10 ปี ภาพฝันเยาวชนมองอนาคตประเทศไทย

สัดส่วนของกลุ่ม First Time Voter อายุระหว่าง 18-22 ปี  สำหรับเลือกตั้งครั้งนี้ มีประมาณ 4 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 52 ล้านคน หรือ ประมาณ 7% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ แม้จะเป็นเปอร์เซ็นที่น้อยเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า คนกลุ่มนี้ก็มีผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตเช่นกัน

คำถามคือแต่ละพรรคการเมืองให้ความสำคัญ หรือเปิดพื้นที่สำหรับนโยบายที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ มากน้อยแค่ไหน ในเมื่ออีก 10 ปีข้างหน้าคนกลุ่มนี้คือคนที่จะต้องอยู่ในประเทศนี้ ได้รับผลจากนโยบายอย่างไม่อาจปฎิเสธ

ย้อนไปเมื่อ 19 มี.ค.66 ที่ผ่านมา เครือข่ายเยาวชน YOUTH IN CHARGE ร่วมกับคนรุ่นใหม่ กว่า 27 องค์กรทั่วประเทศระดมความเห็น สะท้อนมุมมอง สะท้อนปัญหา วาดภาพอนาคตในฝัน ผ่านเวที่ เสวนา “Post Election ภาพฝันอนาคตเยาวชนไทย”  เพื่อส่งเสียงของเยาวชนให้ถึงผู้กำหนดนโยบาย หวังเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้ง และในอนาคต เยาวชนเกิดการตื่นตัว และตื่นรู้กับประเด็นต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ  การศึกษา, กลุ่มความหลากหลายทางเพศ(LGBTQ+) คนพิการ, ความเหลื่อมล้ำในเมือง(คนจนเมือง) และ กลุ่มภูมิภาคพื้นที่ห่างไกลชนบท โดย คอนเซปต์คือการ CHARGE พลังเยาวชน เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการเปิดพื้นที่ฟังเสียง กับความคาดหวังเยาวชนหลังการเลือกตั้ง ผ่านการระดมความเห็นจากตัวแทนเด็กทุกภูมิภาคทั่วไทย

เยาวชนมองอนาคตตัวเองอย่างไร ในอีก 10 ปีข้างหน้า 

ชวนเยาวชนมองอนาคตตัวเองอย่างไร เห็นความชัดเจนของอนาคตหรือไม่ ในอีก 10 ปีข้างหน้า  ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนจะยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่อีก 10 ปีข้างหน้าเขาคือกลุ่มแรงงานที่อาจเป้นตัวกำหนดทิศทางของประเทศได้ จึงชวนตัวแทนเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ มองขยับออกไปว่าพวกเขามองฉากทัศน์อนาคตประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างไร โดยการมองตั้งต้นจาก 2 สิ่ง คือสังคมในฝันและ สังคมล้าหลัง ด้วยการแบ่งเป็นกลุ่ม ตามความสนใจ โดยแบ่งผู่ร่วมกิจกรรมออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ความหลากหลายทางเพศ, การศึกษา, คนพิการ, ความเหลื่อมล้ำในเมือง และกลุ่มภูมิภาคพื้นที่ห่างไกลชนบท

  • ภาพสังคมล้าหลัง เป็นสิ่งเขากลัวและกังวลไม่อยากให้เกิดขึ้นอยากจะสะบัดทิ้งออก
    • การปกครองที่ไม่เป็นธรรม เช่น การคอร์รัปชัน สงคราม รัฐบาลชุดเดิม การเกิดอาชญากรรม  การเกิดรัฐประหาร จริยธรรมถูกหลงลืม
    • การไม่มีสวัสดิการ สุขภาพใจสุขภาพกายย่ำแย่  ระบบสาธารณสุขไม่ครอบคลุม ยาเสพติดกลายเป็นเรื่องปกติโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นทุกปี  ภาวะซึมเศร้าการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายแพงขึ้น ขนส่งไม่ดี เกิดปัญหามลพิษ
    • ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุกจนกระจาย คนว่างงาน  สังคมกีดกันคนบางกลุ่ม การเลือกปฎิบัติ การปิดกั้นความคิด การศึกษาล้าหลัง ยังใช้หลักสูตรตำราเดิม มีคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาแล้วหลุดจากระบบ
  • ภาพสังคมในฝัน ตั้งต้นด้วยคำถามที่ว่า เขาคาดหวังหน้าตาของประเทศไทยต้องเป็นแบบไหน มีคุณสมบัติอย่างไร
    • การปกครองดี มีการกระจายอำนาจรัฐ ผู้นำดี ตรวจสอบได้
    • ระบบสิทธิสวัสดิการ มีประกันสุขภาพผู้พิการ และสวัสดิการครอบคุมทั่วถึงทุกคนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณะสุขได้ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดี เดินทางสะดวก อากาศบริสุทธิ์ บ้านเมืองปลอดภัยระบบเศรษฐกิจดี รายได้เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานที่เหมาะสม
    • เกิดสังคมแห้งการเท่าเทียมยอมรับความแตกต่าง ทุกคนทุกเพศมีสิทธิ์เท่ากัน เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ตีตรา ไม่ตัดสิน ไม่ถูกกีดกันจากสังคม ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทุกคนเข้าถึงการศึกษาและมีส่วนร่วมในการ

