เลือกไป ‘ไม่โกง’ เช็คลิสต์นโยบาย ก่อนเข้าคูหา

ป้ายหาเสียงริมสองข้างทางแทบทุกพื้นที่เวลานี้ หลายพรรคทยอยปล่อยนโยบายออกสู่สายตาประชาชน มีให้เห็นทั้ง “จำนวนเงิน” ที่สัญญาว่าจะให้ ในรูปแบบต่าง ๆ นโยบายพักหนี้ ลดต้น ปลอดดอก ก็น่าจะช่วยดึงดูด ให้กับใครหลายคน ที่ยังมีหนี้เป็นภาระของชีวิต

รวมถึงนโยบายอีกหลายเรื่อง ที่ให้ภาพฝันไปถึงการมี “สวัสดิการ” เพื่อเดินหน้าสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ในภาวะที่คนเกือบทั้งประเทศ เห็นปัญหา “ปากท้อง” เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดูแล

แต่เสียงประชาชนที่สะท้อนผ่าน “ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทย ในการเลือกตั้ง 2566” ที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ มูลนิธิเพื่อคนไทย จัดทำขึ้น น่าจะทำให้เห็นอีกมุม ว่า จริง ๆ แล้ว ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน กลายเป็นอีกเหตุผลสำคัญ สำหรับการตัดสินใจก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งของใครหลาย ๆ คน

‘นโยบายต้านโกง’ ตัวแปร ก่อนประชาชนตัดสินใจเลือกตั้ง

จากการสำรวจประชาชน 2,255 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้ 18% คือ กลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก สะท้อนว่า 83.6% “ไม่เลือกพรรคที่ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน” เพราะแสดงออกว่า ไม่โปร่งใสตั้งแต่แรก แต่สำหรับ 16.4% ที่ยืนยันว่าจะเลือก ก็เพราะมองว่า ยังไงปัญหาคอร์รัปชันก็แก้ไม่ได้ และถือเป็นเรื่องชินชา เรื่องปกติของสังคมไทยไปแล้ว

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 67% มองว่า “นโยบายการต่อต้านคอร์รัปชัน มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง” เพราะต้องการให้พรรคการเมือง นักการเมืองมีความชัดเจนต่อนโยบายเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ต้องการให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อทำให้ประเทศมีทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน

สำหรับปัญหาของประเทศที่ต้องแก้ไขมากที่สุด 25% คือ “ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน” รองลงคือ การศึกษา และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

ขณะเดียวกันผลสำรวจ ยังพบอีกว่า “ปัญหาคอร์รัปชันที่ประชาชนอยากเห็นรัฐบาลใหม่แก่ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรมที่สุด” 18% คือ เรื่องการควบคุม จัดการสมาชิกในรัฐบาล และสมาชิกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชัน รองลงมา 16.7% คือ การเปิดเผยข้อมูลเรื่องที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ 12.4% คือ ผลประโยชน์ทับซ้อน และการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง

สอดคล้องกับปัญหาคอร์รัปชัน 3 อันดับแรก ที่ส่งผลเสียและต้องการให้รัฐบาลเร่งจัดการมากที่สุด คือ ปัญหาทุจริตในระบบราชการ, กระบวนการยุติธรรม และ เงินบริจาคแก่ศาสนา

ผลสำรวจนี้ ยังสะท้อนอีกว่า ประชาชนมีความหวังกับนักการเมืองรุ่นใหม่ ต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน มากถึง 85.2% โดยอยากให้เข้ามาแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันทุกรูปแบบอย่างจริงจัง บนพื้นฐานความถูกต้อง เป็นธรรม อยากให้จริงจังในการทำงาน กล้าคิด กล้าทำ มีภาวะผู้นำ ไม่ควรสืบทอดอำนาจต่อไปเรื่อย ๆ

“หากเปรียบเทียบกับผลสำรวจก่อนการเลือกตั้งครั้งก่อน ในเวลานั้นพบว่าปัญหาที่ประชาชนอยากให้แก้ไขมากที่สุด อันดับ 1 คือ เศรษฐกิจ แต่ผลสำรวจครั้งนี้ ประชาชนอยากให้แก้ไขปัญหาเรื่องการคอรัปชันมาเป็นอันดับ 1 ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจ ลงมาอยู่ที่อันดับ 3”

รศ.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เช็คนโยบายต้านโกง เลือกตั้ง 66

