่วยเหลือได้ 5 วัน หากเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว สามารถของเงินสนับสนุนได้ 10 วัน
  5. เร่งรัดการลงทุนในการสร้างโรงเรียนที่ดูแลเด็กตลอดทั้งวัน โดยใช้งบประมาณประมาณ 1 พันล้านยูโร ไปในการก่อสร้างอาคารใหม่ การแปลงและการขยายอาคารที่มีอยู่เดิม เพื่อเพิ่มจำนวนโรงเรียนอนุบาล สถานดูแลเด็ก และสถานดูแลเด็กอ่อน
  6. ขยาย Digital Pact for Schools (สนับสนุนการศึกษาผ่านระบบดิจิทัล) โดยรัฐบาลจะจัดหางบประมาณให้ถึง 5 พันล้านยูโรในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ และเพิ่มการลงทุนในโรงเรียนที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม (State-of-the-Art Schools)
  7. ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ลงชั่วคราว ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2563 โดยลด VAT มาตรฐาน ลงจาก 19% หลือ 16% และลด VAT ที่ได้รับการลดหย่อน (reduced VAT) ซึ่งใช้กับสินค้าเช่นของชำ จาก 7% เหลือ 5% เพื่อเพิ่มอำนาจในการจับจ่ายของประชาชนและให้ประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อยเป็นการเฉพาะ (และในเวลาเดียวกันช่วยเพิ่มผลประโยชน์ที่บริษัทเอกชนได้รับจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น)
  8. ลดค่าธรรมเนียมเพื่อการใช้พลังงานที่ยั่งยืน (EEG Surcharge) ที่จัดเก็บจากการใช้ไฟฟ้าของทุกบุคคลในเยอรมนี ลง 6.5 เซนต์ (ยูโร) ต่อกิโลวัตต์ในปี 2564 และ 6 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ในปี 2565 โดยรัฐบาลกลางเป็นผู้จ่ายส่วนต่างนี้

สำหรับลูกจ้างในเยอรมนี

  1. ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 มีการเข้าถึงที่งายขึ้น สำหรับระบบผลประโยชน์จากการทำงานระยะเวลาสั้นลง (Short-time Work) โดยบริษัทที่เริ่มการลดระยะเวลาการทำงานภายใน 31 ธันวาคม 2563 จะสามารถเข้ารับผลประโยชน์นี้ได้สูงสุดนานขึ้นถึง 24 เดือน (และไม่เกิน 31 ธันวาคม 2564) และเพิ่มผลประโยชน์จากการทำงานระยะเวลาสั้นลง โดย Federal Employment Agency ดูแลครอบคลุม 60%-80% ของรายได้ที่สูญเสียไป สำหรับแรงงานที่เป็นพ่อแม่ จะได้รับการดูแลถึง 67%-87% ของรายได้ที่สูญเสียไป
  2. จำกัดการขึ้นของเงินสมทบประกันสังคมไม่ให้เกิน 40% จนถึงสิ้นปี 2564 กองทุนใด ๆ ที่ต้องอาศัยงบประมาณที่มาจากการเก็บเงินสมทบเกินขีดจำกัดนี้จะได้งบประมาณของรัฐบาลกลางชดเชย
  3. ให้การสนับสนุนต่าง ๆ สำหรับการฝึกงาน (Apprenticeship) ของผู้ออกจากโรงเรียนหรือผู้ที่อยู่ระหว่างการฝึกงาน เช่น SME ที่ไม่ได้ลดจำนวนผู้ฝึกงานในปี 2563 ลง เมื่อเปรียบเทียบกับ 3 ปีก่อนหน้า จะได้รับเงินช่วยเหลือครั้งเดียว 2,000 ยูโรต่อ 1 สัญญาการฝึกงาน

สำหรับบริษัท

  1. บริษัทในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักมาก เช่น การส่งกำลังบำรุงให้งานอีเวนต์ สนามเด็กเล่น และสวนสนุก ไนท์คลับ และที่เกี่ยวข้องกับกิจการการท่องเที่ยวต่าง ๆ ฯลฯ บริษัทเหล่านี้ได้รับเงินช่วยเหลือระยะสั้น ตั้งแต่มิถุนายน 2563 ซึ่งระยะเวลาสิ้นสุดถูกขยายจาก 31 ธันวาคม 2563 ให้มาสิ้นสุดในปี 2564 งบประมาณประมาณ 2.5 หมื่นล้านยูโร ถูกกันไว้ใช้ในการณ์นี้โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายคืน เงินช่วยเหลือขึ้นกับรายได้ที่หายไปดังนี้
    • 30%-50% ของรายได้ (ปรับขึ้นจาก 40%-50% ของรายได้) บริษัทจะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นมูลค่า 40% ของค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) ที่เข้าข่าย
    • 50%-70% ของรายได้ บริษัทจะได้รับเงินช่วยเหลือ 60% ของค่าใช้จ่ายคงที่ (ปรับขึ้นจาก 50%)
    • มากกว่า 70% ของรายได้ บริษัทจะได้รับเงินช่วยเหลือ 90% ของค่าใช้จ่ายคงที่ (ปรับขึ้นจาก 80%)
  2. การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกรณีพิเศษ สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ยาวนาน 4 สัปดาห์ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2563 โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 บริษัทที่เข้าข่ายได้รับเงินจ่ายครั้งเดียวเป็นมูลค่า 75% ของรายได้ที่บริษัทเหล่านั้นได้รับในเดือนพฤศจิกายน 2562 งบประมาณ 1 หมื่นล้านยูโร ถูกกันไว้ใช้เพื่อการช่วยเหลือนี้
  3. ขยายจำนวนการโยกกลับการขาดทุน (Loss Carryback) เป็น 2 ปี สำหรับปี 2563 และ 2564 จำนวนสูงสุดถูกเพิ่มเป็น 5 ล้านยูโร หรือหากมีการประเมินร่วมกัน (Joint Assessment) จะเพิ่มเป็น 10 ล้านยูโร นอกจากนี้ ผู้เสียภาษีมีทางเลือกที่สามารถยื่นการโยกกลับเพื่อขอคืนภาษีในปี 2562 ได้ โดยการขอตั้งกองทุนภาษีโคโรนาไวรัส
  4. เพิ่มทางเลือกในการหักค่าเสื่อมราคาใน “สังหาริมสินทรัพย์” เช่น เครื่องจักร หรือ ทรัพย์สินทางดิจิทัล สำหรับปีภาษี 2563 และ 2564
  5. เลื่อนกำหนดการส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า (Import VAT) สินค้าจากประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรป เป็นวันที่ 26 ของเดือนถัดไป
  6. ให้โอกาสลูกจ้างถือหุ้นในบริษัทที่ตนทำงาน โดยมีข้อกำหนดพิเศษสำหรับ Start-ups ด้วย
  7. เพื่อเป็นการให้โอกาสเริ่มต้นใหม่อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาของกระบวนการฟื้นฟูหนี้ของบุคคลธรรมดาลงเหลือ 3 ปี ในกรณีบริษัทที่ล้มละลาย กระบวนการปรับโครงสร้างจะถูกนำเสนอก่อนการล้มละลายจริง

สำหรับรัฐบาลท้องถิ่น

  1. รัฐบาลประจำรัฐรับภาระต้นทุนค่าอยู่อาศัยและเครื่องทำความร้อน ที่รัฐบาลท้องถิ่นจัดไว้ให้เป็นสวัสดิการสังคมแก่ประชาชน ถึง 75% (เพิ่มจากเดิมที่ 50%) โดยรัฐบาลท้องถิ่นต้องเป็นผู้จัดหาบริการตามเดิม (เพราะรู้จักตลาดที่อยู่อาศัยของท้องถิ่นมากที่สุด)
  2. ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 รัฐบาลกลางรับภาระจากรัฐบาลประจำรัฐในเยอรมนีตะวันออก (German Democratic Republic, GDR) ในด้านเงินบำนาญ 50% (เพิ่มจาก 40%) เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้รัฐบาลประจำรัฐสามารถลงทุนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น
  3. ชดเชยงบประมาณที่รัฐบาลท้องถิ่นสูญเสียไป 1.2 หมื่นล้านยูโร จากการจัดเก็บภาษีการค้า (Trade tax) ที่ลดลงในปี 2563 โดยแบ่งให้เป็นภาระของรัฐบาลกลางและรัฐบาลประจำรัฐแบบครึ่งต่อครึ่ง และจ่ายให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเงินก้อน ตามกฎหมาย Solidarity Pact 2020 for Local Authorities

