กระจายอำนาจสร้างความร่วมมือกับชุมชน เร่งแก้ปัญหาฝุ่นควัน
23 ประเด็นสำคัญที่ถูกวางไว้ใน MOU ของ 8 พรรคร่วมที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาล มีหลากหลายประเด็นที่สอดคล้องกับข้อเสนอประชาชนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ร่วมกันสะท้อนภาพอนาคตที่พวกเขาอยากเห็นหลังการเลือกตั้ง ผ่านเวที Post Election พื้นที่ภาคเหนือ
เพราะแม้ว่าภาคเหนือจะเป็นภูมิภาคที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ ผู้คนหลากหลาย โครงสร้างเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยบริการท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงภาคการเกษตร แต่ยังพบปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำสูง ขณะที่อีกโจทย์สำคัญคือปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่นอกจากส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจหลัก ทั้งการท่องเที่ยว ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ยังส่งปัญหาต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของคนภาคเหนือ พวกเขาอยากให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาเรื่องต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงครอบคลุมทุกมิติ นำไปสู่ภาพอนาคตคุณภาพชีวิตที่ดีทุกมิติ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่ว่าสุดท้ายฝ่ายใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาล พวกเขาก็คาดหวังว่าหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม จะช่วยผลักดันข้อเสนอในมิติต่าง ๆ ให้เกิดผลทางปฏิบัติได้จริง
The Active รวบรวมข้อสรุปเสียงสะท้อนประชาชนภาคเหนือ ในเวที Post Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้งสรุปในรูปแบบ Visual note
ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชนภาคเหนือ เวทีที่ 5 จัดโดยไทยพีบีเอส สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และภาคีเครือข่าย ณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2566 เวทีนี้เป็นการใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้ง เครือข่ายคนที่ทำงานในประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ไม่ต่ำกว่า 60 คน ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งเพศ วัย อาชีพ ระดับการศึกษา และรายได้ ผ่านรูปแบบคำถามให้ประชาชนเลือกภาพฝัน ภาพอนาคตที่อยากเห็นหลังการเลือกตั้งในอีก 10 ปี ข้างหน้า หรือ ในปี 2575 ครอบคลุมทุกมิติทั้งประเด็นเศรษฐกิจ รายได้, รัฐราชการความมั่นคง, การศึกษาทักษะ,สุขภาพสาธารณสุข, สังคม พื้นที่การใช้ชีวิต, และสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อการนำเสนอภาพที่ชัดเจนขึ้นตามบริบทของพื้นที่ ดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม
1.รัฐกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้สิทธิชุมชนเข้าถึงสิทธิการจัดการทรัพยากรในฐานะทรัพยากรสาธารณะ ชุมชนร่วมดูแลป่า กระจายหน่วยการจัดการให้คนในพื้นที่มีอำนาจจัดการ มีกฎหมายที่รองรับสอดคล้องกับวิถีชีวิตลดความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อม โดยรัฐเป็นพี่เลี้ยง ดูแล อำนวยความสะดวกแก้ปัญหานายทุน ไม่บุกรุกป่า ไม่กดขี่ชาวบ้าน ไม่ไล่ที่ชนเผ่าพื้นเมือง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำความเข้าใจบริบทต่าง ๆ ออกกฎหมายที่มองเห็นผู้คนโดยรอบหลากหลาย เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน ความเป็นเมืองบุกรุกป่า ไม่ใช่คนที่อยู่ในป่าบุกรุก ชาวบ้านในป่าจึงควรมีสิทธิในพื้นที่ในการจัดการดูแลรักษาทรัพยากร ซึ่งตัวชี้วัดอาจที่ไม่ใช่แค่ตัวเงินหรือ GDP แต่เป็นความสุขของชาวบ้านด้วย
