คลายสงสัย “เมื่อเด็กติดโควิด-19​?”

การระบาดระลอกใหม่ พบการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น

หลังแนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเด็กเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 แต่ข้อมูลจากนักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ยังคงยืนยันในข้อมูลว่า เด็กยังเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อและแสดงอาการน้อยมาก อาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับกลุ่มเสี่ยง และผู้สูงอายุ แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ปกครองก็ไม่ได้สบายใจมากนัก และยิ่งการรักษาในเวลานี้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ นโยบายยังคงเน้นการรักษาตัวเองที่บ้าน เพื่อให้อัตราการครองเตียงรองรับผู้ป่วยหนักในทุก ๆ กลุ่ม

The Active รวบรวมข้อมูลสำคัญ 5 เรื่อง ที่ผู้ปกครองต้องทราบ เมื่อบุตรหลานติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตอาการ การดูแลรักษาที่บ้าน กินยาอะไร หรืออาการแบบไหนต้องไปโรงพยาบาลทันที โดย รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ 

Q : เด็กที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ หากติดเชื้อโควิด-19 และความรุนแรงของอาการ  

A : เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค) อาการไม่ค่อยรุนแรง ถ้าเป็นเด็กเล็ก คือ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี จัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะว่าทางเดินหายใจมีขนาดเล็กกว่าเด็กโต พอมีอาการอักเสบเล็กน้อย ก็จะมีโอกาสอุดกั้นได้ง่าย ดูมีอาการรุนแรง สิ่งที่เห็นแตกต่างจากช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา คือ มีอาการบางอย่าง เช่น กล่องเสียงอักเสบ เสียบแหบ อุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น อาการนี้เพิ่งเจอในช่วงระยะนี้ ทำให้เด็กไอเสียงแหบ เสียงก้อง เหนื่อยง่าย ส่วนเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป เริ่มพบส่วนหนึ่งที่มีไข้สูงขึ้นประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส เด็กกลุ่มนี้ที่มีไข้สูงอาจจะเกิดภาวะชักจากพิษไข้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เราจะเห็นภาวะนี้ที่ต้องเฝ้าระวัง อีกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือเด็กที่มีโรคประจำตัวและเป็นโรคประจำตัวรุนแรง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ  ส่วนเด็กที่มีอายุตั้งแต่  5 ปี ขึ้นไป ไม่มีโรคประจำตัว ความเสี่ยงกับความรุนแรงน้อยที่สุด

Q : สังเกตอย่างไร ว่าเด็กเริ่มมีอาการรุนแรง พัฒนาจากเคสสีเขียว สู่สีเหลืองและแดง ทำ HI ไม่ได้แล้ว 

A : กลุ่มสีแดงยังพบน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคหัวใจ โรคปอด กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นสีแดง กลุ่มนี้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนเด็กทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัว จะต้องเฝ้าระวังเรื่องแรก คือ อายุ หากต่ำกว่า 1 ปี เป็นกลุ่มเฝ้าระวังพิเศษต้องรักษาในโรงพยาบาล และเด็กทั่วไปซึ่งมีอาการที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติสุขของเด็กในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่เล่น ไม่กิน นอนไม่ได้ กระสับกระส่าย ปัสสาวะน้อยลง เป็นสัญญาณที่เขาจะพัฒนาจากเขียวไปเป็นเหลือง และอาการของระบบทางเดินอาหาร ท้องเสีย อาเจียน  เพราะเด็กเล็กมีอัตราการเผาผลาญอาหารที่ดีกว่าผู้ใหญ่ มีความต้องการอาหารและน้ำมากกว่า แต่ถ้าอดไปมื้อสองมื้อจะทำให้เด็กอ่อนเพลีย ซึมและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้มาก จึงต้องเฝ้าระวังเรื่องนี้ด้วย

