“เรียนฟรีทิพย์” เช็กส่วนต่างค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา

เปิดรายการค่าใช้จ่ายที่ต้องควักเพิ่มจากนโยบายเรียนฟรี

ทำไมผู้ปกครองไม่อยากส่งเสริมให้ลูกหลานไปโรงเรียน ? เปิดค่าใช้จ่ายที่ต้องควักเพิ่มเทียบกับนโยบายเรียนฟรีที่ภาครัฐให้ ต้องจ่ายเท่าไรถึงได้เรียน

หนึ่งในความกังวลที่เห็นชัดสุดในช่วงเปิดโรงเรียนของผู้ปกครองที่มีรายได้ระดับกลาง ๆ ลงมา คือการเตรียมเงินให้พร้อมกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูก

สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) มีงานชิ้นหนึ่งที่ได้รวบรวมผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2564 โดยพบว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีรายการใช้จ่ายพื้นฐานมากกว่ายอดเงินสนับสนุนตามนโยบายเรียนฟรีของรัฐบาลเกือบ 3 เท่าตัว

The Active ชวนดูข้อมูลค่าใช้จ่ายนโยบายเรียนฟรี ว่าภาครัฐสนับสนุนอะไรบ้าง โดยจะยกตัวอย่างการสนับสนุนนักเรียน ม.ต้น เทียบเคียงข้อมูลจากงานศึกษาของ วสศ. เพื่อชี้ให้เห็นรายการใช้จ่ายที่ทำให้เด็กหลายคนไม่ได้ไปต่อ และหาคำตอบการปรับสูตรให้เด็ก ๆ ได้เรียนฟรีแท้ ไม่ใช่ฟรีทิพย์

1. เรียนฟรี วาทกรรมเรียกคะแนน

ในโครงสร้างรัฐสวัสดิการ ทุกคนคงพอรู้จัก นโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ นโยบายนี้มีชื่อจริงว่า โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำหน้าที่ช่วยบรรเทาภาระให้กับผู้ปกครองที่มีลูกหลานอยู่ในวัยอนุบาลจนถึงชั้น ม.ปลาย ทุกสังกัด ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 จนถึงปัจจุบัน

คำว่า ฟรี อาจเป็นถ้อยคำที่ให้ความหวังว่าการเข้าถึงการศึกษาไม่มีราคา แต่สภาพความจริงดูจะเป็นวาทกรรมที่ใช้หาเสียงของรัฐบาล เพราะเป็นนโยบายที่พอเทียบเคียงได้เพียงการให้ส่วนลดค่าใช้จ่าย 5 รายการสำหรับนักเรียนที่เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาไทย ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน, ค่าหนังสือเรียน, ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จะให้เงินมากขึ้นตามระดับชั้นที่สูงขึ้น

ซึ่ง รศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ พูดถึงนโยบายเรียนฟรีไว้ว่า “ถ้าไม่มีโครงการนี้โรงเรียนอยู่ไม่ได้” เนื่องจากวิธีการใช้จ่ายของภาครัฐ จะส่งเงินสนับสนุนไปให้โรงเรียนตามจำนวนเด็กในแต่ละปีการศึกษา

มาที่ค่าใช้จ่ายแรกคือ ค่าจัดการเรียนการสอน หรือที่มักจะถูกเรียกว่า ค่าอุดหนุนรายหัว ภาครัฐให้นักเรียน ม.ต้น คนละ 3,500 บาท/ปี (ภาคเรียนละ 1,750 บาท/คน) สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียน 300 คนลงมา จะได้เงินเพิ่มอีกคนละ 1,000 บาท/ปี (ภาคเรียนละ 500 บาท/คน) ซึ่งเงินส่วนนี้โรงเรียนจะนำไปใช้เป็นค่าสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของครู เช่น ค่าใบงาน ค่าไฟ ค่าน้ำ รายจ่ายจิปาถะต่าง ๆ แต่จากของมูลของ วสศ. พบว่าค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยที่นักเรียนหนึ่งคนใช้จริงอยู่ที่คนละ 11,302 บาท/ปี

ต่อมาจะเป็น ค่าหนังสือเรียน และ ค่าอุปกรณ์การเรียน ซึ่งค่าหนังสือเรียนจะให้จำนวนเงินต่างกันตามระดับชั้นเรียน คือ ม.1 808 บาท, ม.2 921 บาท, ม.3 996 บาท โดย The Active ได้ถัวเฉลี่ยราคาของนักเรียน ม.ต้น 3 ระดับชั้น ตกเฉลี่ยโดยประมาณคนละ 908 บาท และค่าอุปกรณ์การเรียนภาครัฐให้คนละ 420 บาท/ปี (ภาคเรียนละ 210 บาท/คน) จากของมูลของ วสศ. พบว่านักเรียนหนึ่งคนมีค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียนเฉลี่ยที่คนละ 1,082 บาท/ปี

ยังมีในส่วน ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้โรงเรียนสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทัศนศึกษา เข้าค่าย กีฬา วิชาการ ฯลฯ ให้นักเรียนคนละ 880 บาท/ปี (ภาคเรียนละ 440 บาท/คน) และยังมี ค่าชุดนักเรียน ให้คนละ 450 บาท/ปี ซึ่ง วสศ. พบว่าในปีการศึกษาใหม่นักเรียนหนึ่งคนจะซื้อชุดนักเรียนเฉลี่ย 2 ชุด ประมาณคนละ 1,293 บาท ถ้ามีชุดกีฬา เนตรนารี ชุดประจำถิ่น จะมีรายจ่ายบวกเข้าไปอีก

แต่นอกเหนือจากรายการค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐสนับสนุน การไปโรงเรียนยังมี ค่าเดินทาง เฉลี่ยคนละ 4,154 บาท/ปี และถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการจะมี ทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน แต่ก็ให้เพียงนักเรียนชั้นประถมศึกษาคนละ 1,000 บาท/ปี (ภาคเรียนละ 500 บาท/คน) และ ม.ต้น คนละ 3,000 บาท/ปี (ภาคเรียนละ 1,500 บาท/คน) ไม่มีให้นักเรียนยากจนระดับอนุบาลกับ ม.ปลาย

2. ส่วนลด 30% ไม่พอส่งเสริมนักเรียนยากจน

“ชีวิตนักเรียนมีค่ามากกว่าที่คิด” จริงไหม ? เมื่อการศึกษาไทยแม้มีนโยบายเรียนฟรี แต่ความเป็นจริงมีค่าใช่จ่ายที่ต้องควักเพิ่มเหมือนเรียนฟรีทิพย์

เมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่อปีตามนโยบายเรียนฟรีที่ภาครัฐสนับสนุน นักเรียน ม.ต้น จะได้รับคนละ 6,158 บาท/ปี แต่พอมาดูค่าใช้จ่ายจริงกลับเฉลี่ยอยู่ที่ 17,831 บาท เท่ากับมูลค่าจ่ายจริงสูงกว่ามูลค่าที่ภาครัฐสนับสนุนเกือบ 3 เท่า หรือหากจะคิดเป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายจริง ใน 100 เปอร์เซ็นต์ที่เด็กต้องจ่าย ภาครัฐจ่ายให้ 34.5 เปอร์เซ็นต์ สรุปว่า นโยบายเรียนฟรีไม่เพียงพอรายจ่ายขั้นต่ำที่จำเป็น

3. เชียร์ปรับสูตรสวัสดิการเรียนฟรี

ทั้งนี้ รศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ได้ชวนตั้งโจทย์เพื่อคิดต่อ ว่าจะทำอย่างไรให้รัฐสวัสดิการเรียนฟรีทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะสูตรเดิมที่ใช้มา 13 ปี ยังตามไม่ทันอัตราเงินเฟ้อและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้เท่าทันสถานการณ์

แต่ขณะนี้งบประมาณแผ่นดินที่ใช้ไปกับนโยบายเรียนฟรีก็อยู่ที่ 7 หมื่น 6 พันล้านบาทไปแล้ว หากตั้งโจทย์ด้วยจำนวนเด็กอนุบาลถึง ม.ปลาย คิดเป็นตัวเลขกลม ๆ ที่ 10 ล้านคน หากเพิ่มเงินให้อีกคนละ 100 บาท ก็อาจหมายถึงงบประมาณที่ต้องหาเพิ่มอย่างน้อย 1 พันล้านบาท

รศ.ชัยยุทธ จึงเสนอว่า ให้รัฐบาลปรับสูตรนโยบายเรียนฟรีจากที่เคยให้อัตราเดียวกันแบบนับจำนวนนักเรียน เป็นการจัดกลุ่มสนับสนุนตามลักษณะเฉพาะของโรงเรียน โดยส่วนแรกที่ควรปรับเพิ่มก็คือ ทุนสนับสนุนนักเรียนยากจน จากเดิมที่ให้เพียงนักเรียนประถมศึกษาและ ม.ต้น ก็เพิ่มให้กับนักเรียนอนุบาล และ ม.ปลาย ด้วย

นอกจากนี้ยังต้องปรับยอดเงินให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่ง รศ.ชัยยุทธ ได้คำนวนอัตราที่เหมาะสมของนักเรียนอนุบาลและประถมศึกษาอยู่ที่คนละ 1,000 บาท/ปี, ม.ต้น คนละ 4,000 บาท/ปี และ ม.ปลาย คนละ 9,000 บาท/ปี อย่างไรก็ตามยังเป็นเพียงการประมาณค่า สูตรคำนวนโดยละเอียดยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่ต้องคำนวนตามความเหมาะสมและความเพียงพอของงบประมาณแผ่นดิน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์