ถ้าชวนสำรวจ นโยบายปราบปรามทุจริต คอร์รัปชัน ที่พรรคการเมืองนำเสนอให้เป็นทางเลือกต่อการตัดสินใจของประชาชน สำหรับการเลือกตั้ง 2566 ที่ใกล้เข้ามา ต้องยอมรับว่า หลายพรรคหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน

พรรครวมไทยสร้างชาติ ชูนโยบายปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น เป็นนโยบายอันดับ 1 ของพรรค เน้นเรื่องการตรวจสอบความไม่ถูกต้องในทุกระดับ เตรียมสังคยานากฎหมาย และระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เป็นอุปสรรค และเปิดช่องให้เกิดการ ทุจริต

พรรคก้าวไกล ลงรายละเอียดในนโยบายเยอะกว่าพรรคอื่น โดยเน้น นโยบาย 3 ด้าน 23 ข้อ

ด้านที่ 1 คือ “รัฐโปร่งใส ไร้กลโกง ทุกคนตรวจสอบได้” เช่น  เปิดข้อมูลรัฐทันที, มีระบบจับโกงอัจฉริยะ, โครงการแฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน จูงใจให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาเรื่องทุจริต, เข้มงวดการใช้เงินหลวง มาเพื่อโปรโมทตัวเองของข้าราชการ นักการเมือง และ ให้ป.ป.ช. ยึดโยงกับประชาชน

ด้านที่ 2 คือ “ข้าราชการทำงานฉับไว คุ้มค่าภาษีประชาชน” เน้น เรื่องบริการภาครัฐที่รวดเร็ว เรื่องร้องเรียนต้องไม่เงียบ, ยกเลิกกฎหมาย กฎระเบียบต่างที่เป็นอุปสรรค, ยกเครื่องการประเมินข้าราชการ และ จัดทำงบประมาณใหม่จากศูนย์ทุก ๆ ปี

ด้านที่ 3 คือ “ตำรวจของประชาชน พิทักษ์สันติราษฎร์” โดยเน้นให้ ผบ.ตร. ยึดโยงประชาชน ผ่านสภาผู้แทนราษฎร, จัดให้มีผู้ตรวจการตำรวจ ประชาชนมีช่องทางร้องเรียนตำรวจโดยตรง รวมถึงการโยกย้ายตำรวจเป็นธรรม ไร้เส้นสาย เป็นต้น

พรรคต่อมา คือ ไทยสร้างไทย พรรคนี้ประกาศนโยบายทำสงครามกับการคอร์รัปชัน โดยตั้ง “ศูนย์ปราบคอร์รัปชัน” ทำหน้าที่ รวบรวมข้อมูล หลักฐาน ของความไม่ชอบธรรมต่าง ๆ เช่น เรื่อง ค่าไฟฟ้าแพง สัญญาที่อยุติธรรม , เรื่องทุจริตในกองทัพ และการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ

พรรคชาติพัฒนากล้า มีนโยบาย Gov-Tech ราชการในมือถือ รวดเร็ว ปลอดคอร์รัปชัน, รื้อระบบราชการ, สร้างความโปร่งใส ได้จาก Digital Footprint ที่บันทึกการทำงานเจ้าหน้าที่

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ มาในสโลแกน “ประชาธิปไตยสุจริต ไม่เอาธนกิจการเมือง” ส่วนรายละเอียดนโยบายยังไม่เปิดเผย

พรรคเสรีรวมไทย ก็เน้น ปราบทุจริต พิชิตคนพาล อภิบาลคนดี คืนงบฯ ให้ประชาชน

พรรคไทยภักดี ชูนโยบาย “รบแตกหักคนโกงชาติ” แก้กฎหมาย ป้องกันจ่ายสินบน เงินใต้โต๊ะ เงินทุจริต รวมถึงให้ผู้มีอำนาจเปิดเผยข้อมูลตรวจสอบได้

ส่วน พรรคเพื่อไทย เสนอปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริหารจัดการรัฐ และเอกชน ครั้งใหญ่ จัดให้มีรัฐบาลดิจิทัล เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ได้จริง เพื่อแก้ปัญหาระบบราชการใหญ่โต คอร์รัปชัน และขาดประสิทธิภาพ

นโยบายพรรคการเมืองดังกล่าว เป็นเพียงบางส่วนที่รวบรวมไว้ในการหาเสียงช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้อาจมีอีกหลายพรรคที่ทยอยออกนโยบายตามมา ตอกย้ำว่าอย่างน้อย ประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน ยังเป็นเรื่องหลัก ๆ ที่พรรคการเมืองมองเห็น

ย้อนมองนโยบายต้านโกง เลือกตั้ง 62

แต่ถ้าลองดูนโยบายพรรคการเมืองย้อนหลัง ไปถึงการเลือกตั้งครั้งก่อน ในปี 2562 การแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ดูเหมือนไม่ใช่ประเด็นที่ทุกพรรคพูดถึง เพราะหากจัดกลุ่มนโยบายปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยการเปิดข้อมูลรัฐ ใช้เทคโนโลยีมา “จับโกง” พบว่า การลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคอนาคตใหม่ ลงรายละเอียดเรื่องนี้ ไม่ต่างจาก พรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่นโยบายให้ตั้งหน่วยงานจับทุจริต ประชาธิปัตย์ ก็เสนอนโยบายนี้ เช่นเดียวกับ พรรคภูมิใจไทย ส่วนการปฏิรูปกฎหมาย องค์กรอิสระ ก็มีแต่พรรคประชาธิปัตย์ เท่านั้นที่ชูนโยบายนี้  

สำหรับนโยบายการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบภาครัฐ และพรรคการเมือง ก็ยังเป็นประชาธิปัตย์อีกเช่นกัน ร่วมกับ ภูมิใจไทย, ไทยศรีวิไลย์ และ พรรคเสรีรวมไทย

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สะท้อนว่า ทุกวันนี้พรรคการเมืองพูดถึงความโปร่งใส แต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ดังนั้นเกณฑ์การทำงานอย่างเปิดเผยของภาคราชการ จึงต้องรื้อกันใหม่ อีกทั้งมองว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ ฉบับปัจจุบัน ล้าหลัง แนวทางการแก้ไขของรัฐบาลก็ใช้ไม่ได้  ซึ่งจากผลการสำรวจความเห็นประชาชนที่เกิดขึ้น ต้องการเน้นแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันไปที่หน่วยงานราชการให้ได้ก่อน เพราะถ้าแต่ละหน่วยงานจริงใจแก้ไขปัญหาของตัวเองจะทำให้ภาพรวมของประเทศแก้ได้

“เวลานี้ถือเป็นจังหวะที่ดี ที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น ทำให้เรามีความหวังขึ้นมาอีกครั้งว่า จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากปัจจุบันที่เป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยการแบ่งพรรคแบ่งพวก และแบ่งสรรผลประโยชน์ แต่อยากเห็นพรรคการเมือง นักการเมือง มีความซื่อสัตย์ต่อประชาชน จริงใจต่อประชาชนมีนโยบายเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน”  

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

นโยบายต้านโกง พรรคการเมือง ต้องทำอย่างไร?

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ย้ำถึงพรรคการเมืองต้องมีนโยบายให้ชัด ว่า จะแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ควรต้องมีนโยบายควบคุม และรับผิดชอบพฤติกรรมของนักการเมือง และบุคลากรในเครือข่าย เมื่อพรรคการเมือง ได้เข้าสู่อำนาจจะเป็น ส.ส. เป็นกรรมาธิการ ดูแลเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ออกกฏหมาย ออกนโยบาย หรือได้ไปเป็นผู้บริหารรัฐบาล จะยึดมั่นอย่างไร จะมีกลไกตรวจสอบอย่างไร หรือจะมีการลงโทษคนที่คอร์รัปชันอย่างไร 

Open Data สกัดโกง

อีกเรื่องสำคัญคือ การเปิดเผยข้อมูลเพื่อทำให้เห็นว่า ใคร ทำอะไร อย่างไร มีงบฯ เท่าไร ใช้ทำอะไรบ้าง ถ้ามีระบบการจัดเก็บข้อมูล ให้ประชาชนสามารถติดตาม และวิเคราะห์ได้ สื่อมวลชน นักวิชาการวิเคราะห์ ได้ จะเห็นความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้างการเปิดเผยข้อมูลออกมาสู่สาธารณชน ก็จะบอกได้เลยว่าโครงการนี้ใช้เงินฟุ่มเฟือยหรือไม่ เกิดประโยชน์หรือไม่

“ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองหันมาใส่ใจ เพราะถ้าหยุคอร์รัปชันได้ จะช่วยหยุดปัญหาใหญ่ ๆ ของประเทศได้ทั้งหมด ทั้งเรื่องยาเสพติด คุณภาพการศึกษาเศรษฐกิจไม่ดี ถนนพัง ปัญหาหวย บ่อน พนันออนไลน์ ซ่อง ตำรวจ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รังแกประชาชน มันจะหยุดได้ทันทีหากหยุดคอร์รัปชัน”

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์