24 ธันวาฯ มีเลือกตั้ง: รู้จักผู้ลงสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมหรือยัง?

การรอคอยกำลังจะสิ้นสุดลง เมื่อการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จะเกิดในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ โดยผู้ประกันตนทุกมาตราที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 9 แสนคน สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และคูหาเลือกตั้งผ่านเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม

การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ประกันตนจะได้เลือกผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน 7 คน ขณะที่ฝ่ายนายจ้างจะได้เลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 7 คน โดยในบัตรจะมีช่องให้ “เขียน” เลขอารบิกของหมายเลขผู้ลงสมัครที่ชื่นชอบ (หากกากบาท จะเป็นบัตรเสียทันที) และผู้ใช้สิทธิต้องจด “จำ” หมายเลขให้ได้ เพราะหน่วยเลือกตั้งไม่อนุญาตให้นำเอกสารเข้าไปในคูหา

แล้วจะไปตามอ่านนโยบายที่ไหนได้บ้าง? เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้เปิดเผยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานของผู้ลงสมัคร The Active จึงรวบรวมข้อมูลนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน และจำนวนตัวแทนผู้ประกันตนของแต่ละมาตรา พร้อมสำรวจแนวโน้มภาพรวมนโยบาย เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าคูหาในวันที่ 24 ธันวาคม นี้

ผู้ลงสมัครบอร์ดประกันสังคมมาจากไหน มีนโยบายอะไรบ้าง

ตามเอกสารของสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยเพียงข้อมูลพื้นฐานของผู้ลงสมัครบอร์ดประกันสังคม ได้แก่ จำนวนผู้ลงสมัคร หมายเลขผู้ลงสมัคร ชื่อ-นามสกุล และมาตราผู้ประกันตนที่สังกัดอยู่ จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า มีผู้ลงสมัครบอร์ดประกันสังคม (ฝ่ายผู้ประกันตน) ถึง 247 คน ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ 228 คน แบ่งเป็นตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 ทั้งสิ้น 183 คน (80.3%), ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 39 มี 38 คน (16.7%) และตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 40 มีเพียง 7 คน (3.1%) เท่านั้น

ขณะที่จำนวนผู้ประกันตนในเดือนพฤศจิกายนปี 2566 มีทั้งสิ้น 24,629,568 คน แบ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ 11,868,817 คน (48.2%), มาตรา 39 คือ 1,805,655 คน (7.3%) และ มาตรา 40 คือ 10,955,096 คน (44.5%) จากสัดส่วนดังกล่าวจะพบว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40 นั้นมีจำนวนพอ ๆ กับมาตรา 33 แต่กลับมีตัวเลือกของผู้แทนที่มาจากมาตราเดียวกันน้อยกว่ามาก ด้วยสัดส่วนที่ไม่สอดคล้องกันเช่นนี้ จึงน่าสนใจว่าจะส่งผลต่อความพยายามปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนของกลุ่มนั้น ๆ หรือไม่

จากการรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายบนเวที “เลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ปฏิรูปอะไร? อย่างไร?” จัดโดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิแรงงานไทยและเครือข่ายสื่อมวลชน โดยมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจาก 9 ทีม และ 2 ผู้ลงสมัครอิสระร่วมแสดงวิสัยทัศน์ทางนโยบายในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 โดยมีจำนวนนโยบายทั้งหมด 116 นโยบาย แบ่งเป็น 11 หมวดหมู่ 20 กลุ่มนโยบาย (1 นโยบายอาจเป็นได้มากกว่า 1 กลุ่มนโยบาย) ดังนี้ 

  1. ยกระดับสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน 60 ข้อ (51.7%)
    • พัฒนาสิทธิการรักษาพยาบาล 20 ข้อ
    • ส่งเสริมสิทธิเพื่อการมีบุตร 15 ข้อ
    • พัฒนาสิทธิบำเหน็จ บำนาญ ชราภาพ 12 ข้อ
    • ส่งเสริมสวัสดิการช่วยเหลือกรณีว่างงาน 6 ข้อ
    • ส่งเสริมสิทธิการลา 4 ข้อ
    • อุดหนุนค่าทำศพ กรณีเสียชีวิต 2 ข้อ
    • พัฒนาสิทธิผู้พิการ 1 ข้อ
  1. จัดหาให้มีบริการธุรกรรมทางการเงิน 10 ข้อ (8.6%)
    • จัดตั้งธนาคารแรงงาน ผู้ประกันตน 5 ข้อ
    • ให้บริการสินเชื่อ ค้ำประกัน 5 ข้อ
  1. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและจ่ายเงินสมทบ 10 ข้อ (8.6%)
    • เร่งรัดเงินสมทบกองทุนจากรัฐบาล 4 ข้อ
    • เพิ่มอัตราเงินสมทบจากรัฐบาล 3 ข้อ
    • ลดภาระเงินสมทบของผู้ประกันตน 3 ข้อ
  1. ทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นอิสระ 10 ข้อ (8.6%)
  1. ปรับโครงสร้างการทำงานของกองทุนให้คล่องตัวและมั่นคง 5 ข้อ (4.3%)
  1. ปรับการลงทุนและการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ 4 ข้อ (3.4%)
  1. ปรับฐานการคำนวณ เพื่อขยายสิทธิเงินบำนาญ 4 ข้อ (3.4%)
  1. ปรับสิทธิทุกมาตราให้ทัดเทียมกัน 3 ข้อ (2.5%)
  1. ยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงานประกันสังคม 2 ข้อ (1.7%)
  1. ยกระดับระบบประกันสังคม สู่สวัสดิการถ้วนหน้า 2 ข้อ (1.7%)
  1. อื่น ๆ 4 ข้อ (3.4%)

จากภาพรวมของนโยบายสะท้อนว่า ครึ่งหนึ่งของข้อเสนอในแต่ละทีมและผู้ลงสมัคร คือความหวังอยากยกระดับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 7 สิทธิด้วยกัน ได้แก่ สิทธิค่ารักษาพยาบาล สิทธิเบี้ยกรณีว่างงาน สิทธิเบี้ยผู้พิการ สิทธิเบี้ยชราภาพ สิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตร สิทธิรับเงินค่าทำคลอด และสิทธิรับเงินกรณีเสียชีวิต ในบรรดาสิทธิทั้ง 7 ข้อนี้ พบว่า นโยบายพัฒนาสิทธิการรักษาพยาบาลนั้นถูกพูดถึงมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายส่งเสริมสิทธิเพื่อการมีบุตร และนโยบายพัฒนาสิทธิบำเหน็จ บำนาญ ชราภาพ ขณะที่นโยบายพัฒนาสิทธิให้ผู้พิการยังไม่ถูกพูดถึงเท่าไหร่นัก

นอกจากนโยบายพัฒนาสิทธิประโยชน์แล้ว หลายทีมผู้ลงสมัครยังเสนอให้มีการจัดหาให้มีบริการธุรกรรมทางการเงิน เช่น การจัดตั้งธนาคารแรงงาน ให้บริการสินเชื่อที่เอื้อผลประโยชน์ให้ผู้ประกันตน เป็นต้น มีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและจ่ายเงินสมทบ เช่น เพิ่มอัตราเงินสมทบจากฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกันตนต้องส่งเงินในอัตราส่วนมากกว่ารัฐบาล และมีความล่าช้าจากภาครัฐในการส่งเงินสมทบ หากบอร์ดประกันสังคมสามารถเร่งรัดได้ จะทำให้กองทุนสามารถมีเงินมาหมุนเวียนแจกจ่ายสิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น

นโยบายทำงานความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นอิสระ เป็นอีกประเด็นที่พูดกันมากในวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะกองทุนประกันสังคมมีมูลค่าสูงถึง 2.27 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศ​ และยังสร้างเงินปันผลต่อปีได้พอ ๆ กับงบฯ ของกระทรวงแรงงาน แต่กลับมีการดำเนินงานเหมือนเป็นแดนสนธยา ประชาชนยากที่จะเข้าถึงและตรวจสอบการทำงานได้ ผู้ลงสมัครหลายทีมย้ำว่าถ้าได้เข้าเป็นตัวแทน จะเปิดให้บอร์ดประกันสังคมสามารถเข้าถึงง่าย ตรวจสอบได้ และเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐ

ดูเพิ่ม

รวมนโยบาย 9 ทีม และ 2 ผู้ลงสมัครอิสระ

ทีม 3 ขอต้องไปต่อ หมายเลข 8, 21, 57, 58, 95, 177

  • ประกันสังคมค้ำประกันเงินกู้ร้อยละ 50 ให้ผู้ประกันตน
  • ประกันสังคมดำเนินธุรกิจการเงินขนาดย่อมแก่ประชาชนทั่วไปได้ เช่นฝาก ถอน สินเชื่อ ขายประกัน โดยให้สิทธิพิเศษกับผู้ประกันตน
  • กองทุนประกันสังคมโปร่งใส รายงานผลดำเนินงานทุกเดือน
  • มาตรา 40 ใช้สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลได้
  • การคำนวณบำนาญชราภาพที่เป็นธรรมกับทุกมาตรา
  • บำเหน็จชราภาพต้องได้ในส่วนของรัฐบาลทุกเดือนและทุกปี
  • มาตรา 33 และ 39 เลือกส่งสมทบได้ตามชอบ
  • รักษาพยาบาลฟรีกับ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง
  • เอกชนรักษาได้เดือนละ 2,000 บาท
  • เลือกเงินชราภาพบำเหน็จหรือบำนาญได้
  • ขอคืนเงินชราภาพร้อยละ 50 ได้ก่อนอายุ 55 ปี
  • ผู้รับบำนาญชราภาพไม่ถูกตัดสิทธิรักษาพยาบาลกับประกันสังคม
  • ประกันสังคม รับจดแจ้งและจัดเก็บรายชื่อผู้รับประโยชน์ (รับมรดก) ของผู้ประกันตนอย่างเป็นระบบ

ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน หมายเลข 2, 5, 7, 9, 43, 45, 60

  • สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงาน 
  • ปฏิรูปการลงทุนประกันสังคม
  • สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันทางการแพทย์ 
  • พัฒนาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล
  • ขยายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า หมายเลข 27, 28, 29, 30, 31, 32, 33

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.99%
  • มุ่งหน้าสู่การเป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบได้ เน้นการมีส่วนร่วมของคนทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ประกันตน
  • วางเงื่อนไขการลงทุน และบริษัทคู่สัญญา มีธรรมาภิบาล การลงทุนขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบได้ ยึดโยงกับผู้ประกันสังคม คัดเลือกคู่สัญญาด้วย Decent Work
  • สูตรคำนวณบำนาญใหม่ เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม
  • ประกันสังคมถ้วนหน้า พื้นฐานสำหรับแรงงานอิสระทั้งระบบ วางระบบระยะยาวใน 2 ปี
  • พัฒนาบัญชียาเดียวกัน ไม่น้อยกว่า ราชการและบัตรทอง ไม่ต้องสำรองจ่ายทุกกรณี
  • สิทธิทันตกรรม รักษารากฟันเทียม เชื่อมโยงกับ สปสช. เหมาจ่าย 17,500 บาท ตลอดการรักษา
  • ปรับเงื่อนไขการรับบำนาญ บำเหน็จ แรงงานข้ามชาติเข้ากับสภาพการทำงาน รวมทั้งปรับเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งและสมัคร เป็นบอร์ดประกันสังคม
  • ขยายสิทธิประโยชน์คนพิการ ไม่ตัดสิทธิการใช้ร่วมกับสวัสดิการอื่น รักษาพยาบาลได้ทุกที่
  • เพิ่มประกันการว่างงาน สูงสุด 9 เดือน
  • ชดเชยการลา เพื่อดูแลคนในครอบครัว วันละ 300 บาท
  • เพิ่มค่าคลอดบุตร เป็น 20,000 บาทต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน
  • เพิ่มค่าสงเคราะห์เด็ก 0-6 ปี จาก 800 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน
  • เพิ่มเงินดูแลเด็ก 7-12 ปี ปีละ 7,200 บาท