2. การแก้ปัญหาฝุ่นควันที่มีปัญหาสะสมมานานหลาย 10 ปีแต่ยังไม่คืบหน้า ดังนั้นรัฐจะต้องแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ ด้วยการกระจายอำนาจสร้างความร่วมมือกับชุมชน ซึ่งทราบปัญหาและมีแนวทางการจัดการปัญหาในพื้นที่ได้ดี ควรมีการสนับสนุนกระบวนการค้นคว้าวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาให้เพียงพอเหมาะสม รัฐไม่ทำงานซ้อนทับกัน มีความเข้าใจต่อบริบทของพื้นที่
3. ทุกภาคส่วนมีเป้าหมายร่วมกันในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ใช้ Social Lab เชื่อมโยงบูรณาการความร่วมมือจากทุกส่วน ทำงานร่วมมือกับชาวบ้าน ชุมชนนโยบายที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เกษตรยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรัฐต้องไม่ใช่แค่ส่งเสริม แต่ผลักดันการขับเคลื่อนเป็นนโยบายที่ทำได้จริงทั่วประเทศ ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ในห้องอาหารขององค์กรรัฐใช้ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น พัฒนาองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นตามบริบทของพื้นที่ เน้นความหลากหลายทางชีวภาพ การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีจิตสำนึกในการแก้ปัญหาที่เริ่มจากตนเอง ส่งเสริมให้คนเห็นคุณค่า
ด้านการศึกษา
1. การศึกษาคือชีวิต เชื่อมโยงทุกมิติความเป็นอยู่ มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ความหลากหลาย เช่น บ้านเรียน การศึกษาทางเลือก การศึกษาตามอัธยาศัย หรือแม้แต่การศึกษาเพื่อแรงงานคุณภาพ ตอบสนองการใช้ชีวิต ทำให้ผู้คนเข้าใจสังคมและชีวิตอย่างลึกซึ้งเพื่อกลับมาพัฒนาท้องถิ่นและรักษาวัฒนธรรม สร้างสำนึกร่วม ปัญญาชนพื้นถิ่น นำการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง หลักสูตรที่เหมาะสมกับการพัฒนาคนในพื้นที่ ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนร่วมรัฐ มองแนวคิดภาพรวมตรงกัน การศึกษาที่มีความหลากหลายสอดรับบริบทพื้นที่ เชื่อมโยงหลายภาคส่วน หลักสูตรเชื่อมความเป็นคนเมือง ท้องถิ่น และชาติพันธุ์ ปลดแอกประวัติศาสตร์ชาติ กระแสหลัก ปรับค่านิยมจากส่วนกลางที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม กระจายอำนาจให้ภาคประชาสังคมร่วมขับเคลื่อน
2. ประชาชนเข้าถึงการศึกษาคุณภาพในทุกพื้นที่ สิทธิการเรียนรู้ตลอดชีวิต re-skill สวัสดิการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพเท่าเทียมทุกระดับ เข้าถึงได้จริงเกิดการศึกษาท้องถิ่น เป็นนโยบายมีความต่อเนื่อง
3. ครูอาจารย์มีรูปแบบการสอนที่เข้าถึงผู้เรียนมากขึ้น มีงานวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยี ครูและเด็กไม่ Drop out หรือหลุดออกจากระบบ มี platform ที่เตรียมพร้อมสู่การเรียนรู้และสร้างอาชีพคุณภาพและมาตรฐานครู การสนับสนุนครูคืนถิ่น
ด้านสังคม
