คุณฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่…
หลังไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อปี 2564 ผ่านมา 3 ปี ยังมีใครที่ตามหาวัคซีนฉีดกันอยู่บ้าง?
เมื่อผลกระทบจากการฉีดวัคซีนกลายเป็นข้อถกเถียงอีกครั้ง หลัง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต แท็กทีมกันออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการรับวัคซีน หรือที่เรียกว่า “ภาวะลองวัคซีน” ซึ่งอาจไม่ต่างลองโควิด พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยความจริง หลังข้อมูลทางแพทย์ระบุฉีดวัคซีนไปไม่ได้ป้องกัน
มีกี่คนที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน?
นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ป่วยจำนวนมากได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่า เกิดภาวะคล้าย “ลองโควิด” แต่เป็น “ลองวัคซีน” มีภาวะหลงลืม หรือภาวะสมองเสื่อม แม้แต่ตนเองก็ได้รับผลกระทบ ทั้งที่รับวัคซีน 4 เข็ม แต่ในการรับวัคซีนเข็มที่ 3 เริ่มมีอาการ ต้องหยุดงานไป 3-4 วัน ส่วนวัคซีนตัวที่ 4 เป็นชนิด m-RNA มีอาการป่วย เกิดภาวะหลงลืม จนต้องทำการรักษาด้วยตนเอง ด้วยการใช้การแพทย์ทางเลือก หรือกัญชา
เมื่อทราบข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้มีการมารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในคนกลุ่มเสี่ยง 608 ก็อยากให้มีการฉุกคิดพิจารณา และนำข้อมูลทางการแพทย์ของคนที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนมาเปิดเผย โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพฯ ได้ให้การดูแลเด็กที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงหลังรับวัคซีน และได้ให้การรักษาด้วยการถ่ายน้ำเหลือง จนถึงขณะนี้แม้อาการดีขึ้นแต่ก็มีสภาพติดเตียง
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า มีระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2564 โดยระบบจะรับรายงานทุกเหตุการณ์ ทั้งที่อาจจะเกี่ยว หรือไม่เกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างครบถ้วนมากที่สุด
เมื่อกองระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรงหรือเสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีน บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะดำเนินการสอบสวนโรค และนำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาสาเหตุและความเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีน โดยมีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI)
การฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 147 ล้านโดสในประเทศไทย มีการศึกษาในประเทศไทย ประมาณการว่าในช่วง 2 ปีแรกของสถานการณ์การระบาด วัคซีนสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้หลายแสนราย ซึ่งในภาพรวมเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 มีอุบัติการณ์ต่ำ เช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ
โดยระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2564 – 31 ธ.ค. 2566 มีรายงานอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์กรณีร้ายแรง 5.09 รายต่อแสนโดส และเมื่อพิจารณารายที่เสียชีวิต 1,797 ราย คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วพบว่าส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 มีเพียง 5 ราย ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน ได้แก่ การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย อาการแพ้รุนแรง 2 ราย และ Stevens-Johnson Syndrome 1 ราย ซึ่งคิดเป็นอุบัติการณ์เสียชีวิตที่ต่ำกว่าหนึ่งในล้านโดส
ฉีดแล้วเกิดภาวะ Long Vaccine หลงลืม สมองเสื่อม?
สำหรับภาวะลองวัคซีน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่าคล้ายกับลองโควิดทุกประการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นเวลา 2 สัปดาห์ เกิดจากโควิด-19 หรือ หลังการรับวัคซีน อาจจะเสียชีวิตได้ ด้วยภาวะลิ่มเลือด หรือสมองอักเสบ ส่วนระยะกลาง 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน มีปัญหาผลกระทบตั้งแต่ระบบหัวใจและปอด ความแข็งแรงของร่างกายไม่เท่าเดิม
นอกจากนี้ ยังมีระบบทางสมองและจิตใจ คนอายุเพียง 30-40 ปี คิดอะไรไม่ออก ตัดสินใจอะไรไม่ได้ เกิดภาวะอารมณ์แปรปรวน หดหู่ เชื่อมโยงกับโรคที่เคยควบคุมได้ในอดีต ขณะเดียวกันในการติดตามผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ในการติดตามประสิทธิภาพการทำงาน พบว่า ภายหลังจากติดโควิด-19 หรือวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1-3 มีภาวะสมองเสื่อมปรากฏอย่างชัดเจนรุนแรง และช่วยตัวเองไม่ได้
ด้าน กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าที่ผ่านมาก็มีการติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ภาวะทางสุขภาพในประเด็นที่สำคัญตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19
สอดคล้องกับการศึกษาจำนวนมากในหลายประเทศที่ยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ได้ปกป้องสุขภาพและชีวิตของผู้คนที่รับวัคซีนไว้เป็นจำนวนหลายล้านคน และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะลองโควิด ภายหลังจากการติดเชื้อ โดยการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ พบว่าวัคซีนโควิด-19 สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดลองโควิดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้ 40% – 80% เทียบกับการไม่ได้รับวัคซีน
กลุ่มผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว ยังต้องฉีดต่อไหม?
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำว่าปัจจุบันมีข้อมูลออกมาชัดเจนแล้วว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 มีอัตราการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน และลดความรุนแรงลงอย่างมาก เหลือเฉพาะความรุนแรงอยู่ในกลุ่มเปราะบาง
ความต้องการของวัคซีนคงจะต้องเน้นไปยังกลุ่มเปราะบาง มากกว่าให้กับบุคคลทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรง และการให้วัคซีนก็ไม่ได้เป็นภาคบังคับ เป็นการให้ด้วยความสมัครใจ
“หน้าที่ของเราคือจะให้ความรู้ทั้งหมดเพื่อไปประกอบการตัดสินใจ ทุกอย่างมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่ถ้าผลดีมีเป็นจำนวนมากกว่าผลเสียอย่างมาก ๆ เราก็คงจะต้องยอม”
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ฉีดวัคซีนมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง?
ประเด็นสุดท้ายที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ หยิบยกมาจากนักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้เผยแพร่รายงานเอาไว้ในวารสาร Nature Scientific Report เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2566 ได้กล่าวถึงประเด็นการฉีดวัคซีนหลังเข็มที่ 3 ว่า อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันชนิด T-Cell หมดแรง นั่นหมายความว่าการฉีดวัคซีนมากเกินไปอาจทำให้ร่างการมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงได้
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกมาชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยได้มีการประสานไปยังนักวิจัยเจ้าของข้อมูลดังกล่าว ซึ่งมีการเผยแพร่รายงานในเรื่อง “Hybrid and herd immunity 6 months after SARS‑CoV‑2 exposure among individuals from a community treatment program” ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 2566
ประเด็นหลักที่นักวิจัยต้องการสื่อสาร คือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปริมาณมาก ๆ ในช่วงระยะห่างสั้น ๆ (ฉีดวัคซีนจำนวนมาก และฉีดก่อนครบกำหนด) ไม่ทำให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดี การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นควรมีการวางแผน และกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ดีที่สุด
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้มีคำแนะนำให้ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 จำเป็นต้องได้รับวัคซีน 1 โดส และตามด้วยการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมหลังจากฉีดเข็มแรกมาแล้ว 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิต
ส่วนสถานการณ์โควิด-19 กลายพันธุ์ ผศ. พญ.อภิญญ์เพ็ญ สาระยา วสันติวงศ์ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และความรุนแรงของโรคก็ลดลง จนล่าสุดเป็นสายพันธุ์ย่อย JN1 ซึ่งการตอบสนองของวัคซีนโควิด-19 ล่าสุดก็ไม่ได้มีประสิทธิดี สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ที่พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะคงอยู่เพียง 3 เดือนเท่านั้น