Policy Watch เชื่อมต่อ ‘นโยบาย’ กับ ‘สาธารณะ’

นักวิชาการ ตัวแทนพรรคการเมือง ภาคประชาชน และสื่อ สะท้อนมุมมอง ต่อการเชื่อมต่อ ‘นโยบาย’ กับ ‘สาธารณะ’ บนบริบทสื่อยุคใหม่ที่ปรับเปลี่ยนจากการเป็นแค่ตัวกลางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร มาสู่บทบาทของพื้นที่การสร้างการเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วน ในการติดตาม ปรึกษาหารือ และกำหนดวาระ สร้างส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนมากที่สุด

ผศ.ธีรพัฒน์  อังศุชวาล นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ  ชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารกับนโยบายสาธารณะไม่ได้แยกขาดจากกัน เพราะนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่แค่การทำกฎหมาย การออกคำสั่ง หรือการทำงบประมาณ แต่ยังเป็นการสร้างความหมาย ให้ความสำคัญกับปัญหาสาธารณะ และบอกได้ว่า ใครจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาบ้าง ขณะที่การสื่อสารนโยบายที่ดี ต้องทำให้คนเข้าใจความหมาย มีส่วนร่วม และมีข้อมูลมากขึ้น  แต่ที่ผ่านมายังมีช่องว่างระหว่าง “นโยบาย” กับ “สาธารณะ” เพราะสื่อ ทำหน้าที่เป็นแค่ตัวกลางเผยแพร่ข้อมูลจากผู้กำหนดนโยบายหรือผู้มีอำนาจ ขณะที่ประชาชนเป็นเพียงแค่ผู้รับสารและทำตามเท่านั้น 

แต่สื่อในยุคใหม่ปรับบทบาทมาเป็นสะพาน เชื่อมต่อระหว่างภาคนโยบาย กับสาธารณะ ที่เน้นความสัมพันธ์ ให้ความหมายกับผู้คนมากขึ้น สร้างการมีส่วนร่วมและใช้ข้อมูลมากขึ้น  และยังทำหน้าที่ตีความนโยบาย และทำให้เกิดวาระร่วมของสังคม สร้างส่วนร่วมและความหมายให้ผู้คนมากกว่าแค่การสื่อสารเนื้อหานโยบาย 

รวมถึงขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจากชุมชน และนักวิชาการ ที่มากกว่าสถิติตัวลข โดยมีแพลตฟอร์มการสื่อสารที่สามารถติดตามความคืบหน้า มีบทวิเคราะห์ที่ช่วยทำความเข้าใจและมองเห็นผลกระทบ มีพื้นที่ส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ และมีแหล่งข้อมูลเปิดให้นำไปใช้ต่อได้ แต่โจทย์สำคัญที่ต้องคิดต่อ คือ จะทำอย่างไรให้ภาคส่วนนโยบาย และสาธารณะ มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เพื่อเปลี่ยนไปสู่การกำหนดวาระทางสังคมร่วมกัน ไม่ใช่ออกแบบมาเพื่อให้รัฐสามารถดำเนินการได้เท่านั้น

“นโยบายต้องเอาคนเป็นศูนย์กลาง ต้องทำให้คนรู้ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับทางออกได้อย่างไร  ต้องเคลื่อนจากรัฐหรือราชการ มาสู่การเชื่อมต่อกับเครือข่ายทางนโยบายที่มีทั้งรัฐและสังคมอยู่ด้วยกัน  การสื่อสารนโยบายผ่านแฟลตฟอร์มให้มีความหมายยิ่งขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น และใช้ข้อมูลเป็นตัวนำ จะทำให้ช่องว่างระหว่างนโยบายและสาธารณะใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น”  

พฤ  โอ่โดเชา ตัวแทนภาคประชาชน    ฉายภาพให้เห็นบทบาทประชาชนกับการมีส่วนร่วมนโยบายสาธารณะ  ว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ ทำได้เพียงการเดินเท้าจากพื้นที่ เข้ากรุงเทพฯมาชุมนุมเพื่อบอกเล่าปัญหา ยื่นหนังสือ และเรียกร้องกฎหมายที่คุ้มครองวิถีชีวิตและที่ดินทำกิน แต่ปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้ไข แม้มีสื่อช่วยสะท้อนเสียงเล็กๆของชาวบ้าน ก็ยับยั้งได้เพียงระดับหนึ่งแต่ไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้