1.สังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ มีความเท่าเทียมในคนทุกกลุ่ม เช่น คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ เพศสภาพที่หลากหลาย มีโอกาส ผู้คนยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทุกวัย ทุกเพศ ไม่แบ่งกลุ่มคน มีอิสระทางความคิด และการปฏิบัติ ออกแบบกติกาอยู่ร่วมกันเหมาะสม ตกลงร่วมกัน ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยง ใกล้ชิดกันมากขึ้น ไม่แบ่งแยกทางการเมือง สร้างวัฒนธรรมใหม่ของการรับฟังไม่ตัดสิน
2.สังคมที่เป็นมิตรต่อคนทุกกลุ่ม ระบบพื้นฐาน มีคุณภาพ เข้าถึงทุกพื้นที่ คือ สังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมและเมืองที่เป็นมิตร มีการวางแผนประชากร สังคมที่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทุกคนภายใต้แนวคิด Universal Design สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมีคุณภาพ เข้าถึงทุกพื้นที่ มีการออกแบบพื้นที่สำหรับคนพิการด้วยเมืองที่เป็นมิตร สังคมสุขภาวะดี ลดปัญหาการฆ่าตัวตาย ผู้คนมีความสุข รับมือปัญหาทางจิตเวช รวมถึงรองรับสังคมสูงวัย
3.สังคมแห่งการมีส่วนร่วม พื้นที่ที่คนจับมือกันร่วมแก้ปัญหา “synergy ฮอมปอย “ การทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน มีการกระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำสิทธิในที่ดิน ที่ทำกิน สิทธิในที่อยู่อาศัยตั้งแต่แรกเกิด สังคมที่ไม่หลงลืมใครไว้ข้างหลัง ผู้คนเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาชีวิตโดยไม่แบ่งกลุ่ม (เช่น คนภูเขา คนชายขอบ ก็เป็นคนที่มีศักยภาพเช่นเดียวกับคนเมือง) เตรียมประชาชนให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลโดยไม่ถูกกีดกัน มี Active citizen สภาลมหายใจ สภาชุมชน มีพื้นที่แลกเปลี่ยน public space ไม่ผลักภาระให้คนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง คนแต่ละรุ่นช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ด้านเศรษฐกิจ
1. รัฐจัดการแก้ปัญหาภาวะหนี้สิน ลดค่าครองชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ การประกันรายได้การประกอบอาชีพนโยบายที่ตรงกับความต้องการของคน รวมถึงนโยบายชุมชน ไม่ใช่แบบ one size fit all ทิศทางการพัฒนาตรงกับบริบทของชุมชน กติการ่วมชุมชน รัฐร่วมสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน ทรัพยากร โอกาสอาชีพ ปรับสมดุล รัฐเแก้ปัญหาให้ถูกต้อง วางแผนให้ดี มองระยะยาว ยั่งยืน ดู้ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม
2. การลงทุนยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างฐานอุตสาหกรรมยั่งยืน พัฒนาเกษตรกร นโยบายส่งเสริมการพัฒนาการลงทุน การส่งเสริมเป็นไปอย่างสุดทาง เต็มที่ สอดรับกับสิ่งที่มี รัฐ เอกชน ร่วมลงทุน ส่งเสริมการอุปโภคบริโภค เชื่อมโยงต่างประเทศ และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศเพื่อนบ้าน
3. เศรษฐกิจชุมชนฐานราก สร้างสรรค์ ยั่งยืน ระดับโลก Smart Future Creative นวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าภูมิปัญญา วัฒนธรรม เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เกษตรประณีต เกษตรอินทรีย์ บริการทางการแพทย์ ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ใช้จุดเด่นยกระดับเศรษฐกิจ เมืองมรดกโลก ศูนย์กลางวัฒนธรรม มุ่งเน้นความยั่งยืน และศักยภาพระดับโลก
ด้านสุขภาพ
1. สิทธิในการเข้าถึง การรักษา การบริการสาธารณสุข สิทธิการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ มีความเสมอภาค สิทธิในการมีสุขภาพดี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การการันตีสิทธิพื้นฐาน ค่าใช้จ่ายสำหรับคนพิการเท่าเทียมคนทั่วไป
