เปิดแนวคิดนักเฝ้ามองการเมือง “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.”

เมื่อความฝันประชาชนปะทะความจริงปลุกกรุงเทพฯ

ท่ามกลางปรากฏการณ์ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ” ที่คึกคักมากยิ่งขึ้น หลังเปิดรับสมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ย่านดินแดง อีกฟากที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ย่านปทุมวัน ภาคีภาคประชาชนมากกว่า 70องค์กร ก็ร่วมกันเปิดตัว “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” ในวันเดียวกันเพื่อเปิดภาพฝันเมือง 6 ลักษณะ คือ เมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ และเมืองมีส่วนร่วม ที่ต้องการปลุกผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ให้ลุกขึ้นมาร่วมกันเปลี่ยนเมืองด้วยการฟังความต้องการประชาชน

ภาพฝัน 6 ลักษณะ ได้ถูกนำเสนอเพื่อสนทนาถึงการสร้างเมืองให้เกิดขึ้นจริงกับ 3 นักเฝ้ามองเมือง ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ และ สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

The Active ชวนติดตามแนวคิดปลุกกรุงเทพฯ ของ 3 นักเฝ้ามองการเมือง กับความเป็นไปได้ของภารกิจเปลี่ยนมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ด้วยการเฝ้ามองในฐานะพลเมืองที่จะร่วมกันเปลี่ยนการเลือกตั้งท้องถิ่นสนามใหญ่ครั้งนี้

“ความเป็น Active citizen เห็นตั้งแต่เลือกตั้งระดับชาติปี 62 ถ้าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทำการบ้านแบบดั้งเดิมรอบนี้จะผิดหวัง ถ้าเดาทางภาคพลเมืองไม่ถูก 4 ปีข้างหน้า ผู้ว่าฯ – ส.ก. ต้องทำงานร่วมกับประชาชน เราไม่เรียกร้องจากท่านหรอก แต่ขอให้ท่านมาทำงานกับเรา”

สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวขึ้นช่วงหนึ่งในฐานะนักเฝ้ามองทางการเมือง โดยได้วิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. นี้ มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2556

“เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ จะเปลี่ยนไหม ผมก็ยังชั่งใจอยู่ว่าจะเปลี่ยนหรือเปล่า ผมมองการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนสนใจตัวผู้สมัครมากกว่าพรรคที่สังกัด เราจะเห็นภาพการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มักมีสีสันของผู้สมัคร”

สติธร กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเห็นผู้สมัครจากพรรคเด่น ๆ อยู่ 2-3 คน แล้วจะมีผู้สมัครอิสระที่น่าสนใจอยู่ทุกครั้ง ยกเว้นปี 2556 ที่แพทเทิร์นการโหวตเหลือผู้สมัครเด่น ๆ แค่ 2 คน ในปี 2565 จะเหลือแค่ 2 คน เหมือนตอนปี 2556 หรือไม่ หรือกระจัดกระจาย เป็นสิ่งที่น่าสนใจ


ในส่วนความสนใจของภาคพลเมือง หรือ Active citizen ในกรุงเทพฯ สติธร มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เห็นสัญญาณตั้งแต่สนามเลือกตั้งระดับชาติเมื่อปี 2562 ถ้าผู้สมัครยังทำการบ้านแบบดั้งเดิมโดยลืมมองว่า Citizen ในกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปเยอะ ผลการเลือกตั้งรอบนี้จะผิดหวัง โดยลงทุนมากแต่ได้ผลตอบแทนน้อย ถ้าเดาทางประชาชนไม่ถูก

“ผมมั่นใจว่าพลังของประชาชนจะแสดงออกอย่างชัดเจนในวันที่ 22 พ.ค. นี้ ใครก็ตามที่เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ว่าฯ และ ส.ก. ต่อจากนี้ 4 ปีข้างหน้าของเขาต้องทำงานร่วมกับประชาชน เหมือนกับประชาชนหลายหลายคนหลายกลุ่มในเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ที่มาระดมความคิดเห็นกันแล้วพูดเลยว่าเราไม่รอเรียกร้องจากท่านหรอก แต่ขอให้ท่านมาทำงานกับเรา”

“เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ไม่ได้แข่งกันแบบ 2 ขั้วอำนาจเหมือนเดิม ปัญหากรุงเทพฯ กระทบรอบข้างด้วย เกี่ยวข้องอารมณ์ผู้คนเยอะขึ้น วันนี้ใครเจอปัญหาพิมพ์ด่าได้เลย ผู้ว่าฯ ต้องบริหารให้ทันอารมณ์ผู้คน นโยบายจะสะท้อนความจริงที่ประชาชนฝัน”


ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. นี้ ว่าเป็นการระบายความอัดอั้นของประชาชนในการเลือกตั้งท้องถิ่นสนามสุดท้ายหลังการรัฐประหาร โดยมองเห็นสัญญาณสำคัญจากการทำงานของ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ กำลังบอกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ นโยบายของผู้สมัครจะสะท้อนความจริงที่ประชาชนฝัน


ผศ.พิชญ์ ได้สำรวจประเด็นปัญหา พบ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ปัญหาเดิมตั้งแต่การเลือกตั้งรอบที่แล้ว ซึ่งมีปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ได้แก่ 1.) น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ไม่ใช่ว่ากรุงเทพฯ ไม่เคยมีน้ำท่วม แต่เผยปรากฏการณ์ให้เห็นว่าน้ำท่วมกรุงเทพฯ กระทบคนรอบกรุงเทพฯ มากขึ้น ดังนั้นเมื่อพูดถึงปัญหากรุงเทพฯ จะหมายถึงปัญหาของคนโดยรอบด้วย ซึ่งปัญหาน้ำท่วมในอดีตไม่ค่อยพูดถึง 2.) PM 2.5 การเลือกตั้งสมัยที่แล้วยังไม่มีปัญหานี้ จะเห็นว่ามีปัญหาใหญ่เพิ่มขึ้น 3.) โควิด-19 ได้เห็นนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ และ ส.ก. ชูนโยบายเพิ่มโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 50 เขต


“ผมถามจริง ๆ คนแม่ฮ่องสอนไม่มีปัญหาหรือ ถึงนั่งดูคนกรุงเทพฯ เขาฝันกันจะมีโรงพยาบาล 50 แห่ง แม่ฮ่องสอนมีอยู่เท่าไรนะ กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ทุกเรื่องมันกระทบกัน เวลามันเกิดความพังทลายขึ้นมาจริง ๆ มันพังด้วยกันหมด”

ผศ.พิชญ์ กล่าวต่อในส่วนที่สอง โดยเป็นมิติการเมืองที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ เป็นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร ที่ทำให้วงจรการเลือกตั้งไม่ปกติ ในด้านอารมณ์ผู้คนมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น และอินเทอร์เน็ตมีผลอย่างมากในการเลือกตั้งรอบนี้


“อารมณ์ของผู้คนไม่เหมือนเดิม เวลาเจอปัญหาคนมันแชร์กันหมด พิมพ์ด่าเลย สมัยก่อนไม่รู้จะไปร้องเรียนที่ไหน แต่สมัยนี้ทุกคนอารมณ์ขึ้นก็โพสต์ลงไปได้เลย การเลือกตั้งรอบนี้ไม่ได้เป็นการแข่งกันแบบ 2 ขั้วอำนาจเหมือนเดิม มันเต็มไปด้วยความขัดแย้งในทุกหย่อมหญ้า ผู้ว่าฯ ต้องบริหารอารมณ์ผู้คนให้ทันความต้องการ”

“ถามว่ากรุงเทพฯ เปลี่ยนหรือยัง ถ้าจาก 30 ปีก่อนเปลี่ยนแล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกรุงเทพฯ ในช่วงหลังหรือเปล่า ยังวิ่งไม่ทัน ปัญหากรุงเทพฯ ถูกแก้ราวกับเป็นงานประจำ ไม่ได้มองเห็นจริง ๆ ว่าปัญหาเปลี่ยนรูป มันต้องดักหน้า ถ้าผู้สมัครไม่รู้อย่าลงเลย”

ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงมุมมองที่มีต่อคำว่า “เปลี่ยนกรุงเทพฯ” ซึ่งเห็นว่าถ้ามองปัญหาที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ก็ถือว่ามี แต่เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทาง แต่ถ้าให้มองว่าเปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกรุงเทพฯ และปัญหาที่รุมเร้าอยู่ในช่วงหลังหรือไม่ มองว่าผู้ว่าฯ กทม. ยังวิ่งไม่ทัน มีการเร่งเพียงบางช่วง

