ข้อเสนอถึง #หมอชลน่าน ร่วมสร้างนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้า

หลังติดตามนโยบายของพรรคการเมือง จนมีการแถลงนโยบายต่อสภา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีกำหนดการแถลงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 22 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมานั้น ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดเวที Policy Forum ครั้งที่ 1: นโยบายสาธารณสุข เพื่อให้ภาคประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียได้นำเสนอ ร่วมแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอ ต่อนโนยบายสาธารณสุขในด้านต่าง ๆ

ผู้เข้าร่วม Policy Forum ครั้งที่ 1 นโยบายสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566 ประกอบด้วย นิมิตร์ เทียนอุดม รองประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย พญ. สุพัตรา ศรีวาณิชชากร ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทยและ รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย

เริ่มจาก นโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาลที่จะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลขนาด120 เตียงในเขตดอนเมืองซึ่ง อยู่ในโซนกรุงเทพเหนือ แต่ขาดหน่วยบริการรองรับประชาชน Policy Forum มองว่าเป็นนโยบายที่ดีสอดคล้องกับสถานการณ์ แต่มีข้อเสนอว่า ควรดึงโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีเป็นจำนวนมากในกรุงเทพมหานครมาร่วมให้บริการเพื่อความทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดย สปสช. ก็ควรมีการปรับการจ่ายเงินเพื่อไม่ให้เหลื่อมล้ำระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับเอกชนนอกจากนี้ก็ควรจัดตั้งเครือข่ายระบบสุขภาพโดยมีโรงพยาบาลเขต ทั้ง 50 เขตเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายให้กับศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกอบอุ่น โดยนโยบายเหล่านี้ควรจะมีตัวชี้วัด คือ หมดปัญหาการส่งต่อข้ามสังกัด ประชาชนสามารถรักษาได้ทุกที่โดยที่ไม่ถูกโรงพยาบาลปฏิเสธ คนทุกสิทธิสุขภาพ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานคร ก็สามารถไปโรงพยาบาลที่ไหนก็ได้เหมือนกัน

นโยบายสุขภาพจิต ยาเสพติด ที่จะมีการตั้งศูนย์ธัญญารักษ์ทุกจังหวัด Policy Forum มองว่าต้นตอของปัญหาสุขภาพจิตในทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากการปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ดังนั้นข้อเสนอคือดึงให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเช่นเดิม โดยตัวชี้วัด ก็คือผู้ป่วยจิตเวชมีจำนวนลดลง

มะเร็งครบวงจร ที่ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้ได้ 1 ล้าน โดสใน 100 วัน Policy Forum เห็นด้วยและควรจะต่อยอดโครงการมะเร็งรักษาทุกที่โดยควรเพิ่มจำนวนหน่วยรังสีรักษามะเร็ง ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 42 แห่งยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัดส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานครถึง 12 แห่ง และยกระดับศูนย์มะเร็งในต่างจังหวัดให้มีศักยภาพและคุณภาพเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 

การสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งเป้าจะออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่ในส่วนของบุคลากรที่ขาดแคน Policy Forum  มองว่าควรผลิตบุคลากรเพิ่มไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิ โดยเสนอให้แพทยสภาเพิ่มโคต้าการผลิต “หมอครอบครัว” โดยเฉพาะเพื่อให้มีเพียงไปประจำหมุนเวียนในทุก รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้กับประชาชนมากที่สุด

การแพทย์ปฐมภูมิ ในนโยบาย สธ. ระบุ ตรวจเลือด รับยา เทเลเมดดิซีนใกล้บ้าน Policy Forum มองว่านโยบายนี้สำคัญมาก จะต้องมีการวางรากฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาการถ่ายโอน รพ.สต.ไปอยู่กับอบจ. ด้วยการแก้ระเบียบการเบิกจ่ายข้ามสังกัด ยกระดับคุณภาพให้ รพ.สต. มีหมอครอบครัวและควรมีการจัดสรรงบประมาณแก่งานส่งเสริมป้องกันโรคให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยตัวชี้วัดของนโยบายการแพทย์ปฐมภูมิจะดูได้จากคนใช้บริการ รพ.สต.มากขึ้นและโรงพยาบาลใหญ่มีความแออัดลดลง ประชาชนสุขภาพดีขึ้น อัตราการป่วยลดลง

สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ จะขึ้นทะเบียนเบิกจ่ายเรียลไทม์ในบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ และลงทะเบียนปูพรมกลุ่มประชากรเฉพาะ Policy Forum  มองว่ามาถูกทาง แต่ควรจะตั้งกองทุนสุขภาพชายแดนมาตามจ่ายค่ารักษาให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ตัวชี้วัดก็คือปัญหาโรงพยาบาลชายแดนขาดทุนควรจะลดน้อยลง 

สถานชีวาภิบาล ที่จะมีการจัดตั้งจังหวัดละหนึ่งแห่ง และมีคลินิกผู้สูงอายุครบทุกโรงพยาบาล Policy Forum มองว่ายังเป็นนโยบายที่ไม่รองรับสังคมสูงวัยครบทุกมิติ ทั้งนี้ควรให้หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และพัฒนาหน่วยปฐมภูมิใกล้บ้านให้มีบุคลากรมากยิ่งขึ้น 

พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย จะมีการเพิ่มศักยภาพการวินิจฉัยตรวจโลกด้วย CT Scan และ MRI นั้น Policy Forum มองว่านอกจากจะเพิ่มเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยให้กับโรงพยาบาลชุมชนแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องเพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ที่จะสามารถใช้เครื่องมือเหล่านั้น และเพิ่มงบประมาณสนับสนุนด้วย

ดิจิทัลสุขภาพ บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ Policy Forum มองว่าเป็นเรื่องที่จะพลิกโฉมหน้าระบบสาธารณสุข หากทำได้จริง โดยข้อเสนอคือจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมั่นใจในหน่วยบริการใกล้บ้าน ก่อนอื่นจึงต้องเริ่มจากการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิอย่างรพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การรักษาทุกที่เกิดขึ้นได้จริง ลำดับต่อมาคือพยายามลดความเหลื่อมล้ำใน 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งนี้ดิจิทัล สุขภาพจะเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่กระทรวงดิจิตอลเศรษฐกิจและสังคมจะทำ “Could Health” ได้สมบูรณ์แบบ สามารถเชื่อมข้อมูลผู้ป่วยและรักษาความเป็นส่วนตัวได้ทุกโรงพยาบาล ตัวชี้วัดที่ควรจะเป็นคือประชาชนรักษาได้ทุกที่ไม่ถูกโรงพยาบาลปฏิเสธ และไม่ถูกโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินส่วนต่าง

การส่งเสริมการมีบุตร ที่จะมีการจัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตรจังหวัดละหนึ่งแห่งและคัดกรองโรคหายากในทารกแรกเกิด เป็นงานในส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขจะทำเพื่อส่งเสริมอัตราการเกิด แต่ Policy Forum มองว่าที่มากไปกว่านั้นคงจะต้องบูรณาการกับหลายกระทรวงในการพัฒนาสวัสดิการเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณ และอาจต้องมีการแก้กฎหมายสิทธิ์การลาคลอด

เศรษฐกิจสุขภาพ จะมีการพัฒนาชุมชนสุขภาพดี หรือ Blue Zone เขตสุขภาพละ1 แห่ง ขึ้นทะเบียน Wellness Cemter 500 แห่งและอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน 100 รายการ รวมทั้งยังมีในเรื่องของนักท่องเที่ยวปลอดภัยจะทำเซฟตี้ทัวริสต์เขตสุขภาพละ 1 แห่งนั้น Policy Forum มีข้อสังเกตและข้อห่วงใยว่าจะต้องไม่ทำให้กระทบกับทรัพยากรสาธารณสุขภายในประเทศ ไม่ทำให้เกิดภาวะบุคลากรสมองไหลออกจากระบบ ไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้โดยเสนอให้ สปสช. แก้กฎหมายเพื่อขายประกันสุขภาพให้กับชาวต่างชาติทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นแรงงานเพื่อนบ้าน หรือจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวในรูปแบบบังคับ พร้อมกับการขอวีซ่า ซึ่งจะได้ประโยชน์สองต่อ แก้ปัญหาสุขภาพแรงงานต่างด้าว คือลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ และสามารถเพิ่มรายได้จากการขายประกันสุขภาพไปพร้อมกัน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์