ทีมประกันสังคมเพื่อแรงงานไทย หมายเลข 49, 50, 51, 52, 53, 54, 55

  • จัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือ สถาบันการเงินของประกันสังคม เพื่อให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกันตน
  • สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้
  • ปรับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมอย่างมืออาชีพ ลดความเสี่ยง มีระบบตรวจสอบที่ผู้ประกันตนเข้าถึงข้อมูล เพื่อความมั่นคงของกองทุน
  • พัฒนาสิทธิประโยชน์มาตรา 33, 39, 40 ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
  • รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบ 5 % เท่ากับฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง และ เร่งรัดนี้เงินสมทบค้างจ่ายจากรัฐบาล
  • แก้ไขระเบียบข้อบังคับการบริหารพนักงานประกันสังคม ยกเลิกการจ้างงานระยะสั้น ให้พนักงานมีความก้าวหน้าในอาชีพ และปรับปรุงสิทธิสวัสดิการทั้งขณะปฏิบัติงาน และเกษียณอายุ
  • เพิ่มเบี้ยบำนาญชราภาพไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเตือน เพื่อการยังชีพที่มั่นคง สมศักดิ์ศรีคนทำงาน
  • ผู้ประกันตนที่ว่างงานทุกกรณี ต้องได้รับประโยชน์เงินทดแทนร้อยละ 50 ของฐานค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • เพิ่มประโยชน์ทตแทนกรณีคลอดบุตรเป็น 20,000 บาท
  • เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็น 3,000 บาทต่อเตือน ถึงอายุ 7 ปี

ทีมพลังแรงงานสหกรณ์ หมายเลข 116, 120, 121, 122, 125, 126, 129

  • มีธนาคารสำหรับผู้ประกันตน
  • มีสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ประกันตนดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี
  • ลดบทบาทอำนาจรัฐที่ควบคุมกำกับเป็นการส่งเสริมให้มีอิสระ และปกครองตนเอง
  • ลดการครอบงำจากการการเมือง ต้องสร้างและใช้ผลประโยชน์กันเองภายในองค์กร
  • ลดค่าใช้จ่ายประจำที่เกิดขึ้นจากการบริหาร
  • ลดอัตราเงินสงเคราะห์ของผู้ประกันตนเหลือ 2.75%
  • ให้รัฐบาลเพิ่มเงินสมทบเป็น 5%
  • ยกระดับประกันสังคมสู่รัฐสวัสดิการ
  • การรักษาพยาบาล กรณีการเจ็บป่วยและทุพพลภาพ เพิ่มสิทธิรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศโดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย 
  • เพิ่มสิทธิในการทำฟันเป็น 1,500 บาท
  • สร้างโรงพยาบาลประกันสังคมให้กับผู้ประกันตนเข้าถึงง่ายสะดวก
  • กรณีชราภาพ เพิ่มเบี้ยบำนาญชราภาพไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน
  • ผู้ประกันตนสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ตามความต้องการ รับบำเหน็จ บำนาญกองทุนชราภาพ
  • กรณีการว่างงาน รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  • กรณีการสงเคราะห์บุตร เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็น 3,000 บาท ถึงอายุ 10 ปี
  • การคลอดบุตร เพิ่มประโยชน์ทดแทนคลอดบุตรเป็น 20,000 บาท ลาคลอดเลี้ยงดูบุตรได้ 120 วัน
  • มีกองทุนเพื่อการศึกษา (เรียนฟรี) ของบุตรผู้ประกันตนจนจบปริญญาตรี
  • กรณีการเสียชีวิต รับเงินค่าจัดการศพรายละ 300,000 บาท

ทีมแรงงานเพื่อสังคม หมายเลข 90, 100, 101, 102, 103, 104, 109

  • เพิ่มสิทธิประโยชน์ทันตกรรม
  • เพิ่มสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาล
  • เพิ่มสิทธิประโยชน์ชราภาพ
  • ยกเลิก R5 (ประเภทของสาเหตุที่นายจ้างแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน) ทำให้ไม่มีสิทธิรับเงินว่างงาน
  • เพิ่มสิทธิประโยชน์ว่างงาน
  • เพิ่มสิทธิประโยชน์สงเคราะห์บุตร
  • สานต่อนโยบาย 3 ขอ : ขอคืน ขอกู้ ขอเลือก

ทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย หมายเลข 3, 12, 13, 14, 15, 16, 17