“การทำงานแก้ปัญหา กทม. มันทำต่อเนื่องราวกับเป็นงานประจำ พอเราทำงานพัฒนาเมืองให้เป็นเหมือนงานประจำ ทำส่ง ๆ เสร็จ ๆ ไปวัน ๆ ไม่ใช่การทำแล้วมองให้เห็นจริงๆ ว่าปัญหามันเปลี่ยนรูป ถ้าปัญหามันเหมือนเดิมสัก 30-40 ปีที่แล้ว ก็จะไม่ว่าอะไรหรอก แต่ทีนี้ปัญหามันเปลี่ยนรูปแล้วเปลี่ยนเร็วมากในช่วงหลังมานี้ แล้วคุณดำเนินการพัฒนาในรูปแบบคล้าย ๆ งานประจำ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ Pain point หรือแก้ปัญหาคนเมืองในปัจจุบันได้”

ผศ.ทวิดา มองต่อไปในด้านความรู้ของภาคประชาชนผ่านข้อเสนอนโยบายเมือง 6 ลักษณะที่อยากเห็น โดยได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 3 หมวด คือ หมวดที่ 1 “เมืองที่มีความทันสมัยและความคิดสร้างสรรค์” พบว่าบางคนต้องการเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองสมาร์ตทันสมัย แต่บางคนมีความกลัวว่าจะสมาร์ตเกินไปไม่ปกป้องของเดิม หมวด 2 “เมืองสุขภาพดี น่าอยู่ ปลอดภัย” ควรจัดทำปัจจัยพื้นฐานก่อนก่อนอันดับแรก และ หมวด 3 “เมืองที่เป็นธรรมในแง่สวัสดิการและการจัดการ” เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนเสมอกัน ทำให้คนเปราะบางสามารถอยู่ในเมืองได้อย่างเท่ากัน

“มีอีก 3 คำสำคัญจากการนำเสนอ 1.) ทุกกลุ่มพูดเรื่องการมีส่วนร่วม 2.) พูดถึงความสม่ำเสมอและเข้าถึงข้อมูลว่าเมืองพัฒนาถึงไหนแล้ว 3.) การ Digitize อะไรหลาย ๆ อย่าง ดิฉันคิดว่า 3 เรื่องนี้ มันอาจไม่ใช่เรื่องที่เราเอามาทำเป็นนโยบายเพื่อให้ผู้ว่าฯ ทำเป็นครั้ง ๆ แต่ 3 เรื่องนี้ ต้องอยู่ในกลไกของการบริหารจัดการกรุงเทพมหานคร”

ผศ.ทวิดา เสนอว่าในนโยบายเปลี่ยนกรุงเทพฯ ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการและทุกแพลตฟอร์ม ในขณะเดียวกันระบบกำกับติดตามและประเมินผล ต้องสามารถเข้าถึงได้และเห็นความก้าวหน้าของแต่ละเรื่อง โดยที่ผ่านมาไม่เคยถูกทำให้เห็นว่าปัญหาถูกแก้ไขไปไหนแล้ว ติดขัดตรงไหน และบางเรื่องได้ถูกนำมากล่าวอ้างว่าทำไม่ได้ ทั้งที่อาจจะถูกแก้ได้ด้วยเครือข่ายภาคประชาชนร่วมมือกัน

“ดีกรีในส่วนความรู้สึกของประชาชนที่ไม่ได้เลือกตั้งมายาวนาน ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร แล้วเราต้องทนกับอะไรอยู่ ตอนนี้กลุ่มความต้องการชัดขึ้น กลุ่มไหนต้องการอะไร อย่างวันนี้ที่เราเสนอนโยบายที่เราอยากได้ ก็ยิ่งทำให้คนที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. มีโจทย์ที่จะต้องตอบสนองมากขึ้น ถ้าพูดถึงเรื่องการจัดการและการพัฒนา ประเด็นอยู่ที่การลงมือทำให้มันทันกับปัญหา มันต้องดักหน้า ถ้าผู้สมัครไม่รู้อย่าลงเลย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม