ภาพฝันอนาคตหลังเลือกตั้ง ของ ประชาชนอีสานตอนบน

Post-Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง โดย The Active และภาคีเครือข่าย ชวนชาวอีสานตอนบน จินตนาการถึงอนาคตของเมืองในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยพบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 56.14% คาดการณ์ว่า พื้นที่อีสานตอนบนจะพัฒนาพุ่งทะยานไปข้างหน้า ตามวิสัยทัศน์ของรัฐ ส่งเสริมการกระจายอำนาจท้องถิ่น ส่งเสริมนวัตกรรม เศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับความรู้ เท่าทันและใช้เทคโนโลยีเหมาะสมจัดการทรัพยากร ท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ในเวทีระดมความคิดเห็น ยังชวนกันคุยถึงรายละเอียด ว่าถ้าจะไปถึงภาพฝันนั้น นโยบายต่าง ๆ ต้องเป็นอย่างไร ซึ่งบทความนี้จะสรุปเนื้อหาการพูดคุยทั้งหมดให้อ่านได้และง่ายต่อการทำความเข้าใจ

ภาพอนาคตอีสานตอนบน : มิติด้านสิ่งแวดล้อม

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 1.ให้ชุมชนร่วมดูแลและจัดการทรัพยากร เพราะทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์จากการดูแลที่ดี ดังนั้นรัฐต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนร่วมดูและและจัดการทุนทางทรัพยากรให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน 2.แก้ปัญหามลพิษและโลกร้อนอย่างยั่งยืน ให้มีนโยบายแก้ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืนด้วยแนวทาง SDGs และการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม ลดผลกระทบต่อประชาชน สู่คุณภาพชีวิตที่ดี 3.ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหา ต่อยอดด้วยเทคโนโลยี โดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุน ปรับใช้องค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแก้ปัญหาและจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับใช้พลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ การจัดการขยะ โดยใช้เทคโนโลยีพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างเป็นระบบ

จงกล พารา ผู้ร่วมก่อตั้งตลาดเขียว ขอนแก่น กล่าวว่า การเข้าถึงทรัพยากร การจัดการสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจทั่วถึงและเป็นธรรม และระบบสุขภาพยั่งยืน เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมองว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จ.ขอนแก่น และหลายพื้นที่ในภาคอีสาน น่าจะเผชิญกับการเติบโตของความเป็นเมือง จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และหมู่บ้านจัดสรร รวมถึงการรุดหน้าของระบบเกษตรอุตสาหกรรม เกิดการแย่งชิงทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ดินขาดแคลน และช่องหว่างของความเหลื่อมล้ำกว้างมากขึ้น ส่วนภาพฝันของเธอคือสิ่งแวดล้อมดี คนมีความเป็นอยู่ที่ดี และเข้าถึงทรัพยากร

“ตอนนี้ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่าคนจนเริ่มไม่มีที่ดินทำกิน ความห่างของช่องว่างทางสังคมเยอะมากขึ้น คนรวยอาจจะมีเพิ่มนิดหน่อย แต่คนจนน่าจะเยอะขึ้นมาก แต่ถ้าจินตนาการสิ่งที่เราอยากให้เป็นคืออยากให้มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร เราพบว่ามีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่อยากทำการเกษตร แต่ไม่มีพื้นที่ เข้าไม่ถึงพื้นที่ทำการเกษตร จึงคิดว่าควรมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือเกษตรกรที่อยากทำเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้มีคนทำเกษตรอินทรีย์ไม่ถึง 5% ของประเทศ เราก็อยากฝันว่าให้มีเพิ่มขึ้นถึง 10% ขึ้นไป เพราะจะส่งผลให้คนมีสุขภาพที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย ถ้าเรามีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มันก็จะดีในภาพรวม เราไม่ต้องตื่นมาแล้วแสบจมูกเพราะฝุ่นเยอะเหมือนทุกวันนี้”

ภาพอนาคตอีสานตอนบน : มิติด้านสังคม

นโยบายด้านสังคม มีข้อเสนอดังนี้ 1.สังคมแห่งการมีส่วนร่วม มีความร่วมมือระหว่างวัย ไม่ปล่อยคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเพียงลำพัง มีการยอมรับทางความคิด คนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเพียงลำพัง มีการยอมรับทางความคิด คนรุ่นต่าง ๆ เชื่อมต่อประสบการณ์เพื่อพัฒนาสังคมไปด้วยกัน ด้วยกลไกต่าง ๆ เช่น วงพูดคุย และรับฟังในพื้นที่ชุมชน 2.เมืองน่าอยู่และเมืองแห่งความสุขที่ทันสมัยและชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมก้าวหน้า ปลอดภัย และมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่โดดเด่นไม่อายใคร 3.สังคมสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำ จัดการภัยพิบัติดี สังคมสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำ ผู้คนทุกกลุ่มเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงที่อยู่อาศัยได้รับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง มีการัจดการภัยพิบัติได้ดี โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนฅนไร้บ้านขอนแก่น ร่วมมองอนาคตขอนแก่น 10 ปีข้างหน้า เขาคิดว่าน่าจะมีความเจริญทั้งด้านระบบขนส่งสาธารณะ รถไฟความเร็วสูง ระบบรางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีนักลงทุนเข้ามามากขึ้น การขยายตัวของเมืองนำพาผู้คนที่แตกต่างเข้ามาอยู่รวมกัน ทั้งมาอยู่อาศัย ทำงาน แสวงโชค ซึ่งการพัฒนาเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว หากทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีช่องทางของงานและอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น แต่การเติบโตที่จะพาไปสู่สิ่งนั้นต้องพิจารณาว่าครอบคลุมกับคนทุกกลุ่มไหม การเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจโตขึ้น แต่เอื้อพื้นที่ให้กับคนมีเงินเท่านั้น

“ถ้าจะมีความเจริญมากขึ้น ก็ควรที่จะให้คนทุกระดับสามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม คนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้เท่า ๆ กันไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจดี แต่มีความเหลื่อมล้ำ คือสิ่งที่ต้องระวัง… ขอนแก่นในฝันคือการมีพื้นที่ให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากร แลกเปลี่ยนความคิด มีส่วนร่วมในการตัดสินใจพัฒนาเมือง ไม่ยึดติดแนวคิดการพัฒนาเมืองว่าเป็นเรื่องของนักธุรกิจกลุ่มเดียว หรือเป็นเรื่องของรัฐเท่านั้น การมีพื้นที่การมีส่วนร่วมพัฒนาเมือง”

ภาพอนาคตอีสานตอนบน : มิติด้านการศึกษาและการเรียนรู้

นโยบายด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ได้แก่ 1.เมืองแห่งการเรียนรู้ การวิจัย เพื่อการพัฒนา เมืองแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมงานวิจัย ต่อยอดนวัตกรรม ดันเอกลักษณ์ท้องถิ่นให้เกิดการพัฒนาในภาคส่วนต่างๆ สู่การพัฒนาประเทศได้ 2.หลักสูตรที่พัฒนาความคิด การใช้ชีวิต และความร่วมมือ หลักสูตรที่ไม่จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน ฝึกการใช้ชีวิต พัฒนาทักษะความคิดและการเคารพผู้อื่น มีทางเลือกในการเรียนรู้หลายรูปแบบ ทั้งจากฐานท้องถิ่นเชิงวัฒนธรรม ไปจนถึงฐานอาชีพ เชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือ ให้ผู้เรียนกำหนดอนาคต/เป้าหมายตนเองได้ 3.การศึกษาเพื่อทุกคน การศึกษาเพื่อทุกคน เรียนฟรีมีอยู่จริง เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงอย่างทั่วถึง ครูมีความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียน ไม่ทิ้งห้องเรียน

จรูญพิศ มูลสาร ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป หลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนยังตีกรอบให้เด็กเรียนท่องจำอย่างเดียว หากเด็กคนใดทำไม่ได้ก็กลายเป็นความผิดของเด็ก ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน และจำนวนไม่น้อยหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นการเสียโอกาสในชีวิต ถ้าระบบการศึกษาไม่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ก็จะแย่ลง

“การศึกษาไม่ทำให้เด็กคิด ทั้งที่ศักยภาพเด็กไปไกลได้มากกว่าตำรา ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน และวิธีการที่จะทำให้เด็กอยากเรียนรู้ เมื่อการศึกษานอกห้องเรียนสะดวกมากกว่า ก็ทำให้เด็ก ๆ สนใจเรียนรู้ในแบบเดิมน้อยลง ถ้าในครอบครัวที่มีทุนทรัพย์ก็อาจจะมีทางเลือกให้ลูกมากกว่า แต่เด็กที่ยากจนโอกาสที่จะเข้าถึงทางเลือกก็ยาก ถ้าระบบการศึกษาสร้างกระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจให้อยากเรียนรู้สร้างทางเลือกหรือเปิดโอกาสให้เด็ก ก็จะช่วยสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ทุกระดับเข้าถึงการศึกษาได้”

ภาพอนาคตอีสานตอนบน : มิติด้านสุขภาพ

นโยบายด้านสุขภาพ ดังนี้ 1.บริการสาธารณสุขทั่วถึงไม่แพง คนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง และมีค่าใช้จ่ายไม่แพง 2.การรับมือดูแลสังคมสูงวัยเป็นระบบ มีระบบการรับมือและดูแลสังคมสูงวัย โดยได้รับความร่วมมือ และปรับใช้ได้ตั้งแต่คนรุ่นใหม่และคนทุกกลุ่ม 3.ประชาชนดูแลสุขภาพพึ่งพาตนเอง การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพเข้าถึง ประชาชนจัดการและพึ่งพาตนเองได้อย่างมีคุณภาพ

วีระศักดิ์ ชนะมาร ผู้อำนวยการกลุ่ม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 คาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชาชนจะเผชิญกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดัน ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง ซึ่งเป็นโรคของคนส่วนใหญ่ในภาคอีสาน รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ต้องรับมือ ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรในการดูแลประชาชนจำนวนมาก ทั้งบุคคลาการ และงบประมาณ ซึ่งในบทบาทของ สปสช. พยายามสร้างชุมสุขภาพ ให้สามารถดูแลได้อย่างครอบคลุม ชุดสิทธิประโยชน์ที่จะพัฒนาขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษา ลดจำนวนผู้ป่วยในอนาคต

“ภาพฝัน คือประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง โดยรักษาสุขภาพ ป้องกันโรค ลดเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรค ทั้งนี้ประชาชนอาจไม่สามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ทั้งหมด แต่ต้องพึ่งพาภาคีเครือข่ายสนับสนุน ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยได้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีสุขภาพ และองค์กรของภาคประชาชนเองที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ในการที่จะดูแลสุขภาพของประชาชนด้วยกันเอง นั่นคือภาพฝันของผมที่จะเห็นคนไทยเจ็บป่วยน้อยลง”

ทั้งนี้ วีระศักดิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่เรื่องของหน่วยงานด้านสาธารณสุขเท่านั้น เพราะประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของสุขภาพของตนเอง สิ่งสำคัญที่จะทำให้ครอบครัว และตัวเองมีสุขภาพที่ดี ก็ต้องเริ่มต้นที่ตนเอง

ภาพอนาคตอีสานตอนบน : มิติด้านเศรษฐกิจ

นโยบายมิติด้านเศรษฐกิจ ดังนี้ 1.ศูนย์กลางเศรษฐกิจไทย และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เศรษฐกิจพัฒนามีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต จนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เกิดเป็นมหานครอีสาน 2.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าจากอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมพื้นถิ่น ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากฐานราก เน้นการเป็นผู้ประกองการ โดยใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีในการต่อยอด (smart farm / start up) 3.กระจายรายได้เป็นธรรม มีอาชีพที่หลากหลายรองรับ สร้างโอกาสให้คนกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ลดปัญหาครอบครัวแหว่งกลางและลดช่องว่างความยากจน ปรับโครงสร้างทางภาษี คนในพื้นที่เข้าถึงต้นทุนโดยไม่โดยเอาเปรียบ

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรม วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น กล่าวว่า เศรษฐกิจอีสานขอเริ่มจากขอนแก่น เพราะพวกเรากลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมืองได้ออกแบบระบบเศรษฐกิจไว้พอสมควรแล้ว โดยมุ่งเน้นไปในระบบบล็อกเชน และระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่ไม่จำกัด คาดว่าสิ่งที่น่าจะเกิดอีก 10 ปีข้างหน้า คือการนำระบบเศรษฐกิจเดิมในปัจจุบัน และระบบเศรษฐดิจิทัลมารวมกัน ซึ่งจะช่วยปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันได้

“ปัจจุบันคนอีสานต้องไปค้าแรงงานในพื้นที่อื่นเพื่อนำเงินกลับมาเข้ามาที่บ้านเกิด แต่ถ้าวันนั้นในอีก 10 ปีข้างหน้า สามารถใช้ระบบดิจิทัล ทำงานหาเงินที่บ้านของตัวเองได้ก็ไม่ต้องไปที่อื่น สิ่งนั้นทำให้แรงงานย้ายถิ่นก็จะน้อยลง อีกเรื่องคือ ความอบอุ่นในครอบครัวจะเกิดขึ้น ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจก็จะน้อยลง และขอนแก่นจะเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานได้”

สุรเดช กล่าวย้ำว่า สำหรับบล็อกเชนอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโต แต่คือสิ่งที่จะช่วยทำลายข้อจำกัดในสิ่งที่ไม่เคยทำได้มาก่อน ที่ขอนแก่นนำมาใช้ เช่น โทเคน (หน่วยข้อมูลดิจิทัลในโลกอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล) การแข่งขันในเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ประเทศไทยจะเล่นในเกมนี้หรือเปล่า ต้องอาศัยความเข้าใจของหน่วยงานภาครัฐ​ และผู้ใหญ่ในสังคม

“วันนี้ถ้าเกิด metaverse ขึ้นมา เด็ก ๆ คนรุ่นใหม่ก็อาจจะช่วยพ่อแม่ทำงานอยู่ที่บ้านได้ หางานแถวบ้านได้ หรือแม้แต่เป็นอาชีพอิสระ เป็น meta worker เป็นคนขายของ ทำเรื่องการศึกษา ทำทุกเรื่องได้ในนั้น นั่นคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และเราพยายามจะสร้างความเข้าใจในจังหวัดของเราให้เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือควาเข้าใจของภาครัฐ​ โดยเฉพาะรัฐส่วนกลางที่เข้าใจเทคโนโลยีตัวนี้ แล้วทำให้เกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่งของประเทศไทย นั่นก็จะเป็นกำลังทำให้ขับเคลื่อนได้รวดเร็วมากขึ้น รัฐควรทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุน และส่งเสริมในสิ่งที่ประชาชนเสนอหรือต้องการ”

ภาพอนาคตอีสานตอนบน : มิติด้านรัฐ โครงสร้าง ระบบราชการ

นโยบายมิติด้านรัฐ โครงสร้าง ระบบราชการ ประกอบด้วย 1.รัฐกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีความเป็นประชาธิปไตย โดยใช้โมเดลจังหวัดและท้องถิ่นจัดการตนเอง เกิดอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชนมีส่วนร่วมและมีประชามติในโครงการต่างๆ เป็นธรรมทางการเมือง ไม่กดทับแต่ใกล้ชิดประชาชน 2.จัดการภาษีเพื่อประชาชน รัฐมีกลไก มาตรการ และการบริหารจัดการภาษี ให้มีประสิทธิภาพกลับคืนสู่ประชาชนเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างเต็มที่ มีบำนาญแห่งชาติเพื่อประชาชน 3.รัฐมีวิสัยทัศน์ ปรับระบบราชการ และการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างให้ทันสมัย เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ลดระบบอุปถัมภ์ ข้าราชการมีทัศนคติในการทำงานเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์ และมีนโยบายการจัดการประเทศที่ต่อเนื่อง

บุญยวัฒน์ อินทรเพชร รองนายกเทศมนตรีตำบลสีชมพู จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ความน่าจะเป็นหลังการเลือกตั้ง ท้องถิ่นเองก็ได้รับการกระจายอำนาจให้มาบริหารตามบริบทหน้าที่ ที่จะสามารถทำได้ นโยบายต่าง ๆ ก็จะถูกผลักดันให้มาดำเนินการโดยท้องถิ่นเอง ส่วนงบประมาณที่รัฐส่วนกลางส่งมาให้ก็อาจจะไม่เพียงพอ ส่วนที่ท้องถิ่นทำเองได้ คือการรับฟังเสียงของประชาชนเพื่อรับฟังปัญหา และปรับเป็นแผนดำเนินการนโยบายต่าง ๆ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

“สิ่งที่ผมตั้งใจคือประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้อง บริบทพื้นที่ของประชาชน ชาวบ้านมีอาชีพรับจ้าง มีอาชีพเกษตรกร รายได้น้อยกว่ารายได้ขั้นต่ำ อาจเป็นเพราะระบบทุนนิยมที่ต้องพึ่งพาสารเคมี ผมเองได้เข้าร่วมโครงการบำบัดทุกบำรุงสุขอย่างยั่งยืน คือการกลับไปใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกพื้นที่ ให้ชาวบ้านสามารถเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมีเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ต้องเป็นหนี้จากการซื้อปุ๋ยเคมี เปลี่ยนมาใช้แบบอินทรีย์ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ภาครัฐหรือส่วนท้องถิ่นก็ผลักดันหรือส่งเสริมในเรื่องตลาด อย่างที่เทศบาลตำบลสีชมพู ก็ได้มีการจัดทำตลาดเขียว ผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย”

บุญยวัฒน์ ย้ำว่า การเปิดพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก นโยบายใหญ่ ๆ ควรจะเริ่มจากจุดเล็กๆ คือการฟังเสียงของประชาชน ปัญหาของชาวบ้านที่เขามีความเดือดร้อนทุกข์ยาก เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมทันท่วงที เพราะท้องถิ่นเองมีจุดแข็งคือใกล้ชิดกับประชาชน ใกล้ชิดกับปัญหา ก็ควรจะดำเนินการแก้ไขได้โดยเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May