: เสียงสะท้อนวงคุย…จากวัคซีนโควิด-19 ถึงวัคซีนทางสังคม
หากจะคุมโควิด-19 ให้อยู่หมัด นอกจาก “วัคซีน” ที่หลายคนคาดหวังให้เป็นภูมิต้านทานด้านสุขภาพ
“รัฐสวัสดิการ” ถูกเสนอเป็นวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันทางสังคมให้พ้นขีดอันตราย
ห้วงเวลาที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระ 2 “เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม” หรือ “We Fair” ชวนหุ้นส่วนทางสังคมเปิดวงคุย “จากวัคซีนโควิด-19 ถึงวัคซีนทางสังคม” วิพากษ์การจัดลำดับความสำคัญของสวัสดิการประชาชนที่ยังน้อยเกินไปในงบประมาณแผ่นดิน
The Active ชวนติดตามมุมมองต่อ “รัฐสวัสดิการ” ในฐานะบูสเตอร์โดสทางสังคม จากชุดข้อเสนอ “ถ้ารัฐสวัสดิการดี ไทยจะคุมระบาดได้ดีกว่านี้” ไปด้วยกัน
[1] นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ | ประธานชมรมแพทย์ชนบท
ความใกล้ชิดประชาชนของ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา โดยเฉพาะภารกิจบุกกรุงเทพฯ เพื่อตรวจเชิงรุกสงครามโรค ทำให้เขาเห็นว่า “รัฐสวัสดิการ” คือหัวใจสำคัญในการกู้วิกฤตโควิด-19
วันนี้ การทำงานร่วมทีมของแพทย์ชนบท กระทรวงสาธารณสุข และ กทม. พบว่า ชุมชนในกรุงเทพฯ ที่เข้าถึงการตรวจ ติดเชื้อขั้นต่ำ 10% ประมาณว่าประชากร 100 คนที่เข้าตรวจ มี 10 คนที่ติดเชื้อ บางชุมชน เฉลี่ย 20-30% การแพร่ระบาดกว้างขวาง เตียงโรงพยาบาลไม่พอ พักรอที่บ้านไม่ไหว หยุดหายใจจึงเยอะขึ้น
ชุดประสบการณ์ที่ นพ.สุภัทร พบผู้คนมากมาย ทำให้เขามีชุดความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการในสถานการณ์โควิด-19 ด้วยข้อเสนอดังนี้
1) การเข้าถึงชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่แม้ปัจจุบันทุกคนเข้าถึงได้ในร้านขายยา แต่สำหรับกลุ่มแรงงานและผู้คนเปราะบาง การวางขายในร้านขายยาไม่ได้ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงได้ง่าย เพราะราคาที่วางจำหน่าย 200-300 บาท มากกว่าหรือเท่ากับรายได้ที่มี
“รัฐสวัสดิการที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึง ATK สำคัญ บางประเทศใช้วิธีให้ประชาชนส่งจดหมาย หรือ SMS ไปขอท้องถิ่น หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบ พอเราตรวจพบผลติดเชื้อก็ดำเนินการต่อไป”
2) การเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ และฟ้าทะลายโจร ที่ปัจจุบันการดูแลรักษาอยู่บ้าน (Home Isolation) ยังคงเข้าถึงยาได้ยากลำบาก แม้ยาฟ้าทะลายโจรจะซื้อหาได้เองแต่ก็พบว่าขาดตลาด
“รัฐสวัสดิการที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการเข้าถึงยา ถ้าเข้าถึงยาได้ เขาจะได้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ลดการเข้าไอซียู เพราะไอซียูเต็มหมดแล้ว ตอนนี้ถ้าคนไหนเข้าไอซียูแปลว่าโอกาสเสียชีวิตก็ 70% แล้ว”
3) การเข้าถึงวัคซีน แม้รัฐบาลประกาศความพยายามในการจัดหา แต่ปริมาณที่จัดสรรได้ไม่สมดุลกับจำนวนประชาชน ก็ควรมีหลายวิธีในการจัดหา แต่หลักการสำคัญควรตั้งไว้ว่า ทุกคนเข้าถึงได้ มีคุณภาพ มีทางเลือกเข้าถึงฟรี
“จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผมอยู่ มีความพยายามของภาคประชาชนอยู่พอสมควรในการจัดหาวัคซีน พวกเขาคุยกับประเทศที่ฉีดวัคซีนถ้วนหน้าแล้ว พบว่ามีประเทศที่พร้อมบริจาควัคซีน แต่คำถามคือการบริจาคระหว่างภาคประชาชนกับภาคประชาชนจะทำอย่างไร การขอทะเบียน อย. ขอผ่านรัฐบาลจะปวดหัวมาก งง ๆ กันอยู่ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้บริจาค และผู้รับบริจาค”
สุดท้าย หากประชาชนเข้าถึงชุดตรวจ เข้าถึงยารักษา เข้าถึงวัคซีนป้องกัน สิ่งสำคัญที่สุดของการหยุดโรคระบาดเวลานี้ คือ การเยียวยาที่มีคุณภาพ
นพ.สุภัทร กล่าวว่า การควบคุมโรคต้องมีการล็อกดาวน์ แต่การล็อกดาวน์ที่เหมาะสมควรล็อกเฉพาะจุดระบาดหนัก ไม่ใช่ล็อกดาวน์ใหญ่ทั้งกรุงเทพฯ และต้องมีการเยียวยาให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตไม่ให้ยากลำบากเกินไป นี่คือ ประตูแห่งโอกาสในการหยุดโรค
[2] นิมิตร์ เทียนอุดม | เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
บทบาทสำคัญในฐานะผู้ผลักดันบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อ HIV และข้อเสนอบำนาญประชาชนที่รัฐบาลไม่ตอบรับ เป็นชุดประสบการณ์ที่ทำให้ นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ต้องการให้ประเทศไทยมีระบบหลักประกันด้านรายได้ที่เป็นจริง
เพราะความเจ็บไข้ มีต้นทุนที่ต้องจ่าย แม้ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพ สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม ตลอดจนข้าราชการ แต่หลังพิงเรื่องรายได้เป็นสิ่งที่หลายคนกังวลเมื่อต้องหยุดงานรักษาตัว หรือดูแลคนในครอบครัวที่เจ็บป่วย
“ในขณะที่เราพูดถึงหลักประกันด้านรายได้ประชาชนเมื่อสูงวัย รัฐยังไม่เอาเลย ปัดตกกฎหมาย หลักประกันด้านรายได้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงวัยอื่น ๆ ก็พูดถึงลำบาก สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนให้เห็นเลยว่า พอไม่มีหลักประกันด้านรายได้ คนที่ตกงาน บริษัทไม่จ่ายเงินเดือนจะอยู่อย่างไรต่อ ถ้าจะบอกว่าวัคซีนทางสังคมในภาวะวิกฤตแบบนี้ เราต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า หลักประกันรายได้ที่จะให้เกิดแต่ละช่วงวัยจะเป็นจริงได้ไหม ถ้าเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบถ้วนหน้า คุณไม่ต้องมานั่งประชุม ครม. กันทุกวันอังคาร เพื่อบอกว่าอังคารนี้จะเยียวยากลุ่มไหนเป็นครั้ง ๆ ไป”
วัคซีนทางสังคมในสถานการณ์ที่ผู้คนกำลังหนีตายในมุมมองของ นิมิตร์ คือการไว้เนื้อเชื่อใจประชาชนด้วยการเยียวยาเป็นเงินสดให้พวกเขาได้ใช้จ่ายตามสภาพปัญหาแต่ละครอบครัว โดยยึด 2 หลักการสำคัญ คือ 1) เพียงพอกับชีวิตที่จะอยู่ได้ ไม่ตกเส้นความยากจน 2,673 บาท 2) สม่ำเสมอ ไม่ต้องรอลุ้นว่าจะมีสิทธิ์ได้รับหรือไม่
สุดท้าย การแก้ไขสถานการณ์ไม่สามารถแบ่งแยกเขตแดนหรือกลุ่มคนได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ทุกคนอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน การเข้าถึงชุดตรวจ รักษา และวัคซีน แบบเสมอหน้าเท่านั้นที่จะช่วยให้ผ่านพ้นพิบัติภัย
- อ่านเพิ่ม จี้ กมธ.แรงงาน สร้างประกันสังคมถ้วนหน้า เพิ่มสวัสดิการประชาชน
- อ่านเพิ่ม ดันนโยบาย “บำนาญประชาชน” การันตีรายได้วัยเกษียณ
[3] สุนี ไชยรส | เครือข่ายเด็กเท่ากัน
แนวหน้านักขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กปฐมวัยแบบถ้วนหน้า สุนี ไชยรส จากเครือข่ายเด็กเท่ากัน และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดประเด็นด้วยคำตัดพ้อ “ประเทศเราพูดประจำว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่ว่าเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ต่ำกว่าเส้นความยากจน 4 เท่า ยังไม่ได้ถ้วนหน้าเลย”
การติดเชื้อยกครอบครัว มีเด็กเล็กรวมในนั้น ผู้ปกครองตกงาน ศูนย์พัฒนาและศูนย์รับเลี้ยงปิดยาว ซ้ำเติมปัญหาเก่าข้อเรียกร้องรัฐสวัสดิการวัยเด็กที่ควรได้ทุกคน เพื่อปิดช่องว่างสิทธิตกหล่น และความยากจนฉับพลันที่ฉายภาพซ้ำทุกยุคสมัย
ข้อเรียกร้องเหล่านี้ คล้ายว่าถูกรับฟังในระดับนโยบาย เมื่อคณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง มีมติร่วมกันว่าจะจัดสรรเงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ปี เดือนละ 600 บาทแบบถ้วนหน้าให้เป็นรัฐสวัสดิการ ในปีงบประมาณ 2565 แต่ทว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณางบประมาณในวาระแรก ไว้ให้เด็กเพียงครึ่งเดียว
“วันนี้ งบฯ ปี 65 อุดหนุนเด็กเล็กได้ประมาณ 2 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 14,000 ล้านบาท รัฐบาลมักจะตอบว่าไม่มีเงิน ในงบฯ ทั้งหมด 3.1 ล้านล้านบาท 5 อันดับแรก คือ งบฯ กลาง 5 แสนล้านบาท เราเอางบฯ กลาง ก็ได้ 15,000 ล้านบาท มาให้เด็กได้ถ้วนหน้าสักทีเป็นสวัสดิการช่วยในยามที่จำเป็นมากอย่างนี้ แต่งบฯ ที่น่าเอามาใช้สุด คืออันดับ 4 กระทรวงกลาโหม คุณต้องพิสูจน์ความจริงใจว่าไม่ทิ้งเด็กเล็ก วันนี้รัฐกำลังทำผิดพลาด เอาเรื่องคนจนมาทำให้สังคมสับสน สวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าต้องดูแลทุกช่วงวัย”
[4] นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ | เครือข่าย We Fair
ความเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair ของ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ชี้ชวนสังคมให้ร่วมเอาจริงเอาจังกับคำสัญญาไม่เป็นสัญญาของพรรคการเมือง ที่เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วทิ้งนโยบายหาเสียงไว้ข้างหลัง
“ปัจจุบันหนี้สินครัวเรือนสูงถึง 90% ของ GDP แล้ว ไหนจะคนตกงาน 1 ล้านคน แต่ดูงบฯ 65 วาระแรก สวัสดิการประชาชนปรับลด สวัสดิการข้าราชการปรับเพิ่ม ข้อมูลปี 62 คนจนเกือบ 10 ล้านคน สถานการณ์โควิด-19 คนจนเพิ่มสูงขึ้นแบบไม่คิดว่าจะจนแบบนี้”
เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าจะดูแลคนจน นิติรัตน์ กล่าวถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งปี 2562 พบว่าใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 3 ฉบับ ให้คำตอบเกี่ยวกับการเพิ่มสวัสดิการประชาชนสวนทางคำหาเสียงที่ควรมีคนถูกลงโทษ
[5] พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง | กมธ.งบฯ 65
บทบาทสำคัญของผู้ประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในการผลักดันกฎหมายบำนาญประชาชนที่ถูกปัดตก 5 ฉบับรวด ทำให้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ออกมาให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มงบประมาณเพื่อจัดสวัสดิการประชาชน
“เนื่องจากโครงสร้างงบฯ เป็นโครงสร้างระบบที่เรียกว่า รัฐรวมศูนย์ คือ กมธ. จะตัดงบฯ มาปะผุก็ได้น้อย อย่างตอนนี้เราตัดมาได้บ้างประมาณหมื่นกว่าล้าน พอจะเอาไปให้เด็กถ้วนหน้า ปรากฏว่า พม. ต้นสังกัดไม่ได้ขอมาตั้งแต่ต้น ก็ไปโปะไม่ได้ พยายามจะโปะไปท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ประชาชน แต่ฝ่ายรัฐบาลก็จะเอาให้เป็นงบฯ กลางพอเขาบอกว่าเป็นงบฯ กลาง เราไม่ค่อยไว้ใจว่าจะถึงประชาชนได้จริงหรือเปล่า เนื่องจากวันนี้ถึงจะมีสวัสดิการเป็นของประชาชน มันก็เป็นเรื่องสงเคราะห์ ไม่มีสิทธิเสมอกัน”
พ.ต.อ. ทวี อธิบายให้เห็นภาพเข้าใจตรงกัน เกี่ยวกับภาพรวมงบประมาณ 2565 ที่มีอยู่ 3.1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำของส่วนข้าราชการ ได้แก่ เงินเดือน เงินดำเนินการ รวมถึงสวัสดิการที่รัฐจัดให้ และเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจคณะกรรมาธิการฯ ทำได้เพียงพิจารณาตัดงบฯ ในส่วนที่เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น อย่างการซื้อเรือดำน้ำ แต่ก็ไม่สามารถโยกมาเพิ่มสวัสดิการประชาชนได้ เพราะกฎหมายไม่ให้ทำ
[6] วรรณวิภา ไม้สน | กมธ.งบฯ 65
อดีตผู้นำสหภาพแรงงาน วรรณวิภา ไม้สน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อีกหนึ่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ที่มุ่งเน้นการผลักดันนโยบายสวัสดิการสังคม กล่าวถึงวิธีการจัดสวัสดิการประชาชนว่า ผู้มีอำนาจในการจัดลำดับความสำคัญที่แท้จริง คือ ฝ่ายบริหาร หรือ รัฐบาล ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2565 ไม่ได้ทุ่มตั้งงบฯ ดำเนินการด้านรัฐสวัสดิการตั้งแต่ต้น
ทำความเข้าใจรัฐสวัสดิการ ในรูปแบบ Data Visualization ชุด “รัฐสวัสดิการ: ทางเลือกสู่การสร้างคนให้เท่ากันในสังคม?”