ส่วนการสังเกตอาการ ผู้ปกครองสามารถดูจำนวนครั้งของการหายใจได้ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน การหายใจใน 1 นาที ไม่เกิน 60 ครั้ง เด็กอายุ 2 เดือน – 1 ปี ไม่ควรหายใจเร็วเกินกว่า 50 ครั้ง เด็กอายุ 5 ปี ไม่ควรเกิน 40 ครั้ง เป็นต้น ขณะที่วิธีการนับการหายใจ ให้ดูตอนหายใจเข้าออก หน้าอกขยายนับ 1 ครั้ง และสังเกตขณะที่เขานอนหลับ ถ่ายวิดีโอไว้ให้แพทย์ดู เน้นช่วงบริเวณคอ จมูก ดูปีกจมูกว่าบานไหม ต้องออกแรงไหม คอบุ๋มลึกไหม หน้าอกยุบผิดสังเกตไหม

ส่วนเด็กที่ติดโควิด-19 และมีโรคประจำตัว ต้องเป็นโรคที่รุนแรงมีภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคหัวใจ ที่เคยมีปอดอักเสบบ่อย ๆ กินยาประจำ โรคปอดเรื้อรัง  ถ้าเป็นโรคทั่วไป โรคภูมิแพ้มีผลไม่มาก แต่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรม ถ้าเด็กไม่เล่นไม่กิน ซึม ติดเตียง แม้ว่าไข้ลดแล้ว ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ได้เช่นกัน  

Q : เมื่อเด็กติดโควิด-19 รักษาตัวที่บ้าน ผู้ปกครองดูแลอย่างไร 

A : พ่อแม่อาจกังวลว่าการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ HI ไม่ได้เอ็กซเรย์ปอด ตอบได้เลยว่า ตั้งแต่ยุคการระบาดของสายพันธุ์เดลตาการเอ็กซเรย์ไม่ค่อยพบความผิดปกติ ถ้าผิดปกติก็มีเพียงเล็กน้อย จุดฝ้าหายได้เอง 7 วัน จากที่เราติดตามคนไข้ตั้งแต่การรักษาระยะแรก ๆ ปลอดภัยดี  เราสามารถดูอาการเด็กเป็นหลักได้เลย บางรายอาการไม่ดีขึ้นแม้ผ่านไปถึง 7 วัน เพราะจริง ๆ แล้ว ร่างกายอยู่ในช่วงฟื้นตัว และหายเองแม้ไม่ได้รับยาอะไรเลย 

การรักษาดูแลเด็กที่บ้าน ส่วนใหญ่จะมีอาการหนัก 2 วันแรก ไข้สูง การรักษาหลัก คือ กินยาลดไข้เฉพาะตอนเริ่มมีภาวะพิษจากไข้ เพราะไข้เป็นกลไกของร่างกายในการสงวนพลังงานให้เด็กนอนหลับพักผ่อน เป็นการเยียวยาของร่างกาย แต่ถ้ามีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ให้ระวังเด็กอาจมีอาการเพ้อ กระสับกระส่าย  แต่หากอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะช่วยให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้ดีขึ้น กระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ที่ไม่เฉพาะเจาะจงให้ทำงานได้ดีขึ้น เด็กสามารถปรับตัวจัดการกับเชื้อได้ดีกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีอาการไม่รุนแรงเหมือนผู้ใหญ่ ถ้าเราเข้าใจอาการเหล่านี้ เราจะไม่ปลุกเด็กมากินยาหรือเช็ดตัวบ่อย ๆ ฉะนั้นถ้าเด็กมีไข้ไม่สูง ถึงขึ้นเพ้อ กระสับกระส่าย ปวดศีรษะมาก และเขาหลับได้ดี ปล่อยให้เขาหลับได้เลย ถ้ากังวลเรื่องชัก ให้มาดูว่ามีประวัติพ่อแม่เคยชักตอนเด็ก ๆ หรือไม่ ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กในวัย 1-3 ขวบ  แต่ถ้าอายุเกินหรือไม่เคยชัก จะมีโอกาสน้อยมาก

ส่วนอายุเกิน 6 ขวบจะมีการพัฒนาที่ไม่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแล้ว และอาการชักส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในช่วง 2 วันแรก  เพราะเกิดจากสมองปรับตัวไม่ทันกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  ถ้าหัวร้อนก็ให้ใช้น้ำเย็นประคบซับข้าง ๆ ลำคอ และปล่อยให้เด็กหลับพักผ่อนและกินยาลดไข้ จิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อระบายความร้อนในร่างกาย ปัสสาวะบ่อย ๆ จนใส