จากป่าดอยที่ไม่เข้าใจนโยบาย จนเริ่มมาเรียนรู้มากขึ้น  พฤ พบว่านโยบายสาธารณะ ยังไม่เป็นสาธารณะจริง เพราะเต็มไปด้วย “การผูกขาดนโยบาย” ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การพัฒนา การจัดการทรัพยากร การจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงการออกกฎหมายต่าง ๆ  ที่นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ ทำให้ชาวบ้านยากจน คำถามคือจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้  หากมีนโยบายสาธารณะที่ดี ประชาชนจะมีส่วนร่วมมากขึ้นและความเหลื่อมล้ำจะลดลง  

“หมู่บ้านผม เวลาผู้หญิง 4-5 คนออกไปหาปลา เรารู้ว่าเกาะแก่งไหนมีปลาเยอะ เราจะให้คนที่ชำนาญไป ก็จะได้ปลากลับมาเยอะ แต่ก่อนจะกลับบ้าน เราจะเอาตะกร้ามาดูกัน คนไหนได้น้อยก็จะแบ่งให้เท่ากัน ไม่ใช่ว่าคนที่เก่งแอบไปช้อน หรือแย่งกันจับปลาแต่เป็นการแบ่งปันกัน นี่คือนโยบายสาธารณะเล็กๆ จากการหาปลาของชาวบ้านในชุมชน”

เผ่าภูมิ  โรจนสกุล  รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  เชื่อมโยงให้เห็นถึงนโยบายรัฐบาลจากที่มาสู่ผลลัพธ์ที่เป็นจริง ว่าแนวคิดและแนวทางดำเนินนโยบายของรัฐบาล เชื่อมต่อกับนโยบายของพรรค ซึ่งตั้งแต่ก่อนเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นนโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น  และทำให้กลุ่มเกษตรกร คนรากหญ้าซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมสามารถยกระดับรายได้ และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล จึงขยับมาเดินหน้าให้เป็นรูปธรรม ทั้งในภาพใหญ่ที่พยายามทำให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานให้มากที่สุด รวมถึงการกระดับตลาดทุน และปรับบทบาทธนาคารรัฐเข้าให้เข้ามาเติมเต็มการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน โดยมีกำหนดเกณฑ์ชี้วัดที่ชัดเจน   

ส่วนในเศรษฐกิจภาพเล็กที่เชื่อมต่อกับประชาชน ตั้งอยู่บนสองโจทย์ คือ ประชาชนต้องไม่เป็นหนี้ และต้องมีรายได้เพิ่ม  เป็นที่มาของการเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินตั้งแต่ในช่วง 3 เดือนแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล  รวมถึงนโยบายเติมเงินให้ประชาชน ผ่าน Digital Wallet  เติมเงิน 5 แสนล้านใส่ไปในระบบอย่างมีเงื่อนไข โดยต้องใช้จ่ายในพื้นที่และเวลาที่จำกัด ที่ไม่ใช่เพียงแค่กระตุ้นการบริโภค แต่โยงไปถึงการกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่และ มีการจ้างงานเพิ่มในท้องถิ่น

“แนวทางดำเนินนโยบายของรัฐบาล เชื่อมต่อกับนโยบายของพรรค ตั้งแต่ก่อนเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นนโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น  ทั้งในระดับที่เป็นภาพใหญ่ ที่เกี่ยวข้องในเชิงโครงสร้างและในระดับภาพเล็กที่สัมผัสกับประชาชน ทำให้กลุ่มเกษตรกร คนรากหญ้าซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมสามารถยกระดับรายได้ และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ”

พริษฐ์  วัชรสินธุ  โฆษกพรรคก้าวไกล  ในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้าน พูดถึงบทบาทสภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่และกลไกในการติดตามนโยบายสาธารณะเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นกลไกนิติบัญญัติ ที่ต้องอาศัยบางส่วนของอำนาจฝ่ายบริหารในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย แต่หากพลิกบทบาทการทำงานของสภาฯ จากเชิงรับ เป็นสภาตรายาง มาเป็นเชิงรุกที่คิดถึงวาระสำคัญของประเทศในอนาคตแล้วดึงรัฐบาลมาช่วยกันคิด และผลักดันนโยบายที่ตัวแทนประชาชนในสภาฯ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญได้ โดยใช้สภาฯเป็นพื้นที่ ต่อสู้ทางความคิด ผ่านกลไกการผลักดันร่างกฎหมายจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ใช้กลไกตรวจสอบเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลย้อนหลัง และล่วงหน้าผ่านกลไกคณะกรรมาธิการ ตั้งคำถามและเสนอทางออกผ่านกลไกตั้งกระทู้ถามสดในสภาฯ, ทำให้สภาเป็นตลาดแข่งขันทางนโยบายของพรรคการเมือง  และสุดท้ายคือ การทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีความเชื่อมโยงกับประชาชน โดยการพูดคุยในสิ่งที่ประชาชนอยากพูดคุยมากขึ้น รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมซักถาม ตรวจสอบมากขึ้น

