ประเทศไทย มีชาติพันธุ์หลากหลาย มากกว่า 60 กลุ่ม เฉพาะแค่ที่ขึ้นทะเบียนกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยแล้ว 46 กลุ่ม มีประชากรรวมประมาณ 6,100,000 คน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรทั้งประเทศ
ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาชุมชน และเป็นกำลังสำคัญของส่วนรวมต่อการพัฒนาประเทศในหลาย ๆ ด้าน ปัจจุบันจะเห็นว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ตื่นตัวกลับถิ่นฐานพัฒนาชุมชน ทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม ที่เป็นการอนุรักษ์และสื่อสารให้เห็นคุณค่าศักยภาพชาติพันธุ์ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างรายได้ สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย สร้างความเข้าใจการยอมรับตัวตนชาติพันธุ์
แต่ขณะเดียวกัน ชุมชนชาติพันธุ์หลายพื้นที่ยังเผชิญปัญหาและต้องพบกับนโยบายที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการจำกัดสิทธิด้านต่าง ๆ เช่น ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ส่งผลกระทบต่อโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาในด้านต่าง ๆ แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติเรื่องสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียม แต่กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ และยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่พึงมี
เนื่องในเดือนแห่งการรณรงค์ วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก และวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 9 สิงหาคม 2566 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ The Active ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “เดินหน้าต่อ…คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์“ สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน ความท้าทายต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนข้อเสนอแนะ สู่การคุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ทำหน้าที่ 2 ปีกว่า มีเรื่องร้องเรียนจากชุมชนต่าง ๆ กว่า 100 ชุมชน เช่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวม ประมาณกว่า 30 ชุมชน, ปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี, ปัญหาความเดือดร้อนของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ และพบว่ากฎหมายที่ออกในยุค คสช. มีการละเมิดสิทธิจำนวนมาก
“ตั้งแต่ทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบการร้องเรียนที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน กว่า 100 ชุมชน…และพบว่ากฎหมายที่ออกในยุค คสช. มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมจะเป็นการสร้างรูปธรรมสิทธิในพื้นที่ดั้งเดิมให้กับชุมชน“
แต่การมี มติ ครม. ปี 2553 การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ถือเป็นก้าวแรก ซึ่งต่อมาได้มีการผลักดันกฎหมายสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ชาวเลเริ่มแสดงความเป็นตัวตนขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้น จะต้องลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิของตนเอง พร้อมขอบคุณไปยัง กสทช. ที่มีการเผยแพร่ข้อมูล การเสริมความเข้มแข็งของชาติพันธุ์ และการสร้างรูปธรรม เป็นสิ่งที่สำคัญโดยที่ไม่ต้องรอนโยบาย
ทั้งนี้ จากการร้องเรียนต่าง ๆ จะต้องดูกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย มติ ครม. ปี 2553 ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และชาวเล รวมถึงรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กะเหรี่ยงบางกลอย เป็นการละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ขณะที่การสร้างตัวตนให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีตัวตน เช่น การประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ เป็นการสร้างรูปธรรมพื้นที่ดั้งเดิม ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และเป็นการสร้างอำนาจให้กับชุมชนอีกด้วย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้มีการสนับสนุนและส่งเสริม พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เนื่องจากมีหลายฉบับมีความเป็นห่วง
ส่วนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อมีการพัฒนาโครงการที่มากระทบกับชุมชน มีการขัดต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ เราได้มีการช่วยกันติดตามอย่างต่อเนื่อง หากมีการติดตามอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดพื้นที่รูปธรรมได้ และเชื่อมั่นความเข้มของชุมชน และเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง คือความเข้มแข็งของชนเผ่าพื้นเมือง
ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมือง เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ซึ่งตามมติครม. สิงหาคม ปี 2553 เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ระบุว่าเป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งมักจะถูกตั้งคำถามจากสังคมและหน่วยงานรัฐ ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติในการให้สิทธิพิเศษกับชนเผ่าหรือไม่ จึงต้องย้ำว่าแนวทางที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินการพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่เป็นสิทธิควรมี ควรได้ ดังนั้น เป้าหมายการขับเคลื่อนเพื่ออุดช่องว่างระหว่างกฎหมาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับคนทั่วไป จึงเกิดมติ ครม. ชาวเล ซึ่งเข้าใจว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนน้อยและเป็นกลุ่มเปราะบาง ส่วนมติชาวกะเหรี่ยงเนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก หลังมีการใช้มติ ครม. ก็ถูกมองว่ายังไม่ใช่กฎหมาย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้
ในส่วนของเครือข่ายเราพยายามใช้ เหมือนเราเรียกร้องเรื่องการปลูกข้าว หน่วยงานรัฐบอกว่าทำได้ แต่ไม่สามารถใช้จอบในพื้นดินของเราได้ ปัญหาที่เราประสบ คือ กฎหมาย ชุมชนกะเหรี่ยงได้มีการปรับตัวเอง โดยการลุกขึ้นด้วยตนเอง ในด้านการจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่มีหน่วยงานองค์กรเป็นเจ้าภาพหลัก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ไม่สามารถสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพราะหน่วยงานไม่ให้ความสำคัญหรือเพราะไม่สำคัญ หรือมองว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะมักจะมีประเด็นของเรื่องความมั่นคง
ประเด็นที่ 2 การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกฎหมาย คน งบประมาณ การดำเนินงานไม่มีการยืดหยุ่น เกี่ยวข้องกับหน่วยงานจะต้องรอการอนุมัติจากหน่วยงาน, ประเด็นที่ 3 การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานยาก, ประเด็นที่ 4 เครื่องมือและพื้นที่ มีความเกี่ยวข้องหน่วยงานกรมเป็นหลัก แต่หน่วยงานปฏิบัติการในระดับพื้นที่ไม่มีความเข้าใจ, ประเด็นที่ 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจ ต้องรอคำสั่งจากระดับนโยบาย การขับเคลื่อนในภาคประชาสังคม บางพื้นที่ประกาศ หน่วยงานรัฐไม่ยอมรับและไม่ยอมรับรอง มีการทำให้คลอดแต่ไม่มีการรับรองและดำเนินการต่อ
ดังนั้น การเดินหน้าต่อในการคุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง เรื่องแรก คือการคุ้มครองสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง หากมองถึงเรื่องของความเปราะบาง จะต้องให้การคุ้มครอง ถ้ามองเรื่องความโดดเด่น จะต้องต่อยอดและพัฒนา เรื่องถัดมา คือการหนุนเสริมที่ยืดหยุ่นไหลลื่นได้ สาม เรื่องข้อกฎหมาย ที่เป็นข้อจำกัด จะต้องเอาออกไป หากกฎหมายที่เป็นบวกจะต้องใช้ช่องทางผลักดันให้ได้ สี่ การคุ้มครอง จำเป็นต้องมีพื้นที่นำร่องที่เป็นรูปธรรม จากประสบการณ์ชาวเลและกะเหรี่ยง ซึ่งพี่น้องชนเผ่าที่มีทุนอยู่จะต้องขับเคลื่อนร่วมกัน โดยพวกเรา และมีคณะทำงานที่ติดตามและหนุนเสริม และมีการสื่อสารสาธารณะ
“การเดินหน้าต่อในการคุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง หากมองเรื่องความเปราะบาง จะต้องเดินหน้าให้การคุ้มครอง ถ้ามองเรื่องความโดดเด่น จะต้องเดินหน้าต่อยอดและพัฒนา เมื่อกฎหมายเป็นบวกจะต้องเดินหน้าผลักดันให้ได้ พร้อมนำร่องพื้นที่คุ้มครองที่เป็นรูปธรรม มีคณะทำงานติดตามหนุนเสริม และมีการสื่อสารสาธารณะ”
อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สรุปสถานการณ์และประเด็นปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์เผชิญ
คือ 1. วิธีคิดต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ส่งผลให้ชนเผ่าไม่มีสถานะบุคคล เนื่องจากไม่พูดภาษาไทย การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ด้านทรัพยากร การใช้ภาษาวัฒนธรรม และการไม่ยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ จึงทำให้เกิดการสูญเสียอัตลักษณ์วัฒนธรรม
2. หน่วยงานไม่ค่อยสนใจชาติพันธุ์ เนื่องจากไม่มีความเข้าใจชาติพันธุ์ ปัญหาชาติพันธุ์ มักถูกเป็นประเด็นแยกกระทรวง ไม่เข้าใจมิติการพัฒนาการของชาติพันธุ์ แต่เรื่องชาติพันธุ์ ผูกโยงพันกับเรื่องความมั่นคงมากเกินไป จึงมีการกำหนดนโยบายชาติพันธุ์โดยฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากถูกมองว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
3. การทำงานเรื่องเขตพื้นที่คุ้มครอง จะต้องขยายประเด็นนี้ออกไป เพื่อต่อรองกับประเด็นที่ดิน ไร่หมุนเวียน คำว่าพื้นที่คุ้มครองไม่ควรมองเรื่องกายภาพ เป็นโจทย์ที่จะทำร่วมกันต่อไป ให้เป็นการสังเคราะห์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น พื้นที่คุ้มครอง ต้องไม่เป็นการคุ้มครองทรัพยากรที่มีการแยกออกจากคน แยกธรรมชาติออกจากวัฒนธรรม มีการคุ้มครองสัตว์ แต่ไม่มีการคุ้มครองคน ซึ่งการดำเนินการความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ได้เพราะการดำเนินวิถีชีวิตที่ผ่านวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง จึงต้องเดินไปสู่เรื่องแนวคิดการคุ้มครองเชิงวัฒนธรรมด้วย
“ไม่ฝากถึงหน่วยงานราชการ แต่ขอฝากถึงพี่น้องชาติพันธุ์ ที่ผ่านมา พี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ถูกกำหนดโดยคนอื่นมาเยอะแล้ว ดังนั้น ไม่มีอะไรสำคัญเท่าตัวของเราเป็นอย่างไร ขอให้ภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง ดังนั้น ความรู้ของเราเป็นสิ่งสำคัญ ต้องภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ สิ่งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยน ต่อให้กฎหมายดีมาก แต่หากเราไม่มีอัตลักษณ์ที่เป็นชาติพันธุ์ เราจะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้“
มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ก่อนจะมาร่วมเวทีนี้ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภาฯ ถึงกรณีที่เคยยื่นร่างกฎหมายชาติพันธุ์ไว้เมื่อรัฐบาลที่ผ่านมา และสภาฯ ชุดที่ 25 คือจะทำอย่างไรเพื่อที่ไม่ให้การยื่นกฎหมายชาติพันธุ์ของเราตกไป ซึ่งมีการตีความมติอยู่ ส่วนการใช้มติ ครม.กะเหรี่ยงและชาวเล ที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในปฏิญญานี้แล้ว หลังจากที่ลงนามแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการตามที่ได้ลงนามไว้ เช่น กระทรวงต่างประเทศของไทย กล่าวว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง มติ ครม. 3 ส.ค. หลักใหญ่ ไม่ได้ถูกนำปฏิบัติ ทำให้เรื่องเล็กพลอยได้ไม่ปฏิบัติด้วย
ดังนั้น ระยะทางที่จะนำไปสู่เรื่องนี้ เราได้มีการยืนยันให้มีการคุ้มครอง การรับรองตัวตนและสิทธิที่ดิน การลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐ
“แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำการรับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองได้ เช่น รัฐสภา สิ่งที่อยากเห็นความตกลงระหว่างประเทศเหล่านี้ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มีการขับเคลื่อนในเวทีรัฐสภา จะทำให้ความจริงสามารถเกิดได้ ในรัฐสภา มีกลไก มีกรรมาธิการ และเป็นครั้งแรกที่มีกฎหมายชาติพันธุ์เสนอเข้ามาในสภา ถึง 5 ฉบับ“
หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ตนมีความดีใจที่จะแก้ไขปัญหาของพี่น้องชนเผ่า เรื่องที่ดิน เรื่องสาธารณูปโภค สัญชาติ หลายเรื่องไม่ต้องแก้กฎหมาย แต่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ทั้งหมดนี้จะต้องมองระยะยาว การมีตัวตนสิทธิทางรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐไทยลงนามจะต้องยืนยันตัวตนที่ชัดเจน ระหว่างทางอยากชวนสภาชนเผ่าพพื้นเมืองได้ใช้พื้นที่รัฐสภา เสนอผ่านการประสานและใช้ประโยชน์ เนื่องจากพื้นที่รัฐสภาเป็นพื้นที่ที่จะต้องมีการเจรจาต่อรอง ส่วนที่สอง ระหว่างทาง ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม เป็นการสร้างฐานเศรฐกิจ ถึงแม้เราจะเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมแต่เรามีคุณค่า ที่คนส่วนใหญ่อาจไม่มี ทำให้เห็นว่ามีคนรุ่นใหม่ที่กลับไปชุมชนทำเรื่องของเศรษฐกิจชุมชน
มรรค ศรีขาว หัวหน้ากลุ่มพัฒนาราษฏรบนพื้นที่สูง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กรมประชาสงเคราะห์ ดำเนินการด้านการพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เป็นหน่วยงานที่ทำงานกับชนเผ่าหน่วยงานแรก เรื่องการศึกษา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หลังปี 2555 ได้มีการปรับโครงสร้าง เป็นกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หลังจากปี 2559 ทำงานเน้นหนักราษฎรบนพื้นที่สูง 10 กลุ่ม เป็นกรอบงานเรื่องของสวัสดิการและพิทักษ์สิทธิ์ ได้มีการจับกลุ่มชาติพันธุ์ กับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประจำตำบล เป็นภาคประชาชน ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ศูนย์ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน และหน่วยงานกลางสวัสดิการ
“ข้อเสนอการขยายพื้นที่วัฒนธรรม วิถีชีวิต ครอบคลุมพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย จิตวิญญาณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมองเรื่องมิติทุนทางสังคมด้วย ให้ใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่มาหนุนเสริมพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่วัฒนธรรมคุ้มครองเป็นจริง“
อรชพร นิมิตกุลพร ผู้จัดการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทกลไกของสหประชาชาติ การดำเนินการในนามของยูเอ็น ที่จะต้องทำตามความตกลงร่วมกัน และจะต้องปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตย รวมทั้งหน่วยงาน องค์กรมหาชน สอดคล้องกับหน่วยงานหลายส่วน แม้การทำงานไม่ได้ไปด้วยกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน การสนับสนุน เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างหน่วยงาน ทั้งนี้ ยอมรับว่าประเด็นชาติพันธุ์เป็นประเด็นที่ยาก และในภูมิภาคเอเชียได้มีการเชื่อมกันอยู่ มีการแชร์ข้อมูลร่วมกัน การจัดเวทีความร่วมมือกกับรัฐสภา และกรรมการธิการ เพื่อให้ความรู้กับประเด็นปัญหาของชาติพันธุ์ในระดับสากล ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมทุกเวทีมีการกล่าวถึงชาติพันธุ์ การแก้ไขปัญหาเพื่อมนุษชาติผ่านปัญหาเหล่านี้ได้ บทบาทของยูเอ็น ได้มีการสนับสนุนเรื่องขององค์ความรู้ การตีความเรื่องของนิยามของชนเผ่าพื้นเมือง อาจไม่สามารถให้ความเห็นได้เป็นเอกสิทธิของหน่วยงานในประเทศมากกว่า แต่จะเป็นการให้ตัวอย่างประเทศอื่น ๆ เช่น สถานทูตนิวซีแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ในหลักวิชาการได้มีการองค์ความรู้เหล่านี้ สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์เหล่านี้ได้
ยูเอ็นมีการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ละประเทศมีแนวทางที่จะร่วมขับเคลื่อน 17 เป้าหมาย ในไทยได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่เกี่ยวข้องหลายจังหวัด จะมีการแลกเปลี่ยนกัน และเป็นแนวทางการพัฒนาร่วมกันเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“องค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา ประชากรที่เป็นเยาวชนสำคัญ เพราะสัดส่วนประชากรโลกเกินครึ่งเป็นเยาวชน ดังนั้น จะต้องเสริมพลังของเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง เสริมศักยภาพและฟังเสียงเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกันไป“
สุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตผู้มีปัญหาสถานะบุคคลประชากรข้ามชาติ คุณภาพชีวิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความหลากหลายคือความอยู่รอดและเป็นความมั่นคง วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ความหลากหลายไม่ใช่ความต่าง ความหลากหลายคือความอยู่รอด ของโลกและสิ่งมีชีวิต
กลุ่มชนเผ่าเป็นประชากรเฉพาะที่จะต้องสนับสนุนให้มีการจัดการในเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมา ได้พัฒนาความรู้ นโยบาย และกฎหมาย เครือข่ายที่จะต้องทำและสนับสนุน พื้นที่ทั้งหมดซึ่งเป็นพื้นที่ของพวกเรา ปัจจุบัน รัฐไม่ค่อยยอมรับในการจัดการของคน จึงต้องสื่อสารเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน ทั้งทางวิชาการ สังคม และนโยบาย
ทั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลุ่มที่ สสส. ต้องเดินหน้าเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดี โดยผ่านกิจกรรม กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มแรงงานใกล้เคียงกัน มี 57 กลุ่มชาติพันธุ์ และคนไทยที่ไร้สิทธิ รณรงค์ให้เกิดการได้ยินเสียงของชนเผ่าพื้นเมือง ได้รับรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน มีการส่งเสริมเรื่องสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นเด็กและเยาวชน และผู้สูงอายุ เป็นการทำงานทั้งหมดเพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีสุขภาวะชนเผ่าพื้นเมือง
“มติ ครม. ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง เป็นกฎหมาย เพราะชัดเจนจากกรณีการละเมิดสิทธิกะเหรี่ยงบางกลอยแก่งกระจาน ได้มีการสั่งฟ้องต่อศาลปกครอง สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินต่อคดีนี้ว่า การที่กรมอุทยานแห่งชาติไม่ปฏิบัติตาม มติ ครม. กะเหรี่ยง เป็นการละเมิดทางกฎหมาย หากหน่วยงานไม่ทำตามถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มติ ครม. กะเหรี่ยง ไม่ได้ทำเฉพาะกะเหรี่ยง แต่ให้เอาไปใช้ในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่มีประเด็นลักษณะนี้ด้วย การจะประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษก็สามารถทำได้“
สุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายย้ำว่า การที่รัฐหรือหลายฝ่ายบอกว่ามติ ครม. ไม่ใช่กฎหมาย ตนขอย้ำว่า ที่บอกว่าไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองนั้นไม่ใช่ กฎหมายระหว่างประเทศมีการรองรับ การที่ไทยบอกว่า ไม่มี มันผิด เนื่องจากเวทีระดับสากลได้มีการเชิญตัวแทนของเราได้ร่วมประชุม ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง
ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์สำนักงาน กสทช. กล่าวถึงบทบาทของ กสทช. ต่อการส่งเสริมเรื่องชาติพันธุ์ ว่า กสทช. มองเรื่องของสิทธิ เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารคลื่นท้องถิ่น ซึ่งได้ขับเคลื่อนในรูปแบบในลักษณะของกฎหมาย เป็นองค์กรอิสระ ควรที่จะต้องดำเนินการและคุ้มครองสิทธิอย่างไร รวมทั้งภาพรวมการทำงานในภาพกว้าง และพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นองค์กรใหม่ซึ่งการทำงานพบว่า ในความเป็นสังคม มีความหลากหลาย เช่น กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง คนพิการ LGBT+ การเข้าถึงสื่อ ในฐานะที่เป็นผู้ชม ผู้ฟัง การใช้ข้อมูล ที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น
“การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ที่หลากหลายช่องทาง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร ข้อดีและข้อเสีย ปกป้องคุ้มครองตนเองได้ และสื่อสารพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองให้เกิดความเข้าใจในความเป็นพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในสังคม เพื่อให้เกิดการเคารพซึ่งกันและกัน“
เขาบอกอีกว่าที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนถึงการใช้ภาษาและวาทกรรม ที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น การนำเสนอแบบเหมารวม ที่นำไปสู่การเกิดความเข้าใจผิดในภาพลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมือง ดังนั้น เพื่อให้เกิดการลดอคติทางชาติพันธุ์ จึงมีรายการที่สร้างความเข้าใจต่อสังคมชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เช่น รายการวาดหวัง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเยาวชนมีความตระหนักถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ประชาชนสามารถขอรับทุนสนับสนุนได้ อย่างรายการซัมวัน กล่าวถึงพหุสังคมและวัฒนธรรม เป็นสร้างพื้นที่สื่อให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
ทั้งนี้มองว่า หน่วยงานรัฐจะทำหน้าที่ในการสนับสนุนเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ และเวทีการสื่อสารกับเยาวชน มี 2 ประเด็นหลักที่สำคัญ คือ 1. มีพื้นที่สื่อสารที่หลากหลาย ทำหน้าที่ในการสื่อสารเรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมือง 2. การตรวจสอบประเด็นที่เป็นการละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง
รังสิมา ไอราวัณวัฒน์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าการทำงานเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคล เน้นกลุ่มผู้หญิงและเด็กเยาวชน ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาของชนเผ่าพื้นเมืองที่คุณอภินันท์ได้นำเสนอ
ปัญหาสำคัญคือ หากไม่มีสถานะบุคคล จะไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิทธิการเดินทาง การทำงานไม่สามารถทำคนเดียวได้ และมีทุนอย่างจำกัด ดังนั้น เราไม่สามารถทำงานได้ทุกพื้นที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคล แต่เราโชคดีที่ขับเคลื่อนเรื่องของสถานะบุคคลของชนเผ่าพื้นเมือง และความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สสส. และกลุ่มชาติพันธุ์ เราได้ดึงศักยภาพขององค์กรที่มีศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสถานะบุคคล การทำงานจะเน้นการพัฒนาศักยภาพ ร่วมกับองค์กรชุมชน ความรู้ที่ได้จากการทำงานเดิมเหล่านี้ ควรถ่ายทอดให้กับองค์กรชุมชน การพัฒนาองค์กรเหล่านั้นมีความเข้มแข็งและสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้ โดยพร้อมและยินดีร่วมสนับสนุนการดำเนินงานระดับนโยบาย หากมีอะไรช่วยเหลือสามารถสื่อสารได้
“สิ่งสำคัญ คือ การเสริมพลัง นำเครื่องมือและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาประเทศ ให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหา และนำเสนอประเด็นนโยบาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายด้วย“