  • ปรับฐานคำนวณ เพิ่มเงินบำนาญ
  • ขยายฐานค่าจ้าง เพื่อคำนวณบำนาญเป็น 18,000 บาท
  • ฐานการคำนวณเงินบำนาญ ม.39 จะต้องอยู่คงที่ในวันที่สิ้นสุดของการเป็น ม.33
  • ปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มให้กับผู้ประกันตน ม.40
  • ปรับสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานประกันสังคมได้รับเพิ่มขึ้นและเป็นธรรม
  • ให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยตั้งแต่วันแรกที่เป็นผู้ประกันตน
  • ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ
  • ผู้ประกันตนที่รับประโยชน์ทดแทนชราภาพแล้ว ต้องสามารถได้รับสิทธิรักษาพยาบาลตลอดชีวิต
  • จัตตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม โดยให้เป็นสถาบันกลางทางการแพทย์เฉพาะทาง
  • ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 98 วัน ตามประกาศรัฐบาล
  • ส่งเสริมสิทธิการลาคลอด 180 วัน

ทีมสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย หมายเลข 83, 84, 85, 86, 87, 88, 89

  • ตั้งธนาคารสำหรับผู้ประกันตน
  • เป็นองค์กรอิสระปราศจากการครอบงำจากภาครัฐและการเมือง
  • ปรับลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตน เหลือ 2.76%
  • สร้างโรงพยาบาลประกันสังคมและสถาบันการแพทย์ให้กับผู้ประกันตน
  • เพิ่มเงินบำนาญชรากาพไม่น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน
  • เลือกสิทธิประโยชน์ รับนำเหน็จ หรือ บำนาญ กองทุนชรากาพ
  • เพิ่มกองทุนสงเคราะห์บุตร เป็น 3,000 บาท จนถึงอายุ 12 ปี
  • สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกับตน ดอกเบี้ยไม่เกิน 1%
  • เพิ่มเงินช่วยเหลือคำปลงศพ เป็น 100,000 บาท

ทีมสมานฉันท์แรงงานไทย หมายเลข 4, 6, 10, 11, 19, 22, 23

  • จัดตั้งธนาคารของผู้ประกันตน
  • ประกันสังคมต้องอิสระ โปร่งใส และตรวจสอบได้
  • มีระบบตรวจสอบเข้าถึงข้อมูล เพื่อความมั่นคงของกองทุน
  • ผู้ประกันตน ม. 33, 39, 40 ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน
  • รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบ 5 % 
  • เร่งรัดหนี้ค้างจ่ายของรัฐบาล
  • รักษาพยาบาลไต้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ
  • รับสิทธิชราภาพแล้ว รักษาฟรีตลอดชีพ
  • จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม
  • เพิ่มเบี้ยบำนาญชราภาพ 10,000 บ./เดือน
  • ว่างงานรับเงินทดแทน 50% รวม 6 เดือน
  • รับเงินสงเคราะห์บุตร 50% รวม 98 วัน
  • เพิ่มเงินทดแทนการคลอดบุตร 20,000 บาท
  • เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร 3,000 บ./เดือน ถึงอายุ 7 ปี
  • เลิกจ้างงานระยะสั้น เพิ่มสวัสติการ และเส้นทางก้าวหน้า

ผู้สมัครอิสระเลข 113

  • วางระเบียบและการพิจารณางบการเงิน ให้การใช้จ่ายทุกครั้งโปร่งใสและคุ้มค่า ทั้ง 5,500 ล้านบาทว่าใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่
  • เพิ่มสภาพคล่องของกองทุนประกันสังคม โดยการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง
  • สร้างรายได้เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการปรับโครงสร้าง

ผู้สมัครอิสระเลข 48

  • คุ้มครองสิทธิ์ของผู้ประกันตน ทำให้กองทุนสะดวกและโปร่งใสต่อผู้ประกันตนมากขึ้น 
  • เปิดเผยผลการประชุมบอร์ดประกันสังคมทุกครั้งเพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อผู้ประกันตน
  • ส่งเสริมความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม
  • มีแผนปฏิรูปและขั้นตอนในการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน
  • เร่งรัดเงินสมทบค้างจ่ายจากรัฐบาล
  • ระมัดระวังการเพิ่มสิทธิประโยชน์เชิงรุกเพราะอาจกระทบต่อสัดส่วนผู้สูงอายุที่เป็นผู้ประกันตนในอนาคตอันใกล้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชาลี คงเปี่ยม