“ถ้าเราอยากทำให้สภาผู้ทนราษฎรเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงและเป็นความหวังของประชาชนได้จริง ต้องออกแบบสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้เป็นสภาผู้ตาม แต่เป็นสภาฯ ที่นำทางรัฐบาลได้ ไม่ใช่แค่ติดตาม แต่ร่วมกำหนดทิศทางนโยบายได้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศได้ตามความคาดหวังของประชาชนอย่างแท้จริง”

กริชผกา บุญเฟื่อง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

กล่าวถึงนวัตกรรมการมีส่วนร่วมเพื่อนโยบายสาธารณะที่ดี  ว่าหัวใจสำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการรับฟังเสียงจากผู้คนทุกภาคส่วน ขณะที่นโยบายภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสะท้อนถึงการให้ความสำคัญของคนระดับรากหญ้าในการพัฒนาประเทศ  ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้  สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องเปิดใจรับความเปลี่ยนแปลง  โดยเริ่มจากดูวิธีคิด ดูกรอบ ดูกระบวนทัศน์จากระบบการจัดกลไก เมื่อมีนโยบายเข้ามา ต้องเปิดใจรับฟังปัญหา แล้วหาทางออกร่วมกัน เป็นการ “เปิด พัฒนา รับฟัง จากนั้นใช้ปะโยชน์ให้เกิดขึ้น”  ขณะที่ความร่วมมือขับเคลื่อนเชิงนโยบายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และเป็นแนวทางในการพัฒนาหลายนวัตกรรมที่ผ่านมา  อย่างเช่น ระบบพร้อมเพย์ เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ดีของการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ ให้ลงไปถึงการใช้ประโยชน์ของประชาชนอย่างกว้างขวาง 

ขณะเดียวกันเมื่อกล่าวถึงนวัตกรรมภาคสื่อ เห็นได้จากการปรับตัวของสื่อท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี   การมาถึงของโซเชียลมีเดียทำให้ผู้คนเข้าถึงการสื่อสารได้มากขึ้นในต้นทุนที่ถูกลงและเป็นโอกาสในการพัฒนาการสื่อสารที่เชื่อมโยงผู้คนได้มากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารนโยบายกับสาธารณะ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม Policy Watch

“การทำหน้าที่ของสื่อสาธารณะจะสามารถช่วยดึงเสียงสะท้อนจากผู้คนมาสื่อสารและขับเคลื่อนในเชิงประเด็นได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเดินไปสู่การผลักดันนโยบายสาธารณะที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเมือง ภาคสังคม ภาคประชาชน รวมถึงสื่อ  และในท้ายที่สุดเมื่อเกิดนวัตกรรมขึ้นแล้วจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด”

สุทธิชัย  หยุ่น สื่อมวลชน พูดถึงสื่อสาธารณะกับบทบาท และกลไกการตรวจสอบติดตามนโยบายสาธารณะ ผ่าน Policy Watch ว่าเป็นคำที่ดี แต่แค่เพียงการจับตาการทำหน้าที่นักการเมืองอย่างเดียวนั้นไม่พอ ขณะที่ปัจจุบันสำนึกหรือการตระหนักของสื่อในการตรวจสอบอย่างจริงจังถึงคำสัญญาของพรรคการเมืองตั้งแต่ช่วงหาเสียง รวมถึงการทำหน้าที่ไม่ว่าจะฝั่งรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็ดูจะไม่เกิดขึ้นมากนัก

ดังนั้น บทบาทของสื่อสาธารณะจึงยิ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะในการตรวจสอบทุกขั้นตอนของการวางนโยบายสาธารณะ ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การวางกรอบ ก่อนประกาศเป็นนโยบาย จนถึงช่วงนำนโยบายมาปฏิบัติ  และการประเมินผล  ซึ่งจะเห็นว่าทุกขั้นตอนไม่มีบทบาทหรือส่วนร่วมของสาธารณะหรือประชาชน  แต่ในทางกลับกัน การมีวาระจากประชาชนที่ผ่านการหาข้อมูลและสะท้อนความต้องการ ควรเกิดขึ้นก่อนนำไปให้ภาคการเมืองจัดทำนโยบาย  

