6 วันหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรม #รถบัสไฟไหม้ เกิดขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. 67 จนนำไปสู่ความสูญเสียของครู และนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี จำนวน 23 คน และมีนักเรียนบาดเจ็บอีก 5 คน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมความปลอดภัยทางถนน โดยชี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือเพื่อปรับแก้กฎหมายและข้อบังคับใช้ต่าง ๆ ไม่ว่าทั้ง กระทรวงคมนาคม (คค.), กระทรวงมหาดไทย (มท.), กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อยกระดับการเดินทางให้ดีขึ้นทุกประเภท
ในช่วงเวลาที่เหตุการณ์เศร้าสลดผ่านมาจนครบ 1 เดือน The Active จึงชวนสำรวจการทำงานของหน่วยงานรัฐ ว่า ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันนี้ มีอะไรคืบหน้าไปบ้างกับความพยายามหาแนวทาง ปรับมาตรการเพื่อทำให้ความปลอดภัยทางถนนเกิดขึ้นจริง พร้อมวิเคราะห์ ตั้งข้อสังเกต เพื่อหาทางออกกับอนาคตที่เราสามารถป้องกันได้
คณะรัฐมนตรี (ครม.)
การกำหนดนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน เป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่ของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในเหตุรถบัสไฟไหม้ครั้งนี้ ครม. จึงมีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งการไปยังหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
2 ต.ค. 67 : สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข้อสั่งการภายหลังประชุมถึงเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ โดยกำหนด 5 มาตรการ เพื่อยกระดับความปลอดภัยรถสาธารณะ ดังนี้
- ให้กรมการขนส่งทางบก เรียกรถโดยสารสาธารณะประจำทางและไม่ประจำทางที่ใช้เชื้อเพลิง CNG ทั้งหมดเข้ารับการตรวจสภาพรถ จำนวน 13,426 คัน ภายใน 60 วัน
- ยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งทั้งระบบของรถโดยสารประจำและไม่ประจำทาง ได้แก่ การประกอบการ การตรวจสภาพ การให้บริการ
- ให้กรมการขนส่งทางบก บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาทั่วประเทศ ในกรณีที่จะนำรถเช่าเหมาหรือรถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้บริการ โดยให้ประสานงานกับสำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง
- พนักงานขับรถและผู้อยู่ประจำรถ จะต้องได้รับการอบรมและทดสอบ หลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสาร (Crisis Management)
- จะออกกฎหมาย ระเบียบ เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องมีการแนะนำข้อมูลและแนวทางเผชิญเหตุฉุกเฉินในการใช้บริการเช่นเดียวกับสายการบิน
7 ต.ค. 67 : ครม. มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหายกระดับรถโดยสารสาธารณะ ขีดเส้น 15 วัน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและยกระดับรถโดยสารสาธารณะอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งมอบหมาย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เรียกตรวจสอบสภาพรถโดยสารสาธารณะที่ใช้เชื้อเพลิง NGV ซึ่งหากพบสภาพไม่พร้อมใช้งานให้สั่งห้ามการนำรถออกใช้งาน หากพร้อมใช้งานให้ออกหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการตรวจสอบต้องตรวจสอบอย่างละเอียด และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
กระทรวงคมนาคม (คค.)
จากการตั้งข้อสังเกตของ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและ ลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน สภาผู้แทนราษฎร ถึงกรณีเหตุรถบัสไฟไหม้ทัศนศึกษาในครั้งนี้ พบความหละหลวมในการตรวจสอบสภาพรถ ดังนี้
- การปล่อยให้มีการจดทะเบียนใหม่ แต่รถที่จดทะเบียนนําโครงรถโดยสารเก่ามาดัดแปลง
- ผลการตรวจสอบจํานวนถังแก๊สที่ติดตั้งของรถโดยสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ตรงกับจํานวนที่ปรากฏในวันเกิดเหตุ
- มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความพร้อมของอุปกรณ์นิรภัย, ประตูฉุกเฉินไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ภายใต้กระทรวงคมนาคม จึงมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมและจัดระเบียบการขนส่งทางถนนภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องรักษามาตรฐานยานพาหนะที่สัญจรอยู่บนถนน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสภาพรถ และการกำกับดูแลพนักงานขับรถ รวมถึงบริษัทขนส่ง เพื่อความปลอดภัยในการสัญจร
จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยหลังเกิดเหตุ ในวันที่ 1 ต.ค. 67 ว่า ได้สั่งระงับใบผู้ประกอบการขนส่ง “ชินบุตรทัวร์” ชั่วคราว ซึ่งจะดำเนินการระงับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทันที และจะดำเนินตามข้อกฎหมายระดับสูงสุด หากมีการตรวจสอบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของผู้ประกอบการขนส่ง
2 ต.ค. 67 : สุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.กระทรวงคมนาคม มีคำสั่งให้ กรมการขนส่งฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงปมรถบัสไฟไหม้นักเรียน โดย กรมการขนส่งฯ สั่งย้ายข้าราชการ 2 ตำแหน่ง คือ หัวหน้าฝ่ายตรวจสภาพรถ และนายช่างตรวจสภาพรถชำนาญงาน จ.สิงห์บุรี
3 ต.ค. 67 : สั่งอายัดรถของชินบุตรทัวร์ หลังไม่ยอมเข้าตรวจสภาพรถ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาที่จะปกปิดความผิดจากดัดแปลงรถโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการตรวจ GPS แล้วพบว่ามีรถ 5 คัน อยู่ระหว่างการถอดถังแก๊สที่ติดตั้งเกินจากที่แจ้งจดทะเบียนไว้ออกที่อู่แห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา
20 ต.ค. 67 : มีการตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะไปแล้วทั้งสิ้น 1,973 คัน ซึ่งในจำนวนนี้มีรถที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพ 196 คัน และคงเหลือรถที่ยังไม่ได้รับการตรวจสภาพอีก 11,453 คัน โดย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกัน และลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน สภาผู้แทนราษฎร คาดว่าไม่สามารถตรวจสอบให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาที่กําหนดตามมาตรการของคณะรัฐมนตรี (30 พ.ย. 67)
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับ ซึ่งรวมถึงสวัสดิภาพและการรักษาความปลอดภัยที่ครอบคลุมบุคลากรสถานศึกษาและนักเรียน ศธ. จึงมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการกำหนดแนวทางและมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะกิจกรรมทัศนศึกษา… หลังผ่านมา 1 เดือน เหตุการณ์รถบัสไฟไหม้ สิ่งที่ได้ทำ คือ
2 ต.ค. 67 : หลังจากการเกิดเหตุ 1 วัน พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ สั่ง “งดทัศนศึกษาที่ไม่จำเป็นทันที” แต่หากมีความจำเป็น ให้ตรวจมาตรการความปลอดภัยอย่างเต็มที่ และมีการประสานกับขนส่งเพื่อตรวจสภาพรถ โดยมองว่าการทัศนศึกษายังจำเป็นต่อการเรียนรู้ แต่ก็ต้องเข้มงวดกว่าเดิม โดยต้องตรวจสภาพรถและคนขับ ดำเนินการซักซ้อม และตรวจสอบอุปกรณ์ฉุกเฉิน
3 ต.ค. 67 : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดแนวทางปฏิบัติของสถานศึกษา ในการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา ระบุ ให้สถานศึกษางดการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษาไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีมาตรการเป็นอย่างอื่น แต่หากจำเป็นต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ ให้พิจารณาเป็นรายกรณีไป
4 ต.ค. 67 : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ส่งหนังสือซักซ้อม “6 แนวทางการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา” ให้สถานศึกษาเอกชนทั่วประเทศ ระบุ ขอให้พิจารณางดการพานักเรียนไปทัศนศึกษา ยกเว้นมีความจำเป็น
10 ต.ค. 67: ตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้กับผู้ประสบเหตุ ซึ่งในกรณีรถบัสไฟไหม้ สธ. มีความรับผิดชอบในการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการรักษาพยาบาลผู้ประสบเหตุ พร้อมทั้งช่วยเหลือในการฟื้นฟู ไม่ว่าจะทางกายหรือจิตใจ ดังนี้
1 ต.ค. 67 : สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขทันที เพื่อติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติอย่างเต็มที่ พร้อมประสานงานเครือข่ายหน่วยบาดแผลที่เกิดจากไฟไหม้ เพื่อรองรับและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ
กรมสุขภาพจิต ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ (MCATT : Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ลงพื้นที่โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม เพื่อดูแลเยียวยาจิตใจผู้ประสบเหตุและญาติ
25 ต.ค. 67 รมว.กระทรวงสาธารณสุข และคณะ ร่วมส่งผู้ป่วยเด็กหญิงที่ได้รับผลกระทบจากกรณีรถบัสไฟไหม้กลับบ้าน พร้อมส่งทีม MCATT เยียวยาต่อเนื่องให้แก่ผู้บาดเจ็บเป็นเวลา 1 ปี
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
เหตุการณ์รถบัสไฟไหม้ที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบในวงกว้างและหลายด้าน ตั้งแต่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไปจนถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น จึงมีส่วนเสียหายทั้งร่างกาย จิตใจ และเศรษฐกิจ ในการเยียวยา จึงเป็นหน้าที่ของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่จะให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพจิตใจทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวของผู้ประสบภัย
ในวันที่เกิดเหตุ ทาง พม. ได้ระดมทีมสหวิชาชีพเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ โดยมีทั้ง เจ้าหน้าที่ พมจ.ปทุมธานี ดูแลผู้ได้รับผลกระทบในโรงพยาบาลและศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่ พมจ.อุทัยธานี และจังหวัดใกล้เคียง เข้าเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต
22 ต.ค. 67: วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. เปิดเผยถึงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีการเยียวยาเป็นระยะ พร้อมวางแผน และลงพื้นที่อเพื่อช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัว รวมถึงดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อผู้กระทำความผิดอีกด้วย
กระทรวงมหาดไทย (มท.)
กระทรวงมหาดไทย (มท.) มีภารกิจสำคัญในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข และการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อเกิดเหตุการณ์รถบัสไฟไหม้ หน้าที่ของ มท. จึงต้องบริหารจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งดูแลความปลอดภัยในพื้นที่อีกด้วย ดังนี้
1 ต.ค. 67: อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงมหาดไทย, ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.กระทรวงมหาดไทย และ ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ยังจุดเกิดเหตุไฟไหม้
2 ต.ค. 67: รมว.กระทรวงมหาดไทย และ อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ดูแลสุขภาพจิตผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบ ที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย กำชับเจ้าหน้าที่สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้สูญเสียเพื่อขอรับใบมรณะบัตรด้วยความรวดเร็ว
กระทรวงยุติธรรม (ยธ.)
นอกจากมาตรการเรื่องความปลอดภัยและการเยียวยาผู้ประสบเหตุของหน่วยงานรัฐที่ นายกฯ มีคำสั่งให้กำกับดูแลเหตุในข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องของสิทธิและเสรีของประชาชนที่มี กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นผู้รับผิดชอบ ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ประสบเหตุเรื่องเงินเยียวยา และความช่วยเหลือเรื่องความยุติธรรมในด้านต่าง ๆ ที่ผู้ประสบเหตุพึงได้รับ ดังนี้
1 ต.ค. 67 : พงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม สั่งการให้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่แจ้งสิทธิการเยียวยาในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญา ให้แก่ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และรับคำขอการเยียวยา พร้อมกำชับให้เร่งรัดการเยียวยาโดยเร็วที่สุด
6 ต.ค. 67 : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรม, เอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะ มอบเงินเยียวยาแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน จำนวน 23 คน เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4,600,000 บาท
ผ่านมา 1 เดือน หลังเหตุการณ์รถบัสไฟไหม้ สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงนอกเหนือจากการช่วยเหลือ เยียวยา ซึ่งก็ถือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และมาตรการของรัฐ ที่แต่ละหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่ยังพบว่า การตั้งคณะกรรมการหลายชุด ยังมุ่งไปสู่ความพยายามตรวจสอบสาเหตุ และเน้นการป้องกัน แก้ไขปัญหาในเชิงระบบ
ทั้งการออกมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติม การตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานของรถโดยสารสาธารณะ การสั่งระงับใบอนุญาตของผู้ประกอบการที่ไม่ได้มาตรฐาน และการตรวจสอบสภาพรถทั้งหมดในเครือของผู้ประกอบการอย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรฐานที่เข้มงวดในระยะเวลาอันสั้นอาจเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากจำนวนรถที่ต้องตรวจสอบมีมาก และการทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดอาจไม่เป็นไปตามแผน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบและติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มาตรการเหล่านี้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
แต่คำถามคือ จากนี้มาตรการต่าง ๆ จะสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องแค่ไหน ? ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเร่งรัดการดำเนินงานให้ครบถ้วนและทันท่วงทีได้ ก็อาจส่งผลให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
กางข้อสังเกต เมื่ออุบัติเหตุไม่ใช่แค่ ‘ความประมาท’ ของคนขับ
