‘หลังสู้ฟ้า หน้าสู้หนี้’ วิบากกรรมชาวนาไทย

  • ภัยพิบัติธรรมชาติ สภาพเศรษฐกิจ ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ซ้ำเติมด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ชาวนาไทย ไม่อาจควบคุมได้
  • เมื่อขาดเงินทุนทำนาโดยสิ้นเชิง จึงเดินหน้าเข้าสู่วงจรเงินกู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • The Active ชวนทำความเข้าใจชีวิต ‘ชาวนา’ ที่ตัดสินใจเดินทางเข้าเมืองหลวง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินให้กับพวกเขา การเกิดขึ้นของ ‘เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย’ หรือ คนท. สะท้อนว่าปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แต่นับวันกลับยิ่งพอกพูน และเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งไม่ให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้

24 มกราคม 2565 ผ้าห่ม หมอน มุ้ง และอุปกรณ์จำเป็น ถูกวางเรียงรายหน้ากระทรวงการคลังฝั่ง ถนนพระราม 6 ฐานที่มั่นของการเรียกร้องที่กลุ่มชาวนาปักหลักรวมตัว ทั้งหมดเป็น ‘ชาวนา’ ที่เดินทางมาจาก 36 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็น พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี พิจิตร พิษณุโลก ตราด นครปฐม นครสวรรค์ และประจวบคีรีขันธ์ เหมารถเดินทางเข้ากรุงฯ ทิ้งนาและบ้านเรือน มาอาศัยอยู่ริมถนนอย่างยากลำบาก

แม้ไม่เคยเห็นบ้านเรือนที่พวกเขาอาศัยอยู่ แต่อนุมานได้ว่าย่อมสะดวกสบายกว่าริมถนนเป็นแน่ คำถามสำคัญ คือ อะไรทำให้พวกเขาเหล่านี้ต้องมาเผชิญกับความลำบาก ทั้ง เรื่องอาหารการกิน ห้องน้ำห้องท่า และที่นอนซึ่งไม่เคยหลับได้สนิท คำตอบที่ได้ คือ หากไม่อดทนต่อสู้ครั้งนี้ พวกเขาอาจเป็นแบบนี้เข้าสักวัน หากที่นาหรือบ้านเรือนต้องถูกยึด เพราะไม่มีปัญญาไปใช้หนี้ธนาคาร


ม็อบ ชาวนา

สวาท ครุฑอินทร์ หญิงสูงวัย อายุ 63 ปี เดินทางมาจากจังหวัดพิจิตร พร้อมเพื่อนบ้านที่มีอาชีพทำไร่ไถนาเหมือนกัน ถ่ายทอดเรื่องราวการทำนาตลอดชีวิต ที่เป็นหนี้จนไม่สามารถชำระได้ แม้จะทำนานมากเพียงใด แต่รายได้ก็ไม่เคยพอ เหมือน ‘ยิ่งทำ ยิ่งจน’ ผืนนาแปลงสุดท้ายที่มี จะขอรักษาไว้จนสุดชีวิต จึงสมัครเข้าโครงการช่วยเหลือหนี้สิน กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

ยายสวาท เล่าว่า ครั้งแรกเป็นหนี้ประมาณ 200,000 บาท กับธนาคารของรัฐแห่งหนึ่ง โดยระเบียบแล้ว หากเข้าร่วมโครงการกับกองทุนฯ แล้ว จะมีการยกดอกเบี้ยให้กับชาวนา หากชำระได้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ แต่สุดท้ายก่อนเข้าโครงการธนาคารก็ทำสัญญาใหม่ เปลี่ยนแปลงยอดหนี้ โดยเอาทั้งส่วนเงินต้น และดอกเบี้ยมารวมกัน จนกระทั้งสุดท้ายตนมีหนี้ที่ต้องชำระรวมกันประมาณ 300,000 บาท

“ตอนแรกเป็นหนี้ไม่ถึง 300,000 บาท แต่พอจะเข้ากองทุนฯ ธนาคารเขาเอาต้นมาทบดอกเลย แล้วเขาบอกว่าหนี้ยายยังน้อย แต่รู้สึกมันมากสำหรับฉันนะ ตอนนี้จะซื้อของกินยังไม่มีเลย อยู่บ้านก็ป่วย ทำอะไรไม่ได้ เลยต้องออกมาแบบนี้”

ทำไมปล่อยให้เป็นหนี้มากแบบนี้? ยายสวาท เล่าถึงจุดพลิกผันในชีวิตเมื่อมีอาการป่วย เกี่ยวกับโรคประสาทจนไม่สามารถทำนาได้เช่นเดิม จากเคยทำหลายสิบไร่ ก็ลดลงมาไม่กี่ไร่ เท่าที่กำลังตัวเองจะไหว เมื่อทำน้อย รายได้ก็น้อยตามไปด้วย ลำพังแค่การใช้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ก็ลำบากอยู่แล้ว การชำระหนี้จึงแทบเป็นไปไม่ได้ เดินทางมาครั้งนี้เงินกินข้าวยังไม่มี ต้องอาศัยอาหารที่ม็อบช่วยเหลือกันเอง หวังว่ากองทุนฯ จะช่วยเหลือให้ตนสามารถชำระหนี้ และรักษาที่ดินต่อไปได้

ม็อบ ชาวนา

ไม่มีน้ำ แล้วจะให้ทำนาอย่างไร? ปัจจัยสำคัญ ของการทำนาในพื้นที่ราบลุ่ม คือ ต้องมีน้ำเพียงพอต่อการทำนา ‘พนม อ้นอ่อน’ ชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลก สะท้อนอุปสรรคของตนเองและเพื่อนเกษตรกร ที่ขาดน้ำ แม้จะอยู่ในพื้นที่ชลประทาน แต่ไม่มีการส่งน้ำมาให้เกษตรกร หากจะดำเนินการด้วยตนเอง ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ ค่าเช่าเครื่องสูบน้ำ ค่าน้ำมัน ล้วนเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นมา เมื่อไปหักลบกับผลผลิตที่ขายได้ ก็ยิ่งทำให้ประสบภาวะขาดทุน

“อยู่ในพื้นที่ชลประทาน แต่เขาไม่ส่งน้ำเข้านามาให้ แล้วจะทำนาได้อย่างไร จะทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้เลย ขายข้าวตันละ 6,000 บาท ยังไม่พอจ่ายดอกเบี้ยเลย ทุกวันนี้สู้ไม่ไหว ก็ต้องหนีดอกเบี้ย มาพึ่งกองทุนฯ”

พนม ยอมรับว่า ตอนนี้ไม่มีเงินไปชะระหนี้ เนื่องจากผลผลิตไม่ดี ขายข้าว 1 ตันได้ประมาณ 6,000 – 6,500 บาท แต่ต้องลงทุนทำนาเกือบ 7,000 บาท จึงแทบมองไม่เห็นกำไร ต้องหารายได้เสริมอื่นด้วย ตอนนี้หากจะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยของธนาคารด้วย ก็ไม่สามารถรับไหว แต่หากโอนหนี้มาอยู่ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ก็จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ย หากต้องจ่ายเฉพาะเงินต้น ตนมองว่ายังพอรับไหว

ม็อบ ชาวนา

คุณคิดว่าชาวนาแต่ละคน มีหนี้กันคนละเท่าไหร่? เป็นคำถามซึ่งหากคนที่ไม่ได้ติดตามชีวิตชาวนาอย่างใกล้ชิด คงมองว่าไม่มาก แต่จากการลงพื้นที่เราพบว่า ทั้งหมดเป็นหนี้หลัก 100,000 บาท และที่น่าตกใจคือชาวนาบางคนมีหนี้หลักล้าน อย่าง รัตน์ ยังเพ็ง ชาวนาจังหวัดพิจิตร อายุ 47 ปี เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ถึง 1,200,000 บาท

รัตน์ เล่าว่า เริ่มต้นกู้ธนาคารครั้งแรก เพียงแค่ 50,000 บาท เท่านั้น แต่พบเจอกับวิกฤตมากมาย ครั้งที่หนักที่สุด คือ อุทกภัยในปี 2554 ตนทำนากว่า 60 ไร่ มลายหายไปในชั่วพริบตา น้ำท่วมนาข้าว ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ มีบางส่วนที่ขายในราคาถูก เพราะ เป็นข้าวเปียก เมื่อถึงคราวต้องจ่ายค่ายา ค่าปุ๋ย ที่ซื้อมาไว้ จึงต้องกู้เงินเพิ่ม

หลังจากนั้นเพียง 1 ปี รัตน์ยังต้องเจอกับภาวะภัยแล้ง และแมลงศัตรูพืช ข้าวที่อวบอิ่ม พร้อมเก็บเกี่ยวถูกศัตรูพืชกัดกิน จนไม่สามารถขายได้ วงจรเงินกู้จึงวนมาอีกครั้ง เมื่อประกอบกับราคาผลผลิตที่แสนถูก จึงทำให้สุดท้ายตนมีหนี้เป็นล้าน ไม่รู้จะหาวิธีใดมาชดใช้คืน ในขณะที่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ต่อเนื่อง ปีละกว่า 80,000 บาท