ไทยพีบีเอสที่กำลังสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมต่อและติดตามนโยบายกับสาธารณะ จะมีบทบาทสำคัญในการจับประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจ  ส่งผลกระทบ หรือที่เป็นความต้องการของประชาชน นำมาตั้งคำถามและหาคำตอบจากภาคการเมือง หลังจากที่ใช้ช่วงเวลา 15 ปี กับบทบาทสื่อสาธารณะไปสร้างพลังให้ชุมชน มีนักข่าวพลเมือง มีสภาผู้ชม มีเครือข่าย  จึงถึงเวลาเชิงรุก ที่ไม่ใช่แค่ Watch เฉย ๆ แต่ทำอย่างไรถึงจะขยี้ และให้คนตื่นมาทุกเช้าจะต้องไปดูว่าไทยพีบีเอส จะนำเสนอเนื้อหาอะไรที่เกี่ยวกับเขา ในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะตัวจริง ต้องเสียงดังที่สุด  

“คำว่า Policy Watch คิดว่ายังไม่พอ ถ้าจะคิดได้เร็วๆ ก็น่าจะต้องเป็น Policy Closeup เพราะประชาชนที่กำลังติดตามมีคำถามมากมายที่รัฐบาลไม่ตอบและฝ่ายค้านก็ไม่พยายามหาคำตอบให้เราด้วย หลายสิ่งหลายอย่างจึงมาสู่บทบาทของสื่อสาธารณะที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนแล้ว บทบาทเหล่านี้สำคัญมาก จะต้องกดดันทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ให้ตอบคำถามที่ทุกคนต้องการคำตอบ”

รศ.วิลาสินี  พิพิธกุล  ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.    ย้ำถึงบทบาทและทิศทางของสื่อสาธารณะ ในวาระครบรอบ 15 ปี ไทยพีบีเอส

15 ปีของสื่อสาธารณะมีการปรับตัวพัฒนาไปตามความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ จากทีวีช่องเดียว เปลี่ยนมาเป็นการสื่อสารผ่านหลากหลายช่องทางให้ทุกคนเข้าถึงได้  จนย่างเข้าสู่ยุคของการออกแบบและผลิตสื่อ  สร้างรูปแบบบริการให้เข้าถึงประชาชนแบบเฉพาะตัวมากขึ้น

ขณะที่ใน 15 ปีที่สองของไทยพีบีเอส จะเป็นสื่อสาธารณะที่เติมเต็มระบบนิเวศสื่อของประเทศไทย ทั้งในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงภาคนโยบาย โดยจะทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ระบบนิเวศแข็งแรงและมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงรักษาบทบาทและคุณค่าในการยึดโยงกับประชาชน ยึดมั่นความเป็นกลาง รักษาสมดุลไม่เอนเอียง หรือถูกแทรกแซง ท่ามกลางบริบทของข้อมูลข่าวสารที่บ่าท้น และผู้คนขยับจากการรับชมสื่อทีวีเข้าหาระบบสตรีมมิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ 

และที่สำคัญคือการเปิดพื้นที่แพลตฟอร์มกลาง ที่จะดึงเอาเสียงทุกเสียง ความสนใจ ความต้องการ การเรียกร้อง รวมถึงข้อมูลและงานวิจัยจากทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน ซึ่งโครงการ Policy Watch หรือจับตาประเทศไทย ที่เริ่มทำตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นหนึ่งในความพยายามสำคัญที่จะทำต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่านโยบายที่รัฐบาลและพรรคการเมืองประกาศไว้ เป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจ เฝ้าติดตามและอยากมีส่วนร่วม ซึ่งจะนำไปสู่นโยบายที่เป็นจริงและปราศจากอคติ

“ไทยพีบีเอส จะเป็นสื่อสาธารณะที่มีบทบาทเติมเต็มระบบนิเวศสื่อของประเทศไทย ทั้งในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงภาคนโยบาย โดยจะทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ระบบนิเวศแข็งแรงและมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงรักษาบทบาทและคุณค่าในการยึดโยงกับประชาชน”

สำรวจ Policy Watch สะพานเชื่อม นโยบาย-สาธารณะ เพื่อการมีส่วนร่วม แพลต์ฟอร์มเพื่อการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเสนอนโยบายสาธารณะภายหลังการเลือกตั้ง 2566 โดยได้รวบรวมนโยบายสำคัญ ๆ ทั้งจากภาคการเมือง ภาคประชาสังคม รวมทั้งบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ที่สนใจ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active