ขณะที่กิจกรรมระดมความคิด ยังชวนให้แต่ละกลุ่มมองปัญหาในพื้นที่ และในกลุ่มนั้น ๆ พร้อมชวนออกแบบนโยบายแก้ปัญหา และเสนอเป็นนโยบายออกมาเป็น 3 ลักษณะ โดยให้มองว่านโยบายไหนทำได้ง่าย นโยบายไหนเร่งด่วน และนโยบายไหนที่ Impact พบว่าภาพรวม มองประเด็นที่มีความสำคัญ และทำได้เร็ว ทำได้ทันที คือ การศึกษา ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ

  • กลุ่มการศึกษา  เสนอ ปรับปรุงหลักสูตรครูและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ, เพิ่มงบประมาณ โดยการเพิ่มงบฯ จัดสรรครู, สื่อการเรียนรู้, สร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้มากขึ้น และ มีนโยบายการคัดคูรที่เหมาะสม

นโยบายที่ทำได้ง่าย – การคัดครู  ผลักดันข้อสอบที่ทำหรือยาการเป็นครูทดสอบด้วยเกณฑ์ของครูในแต่ละเทอมตามเกณฑ์เด็กถูกใจการอบรมระยะสั้น

นโยบายที่เร่งด่วน – ปรับงบประมาณ โดยการเพิ่มงบประมาณการจัดสรรครู สื่อการเรียนรู้ สภาพบรรยากาศให้ตรงจุดมากขึ้น

นโยบายอิมแพค – ปรับหลักสูตรครู พัฒนาหลักสูตรสม่ำเสมอขานที่ประชุมคณบดี เพื่อให้เกิดหลักสูตรที่ทันสมัย ขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) ในการปรับเกณฑ์ การศึกษา 

  • กลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เสนอ ผลักดัน นโยบาย พ.ร.บ สมรสเท่าเทียม, สร้างหลักสูตรส่งเสริมความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ และ นโยบาย soft power ใช้สื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ 

นโยบายที่ทำได้ง่าย -Soft Power โดยใช้สื่อที่มีอยู่แล้ว เช่น ซีรี่ย์ ละคร เพลง หนัง  ใช้สื่อสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ 

นโยบายที่เร่งด่วน – หลักสูตรส่งเสริม ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ  โดย บรรจุหลักสูตรในวัยที่เหมาะสม เช่น ม.1-ม.6 หรืออื่น ๆ 

นโยบาย Impact -พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม  โดย สร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้กฎหมายได้ไปต่อ 

  • กลุ่มคนพิการ เสนอ นโยบายการมีส่วนร่วมทุกระดับของคนพิการ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการผ่านสื่อ เช่นละคร เพลง ซีรีส์ ข่าว และ นโยบายการศึกษาเท่าเทียมทั่วถึงเพื่อคนพิการ

นโยบายที่ทำได้ง่าย -เทคโนโลยี/สื่อ  โดยสร้างความเข้าใจเรื่องคนพิการ เช่น สร้างสื่อที่ทำให้คนพิการเข้าใจและเข้าถึงเช่นข่าวภาษามือล่ามภาษามือคำบรรยายใต้ภาพ/มีการให้ความรู้ให้ ผู้พิการเป็นคอนเทนท์ create เตอร์/Apple Watch สำหรับคนพิการ

นโยบายที่เร่งด่วน -การศึกษาการสร้างอัตลักษณ์ของผู้พิการ ครูผู้สอน บัตรสวัสดิการผู้พิการลดค่าใช้จ่ายช่วยเหลือค่าใช้จ่าย การเปิดรับผู้พิการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างครอบคลุมคณะต่าง

นโยบายอิมแพค – การมีส่วนร่วม ของคนพิการกับการออกแบบนโยบายและนวัตกรรม ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา การให้พื้นที่ผู้พิการได้แสดงออกมีส่วนร่วมเพื่อลดอคติสร้างค่านิยมที่ดีแก่คนพิการ พัฒนาวิธีการให้ผู้พิการสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเช่นแอปพลิเคชันฟังความเห็นให้ผู้พิการมีส่วนร่วมในทางการเมืองมีตัวแทนผู้พิการเข้าไปอยู่ในหน่วยงานรัฐ

  • กลุ่มความเหลื่อมล้ำในเมือง (คนจนเมือง) เสนอ นโยบายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน นโยบายการขนส่งครอบคลุมทั่วถึง เช่น การกำหนดราคาคมนาคมขนส่ง ที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้บริการได้ และนโยบายโรงเรียนเป็นมิตรและปลอดภัย 

นโยบายที่ทำได้ง่าย – โรงเรียนเป็นมิตร ปลอดภัย มีความยุติธรรมโปร่งใสของครู นักจิตวิทยาในโรงเรียน/มีคนมาปรึกษาให้คำแนะนำแนะแนวโดยไม่ตัดสิน ครู หรือผู้สอนไม่เลือกปฏิบัติกับเด็ก พัฒนาหลักสูตรเพศศึกษาที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตจริง การเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ ลดชั่วโมงเรียนเพิ่มชั่วโมงกิจกรรม ฝึกกระบวนการเล่นเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก

นโยบายที่เร่งด่วน -นโยบายการขนส่ง ความทันสมัยอำนวยความสะดวกต่อผู้พิการ  ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาที่สอดคล้องกับค่าแรง การซ่อมบำรุง ทำให้เป็นรัฐสวัสดิการ  ควบคุมคุณภาพรถเพื่อให้ไม่ปล่อยมลพิษที่มากเกินไป

นโยบายอิมแพค -นโยบายการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดย ค่าแรงขั้นต่ำ 600 + / ลด Fix cost ให้น้องน้องในการลงทุนและมาเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน / พัฒนาชุมชนตัวอย่างของแต่ละเขตอำเภอแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมอาชีพในชุมชน

  • กลุ่มพื้นที่ห่างไกลและชนบท เสนอ ผลักดันนโยบายการศึกษาเรียนฟรี ครูมีคุณภาพ และหลักสูตรเหมาะสม, นโยบายส่งเสริมความรู้การเกษตรโดยมหาวิทยาลัย 

นโยบายที่ทำได้ง่าย – ด้านการเกษตร โดยให้มหาวิทยลัยไปช่วยเหลือองค์ความรู้ชุมชน ด้านการเกษตร  โดยผ่านหัวหน้าชุมชน (สภาองค์กรชุมชน ,หัวหน้าชุมชน ) 

นโยบายที่เร่งด่วน -ด้านการศึกษา โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมให้มีการเรียนฟรี/เข้าถึงการศึกษา/เพิ่มครูที่มีคุณภาพ/การปรับเปลี่ยนหลักสูตรเข้าถึงพื้นที่ 

นโยบายImpact – ด้านการแพทย์ ส่งเสริมเทคโนโลยี /หน่วยแพทย์เคลื่อนที่กระจายทั่วถึง/ให้องค์ความรู้สุขภาพและติดตามประเมินผลสม่ำเสมอ/เข้าถึงทุกกลุ่ม 

ภาพฝันเยาวชนกับอนาคตประเทศไทย

แนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าหากมีรัฐบาลที่ดี จะทำให้เกิดภาพฝันในอนาคตได้จริงต้องมีรัฐบาลที่ดี โดยรัฐที่ดีกลุ่มเด็กและเยาวชน ระบุว่า ต้องเป็นรัฐที่มองเห็นประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายมีพื้นที่ในการแสดงออก  รัฐควรสนับสนุนและรับฟังประชาชนและควรกระจายอำนาจเพื่อการพัฒนาที่รวดเร็ว 

รวมถึงระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนแต่รวมถึงการเรียนรู้ในทุกรูปแบบและช่วงอายุ มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา กระจายครูสู่พื้นที่ห่างไกล สังคมมีทัศนคติที่ดีต่อคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนพิการคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

คาดว่าปัจจัยที่จะนำไปสู่สังคมในฝัน จะต้องมีรากฐานที่ดีมาจากการบริหารและการกำหนดนโยบาย โดยนักการเมือง หรือผู้ที่จะเข้าไปมีอำนาจรัฐต้องมองประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องมีรัฐสวัสดิการที่เป็นขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ให้ประชาชนทุกคนควรมี การมีรัฐสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย ด้านเด็กเล็ก ด้านผู้สูงอายุ และประชาชนควรได้รับรัฐสวัสดิการโดยไม่ต้องขอ  รวมทั้งไม่บังคับใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน จะต้องมีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ชัดเจน ทั้งยังเห็นว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนา การเพิ่มแพลตฟอร์มเพื่อการตรวจสอบความโปร่งใสการปฎิบัติงานของรัฐบาล อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ซึ่งต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทุกคน 

สรุปท้ายสุดได้ข้อเสนอเชิงนโยบายจากเสียงคนรุ่นใหม่ 5 ด้าน คือ การปรับหลักสูตรพัฒนาการครู การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการ สร้างหลักสูตรการสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ การพัฒนาหลักสูตรเฉพาะพื้นที่สหหรับต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล ท้ายสุดคือนโยบายที่ยกระดับ ปรับรายได้ประชาชนที่เรียกว่า คนจนเมือง และสร้างแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน สำหรับข้อเสนอนี้จะถูกรวบรวมเพื่อต่อยอดไปสู่การมอง #ฉากทัศน์ประเทศไทยหลังเลือกตั้ง ต่อไป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง