เวที Post Election ภาคเหนือ ตั้งเป้า แก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ดีขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า

วางภาพอนาคต เร่งเดินหน้าส่งเสริมการจัดการตนเอง การกระจายอำนาจ หากไม่แก้ไขเร่งด่วน จะกระทบต่อการพัฒนาทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว ฐานทรัพยากร และสุขภาพ

วันนี้ (24 มี.ค.66) ที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ในเวที Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ที่จัดขึ้นโดยไทยพีบีเอส สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นเวทีครั้งแรกของภาคเหนือ และเป็นเวที่ 5 มีตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชน ประชาสังคม เอกชน นักวิชาการเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 60 คน

ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ปัญหาคุณภาพอากาศ ฝุ่นควัน PM2.5 คือภาพอนาคตที่คนภาคเหนืออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด สอดคล้องกับนักวิชาการ และภาคเอกชน ที่มาร่วมเติมข้อมูลการพูดคุยเลือกภาพอนาคต ใน 6 มิติ ที่มองว่า ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 มลพิษทางอากาศเป็นโจทย์ใหญ่ของภาคเหนืออยู่แล้ว ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจาก สภาพพื้นที่วิถีชีวิตการเกษตรที่ยังพึ่งพาการเผา, สภาพพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีใบไม่ร่วงสะสม, ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ, ปัญหาการถือครองที่ดินสิทธิในการเข้าถึง และปัญหาฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านที่พัดเข้ามามากขึ้น จากการขยายพื้นที่เกษตรกรรมข้ามพรมแดน และส่งผลกระทบเชื่อมโยงทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจรายได้ จากการบริการการท่องเที่ยวชุมชน ฐานทรัพยากรธรรมชาติ การทำเกษตร และปัญหาสุขภาพ

แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้มากว่า 10 ปี เพราะการวางนโยบายมาจากส่วนกลาง ที่ขาดการสนับสนุนในการกระจายอำนาจและการให้โอกาสในการจัดการตนเองกับประชาชนที่เข้าใจปัญหาและรู้แนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดีที่สุด

“เรื่องแก้ปัญหาหมอกควัน ชาวบ้านสะท้อนชัดว่าที่ปัญหาแก้ไขไม่ได้หรือไม่คืบหน้า เพราะการวางนโยบายการขัดกันมาจากส่วนกลาง ทั้ง ๆ ที่คนในพื้นที่เขารู้บริบทปัญหา และการจัดการแก้ปัญหาที่ดี เพียงแต่เขาขาดการสนับสนุน คำนึงที่สะท้อนพูดกันอย่างมากตอนสรุป คือ ราษฎร์ร่วมรัฐ รัฐร่วมราษฎ์ การก้าวไปด้วยกัน โดยเห็นและให้ความวำคัญต่อความต้องการของชุมชน นั่นคือการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่แค่การกระจายอำนาจการเมืองการปกครอง แต่คือการกระจายทุกเรื่องทั้งงบประมาณ เทคโนโลยี องค์ความรู้ต่าง ๆ มาแก้ปัญหาหมอกควันและการพัฒนาในทุกมิติ“

ศยามล เจริญรัตน์ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมจัดการตนเอง ยังเป็นแนวทางและหัวใจสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ 6 มิติ ที่พวกเขาได้ร่วมวางข้อเสนอสู่อนาคต

  • รัฐราชการ ความมั่นคง อันนี้ชัดในตัวว่าต้องกระจายอำนาจไม่ใช่แค่อำนาจทางการเมืองการปกครอง แต่กระจายอำนาจการสนับสนุนทุกด้าน
  • ด้านการศึกษา พวกเขาเสนอว่า มาตรฐานการศึกษาควรต้องทำมากขึ้น ให้สอดคล้องความหลากหลายวัฒนธรรม ตอบสนองความต้องการพื้นที่
  • ด้านสังคม ต้องลดการแตกแยกแบ่งพวกแบ่งสี ให้มีความเข้าใจยอมรับดารแตดต่างหลากหลาย
  • เศรษฐกิจ แม้หลังโควิด-19 จะมีทิศทางดีขึ้น แต่ต้องฟื้นฟูต่อเนื่อง เน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  • ด้านสุขภาพ รองรับสังคมผู้สูงอายุ ทุกคนโดยเฉพาะคนพื้นที่ชนบทก่างไกลสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาสาธารณสุขอย่างทั่วถึง
  • ด้านสิ่งแวดล้อม ยังประสบปัญหาสิทธิเข้าถึงทรัพยากร ไม่มีโอกาสเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ไม่มีสิทธิร่วมจัดการบนสิทธิชุมชน และสิทธิทางวัฒนธรรม

สำหรับเวทีถัดไปจะจัดขึ้นที่จังหวัดปัตตานี ฟังเสียงสะท้อนของภาคส่วนต่างๆในสามจังหวัดชายแดนใต้ และต่อด้วยเวทีฟังเสียงคนภาคกลางที่จังหวัดนครปฐมและพิษณุโลก ฟังเสียงคยภาคเหนือตอนล่าง จากนั้นจะรวบรวมเสียงสะท้อนข้อเสนอทั้งหมด และเชิญตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งภาคการเมือง มาร่วมกัน Hack นโยบาย 48 ชั่วโมง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active