เทียบเกณฑ์รักษาโควิด-19 แบบ “OPD – HI”

เจอ แจก จบ! แนวทางใหม่ นับถอยหลังสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

หลังเดินหน้าตามแนวทางการรักษาโควิด-19 แบบ “เจอ แจก จบ” ที่เริ่มต้นในวันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นวันแรก เตรียมเปลี่ยนผ่าน โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และไม่ใช่คนทุกกลุ่มอาการที่จะต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งต่างจากช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่ผู้ติดเชื้อทุกคนจะได้รับยา อีกทั้งการรักษาถูกปรับมาเป็น “ผู้ป่วยนอก” หรือ OPD (Out – Patient Department) ต่างจาก “Home Isolation” ซึ่งมีลักษณะกึ่งผู้ป่วยใน

The Active เปรียบเทียบทางเลือกในการรักษาโควิด-19 ว่ามีความแตกต่างจากเดิมอย่างไร และแนวทางการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์แบบใหม่ใช้หลักเกณฑ์ใดบ้าง

โควิด-19

สำหรับความแตกต่างระหว่าง ผู้ป่วยนอก กับ HI คือ ผู้ป่วยนอกจะมีแพทย์ติดตามอาการหลังตรวจคัดกรองภายใน 48 ชั่วโมง แต่หากมีอาการเปลี่ยนแปลงสามารถติดต่อกลับได้ทุกเวลา ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และไม่มีอาหารให้เหมือนกับผู้ป่วยที่อยู่ในระบบ HI และ CI (Community Isolation)

ทั้งสองแนวทางถือเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยได้ตัดสินใจเข้ารักษา แต่การตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาก็อาจขึ้นอยู่กับระบบสาธารณสุขในขณะนั้นที่จะรองรับ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานล้นมือ ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ก็จะมาช่วยบรรเทาปัญหาคอขวดส่วนนี้ได้

ส่วน “ยาฟาวิพิราเวียร์” เดิม ใช้สำหรับรักษาอาการไข้หวัดใหญ่ ก่อนถูกนำมาใช้กับโควิด-19 กลไกในการออกฤทธิ์ เมื่อกินฟาวิพิราเวียร์เข้าไป สารในยาฟาวิพิราเวียร์ จะเข้าไปทำลายโครงสร้างของไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย 

ช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา เราจำเป็นต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ในช่วงที่เชื้อยังอยู่ในร่างกายไม่มาก และยังไม่ลงปอด เพราะจะช่วยทำให้โครงสร้างของเชื้อที่จะไปเกาะตัวในร่างกายอยู่ในสภาพไม่แข็งแรง ค่อย ๆ ฝ่อ และตายไป เมื่อใช้กับผู้ที่อาการไม่มาก จึงมีโอกาสหายได้ 

แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการไอ ไม่ช่วยลดการอักเสบ หากเชื้อลงปอด ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาที่สูงขึ้น คือ ต้องใช้ออกซิเจน ท่อช่วยหายใจ และต้องใช้ยาลดอักเสบ

เปิดเกณฑ์ใหม่ จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป ยาฟาร์วิพิราเวียร์จะไม่จ่ายให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคน ตามแนวทางการรักษาแบบ “เจอ แจก จบ” ซึ่งนำมาสู่ความกังวลของผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนไม่น้อย 

กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่เชื้อไม่ลงปอดและอยู่บริเวณลำคอ แพทย์จึงปรับเปลี่ยนวิธีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยจะให้เฉพาะกลุ่มอาการที่จำเป็นเท่านั้น

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานคณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ ชี้แจงว่า การจ่ายยาจะแยกตาม 4 กลุ่มอาการ  

  1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก ๆ กลุ่มนี้จะหายเองได้ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อลดความเสี่ยงผลข้างเคียงจากยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และกระทบต่อตัวอ่อนในครรภ์
  2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/ไม่มีโรคร่วมสำคัญ แพทย์จะพิจารณาว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากกำลังใช้ฟ้าทะลายโจรจะต้องหยุดฟ้าทะลายโจรก่อน
  3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น ภาวะอ้วน ผู้ป่วยโรคปอด โรคไต เบาหวาน ความดัน อาจพิจารณาใช้ยาฟาวิพิราเวียร์
  4. ผู้ป่วยอาการรุนแรง ต้องอยู่ใน รพ. อยู่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม 

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี ชี้แจงว่า หากผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ส่วนมากอาการจะค่อย ๆ หายเอง ไม่ได้แย่ลง อีกทั้ง ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์วันละ 2 ล้านเม็ด เดือนละ 60 ล้านเม็ด นับว่าเป็นการใช้ยาต้านไวรัสในปริมาณมาก

“การใช้ยาต้านไวรัสในปริมาณที่มาก กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำลังกังวลในประเด็นเรื่องของเชื้อดื้อยา ซึ่งตามทฤษฎีย่อมเกิดขึ้นได้ ถ้าเชื้อสัมผัสกับยาบ่อย ๆ ดังนั้น แนวทางรักษาใหม่จึงกำหนดให้ใช้ยาตามอาการและใช้อย่างสมเหตุสมผล หากไม่มีอาการ ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์”

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์การจ่ายยาฟาร์วิพิราเวียร์ใหม่ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่ได้มาจากปัญหาขาดแคลนยา เพราะขณะนี้ ได้สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ไว้ทั่วประเทศ 16.9 ล้านเม็ด ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน องค์การเภสัชกรรม สามารถผลิตได้อีก 63.8 ล้านเม็ด และสั่งซื้อเพิ่มเติมอีกรวมทั้งสิ้น 87.6 ล้านเม็ด จัดส่งไปพื้นที่แล้ว 5 ล้านเม็ด และวันที่ 1 มีนาคม จะส่งเพิ่มอีก 15 ล้านเม็ด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์