Q : เด็กติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีอาการ ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ไหม 

A : การกินยาฟาวิพิราเวียร์เน้นเด็กที่มีโรคประจำตัว และต่ำกว่า 1 ปี ส่วนเด็กที่ไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียว ไม่ต้องกินเพราะส่วนใหญ่หายเองจากการรักษาประคับประคองตามอาการ จะกินยาก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น อาการรุนแรงจนกระทบกับการใช้ชีวิตปกติสุข เช่น ไข้สูงต่อเนื่องเกิน 2 วัน มีอาการทางปอดชัดเจน ไอ เหนื่อย กินไม่ได้ กินยาแก้ไอไม่ดีขึ้น แต่ถ้าไม่มีอาการ อาการน้อยมาก ไม่มีข้อบ่งชี้ในการให้ยา เพราะการให้ยามีข้อเสีย คือตับอักเสบได้เหมือนกัน และมีความผิดปกติที่แสดงออกมา เช่น การเปลี่ยนสีของเลนส์ตา กระจกตา เป็นต้น การดูแลเน้นรักษาตามอาการ กินยาลดไข้เมื่อมีไข้เท่านั้น 

Q : เด็กกลุ่มไหนควรฉีดวัคซีน 

A : คนที่ควรจะได้รับวัคซีน คือ กลุ่มเสี่ยง ประโยชน์สูงกว่าความเสี่ยงชัดเจน คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือคนที่จะมีอาการรุนแรง เพราะไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหรือยา ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรปลอดภัย 100% กลุ่มไหนเสี่ยงฉีดก่อน ถ้าเด็กมีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง อันนี้ไม่ปฏิเสธอยู่แล้ว ต้องฉีด มีประโยชน์ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ต้องชั่งใจว่าอะไรจะเป็นประโยชน์สูงสุด ถ้าคิดว่าวัคซีนมีอาการข้างเคียงน้อย ประโยชน์มากกว่า แต่เราควรให้สิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจและให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะหลายคนคิดว่าเป็นวัคซีนใหม่และไม่ค่อยสบายใจ และเด็กเองก็มีอาการน้อย ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ปกครองที่น่าจะตัดสินใจด้วยตนเองได้ แต่กลุ่มเสี่ยงควรฉีดเลย เราติดตามเด็กที่ฉีดวัคซีนมาสักระยะหนึ่งแล้วช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง เป็นข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กฯ ค่อนข้างสบายใจว่ายังไม่เห็นอะไรรุนแรงจนน่าเป็นห่วง เพราะฉะนั้นกลุ่มเสี่ยงน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าโทษ 

เด็กติดโควิด
รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์

กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ยังทิ้งทายไว้ด้วยว่า จนถึงเวลานี้ การทำ HI หรือ Home Isolation ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อได้ เพราะเชื้อโอมิครอนแบ่งตัวในเยื่อบุหลอดลมมากกว่าที่ลงไปในเนื้อปอด ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย เนื่องจากเชื้อไม่ได้เข้าเนื้อปอดเลยไม่ค่อยรุนแรง แต่พออยู่ทางเดินหายใจ เยื่อบุหลอดลมจึงแพร่กระจายได้ง่าย ในต่างประเทศระบุว่าโอมิครอนใช้เป็นภูมิคุ้มกันขึ้นมาก็ได้ ดังนั้น เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันมากกว่า อยู่อย่างไรให้ปลอดภัยและดูแลตัวเองให้ถูกวิธี ไม่ตื่นตระหนก โดยสถาบันสุขภาพเด็กฯ ยินดีให้คำแนะนำ ปรึกษาผู้ปกครองผ่านหลายช่องทาง ทั้ง โทร. 1415  แอปพลิเคชันไลน์และเฟซบุ๊ก รายการตอบคำถาม และเวลานี้กำลังปรับปรุงเพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึง การรักษาได้รวดเร็วมากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์อนาคต และ ลดอุปสรรคของการทำ HI คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเร็ว ๆ นี้  

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์