ผู้บริหารท้องถิ่น ประเมินการบริหารวัคซีนอย่างไร?

เมื่อท้องถิ่นต้องส่งเสียงถึงส่วนกลาง

ว่า “วัคซีน” เป็นหนทางสุดท้ายที่จะทำให้เรารอดพ้นวิกฤตนี้ ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่จำนวนการฉีดวัคซีนในแต่ละวันกลับสวนทาง ไม่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

The Active รวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะ จาก 3 ผู้บริหารท้องถิ่น ในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ “สีแดงเข้ม” ประเมินการบริหารวัคซีนของรัฐบาล และข้อเสนอ เพื่อเร่งจัดหาวัคซีนให้ทั่วถึงและหลากหลาย

“ถ้ารัฐบาลให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะชนิดใดที่ WHO รับรอง ประเทศไทยจะไม่เจ๊งแบบนี้ สิ่งที่ผิด คือ ซิโนแวค ตอนนั้นโลกยังไม่รับรอง คุณมาฉีดให้คนไทย ผมถามว่า อย. ไทย เก่งกว่าอนามัยโลกหรอ?”

พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง

11 ก.ค. 2564 เป็นวันที่จังหวัดปทุมธานีพบผู้ป่วยโควิด-19 ทะลุ 1,000 คนต่อวัน ถือเป็นสถานการณ์วิกฤตที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งแก้ไขปัญหา พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า “พี่น้องปทุมธานีผมติดเชื้อมาขนาดนี้ ผมถือว่าปทุมธานีเจ๊งแล้ว” เป็นคำพูดที่ดูรุนแรง แต่ก็ไม่เกินจริงไปนัก

หนึ่งสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์วิกฤต จากมุมมองของนายก อบจ.ปทุมธานี นั้น คือปัญหาการบริหารวัคซีนของรัฐบาลที่ล่าช้า หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าวัคซีนมาได้ตั้งแต่ต้นปี จะมีวัคซีนฉีดให้กับประชาชนมากกว่านี้

ปัญหาสำคัญอีกประการ คือ การนำเข้าวัคซีนเพียงแค่ 2 ยี่ห้อ คือ “ซิโนแวค” และ “แอสตราเซเนกา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ซิโนแวค” ที่ปัจจุบันกำลังเกิดปัญหา นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวถึงการนำเข้าวัคซีนชนิดนี้ ก่อนจะมีการรับรองขององค์การอนามัยโลก ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง พร้อมตั้งคำถามถึงความสามารถสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ว่าเก่งกว่า องค์การอนามัยโลกได้อย่างไร

ข้อเสนอจาก นายก อบจ.ปทุมธานี ที่สำคัญ คือ 1. ต้องเปิดกว้างให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเองได้ เพราะยังมีประชาชนที่มีกำลังซื้ออีกมาก 2. เร่งรับรองวัคซีนชนิดต่าง ๆ ทั่วโลกให้ได้มากที่สุด


“รัฐบาลก็มองว่าทุกอย่างเป็นหน้าที่รัฐบาล ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ทำไมไม่คิดว่าทุกคนอยากช่วย ทำไมไม่เปิดกว้างให้เอกชนหาวัคซีนกันมาเองได้ “

จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์

เช่นเดียวกับ จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ที่กล่าวถึงการบริหารวัคซีนของรัฐบาลว่า อย่ามองเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว ควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนด้วย เพราะเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่พร้อมจะซื้อวัคซีนด้วยตัวเองนั้นมีอีกมาก

ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม จนถึงวันที่ 13 ก.ค. 2564 จังหวัดนครปฐม มีการฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 138,666 โดส ซึ่งแบ่งเป็นการฉีดเฉพาะโดสแรก 111,435 คน และฉีดครบ 2 โดส จำนวน 27,231 คนเท่านั้น ซึ่งเมื่อคิดเป็นอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรในจังหวัดที่มีมากกว่า 900,000 คน มีคนฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็น ในขณะที่จังหวัดนครปฐมพบผู้ป่วยใหม่หลักร้อยคน ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน

ข้อเสนอของนายก อบจ. นครปฐม คือ อยากให้มีหน่วยงานของรัฐและเอกชนจัดหาวัคซีนมากขึ้น เพราะในปัจจุบัน นอกเหนือจากองค์การเภสัชกรรม และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แล้ว ก็ไม่มีหน่วยงานใดนำเข้าวัคซีนเข้ามาจำหน่าย ถึงแม้จังหวัดนครปฐมจะสั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มไป กว่า 100,000 โดส แต่ก็ยังไม่ได้รับจัดสรร


“ท้องถิ่นไหนที่เขาซื้อได้ ก็ให้เขาซื้อ อย่ามากลัวความเหลื่อมล้ำ เงินเทศบาลก็เงินแผ่นดินทั้งนั้น ที่ไหนงบประมาณไม่มาก รัฐบาลก็ตามไปฉีด เท่านี้เอง คิดอะไรกันอยู่”

สมนึก ธนเดชากุล

ปิดท้ายที่ สมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี ที่มองว่ารัฐบาลไม่ควรมองว่าหากท้องถิ่นซื้อวัคซีนเองแล้วประชาชนจะเสียประโยชน์ เพราะท้ายที่สุดเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล้วนแล้วแต่เป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชน หากท้องถิ่นดำเนินการได้ ก็เหมือนกับการทำหน้าที่แทนรัฐบาล ส่วนข้อกังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำว่า หากท้องถิ่นใดมีงบประมาณไม่เพียงพอ รัฐบาลก็ช่วยเติมเต็มในพื้นที่นั้น ก็จะครอบคลุมประชาชนทั้งหมด

ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ณ วันที่ 12 ก.ค. 2564 นั้น จังหวัดนนทบุรีสามารถฉีดวัคซีนเพิ่มได้เพียง 8,315 โดส โดยฉีดวัคซีนสะสมไปแล้ว 440,203 โดส เป็นจำนวนคนสะสม 324,428 คน คิดเป็นสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 28.97 เปอร์เซนต์ จากเป้าหมายประชากร 1.12 ล้านคน

โดยข้อเสนอจากนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรีนั้น มองว่าหากมีผู้ขายวัคซีนให้ท้องถิ่นมากขึ้น ท้องถิ่นมีความพร้อมที่จะจัดหาวัคซีนมาฉีดเพิ่มเติมได้ โดยตอนนี้ศักยภาพของเทศบาลนครนนทบุรีสามารถเร่งการฉีดได้มากถึงวันละ 6,000 คน โดยการทำงานของศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลซึ่งกระจายอยู่ถึง 6 แห่ง

เสียงสะท้อนจากผู้บริหารท้องถิ่นแสดงให้เห็นถึงความพร้อมทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรที่พร้อมจะขับเคลื่อนเป้าหมายด้านวัคซีนให้กับประเทศได้ โดยจุดร่วมที่ตรงกันนั้น คือ การเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนมาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานกลาง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อการแพร่ระบาดที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในตอนนี้


อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์