สำหรับการขนส่ง

  1. ให้งบประมาณสนับสนุนรัฐบาลประจำรัฐในการทำงบประมาณด้านการขนส่งสาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่น โดยให้งบประมาณถึง 2.5 พันล้านยูโร เป็นเงินอุดหนุนแก่การขนส่งสาธารณะ ที่สูญเสียรายได้จากการใช้บริการที่ลดลงอย่างมาก
  2. จัดทำโครงสร้างแห่งรัฐบาลกลางที่อนุญาตให้รัฐบาลประจำรัฐให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทขนส่งสาธารณะ โดยได้รับการอนุญาตจาก European Commission แล้ว
  3. ในด้านมาตรการเพื่อภูมิอากาศ (Climate Action) รัฐบาลกลางลดจำนวนเงินที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องจ่ายด้วยความรับผิดชอบตาม National Climate Initiative ในปี 2563 และ 2564 ให้กับโครงการที่เกี่ยวข้อง โดรัฐบาลจัดหาเงิน 50 ล้านยูโรต่อปีเพื่อการณ์นี้ โดยประโยชน์จะตกแก่รัฐบาลท้องถิ่น และองค์กรในท้องถิ่นที่เป็น บริษัท สถาบันด้านวัฒนธรรม และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
  4. จัดงบประมาณอีก 150 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการเงินแก่ผู้ให้บริการด้านกีฬา

งบประมาณประเทศไทย ที่ถูกใช้ไปกับการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบ

ขณะที่งบประมาณของประเทศไทย ที่ถูกใช้เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ หากนับเฉพาะปีงบประมาณ 2564 ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 63 – มิ.ย. 64) รวมแล้วเป็นเงินกว่า 4.69 แสนล้านบาท

ตัวเลขนี้รวบรวมเฉพาะงบฯ กลาง ที่ถูกระบุว่าเป็น ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ปัญหาโควิด-19 จำนวน 9,308 ล้านบาท โดย กระทรวงสาธารณสุขมีการใช้งบประมาณมากที่สุด คือ 8,398 ล้านบาท รองลองมา คือ กระทรวงกลาโหม 881 ล้านบาท และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 20 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณรายกระทรวงอื่น ๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าของโรคระบาดโควิด-19

ส่วนงบประมาณฉุกเฉินจาก พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน (ฉบับแรก) มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 3 แผนงาน รวม 459,371 ล้านบาท โดยงบฯ ก้อนใหญ่ที่สุดอยู่ในแผนงานที่ 2 ด้านการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย เช่น โครงการคนละครึ่ง และเงินเยียวยาเกษตรกร

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ครอบคลุมแผนงานด้านการรองรับค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์ แผนงานการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการ รวมถึงแผนงานการรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษาป้องกันควบคุมโรค และงานการเตรียมพร้อมด้านสถานพยาบาล และแผนสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินจากโควิด-19

ขณะที่ ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ส่วนใหญ่เป็น แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพและยกระดับการค้า การผลิต และการบริการ ครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเท่ียวและบริการ รวมถึงแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เช่น โครงการโคกหนองนา และ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น


ประเทศรัฐสวัสดิการ ใช้เงินอะไรในสถานการณ์ฉุกเฉิน

แนวทางของรัฐบาลเยอรมนี ต่อมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลกลางเลือกดำเนินงบประมาณแบบขาดดุล โดยขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 4.52 หมื่นล้านยูโร ในปี 2562 เป็น 1.892 แสนล้านยูโร ในปี 2563

โดยรวมแล้ว รายจ่ายสาธารณะ (งบประมาณประเทศ) ของเยอรมนีเพิ่มขึ้น 12.1% เป็น 1.7 ล้านล้านยูโร โดยรายได้ลดลง 3.5% เหลือ 1.5 ล้านล้านยูโร ขณะที่รัฐบาลกลางจัดสรรเงินช่วยเหลือ 1.78 หมื่นล้านยูโร ให้แก่รัฐบาลประจำรัฐ และจัดสรร 1.3 หมื่นล้านยูโร ให้แก่กองทุนด้านการประกันสุขภาพ

นอกจากนี้ รัฐบาลกลางอนุมัติงบประมาณเสริม (Supplementary Budget) 3 ครั้งคือ ครั้งแรก 1.56 แสนล้านยูโร (4.7% ของ GDP) ในเดือนมีนาคม 2563 ครั้งที่สอง 1.3 แสนล้านยูโร (3.9% ของ GDP) ในเดือนมิถุนายน 2563 และครั้งที่สาม 6 หมื่นล้านยูโร (1.7% ของ GDP) ในเดือนมีนาคม 2564