“เป็นหนี้ 1,200,000 บาท เริ่มแรกแค่ 50,000 บาท แต่พอเจอทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง เพลี้ยกระโดด ก็ต้องกู้เพิ่ม แค่เยียวยาจากรัฐไม่พอหรอก เหนื่อยและท้อ เพราะไม่มีตังค์ไปจ่ายหนี้ เราก็ไม่อยากให้ที่นาโดนยึด เพราะเป็นที่ของพ่อของแม่ ”

ชีวิตเหมือนเคราะห์ซ้ำ กรรมซัด เมื่อ รัตน์ มาตรวจเจอเนื้อร้ายที่ปากมดลูก จนไม่สามารถทำนาได้อย่างเก่า เพราะไม่อาจเผชิญกับสารเคมีนาน ๆ ได้ จากที่ทำนาหลายสิบไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 7 ไร่ ซึ่งเป็นที่นาของตนเองที่ติดจำนองไว้กับธนาคาร ตนหยุดส่งมานานกว่า 2 ปี กังวลอยู่เสมอว่าอาจถูกยึดทรัพย์หรือไม่ แต่ยังโชคดีที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับกองทุนฯ แม้จะยังไม่ได้รับการจัดการหนี้สิน แต่ธนาคารยังอนุโลม ชะลอการบังคับคดีออกไป

ทุกวันนี้ไม่อาจหวังรายได้จากการทำนาอย่างเดียวได้ เก็บพืชผัก และทำอาหารกล่องไปขายตามตลาดนัดแถวบ้าน เพื่อให้มีเงินมาพอดำรงชีพ แต่ก็ไม่มากนัก เพราะต้องดูแลทั้งแม่ และหลาน จึงตั้งความหวังไว้กับกองทุนฯ ให้เข้ามาจัดการหนี้ และฟื้นฟูอาชีพของตนเองให้สามารถชำระหนี้ต่อไปได้

ม็อบ ชาวนา

“ที่ผ่านมา รัฐไม่เคยคุ้มครอง ดูแลชาวนาเลย”

ปิ่นแก้ว สุกแก้วแท้ ที่เป็นทั้งเสาหลักของเครือข่ายชาวนาฯ และทำนาอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บอกเล่ากับเราว่า ชาวนาซึ่งเป็นอาชีพที่คอยผลิตอาหาร และเป็นกระดูกสันหลังของชาติอย่างที่พูดกันมา แต่รัฐบาลกลับไม่เคยให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด กลับใช้ชาวนาเพียงเพื่อหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แต่การดูแล ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนากลับไม่เคยทำอย่างจริงจัง

“อยากให้หันมาดูชาวนาบ้าง ทุกวันนี้ลำบากมาก การทำเกษตรมันมีอุปสรรคเยอะ อยากถามว่าราคาผลผลิตตกต่ำมาก แต่ค่าปุ๋ยก็เพิ่มสูงมากเหมือนกัน ถ้ามีการช่วยเรื่องหนี้สินให้เราสักเรื่องหนึ่ง เราคงพอหายใจไปได้ระยะหนึ่ง”

ปิ่นแก้ว ให้ข้อมูลว่า ชาวนาที่มาร่วมชุมนุมทั้งหมดนี้ ล้วนขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพแล้วโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังขาดความสามารถในการชำระหนี้ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพของกองทุน จึงเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยชาวนาได้ และการเข้ามาดูแลหนี้สิน จะช่วยแบ่งเบาภาระของชาวนาได้เป็นอย่างมาก

เพราะไม่มีชาวนาคนไหน อยากทิ้งบ้าน ทิ้งนาของตนเอง ออกมาอยู่ข้างถนนแบบนี้ แต่เพราะเราหมดหนทางสู้ต่อแล้วจริง ๆ ในเมื่อมีแนวทางการช่วยเหลือที่ชัดเจนอยู่แล้ว รัฐบาลควรเร่งเดินหน้าให้การช่วยเหลือ เวลาที่ผ่านพ้นไป หมายถึงความเสี่ยงของการถูกยึดทรัพย์และบังคับคดีของชาวนา และเป็นความเสี่ยงต่อการสูญสิ้นชาวนาหลายแสนคนในประเทศด้วย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้