หลายครั้งที่เมื่อเกิดเหตุหลายคนมักจะวิเคราะห์และให้น้ำหนักอยู่ที่ ความประมาท ขาดจิตสำนึกของคนขับ และไปไม่ถึงความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ นี่คือประเด็นที่ นพ.ธนะพงษ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ชี้ให้เห็นว่า ในการวิเคราะห์เพื่อที่จะหาสาเหตุของแต่ละเหตุการณ์ จะต้องพิจารณาองค์ประกอบให้ครบถ้วน ทั้งสมรรถภาพคนขับ ยานพาหนะ และกายภาพอื่น ๆ โดยเฉพาะ ระบบมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งในกรณีรถบัสไฟไหม้ครั้งนี้ จะพบการเชื่อมโยงกับระบบ และหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายเรื่อง
“ทำอย่างไรให้เรื่องนี้มีการจัดการและติดตาม ถ้าไม่แก้ไข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบหรือคาดโทษอย่างไร”
นพ.ธนะพงษ์ จินวงศ์
ข้อบกพร่องหลายประการที่สร้างความสูญเสียโดยที่แท้จริงแล้วหลายหน่วยงานสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ได้ โดย นพ.ธนะพงษ์ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงระบบของ กรมการขนส่งทางบก และการตรวจสภาพรถอีกด้วย ซึ่งต้นทางของเรื่องนี้ คือ การที่ปล่อยให้รถโดยสารไม่ประจำทางเข้าสู่ระบบโดยง่าย ส่งผลให้การตรวจสอบสภาพรถอย่างละเอียดเป็นไปอย่างล่าช้าและอาจไม่ได้เข้มงวดมากพอ
เพราะเมื่อเทียบจำนวนเจ้าหน้าที่และสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศที่จะต้องมาตรวจสอบสภาพรถโดยสารไม่ประจำทางที่ติดตั้งแก๊สกว่า 13,000 คัน จะพบว่ามีสัดส่วนที่ต่างกันมาก ซึ่งจะเห็นว่าตั้งแต่เกิดเหตุสามารถตรวจไปได้เพียงหลักพันเท่านั้น ในจำนวนนี้ก็มีรถเกือบ 100 คันที่ไม่ผ่านมาตรฐาน
การตรวจสภาพรถหลังเกิดเหตุการณ์นี้ จึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจริงที่อาจทำให้ในอนาคตเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ซึ่งหากต้องการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นพ.ธนะพงษ์ จึงมีข้อเสนอในส่วนของ กรมการขนส่งทางบก ดังนี้
- เพิ่มความเข้มงวดในการนำรถเข้าระบบ
- สุ่มตรวจรถโดยสารไม่ประจำทางที่ติดตั้งแก๊สบนท้องถนน หากพบว่าไม่ผ่านมาตรฐาน ควรเพิกถอนใบอนุญาตและมีบทลงโทษทางอาญา
- ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับการกำหนดอายุคัสซีและระยะทางการวิ่งของรถโดยสารเก่า และในช่วงที่มีการศึกษาควรเทียบเคียงกับรถโดยสารประจำทางไปก่อน หรือใช้หลักเกณ์เดียวกัน
“ถ้าจะแก้เรื่องนี้จริง ๆ ต้องไปที่การอนุมัติรถเข้าระบบ และต้องเข้มงวดมากกว่านี้ ไม่ปล่อยให้รถในกลุ่มรายย่อยเข้าระบบโดยง่าย ทั้งที่ขาดความปลอดภัย ระยะยาวต้องตั้งเกณฑ์มาตรฐานให้สูงเข้าไว้ รถที่ไม่พร้อมจะต้องไม่อนุญาตให้เข้าระบบ เพราะจะกระทบขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสภาพรถ”
นพ.ธนะพงษ์ จินวงศ์
ส่วนการจัดทัศนศึกษา ของสถานศึกษาภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธนะพงษ์ มองว่า เหตุที่ต้องใช้ยานพาหนะที่เก่าและไม่มีประสิทธิภาพสำหรับการไปทัศนศึกษา เป็นเพราะค่าใช้จ่ายรายหัวของนักเรียนในการไปทัศนศึกษามีจำกัด ทำให้ต้องจัดหารถที่ราคาถูก และผู้ประกอบการก็ต้องหารถในราคาจำกัด เพื่อการประหยัดต้นทุน นั่นคือการลักลอบติดตั้งแก๊สหลายลูกเกินกว่าที่จะรับได้
ด้วยเหตุนี้ ส่งผลมาถึงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการเข้าไปสนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องเป็นมาตรการที่จะยกระดับความปลอดภัยได้จริง ไม่ใช่มีเพียงแค่การเข้มงวดมาตรการ ซึ่งอาจเป็นการทำงานระยะยาวที่ควรคำนึงควบคู่
ท้ายที่สุด หากประเทศไทยมีหน่วยงานที่มาร่วมวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุในมิติต่าง ๆ ได้ ก็จะสามารถทำให้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และสามารถวิเคราะห์ที่ไปถึงรากของปัญหาได้จริง
นี่คงไม่ใช่แค่วัวหายล้อมคอก แต่ความพยายามออกมาตรการ และปรับปรุงกฎ ระเบียบ กติกา นับจากนี้จำเป็นอย่างยิ่งต้องให้เข้มงวด ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่า ผู้ใหญ่ทุกคน มีภาระหน้าที่ของการปกป้อง ดูแล ความปลอดภัยให้กับเด็ก เยาวชน จากนี้ในช่วงระยะเวลาที่ทอดยาวออกไป อะไรจะเป็นหลักประกันว่า มาตรการที่ถูกกำหนดขึ้นจะทำได้อย่างต่อเนื่อง และเข้มงวดจริงจังมากพอ เพื่อลดความเสี่ยง นี่คือความท้าทายที่สังคมยังคงจับตาอย่างใกล้ชิด