นอกจากนี้ หากดูแนวทางการรับมือต่อโควิด-19 ในภาคสังคมของหลายประเทศที่มีการลงทุนงบประมาณด้านสังคมในอัตราที่สูงจะพบว่ามีการใช้ การประกันสังคม (Social Insurance) คือแนวคิดที่ให้รัฐบาลแทรกแซงตลาดประกัน เพื่อให้มั่นใจว่า กลุ่มของปัจเจกบุคคลกลุ่มต่าง ๆ จะได้รับการประกันหรือคุ้มครองจากความเสี่ยงที่เหตุฉุกเฉินต่าง ๆ จะนำไปสู่ปัญหาทางการเงิน

การประกันสังคมสามารถทำให้มั่นใจว่า บุคคลที่ขาดความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันส่วนตัวที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของตน จะสามารถได้รับความคุ้มครองได้ โดยการอุดหนุนจากรัฐหรือโดยการรวมกลุ่มบุคคลให้ใหญ่มากพอ เช่นเดียวกับความมั่นคงทางสังคม (Social Security) ซึ่งเป็นโครงการประกันสังคมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเทศไทย ก็มีการใช้ระบบประกันสังคม ในมิติการจ้างงานและสุขภาพ

หรือ สินค้าสาธารณะ (Public Goods) คือ สินค้าหรือบริการที่ปัจเจกบุคคลทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (Non-Excludable) และการใช้ประโยชน์จากสินค้าหรือบริการนั้น ไม่ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ได้น้อยลง (Non-Rivalry) เช่น การป้องกันประเทศ ความคุ้มครองตามกฎหมาย ทัศนียภาพของชุมชน ความสวยงามของบ้านเรือน ความสวยงามของดอกไม้ไฟ อากาศที่สะอาด ความคุ้มครองจากโรคระบาด เป็นต้น

เนื่องจากประโยชน์ส่วนหนึ่งของสินค้าสาธารณะจะตกเป็นของผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้าสาธารณะนั้น เจ้าของสินค้าสาธารณะนั้น จึงมีแรงจูงใจที่จะจ่ายต้นทุนเพื่อผลิตหรือซื้อสินค้าสาธารณะในปริมาณที่ต่ำกว่าระดับที่สังคมโดยรวมได้ประโยชน์สุทธิ (ประโยชน์หักต้นทุน) สูงสุด

ดังนั้น ในระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลจะบังคับเก็บภาษีจากผู้ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากสินค้าสาธารณะนั้นทุกคน แล้วนำเงินภาษีนั้นมาอุดหนุนให้ผู้ผลิต ผลิตสินค้าสาธารณะนั้นเพิ่มขึ้น (เช่น การอุดหนุนการปรับปรุงต่อเติมที่อยู่อาศัยเพื่อพัฒนาทัศนียภาพของชุมชน) หรือรัฐบาลอาจผลิตสินค้าสาธารณะนั้นเองก็เป็นได้ (เช่น การป้องกันประเทศ การคุ้มครองทางกฎหมาย วัคซีน)

ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) คือ ความสัมพันธ์ของการรักษาสมดุลระหว่างปัจเจกบุคคลและสังคม ซึ่งวัดโดยการเปรียบเทียบความแตกต่างของการกระจายความมั่งคั่ง สิทธิส่วนบุคคลตามกฎหมาย (Personal Liberties) ไปจนถึงอภิสิทธิ์ต่าง ๆ และโอกาสในชีวิต

ในแนวคิดตะวันตกและแนวคิดเอเชียดั้งเดิม ความยุติธรรมทางสังคมมักถูกอ้างถึงว่าเป็น กระบวนการที่รับประกันว่า ปัจเจกบุคคลจะปฏิบัติตามบทบาททางสังคมและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมจากสังคม

ในปัจจุบัน ขบวนการรากหญ้าระดับโลกเพื่อความยุติธรรมทางสังคมจะเน้นการเอาชนะอุปสรรคที่กีดขวางการเคลื่อนชั้นทางสังคม (Social Mobility) การสร้างตาข่ายความปลอดภัย (Safety Net) และความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Justice)


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active