2. มีระบบการสร้างบุคลากรบริการสาธารณสุข และการรักษาที่มีตจรรยาบรรณทางวิชาชีพ มาตรฐานการบริการ การบริการเชิงรุกการให้บริการที่ไม่สองมาตรฐาน การบริการการรักษาให้มีครอบคลุมเสมอภาคทุกพื้นที่ และมีหลักสูตรให้เกิดเจ้าหน้าที่คืนถิ่น
3. ประชาชนเข้าถึงระบบสุขภาพปฐมภูมิ ดูแลกายใจได้ดี ปรับทัศนคติในการดูแลตนเองด้วยการพึ่งพาตนเองได้ การปรับพฤติกรรม พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยน การวางแผนระดับบุคคล แก้ปัญหาด้านจิตเวช ดูแลจิตใจ ลดความเครียด เพื่อให้มีกำลังใจอยู่ต่อ มีกระบวนการสร้างความรอบรู้เรื่องโรค ผู้คนรู้ว่ามีความเสี่ยงทางสุขภาพอย่างไรเพื่อดูแลตนเอง ระบบสุขภาพปฐมภูมิ การดูแลตนเองที่ถูกต้อง วิธีการรักษาที่ถูกต้อง และการมีคนดูแลที่ถูกต้อง ปรับทัศนคติในการดูแลตนเอง ลดภาวะพึ่งพิง เด็กและคนแก่เรียนรู้ไปด้วยกัน นโยบายที่ไม่กระตุ้นโรคอุบัติใหม่ ลดการบริโภคนิยม สภาพแวดล้อมสะอาด น่าอยู่ เพื่อสุขภาพที่ดี ปรับปัจจัยแวดล้อม มีพื้นที่สาธารณะที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน รองรับสังคมสูงวัย ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช
ด้าน รัฐ ราชการ ความมั่นคง
1.กระจายอำนาจ ไร้รัฐประหาร มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาตนเอง ท้องถิ่นถูกปลดล็อก ออกกฎระเบียบที่เหมาะสม กำหนดนโยบายได้เองเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โอนอำนาจ งบประมาณ การจัดการด้านบุคลากรให้ท้องถิ่น ลดระเบียบที่ควบคุมท้องถิ่นที่มากเกินไป ท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดนโยบายที่เหมาะกับคนในพื้นที่ได้, หยุดรัฐประหาร รัฐปรับแนวคิดด้านความมั่นคง ไม่จำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน อำนาจใกล้ตัวประชาชน แก้กฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เอื้อประชาชนทุกกลุ่ม ไม่เพื่อพวกพ้องกระบวนการออกแบบนโยบายไม่ละทิ้งกลุ่มต่าง ๆ แนวคิด 4 อธิปไตย – นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และอธิปไตยของประชาชน
2. รัฐมีวิสัยทัศน์ ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน คือการบริหารจัดการอย่างมีวิสัยทัศน์ มองภาพอนาคตให้เห็น ตั้งเป้าการพัฒนาเพื่อประชาชน นโยบายที่ไปถึงผู้คนจริงๆ สร้างประโยชน์ให้ชุมชน การบริการไม่เลือกปฏิบัติ มีการทำงานที่ต่อเนื่องจริงจัง นโยบายและแนวคิดการจัดการอยู่บนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน การจัดการทางภาษีที่ไม่เหลื่อมล้ำ นำมาพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประชาชน เข้าถึงทุกคนการบริการที่เห็นอกเห็นใจคนทุกกลุ่ม ไม่เลือกปฎิบัติ
3. รัฐโปร่งใสด้วยประชาธิปไตยแบบดิจิทัล รัฐมีธรรมาภิบาล สุจริต นักการเมืองไม่แสวงหาอำนาจ Digital Democracy ด้วยเทคโนโลยี รัฐเปิดเผยข้อมูล ข้อมูลเข้าถึงได้ มี platformให้ประชาชนตรวจสอบติดตาม ประชาชนเข้าถึงข้อมูลท้องถิ่นของหน่วยงานได้ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมี Platform Digital ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน รวบรวมนโยบายต่าง ๆ ผลโพล การโหวต การติดตามนโยบายเกิดขึ้นใน platform เดียวกัน มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ส่งเสียงประชาชน